FREEING FRAMEYARD

พาวิลเลียนสีฟ้าอ่อนจาก HAS Design and Research ท่ามกลางสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ของชาวจีนฮากกา ที่เชื่อมโยงเข้ากับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและผู้คนในพื้นที่เข้าด้วยกัน

TEXT: KORRAKOT LORDKAM
PHOTO: YU BAI 

(For English, press here)

Dawan Shiju หรือ Dawan Ancestral Residence เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของชาวจีนฮากกา (หรือคนไทยอาจคุ้นเคยมากกว่าในชื่อ “จีนแคะ”) ตั้งอยู่ในย่าน Pingshan ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน ถูกใช้เป็นหนึ่งในสถานที่หลักของงาน Urbanism\Architecture Bi-City Biennale (UABB) of Shenzhen and Hong Kong เมื่อปี 2022 ผลงานพาวิลเลียนจัตุรัสสีฟ้าอ่อนตั้งเด่นในกลางลานของกลุ่มบ้านเก่าแก่ นาม “Freeing FrameYard” ออกแบบโดย Jenchieh Hung และ กุลธิดา ทรงกิตติภักดี จาก HAS design and research เป็นหนึ่งในชิ้นงานที่โดดเด่นที่สุดในสถานที่นั้น ทั้งในแง่ตำแหน่งที่ตั้ง และแนวความคิดของงานออกแบบ ที่มุ่งเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของสถานที่กับดีไซน์รูปแบบใหม่ๆ เข้าไว้ด้วยกัน

หากดูจากสถานที่ตั้ง Dawan Shiju นั้นเดิมเป็นที่อยู่อาศัยจำนวนมากกว่า 400 ห้อง ที่ถูกสร้างมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1790 โดยปัจจุบันผู้คนได้ย้ายออกไปและกลุ่มอาคารเดิมกลายเป็นอาคารอนุรักษ์ที่เปิดรับคนภายนอกในฐานะสถานที่ท่องเที่ยว และชาวฮากกาในย่านก็ใช้ที่นี้เป็นสถานที่ส่วนกลางจัดงานประเพณีและกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม ในด้านกายภาพ ที่นี่มีลักษณะเป็นกลุ่มบ้านอิฐ เกาะกลุ่มเรียงกันเป็นแถวอย่างมีระบบ ทั้งหมดถูกสร้างอยู่ภายในกำแพงล้อมรอบและมีบึงน้ำขนาดใหญ่ด้านหน้าคล้ายเป็นปราสาท โดยทั่วไปกลุ่มบ้านทั้งหมดถูกวางผังอย่างเป็นสมมาตร และมีระเบียบการวางอาคารที่มีแบบแผนค่อนข้างชัดเจน ซึ่งความปิดล้อมและระเบียบแบบแผนของการสร้างที่อยู่อาศัยเช่นนี้เป็นที่พบมากในหมู่บ้านชาวฮากกาหลายแห่งในหลายภูมิภาคของประเทศจีน อันได้ติดตามไปกับประวัติศาสตร์ของพวกเขาที่ผูกพันธ์อยู่กับการอพยพใหญ่ๆ อยู่เสมอ (สังเกตได้จากชื่อเรียกอย่างคำว่า ฮากกา (Hakka) ที่แปลว่า อาคันตุกะ ในภาษากวางตุ้ง (Cantonese)

เซินเจิ้นนอกจากจะเป็นเมืองหลักๆ ที่ชาวจีนฮากกาอพยพมาอาศัยอยู่มากตั้งแต่อดีตเมื่อนานมาแล้ว ยังมีฐานะเป็นหนึ่งในเมืองแรกสุดที่ถูกกำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน ย่อมทำให้ตัวเมืองมีความเจริญก้าวหน้าและเป็นหนึ่งในเมืองที่ทันสมัยที่สุดในมณฑล กุลธิดาเล่าว่า งาน UABB ที่สำนักงานของเธอได้เคยไปร่วมงานด้วยครั้งแรกเมื่อปี 2019 นั้น ส่วนใหญ่จะเลือกพื้นที่จัดในย่านเชิงอุตสาหกรรมเพื่อฟื้นฟูและดึงผู้คนเข้าสู่ตัวย่านผ่านศิลปะและงานออกแบบทั้งหลาย ความน่าสนใจของงานในปี 2022 นี้จึงอยู่ที่การที่ผู้จัดเลือกสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ด้านการอยู่อาศัยของผู้คนเฉพาะกลุ่มด้วย

Site plan © HAS design and research

สำหรับตัวงานในภาพรวม สถาปนิกเล่าว่าโจทย์ที่พวกเขาได้รับมาจากธีมหลักของพื้นที่จัดที่ว่า ‘Unplugged’ ในความหมายที่หลากหลาย โดยสำหรับผู้จัดงาน อาจแปลได้ทั้งการทำดิจิทัลดีท็อกซ์แล้วย้อนมาอยู่กับประสาทสัมผัสตรงหน้า หรือการประหยัดหรือลดการใช้พลังงาน รวมถึงการถอดออกซึ่งกรอบหรือข้อจำกัดทางความเชื่อใดๆ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนทุกคนได้

“เราเริ่มจากการมองหาคาแรคเตอร์ของพื้นที่ตั้งก่อน” กุลธิดาเริ่มเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของงานออกแบบในสถานที่เก่าแก่ “เราพบว่าตัวอาคารเก่าที่นี่จะมี ‘คอร์ทยาร์ด’ เป็นองค์ประกอบที่เป็นเอกลักษณ์ คือ พอเดินเข้าไปในตัวบ้าน เราก็จะเข้าไปในพื้นที่ใต้ชายคาก่อน แล้วภายในก็จะมีส่วนคอร์ทยาร์ดอยู่ในใจกลาง มันจึงจะมีเรื่องของชุดของคอร์ทยาร์ดต่อกันเรื่อยไปอย่างนี้เป็นซีรี่ส์ ที่เป็นคาแรคเตอร์ของหมู่บ้านชาวฮากกา”

Isometric © HAS design and research

ในแง่ที่ตั้ง กุลธิดายังเล่าว่า ลานว่างที่ถูกกำหนดให้เป็นที่ตั้งของพาวิลเลียนนี้นั้น มีความสำคัญกับชุมชนเจ้าของพื้นที่เดิมพอๆ กับตัวกิจกรรม UABB กล่าวคือ ลานว่างนี้สำหรับงาน UABB จะถูกใช้ในแง่การเป็นเวที หรือเป็นฉากหลังให้การจัดกิจกรรมเปิดตัวนิทรรศการต่างๆ นอกจากนั้น ลานว่างนี้ก็จำเป็นจะต้องให้ชุมชนคนจีนฮากกาเจ้าของพื้นที่เดิมใช้จัดกิจกรรมตามเทศกาลงานท้องถิ่น อย่างเทศกาลตรุษจีน เหมือนที่พวกเขาใช้ในเวลาปกติได้ พาวิลเลียนทั้งหมดจึงจำเป็นต้องถูกถอดออกและประกอบกลับมาใหม่ได้ภายในเวลาอันสั้น ด้วยความจำเป็นที่ต้องออกแบบพื้นที่ให้ยืดหยุ่น เมื่อมาเจอกับแนวคิดการนำลักษณะของ “คอร์ทยาร์ด” ในบ้านเก่ามาใช้ กุลธิดากล่าวว่าได้ถูกแปลออกมาเป็นพาวิลเลียนจัตุรัสขนาด 5 x 5 เมตร สูง 3.6 เมตร สร้างด้วยโครงสร้างเหล็ก โดยฟอร์มของอาคารเกิดจากการนำวัสดุท่อพลาสติก PVC เส้นเล็กขนาด 7 มิลลิเมตร จำนวนถึง 5000 เส้น มาห้อยต่อกันเป็นม่านบางๆ ปิดล้อมพื้นที่ ในเบื้องต้น การปิดล้อมที่ว่านี้แบ่งเป็นม่านซ้อนกัน 2 ชั้น ชั้นนอกเป็นชั้นที่เส้นพลาสติกมีขนาดสั้นบ้างยาวบ้าง มีความสำคัญที่เส้นสายจะถูกเรียงให้เกิดเป็น façade ที่ล้อมาจากรูปลักษณ์ของอาคารรอบด้านที่แตกต่างกันไปในแต่ละด้านทั้งสี่ของ พาวิลเลียนในชั้นนี้ ม่านจะถูกปล่อยให้ห้อยปกคลุมบริเวณเหนือศีรษะด้วย ให้เกิดความรู้สึกว่าถูกปิดล้อม และรู้สึกว่าได้เปลี่ยนผ่านจากพื้นที่ภายนอกเข้าสู่อีกพื้นที่หนึ่งที่เป็นพื้นที่กึ่งภายใน

การเรียงให้ม่านมีทั้งส่วนปิดและส่วนเปิดนี้ ยังต้องสอดคล้องกับบริเวณตำแหน่งตั้ง อันมีรูปปั้นบรรพบุรุษที่คนในพื้นที่เคารพบูชาตั้งอยู่ขนาบข้าง และต้องเปิดช่องให้รูปปั้นทั้งคู่มองเห็นกันเช่นเดิม ในขณะที่ชั้นในเป็นชั้นม่านพลาสติกยาวจรดพื้นเท่ากันทั้งหมด ตีกรอบพื้นที่ขนาด 2.4 x 2.4 เมตร ซ้อนไว้ภายใน โดยม่านชั้นในนี้ยังมีอีกลักษณะพิเศษคือแต่ละผนังได้ถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นผนังรูปโค้ง (Arch) ที่ก็ล้อมาจากลักษณะของประตูในอาคารเก่าแก่รอบข้างเช่นกัน

องค์ประกอบที่สะท้อนจากสถานที่ตั้งเก่าแก่รอบข้างเหล่านี้ สถาปนิกอธิบายว่ายังสื่อถึงลักษณะทางสถาปัตยกรรมรอบๆ อีกมิติหนึ่ง คือผ่านการเข้าถึงและการเปลี่ยนผ่านระหว่างสเปซ ดังเช่นที่บ้านเก่าแก่ทั้งหลายได้ซ่อนคอร์ทยาร์ดไว้ภายใน การตึกรอบพื้นที่ด้วยม่านพลาสติกก็ได้สร้าง ‘คอร์ทยาร์ด’ ที่เปิดโล่งให้เห็นท้องฟ้าไว้ในใจกลางของตัวพาวิลเลียนเช่นกัน ที่สำคัญ พื้นที่ภายในนี้ยังแฝงแนวคิดการบิดองศาของคอร์ทยาร์ดให้หักเหไปจากแนวแกนหลักของตัวพาวิลเลียน และจากแนวแกนหลักของสถานที่ตั้ง ด้วยต้องการแฝงแนวคิดการนำเสนอสิ่งใหม่ไว้ในองค์ประกอบที่สะท้อนมาจากสิ่งเดิมอย่างแยบยล

ผลสุดท้ายจากกระบวนความคิดทั้งหมดนี้ เกิดเป็นพาวิลเลียนสีเดียวกับท้องฟ้า ที่นำลักษณะของสถาปัตยกรรมเดิมของที่ตั้งมาเสนอในรูปแบบดีไซน์ใหม่ โดยในความเชื่อมโยงนี้ สถาปนิกเล่าว่าพวกเขาได้ทำงานร่วมกับชุมชนชาวฮากกาผู้เป็นเจ้าของสถานที่ ตั้งแต่เรื่องเงื่อนไขของสถานที่ตั้ง รูปแบบงานออกแบบที่จะส่งผลถึงบริบทรอบข้าง รวมถึงสีของตัวงานเองก็เกิดจากการทำงานร่วมกับชุมชนเจ้าของพื้นที่เดิมเช่นกัน นอกจากจะได้เชื่อมโยงไปยังสถาปัตยกรรมเก่าแก่รอบๆ แล้ว พาวิลเลียนชิ้นนี้จึงเป็นความพยายามเชื่อมโยงกับผู้คนและวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันด้วย ดังที่กุลธิดากล่าวว่า

“เราอยากให้ พาวิลเลียนนี้ไปบอกคนในยุคปัจจุบันได้ด้วยว่า เวลาเขามาดูหมู่บ้านเชิงประวัติศาสตร์เช่นที่นี่ เราไม่ได้พูดกับเขาตรงๆ แต่เขาสามาถเห็นหรือจินตนาการได้ว่า อันนี้มันคือช่องทางเข้าของประตูดั้งเดิมนะ หรืออันนี้มันคือองค์ประกอบเดิมที่เราเอามาใช้ในรูปแบบปัจจุบันนะ เอามาใช้ในรูปแบบสมัยใหม่ที่ต่างไปจากเดิม

“ถ้าเราต้องการให้มัน ‘Unplugged’ จริงๆ คือ ‘Unplugged’ ความเก่า แล้วมีเรื่องของความใหม่เกิดขึ้น มันต้องมีลักษณะใหม่ ที่เกิดขึ้นในอาคารนี้ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นสเปซ องค์ประกอบงานออกแบบ หรือวัสดุที่ใช้

Material mock-up © HAS design and research

จากแง่มุมนี้ สำหรับสถาปนิก ตัวงานจึงครอบคลุมความ ‘Unplugged’ ในหลายแง่มุม นอกจากการ ‘Unplugged’ จริงๆ แบบที่ตัวพาวิลเลียนสามารถถูกถอดออกแล้วประกอบกับเข้ามาใหม่ตามความจำเป็นของที่ตั้ง รูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมก็เหมือนถูก ‘Unplugged’ เพื่อต่อยอดความหมายใหม่ด้วยสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

hasdesignandresearch.com
facebook.com/hasdesignandresearch

อ้างอิง
ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพรม, ความหมายและอัตลักษณ์ของจีนฮากกา, วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับภาษาไทย, ปีที่ 33 (1) : 215-240, 2556
Nicole Constable, Guest People: Hakka Identity in China and Abroad, University of Washington Press (February 1, 2005)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *