THE CLOUDSCAPE OF HAIKOU

Photo: CreatAR Images

MAD ARCHITECTS CONNECTS ALL THE SURFACE OF THIS PUBLIC LIBRARY IN HAIKOU, CHINA TOGETHER, RESULTING IN AN UNDULATING SPACE AND A MONUMENTAL CLOUD-LIKE FORM AS SUGGESTED BY ITS NAME

TEXT: WARUT DUANGKAEWKART
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here)

Photo: CreatAR Images

The Cloudscape of Haikou เป็นผลงานล่าสุดของ MAD Architects ที่เมืองไหโข่ว (Haikou) ประเทศจีน ตั้งอยู่ที่ชายหาดไหโข่วที่มีทะเลจีนใต้เป็นพื้นหลัง ห้องสมุดแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่ริมชายหาดไหโข่ว ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำคัญของเมือง โดยอาคารหลังนี้นับเป็นหลังแรกที่ก่อสร้างเสร็จในผังแม่บทแห่งนี้

Photo: ArchExist

รูปลักษณ์ของอาคารประกอบขึ้นจากพื้นผิวที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด ตั้งแต่พื้น ผนัง ฝ้าเพดาน หลังคา ไปจนถึงองค์ประกอบอย่างประตูและหน้าต่าง เปรียบเสมือนงานประติมากรรมขนาดใหญ่ที่คล้ายกับก้อนเมฆตามชื่อของงาน โดยพื้นผิวทั้งหมดเชื่อมโยงต่อเนื่องร้อยเรียงกันจนเกิดเป็นสเปซที่โค้งมนไปมา สร้างฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลาย ทั้งพื้นที่ของห้องสมุด คาเฟ่ ระเบียง และพื้นที่สาธารณะ ที่รองรับการจอดรถยนต์ จักรยาน รวมถึงห้องน้ำสาธารณะ

Photo: CreatAR Images

CLICK IMAGE TO VIEW IN FULL SIZE

ด้วยฟอร์มของอาคารที่ลื่นไหลเหมือนจะไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ บนแนวความคิดของการสร้างให้เกิด Time and Space ที่แตกต่างจากบริบทโดยรอบ ก่อให้เกิดสเปซที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แผ่นหลังคาที่ยื่นยาวเพื่อคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดมุมมองไปยังทิวทัศน์ภายนอก และช่วยลดแสงแดดและความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวอาคาร กรอบของหน้าต่างที่โค้งมนปรับเปลี่ยนไปตามรูปฟอร์มของอาคารทำให้มุมมองจากอาคารดูน่าตื่นตาตื่นใจ ชั้นหนังสือถูกออกแบบให้ฝังตัวอยู่ในผนังคอนกรีต ด้วยรูปทรงที่โค้งมนหยอกล้อกับรูปลักษณ์ของอาคาร ซึ่งองค์ประกอบต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกที่เป็นภาษาเดียวกันนั้นร่วมกันสร้างสเปซให้เกิดบรรยากาศเฉพาะตัวขึ้นมา

Photo: ArchExist

ในแง่มุมของโครงสร้างและการก่อสร้าง ผู้ออกแบบใช้คอนกรีตหล่อในที่แบบ Waffle Slab ที่ช่วยในการพาดช่วงยาวของพื้นและหลังคา รวมไปถึงงานระบบต่างๆ ที่ถูกออกแบบให้ซ่อนอยู่ภายในพื้นผิวคอนกรีตทั้งหมด เพื่อไม่ให้เกิดเส้นสายที่จะเข้ามารบกวนภาษาทางสถาปัตยกรรม เพื่อให้แนวความคิดในการออกแบบนั้นถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจนที่สุด สร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำสำหรับคนที่ได้เข้ามาสัมผัสพื้นที่แห่งนี้ ไปพร้อมกับการสร้างแลนด์มาร์คใหม่ของเมืองในเวลาเดียวกัน

Photo: Aogvision

i-mad.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *