NURSE DORMITORY, KING CHULALONGKORN MEMORIAL HOSPITAL

มารู้จักกับหอพักพยาบาลโดย Plan Architect ที่เปิดโอกาสให้พยาบาลได้ร่วมออกแบบห้องพักที่เหมาะกับการใช้งานจริงด้วยตัวเอง

TEXT: PICHAPOHN SINGNIMITTRAKUL
PHOTO: PANORAMIC STUDIO

(For English, press here)

น้อยครั้งที่เราจะได้เห็นอาคารหอพักบุคลากรทางการแพทย์ในส่วนราชการถูกออกแบบอย่างประณีตเป็นพิเศษเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณและระเบียบข้อบังคั ต่าง ๆ ที่มักเป็นตัวแปรทำให้อาคารราชการส่วนใหญ่มีลักษณะอาคารที่ละม้ายคล้ายคลึงกันอยู่เสมอ แต่สำหรับอาคารหอพักพยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยแห่งนี้ Plan Architect ให้ความสำคัญกับโจทย์ทั้งในแง่การใช้งาน จำนวนห้องพัก และข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของผู้อยู่อาศัยจริงตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้โครงการนี้เป็นโครงการที่มีแนวคิดของการสร้าง ภาวะน่าสบาย มีการเปิดรับแสงธรรมชาติอย่างพอเหมาะและมีการระบายอากาศตามธรรมชาติที่ดี ตลอดจนการสร้างพื้นที่สีเขียวและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับพยาบาลที่มีความเครียดและความวิตกกังวลสะสมจากการทํางาน

ขอบเขตของพื้นที่อยู่ติดกับถนนหลักที่เข้ามาจากถนนอังรีดูนังต์ ซึ่ง master plan เดิมมีการจัดวาง layout ของอาคารแต่ละหลังที่ค่อนข้างแออัด และยังมีอาคารเดิมตั้งขวางพื้นที่อยู่ จึงทำให้เกิดมุมอับของลมและไม่สามารถใช้พื้นที่ส่วนกลางได้เท่าที่ควร สถาปนิกจึงเสนอ master plan รูปแบบใหม่ ด้วยการรื้อถอนอาคารหลังเดิมที่ขวางพื้นที่อยู่ออก เพื่อให้เชื่อมโยงกับ pocket court ด้านหลัง ซึ่งทำให้เกิดเป็นพื้นที่สีเขียวท่ามกลางตึกหอพักขนาดใหญ่ และเกิดประโยชน์กับโซนหอพักทั้งโซนไม่ใช่เฉพาะอาคารหลังใหม่เท่านั้น

จากข้อมูลการศึกษาผู้ใช้งานจริงทั้งหมด ได้นำมาสู่ผลลัพธ์ในการออกแบบอาคารหอพักจำนวน 26 ชั้น ที่ถูกจัดวางให้อยู่ในทิศตามแนวตะวัน เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดดที่มีปริมาณความร้อนสูงจากทิศตะวันตก ส่วนการออกแบบระบบระบายอากาศของอาคาร ที่อิงจากการใช้งานของพยาบาลที่มักเปิดหน้าต่างมากกว่าใช้เครื่องปรับอากาศ นับได้ว่าเป็นอีกโจทย์ใหญ่และเป็นความท้าทายของโครงการนี้ไม่น้อย เพราะการออกแบบระบบระบายอากาศโดยลมธรรมชาติในอาคารสูงส่วนมาก จะเกิดขึ้นได้กับอาคารที่มีลักษณะยูนิตขนาดใหญ่หรือมีจำนวนยูนิตต่อชั้นน้อย ซึ่งจะสามารถออกแบบช่องหน้าต่างได้ถึง 2 ฝั่ง ขณะที่อาคารที่มียูนิตขนาดเล็กเรียงตัวขนาบข้าง 2 ฝั่งทางเดิน จะสามารถทำช่องเปิด 2 ฝั่ง ได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากอาจเกิดปัญหาเรื่องเสียงรบกวนและความรู้สึกไม่เป็นส่วนตัวจากฝั่งทางเดินได้

สถาปนิกจึงออกแบบด้วยการแยกอาคารเป็นลักษณะ single-load corridor 2 ฝั่ง เพื่อให้สามารถเปิดรับแสง และลมธรรมชาติเข้าสู่ภายในอาคาร และออกแบบช่องเปิดขนาดใหญ่ 3 จุด ได้แก่ ใต้ถุนกลางตัวอาคารที่เป็นจุดรับลมเข้าและยอดอาคารที่เป็นจุดระบายอากาศออก เพื่อให้เกิดการดึงอากาศจากด้านล่างให้ลอยขึ้นไปตามความร้อนที่ยกตัวสูงขึ้น ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เกิดการไหลเวียนของลมธรรมชาติอยู่ภายในอาคารตลอดเวลา และทำให้ห้องพักทุกห้องสามารถเปิดประตูด้านหน้าเพื่อรับลมให้ระบายออกผ่านไปยังระเบียงหลังห้อง จากการออกแบบบานประตู 2 ชั้น ให้มีบานหนึ่งเป็นบานทึบ และอีกบานเป็นบานมุ้งลวด

ส่วนการออกแบบพื้นที่ภายในห้องพัก สถาปนิกให้ความสำคัญกับการสร้างภาวะน่าสบาย และเน้นการระบายอากาศตามธรรมชาติ ภายในห้องจึงมีความโปร่งโล่ง แต่ยังคงรู้สึกปลอดภัยและเป็นส่วนตัว พร้อมกับแก้ปัญหาเสียงรบกวนจากทางเดิน ด้วยการจัดวางพื้นที่สำหรับส่วนเตรียมอาหาร (pantry) และห้องน้ำที่ใช้งานร่วมกันให้มาอยู่ติดกับฝั่งทางเดิน และคั่นด้วยประตูบานทึบอีกชั้นหนึ่งก่อนที่จะเข้าสู่บริเวณห้องนอน เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย ตลอดจนมีการคำนึงถึงการปรับพื้นที่ใช้งานให้เกิดความเหมาะสมยิ่งขึ้นเมื่อต้องการเปิดเครื่องปรับอากาศ โครงการมีความแตกต่างจากรูปแบบหอพักรวมแบบเดิม ๆ ที่มักจัดสรรพื้นที่โต๊ะทำงานและเตียงนอนให้อยู่ใกล้กันหรือฝั่งเดียวกันเสมอ ทำให้พยาบาลที่ต้องอาศัย อยู่ร่วมกัน 2 คนในห้องพักอาจรู้สึกไม่เป็นส่วนตัวเท่าที่ควร ผนวกกับรูปแบบการใช้งานของพยาบาลที่มักอยู่อาศัยในห้องพักไม่เป็นเวลาเพราะต้องทํางานเป็นกะ การแบ่งแยกพื้นที่ใช้งานออกเป็น 2 ฝั่ง จึงช่วยให้เกิด ความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ลดปัญหาเรื่องเสียงรบกวน และยังเหลือพื้นที่เป็นทางเดินเผื่อไปยังระเบียงได้

ด้วยความที่พื้นที่โดยรอบเป็นหอพักเหมือนกัน สถาปนิกจึงตั้งใจสร้างเปลือกอาคารเพื่อใช้เป็นฉากกั้น ระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอก พร้อมกับปรับองศาของแกนที่ระเบียงเล็กน้อยเพื่อสร้างมุมมองที่ต่างออกไปจากอาคารใกล้เคียง ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกเป็นส่วนตัว รวมทั้งการเหลื่อมทางระเบียงลักษณะสลับฟันปลาแต่ละชั้น ยังช่วยให้แสงธรรมชาติส่องมายังระเบียงได้ทั่วถึง รองรับการใช้งานส่วนตัวต่าง ๆ เช่น การตากผ้า รวมถึงการปลูกต้นไม้ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับข้อมูลมาจากการพูดคุยกับผู้ใช้งานจริง ส่วนช่องเปิดขนาด ใหญ่ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “ตราอุณาโลมแดง ซึ่งเป็นเครื่องหมายของสภากาชาดเมื่อครั้งแรกตั้งในประเทศไทย ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเครื่องหมายกาชาดในปัจจุบัน นอกจากนี้พื้นที่ภายในอาคารบริเวณช่องเปิดกลางอาคารขนาดใหญ่ ยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่ส่วนรวม (common area) ย่อย ๆ เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน นับเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงการออกแบบที่เกิดจากการศึกษาความต้องการและพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ให้ความสำคัญกับภาวะน่าสบาย ตอบสนอง การใช้งาน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ทั้งในแง่กายภาพและจิตใจที่ต้องการอยู่อาศัยและพักผ่อนในพื้นที่ดีๆ เพื่อสร้างกำลังใจให้กับการทำงานที่หนักและพบเจอกับความเครียดสะสมในทุกๆ วัน ของบุคลากรทางการแพทย์

fb.com/planarchitect

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *