ร้านอาหารอีสานและคาเฟ่ที่ ASWA ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจาก ‘คลื่น’ พร้อมตอบรับกับบริบทของย่าน ‘อารีย์’ ที่หนาแน่นและเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดเดา
TEXT: KORRAKOT LORDKAM
PHOTO: PHUTTIPAN ASWAKOOL
(For English, press here)
ย่านอารีย์พัฒนาจากย่านที่อยู่อาศัยของกลุ่มข้าราชการและชนชั้นสูง สู่แหล่งท่องเที่ยวกินดื่มที่มีบุคลิกมากที่สุดย่านหนึ่งในกรุงเทพฯ ทำให้เป็นธรรมดาไปแล้วที่จะเห็นคาเฟ่และร้านอาหารดีไซน์แปลกตาผุดแทรกขึ้นในบรรดาบ้านและอาคารที่พักอาศัยจากยุคก่อน เช่นเดียวกับครั้งนี้ ที่ Khao Niao Restaurant พ่วงมากับ Onda Cafe ยึดเอาที่ดินแปลงหนึ่งในซอยอารีย์สัมพันธ์ 7 เปลี่ยนผืนดินโล่งว่างของที่ให้เช่าจอดรถเดิม เป็นร้านอาหารอีสานผสมคาเฟ่ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ façade คอนกรีตเรียบนิ่งเงียบงัน อาคารที่นอกจากเป็นความพยายามแสดงที่มาของกระบวนการการก่อสร้าง ยังสะท้อนการตอบรับกับบริบทของย่านที่หนาแน่นและเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดเดา
โครงการ Khao Niao Restaurant และ Onda Cafe ริเริ่มจากเจ้าของโครงการผู้ต้องการเปิดธุรกิจร้านอาหารอีสานรสชาติดั้งเดิมอย่างจังหวัดขอนแก่นบ้านเกิด แต่ในบรรยากาศที่เหมือนได้นั่งรับประทานและพักผ่อนในบีชคลับริมทะเล สถาปนิกผู้ออกแบบ พุทธิพันธ์ อัศวกุล และโชติรส เตชะมงคลาภิวัฒน์ จาก ASWA (Architectural Studio of Work – Aholic) กล่าวว่า ‘คลื่น’ เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญสำหรับการออกแบบโครงการนี้ โดยสำหรับพวกเขา อาคารใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะไม่ใช่เป็นการประดิษฐ์อาคารรูปแบบบีชคลับตามภาพจำที่นำมาตั้งวางไว้ แต่จะเป็นการทำงานกับคำจำกัดความของคลื่นที่แปลงมาเป็นภาษาในเชิงสถาปัตยกรรมแทน
‘คลื่น’ ที่ว่านี้ จึงสะท้อนออกมาทั้งในชื่อร้าน Onda ที่แปลว่าคลื่นในภาษาสเปน รวมถึงบน façade ของร้าน อันเป็นการจำลองภาพของคลื่นผ่านวัสดุคอนกรีตที่ปรากฏไปรอบด้าน โดยในแง่ที่มาของการออกแบบ สถาปนิกเล่าว่าพวกเขาต้องทำงานกับโจทย์อีกโจทย์หนึ่งคือขอบเขตระยะเวลาที่จำกัด เพราะต้องเอื้อให้ธุรกิจได้เร่งเปิดและดำเนินกิจการได้ทันตามกำหนด การออกแบบรูปลักษณ์อาคารจึงจำเป็นต้องสอดคล้องไปกับการออกแบบระบบการก่อสร้างอาคารทั้งหมดด้วย ที่ในที่สุดทำให้พวกเขาเลือกใช้ระบบโครงสร้างเหล็ก ประกอบกับผนังคอนกรีตบนเทคนิค pre-fabrication จนสำเร็จออกมาเป็นเอกลักษณ์ของอาคารดังที่เห็น
ก่อนจะได้มาซึ่ง façade อาคารที่สำเร็จแล้วนี้ สถาปนิกเล่าว่าพวกเขาใช้การทดลองที่หน้างานร่วมกับผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นหลัก โดยสถาปนิกได้ค้นหาวัสดุสำเร็จรูปที่มีลักษณะเป็นลอนคลื่นชนิดต่างๆ เพื่อนำมาใช้เป็นแม่แบบในการหล่อขึ้นรูปคอนกรีต สุดท้าย วัสดุกระเบื้องหลังคาลอนฟูกได้กลายมาเป็นคำตอบของการทดลอง โดยคอนกรีตจะถูกแบ่งหล่อให้เป็นชิ้นๆ ก่อนจะถูกยกขึ้นติดตั้งด้วยเครน แม้ว่าในท้ายที่สุดพื้นผิวจะถูกตกแต่งด้วยเทคนิคสกิมโค้ทเนื่องมาจากข้อจำกัดด้านการทดลองวัสดุแม่แบบ แต่พื้นผิวทั้งหมดนี้ก็มาจากความตั้งใจให้วัสดุคอนกรีตได้สำแดงตัวเองในแง่ที่มาของการก่อสร้าง ดังที่พุทธิพันธ์ เล่าว่า “เราอยากให้พื้นผิวตัวนี้ แสดงถึงความเป็นตัว façade จริงๆ ในเชิงคอนเซ็ปต์ และเราอยากให้เห็นพื้นผิวเป็นคอนกรีต เราคิดว่ามันมีเสน่ห์ มันแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาได้ และมีเรื่องของโทนสีที่ไม่ได้มีความมันเงามากด้วย”
ท้ายที่สุด อาคารร้านอาหารขนาด 290 ตารางเมตร ก็ถูกกรุไปด้วยผืนคอนกรีตขนาดใหญ่สูง 6 เมตร กินพื้นที่รอบอาคาร ด้วยเหตุผลหลักคือการป้องกันอาคารจากความหนาแน่นของย่านใกล้เคียงและการจราจรที่พลุกพล่าน โดยในแง่พื้นที่ใช้สอย อาคารถูกกำหนดพื้นใช้สอยให้เป็นรูปตัวแอล (L) แบ่งส่วนใช้งานร้านอาหารและส่วนคาเฟ่ออกจากกัน จากด้านหน้าจะมองเห็นได้เฉพาะส่วนร้านอาหารผ่านช่องเปิดทรงโค้ง ที่ตลอดรอบอาคารก็จะพบช่องเปิดทรงโค้งเหล่านี้แบ่งผนังคอนกรีตทึบให้มองเห็นการใช้งานภายใน นอกจากนั้น อาคารได้ถูกวางไว้ในตำแหน่งชิดขอบมุมซ้ายด้านในสุดของที่ดิน ทำให้เหลือที่ว่างด้านขวาและด้านหน้าที่ปล่อยโล่งไว้ โดยอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดจากภายนอก คือการถอดรั้วเดิมหน้าด้านของที่ดินออกเพื่อปล่อยโล่งให้ใช้พื้นที่เป็นที่จอดรถได้ โดยสถาปนิกเล่าเสริมว่า การถอดรั้วออกยังทำให้อาคารได้แสดงรูปลักษณ์เด่นชัดขึ้น รวมถึงยังขับเน้นให้อีกแนวความคิดในการออกแบบ นั่นคือการสร้างสภาวะขั้วตรงข้ามระหว่างพื้นที่ใช้สอยภายนอก–ภายในของสถาปัตยกรรมชัดเจนขึ้นด้วย
ในขณะที่ façade คอนกรีตแสดงออกอย่างเรียบเฉยและมีความเป็นส่วนตัวสูง สภาพแวดล้อมภายในได้ถูกออกแบบให้มีบรรยากาศและประสบการณ์ในทางตรงกันข้าม ผู้มาเยือนจะสัมผัสประสบการณ์ได้ผ่านการเข้าถึงอาคารที่ถูกจัดวางไว้อย่างเป็นลำดับ โดยจากภายนอก ผู้มาเยือนจะเพียงมองเห็นกิจกรรมภายในแต่ไม่สามารถเข้าถึงร้านอาหารโดยตรงจากด้านหน้า ทางเข้านั้นได้ถูกกำหนดไว้ในตำแหน่งไว้ในช่องเปิดทรงโค้งช่องหนึ่งทางขวามือของอาคาร เมื่อมาถึง จะพบว่าช่องเปิดนี้เผยให้เห็นคอร์ททางเดินกึ่งกลางแจ้งเป็นทางเข้าหลักของร้านอาหารและคาเฟ่ และเป็นพื้นที่ใส้ในที่แบ่งส่วนใช้งานทั้งสองออกจากกัน ในส่วนนี้ สถาปนิกได้ออกแบบอีกหนึ่งไฮไลท์คือสวนหย่อมใต้ช่องแสงที่นำแสงธรรมชาติมาสู่พื้นที่ภายในอาคารที่ทึบตัน อันเป็นจุดแรกที่ให้บรรยากาศของการพักผ่อนและสร้างความประหลาดใจจากภาพลักษณ์ความเรียบเฉยของภายนอกอาคาร ในคอร์ททางเดินกึ่งกลางแจ้งนี้ จะเผยให้เห็นพื้นที่ใช้สอยภายในทั้งหมด ที่มีการออกแบบอินทีเรียในโทนอบอุ่น ด้วยการใช้ไม้และวัสดุสานเพื่อสื่อถึงความเป็นท้องถิ่นอีสาน ที่สำคัญ คอร์ททางเดินนี้ยังจะนำผู้มาเยือนไปสู่พื้นที่สีเขียวอีกส่วนที่ถูกซ่อนไว้ด้านหลัง ซึ่งจะเรียกว่าเป็นหัวใจของโครงการก็ว่าได้
“เราทำให้อาคารภายนอกมีความทึบเสียส่วนมาก และมีความเป็นส่วนตัว เพื่อจะซ่อนอะไรบางอย่างไว้จากภายนอก” พุทธิพันธ์ เล่าถึงแนวความคิดในการออกแบบของจุดนี้ ซึ่งพื้นที่ของความประหลาดใจที่สถาปนิกกล่าวถึง เป็นสวนหย่อมหลังบ้านที่ประกอบไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ดูร่มรื่น ในส่วนนี้ façade คอนกรีตก็ได้ถูกปรับให้โค้งรับกับสวน นอกจากนั้น สภาวะความเป็นตรงกันข้าม และความประหลาดใจในการค้นพบองค์ประกอบบางอย่างที่ถูกซ่อนอยู่ แน่นอนว่าในแง่หนึ่งเป็นการสร้างความพิเศษด้านประสบการณ์ในการใช้งานพื้นที่ แต่ในอีกแง่หนึ่ง พื้นที่สวนที่ถูกซ่อนไว้ด้านหลังและหลบเลี่ยงจากทั้งสายตาและการเข้าถึงจากโลกภายนอก ก็ดูจะสร้างสภาวะการปฏิเสธหรือแข็งขืนต่อสภาพแวดล้อมภายนอกในหลายกรณี หรือในทางกลับกัน กล่าวได้ว่าบริบทและสิ่งแวดล้อมนั้นก็ได้มีส่วนสร้างให้ที่นี่มีลักษณะเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ภายนอก ดังที่สถาปนิกก็ได้กล่าวไว้เช่นกันว่า “สวนภายในนี้มันเป็นสมบัติของสเปซนี้ เหมือนกับว่า เราไม่รู้เลยว่าในอีก 5 ปี 10 ปี ข้างบ้านจะเปลี่ยนแปลงเป็นอะไรไป เราไม่สามารถควบคุมได้เลยว่าภายนอกมันจะเกิดอะไรขึ้น ฝั่งตรงข้ามอาจจะกลายเป็นอะไรที่ไม่น่าดู หรือแม้แต่ด้านซ้ายที่เป็นบ้านหลังข้างๆ ก็อาจจะกลายเป็นคอนโดฯ อีกหลังหนึ่งขึ้นมาก็ได้ แต่สิ่งที่เราสามารถควบคุมได้คือตัวสเปซที่เราสร้างขึ้นมา ซึ่งเราเลือกโฟกัสกับตรงนี้”
สวนขนาดย่อมนี้ นอกจากจะเป็นความพยายามสร้างพื้นที่หย่อนใจเล็กๆ ที่หาได้ยากในเมืองใหญ่ ยังสะท้อนถึงอิทธิพลด้านบริบทที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนอย่างย่านอารีย์ ที่ได้มีส่วนร่วมสร้างลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ปิดล้อม พร้อมกับซ่อนเร้นและรักษาคุณค่าบางประการจากความคลุมเครือและคาดเดาไม่ได้ของเมืองไว้ ในแง่นี้ จึงน่าสนใจว่าอาจเป็นสถาปัตยกรรมในแนวทางนี้เองที่ผู้คนในบริบทของเมืองกรุงเทพฯ ใช้เพื่อทำความเข้าใจ และธำรงไว้ซึ่งคุณค่าบางอย่าง รวมถึงประนีประนอมกับการอยู่อาศัยภายในเมืองที่เต็มไปด้วยความไม่น่าไว้วางใจไปด้วยในเวลาเดียวกัน