LITTLE HOME

WARA JITHPRATUCK AND JITTINUN JITHPRATUCK OF OO STUDIO ENHANCE THE LIVABILITY OF THIS COMPACT HOUSE WHICH SITS ON THE FRONT YARD OF THE OLD HOUSE BY ACCOMPANYING SEVERAL OPENINGS TO REDUCE COMPACTNESS AND HARMONIZING THE DESIGN TO THE OLD HOUSE

TEXT: PICHAPOHN SINGNIMITTRAKUL
PHOTO: ART-CHITSANUPONG

(For English, press here

จุดเริ่มต้นของ Little Home คือความต้องการสร้างเรือนหอ และพอดีกับการที่ที่ดินของสนามหญ้าหน้าบ้านหลังเดิมของคุณพ่อคุณแม่ก็มีขนาดกว้างขวางเพียงพอจะบรรจุบ้านเพิ่มเข้ามาได้อีกหลังหนึ่ง วรา และ จิตตินันท์ จิตรประทักษ์ ลูกพี่ลูกน้องของเจ้าของบ้าน และสองสถาปนิกจาก OO Studio คือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกแบบบ้าน 2 ชั้น หลังเล็กหลังนี้ ในขนาดพื้นที่ใช้สอยที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐาน เพียง 80 ตารางเมตร ที่ถูกขมวดไซส์ให้เหลือเพียง 1 ใน 3 ของพื้นที่สนามหญ้าหน้าบ้านทั้งหมด “จริงอยู่ที่สนามหญ้าหน้าบ้านมีขนาดค่อนข้างกว้าง ซึ่งสามารถสร้างบ้านหลังใหญ่ๆ ได้เลย แต่จากที่เราได้คุยกับเจ้าของบ้านแล้วพบว่าผู้อยู่อาศัยมีเพียง 2 คนเท่านั้น และบ้านหลังเดิมก็ยังคงอาศัยอยู่เหมือนเดิม เราเลยเห็นตรงกันว่าบ้านหลังใหม่จึงไม่จำเป็นต้องถูกสร้างให้เต็มพื้นที่หรือมีขนาดใหญ่โตมากก็ได้ พื้นที่สีเขียวของสนามหญ้าจะได้เหลือเยอะๆ ด้วย” จิตตินันท์ค่อยๆ เริ่มอธิบายที่มาที่ไป

ฟังก์ชั่นหลักของบ้านหลังนี้เป็นฟังก์ชั่นพื้นฐาน ประกอบด้วย ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น และโซนครัวแบบเปิด ที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน เป็นได้ทั้งเคาน์เตอร์เตรียมอาหารและโต๊ะกินข้าว ส่วนฟังก์ชั่นรองที่เสริมเข้ามาคือพื้นที่ภายนอกอย่างชานและระเบียง ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่สวนและบ้านหลังเดิม การจัดวาง planning ของบ้าน เริ่มจากห้องนั่งเล่นบริเวณชั้น 1 และห้องนอนบริเวณชั้น 2 อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ส่วนชานชั้นล่างก็เป็นชานที่เชื่อมกับบ้านเดิม และระเบียงชั้นบนเป็นส่วนที่ยื่นออกมาจากห้องนอน รวมถึงบันไดและห้องน้ำชั้น 2 สถาปนิกจัดวางให้ไปอยู่ในฝั่งเดียวกัน เพื่อเปิดพื้นที่อีกฝั่งให้โล่งกว้าง ไม่รู้สึกอึดอัด 

ด้วยความที่ตัวบ้านมีขนาดเล็ก นอกจากการจัดสรรพื้นที่ที่ดีจะช่วยให้บ้านน่าอยู่และไม่คับแคบได้แล้ว การออกแบบช่องประตูหน้าต่างให้มีปริมาณมาก และขนาดช่องเปิดที่ใหญ่ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่สองสถาปนิกนำมาใช้ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยภายในบ้านสามารถมองออกไปยังภายนอกได้ มีแสงธรรมชาติส่องเข้ามาให้ความสว่างตลอดวัน และยังเกิด cross ventilation หรือการไหลเวียนของอากาศที่ดีไปพร้อมๆ กัน โดยสถาปนิกเลือกวางตำแหน่งหน้าต่างบานเลื่อนขนาดใหญ่ไว้ในส่วนของชานบ้านชั้น 1 และระเบียงชั้น 2 และวางตำแหน่งหน้าต่างบานกระทุ้งตลอดแนวโถงบันไดเพื่อช่วยระบายกาศ รวมทั้งการออกแบบช่อง skylight ไว้ในส่วนครัว และโดยเฉพาะช่องลมที่ถูกเรียงเป็น pattern บนผนังทึบฝั่งที่หันออกสู่ถนน เพื่อสร้างการไหลเวียนของลมเข้ามายังพื้นที่ภายในโดยไม่เสียความเป็นส่วนตัว และกลายเป็นกิมมิกของอาคารไปด้วยในเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านทั้ง 2 หลังก็เป็นปัจจัยหลักที่สถาปนิกให้ความสำคัญ “เราไม่อยากให้บ้านทั้ง 2 หลัง ต้องบังแสงและลมกัน เราจึงวางบ้านให้เหลื่อมกันเป็นตัว L โดยกำหนดให้หน้าบ้านหันเข้าหาสวน และหันหลังชิดกำแพงหรือขอบที่ดิน ส่วนหน้าบ้านจริงๆ ที่หันออกถนนก็เป็นผนังทึบไปเพื่อความเป็นส่วนตัว” วรากล่าวเสริม ซึ่งจะเห็นได้ว่าด้วยทิศทางการวางบ้าน ทำให้บ้านทั้ง 2 มีตำแหน่งหน้าบ้านที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากัน สร้างให้เกิดความเป็นส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกัน บ้านทั้ง 2 หลัง ก็ยังได้พื้นที่สนามหญ้าหน้าบ้านร่วมกัน ซึ่งสร้างให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันไปด้วย นอกจากนี้ การเน้นความกลมกลืนต่อเนื่องทั้งในเชิงพื้นที่ ดีไซน์ และโทนสี ทำให้บ้านหลังใหม่ล้อไปกับบ้านหลังเดิมโดยไม่สร้างความรู้สึกแปลกแยกจากกัน

อีกความบังเอิญบนความตั้งใจในการออกแบบคือการที่ต้นไม้ต้นเดิมรอบบ้านที่เคยปลูกไว้ อยู่ในมุมที่รับกันได้พอดีกับบานประตูหน้าต่าง จึงทำบ้านหลังเล็กหลังนี้สามารถได้รับทั้งแสง ลม และพื้นที่สีเขียวในทุกมุมมอง และโดยเฉพาะบริเวณชานนั่งเล่นชั้น 2 ที่ได้รับร่มเงาจากต้นหูกระจงใหญ่ที่ปลูกอยู่บริเวณสนามหญ้าได้อย่างพอดิบพอดี ซึ่งทั้งหมดนี้ เราคิดว่าน่าจะเรียกรวมๆ ได้ว่าเป็นความลงตัว 

facebook.com/otherordinary

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *