PHOTO ESSAY : EXPO DISMANTLING

TEXT & PHOTO: FILIPPO POLI

(For English, press here

ผมไปงาน Expo Milano ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2015  ไม่ถึง 3 เดือนก่อนที่งานจะเริ่มขึ้น พื้นที่ทั้งหมดดูราวกับรังมดขนาดมหึมาที่ถูกรายล้อมไปด้วยมวลหมู่รถบรรทุกเป็นแถวยาวเหยียดและเหล่าคนทำงานนับพัน ผมไม่เคยเห็นไซต์ก่อสร้างไหนที่ใหญ่โตและซับซ้อนขนาดนั้นมาก่อน ด้วยจำนวนโปรเจ็คต์ที่กำลังถูกดำเนินการไปพร้อมๆ กันในคราวเดียว 

หลังคายักษ์บนทางเดินหลักของงานถูกนำเข้ามาในไซต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พาวิลเลียนต่างๆก็เริ่มจะเป็นรูปเป็นร่าง เกือบทั้งหมดถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีการก่อสร้างแบบแห้งเพื่อร่นเวลาของกระบวนการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ทีมงานจากบางประเทศก็เริ่มขึ้นโครงสร้างกันอย่างรวดเร็วในขณะที่บางทีมก็ดูเหมือนว่าจะต้องใช้ปาฏิหารย์ช่วยถ้าอยากจะทำทุกอย่างให้เสร็จทันเวลา

พื้นที่ทั้งไซต์อยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของตำรวจด้วย เพราะมีคำขู่ว่าจะเกิดการก่อจลาจลโดยกลุ่มผู้ประท้วงชุดดำที่ชื่อเสียงไม่ค่อยจะดีสักไหร่ ระหว่างทางเดินไปยังทางเข้างาน มีโซนที่เรียกว่าโซนเอื้ออาทร’ (zones of condescension) ที่จะมีผู้อพยพมายืนรอต่อคิวที่ด้านนอกรั้วกันทุกเช้าเพื่อรอการถูกว่าจ้างให้เข้าไปทำงานในไซต์ในแต่ละวัน ระบบการจัดการอันล่มสลายและขั้นตอนการว่าจ้างแรงงานแบบไม่เป็นทางการได้กลายมาเป็นทางเลือกเดียวในการทำงานให้สำเร็จลุล่วง ในช่วงท้ายๆ ก่อนวันเปิดงาน เหล่าทีมนักเก็บรายละเอียดมืออาชีพ บริษัทจัดงานแสดงสินค้า และติดตั้งระบบโทรทัศน์ต่างๆ เข้ามาร่วมขบวนกับบริษัทก่อสร้าง เพื่อช่วยพรางอะไรก็แล้วแต่ที่เสร็จไม่ทันการ และเตรียมทุกอย่างให้พร้อมสำหรับการเปิดงานอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤษภาคม 2015

ผู้เข้าร่วมงานสิริรวมราว 21 ล้านคน คือสิ่งที่ตามมา และสื่อก็เฉลิมฉลองความสำเร็จนี้ด้วยบทความประกาศศักดาถึงการฟื้นคืนชีพของมิลานและอิตาลี

กฎของ BIE กำหนดว่า14 เดือนหลังจากงานจบลง ประเทศที่เข้าร่วมต้องรื้อถอนทุกอย่างให้อยู่ในสภาพเดิม และควรพยายามนำเอาพาวิลเลียนไปใช้งานที่อื่น มีอยู่ไม่กี่ประเทศที่พอจะจัดการหาที่ลงให้กับพาวิลเลียนของตัวเองได้ เป็นที่น่าเสียดายว่า รายชื่อของกลุ่มที่เอาพาวิลเลียนไปทำลายทิ้งนั้นยาวกว่ากลุ่มที่เลือกที่จะถอดชิ้นส่วนแล้วนำไปใช้ใหม่ อย่างไรก็ดี งาน Expo ก็กำลังปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยอย่างช้าๆ ขยะที่เกิดจากงานแสดงสินค้าในสเกลใหญ่โตขนาดนี้นั้นอยู่ในระดับที่นับว่ารับไม่ได้ และกลยุทธที่จะช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้การผลิตขยะมหาศาลขึ้นมาอีกก็เป็นสิ่งที่กำลังถูกหยิบยกมาพิจารณา

Expo Milano สิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม 2015 และในช่วงปลายปี ประตูของมันถูกเปิดขึ้นเพื่อให้เหล่ารถบรรทุกและคนงานได้เข้าไปรื้อถอนพาวิลเลียนออกมาราวกับชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ขนาดมหึมา ผมได้เข้าไปที่งานอีกสองครั้งนับแต่ตั้งมันถูกปิดลงไม่ให้สาธารณชนเข้าถึงได้อีกต่อไป หลังจากได้เห็นกระบวนการก่อสร้างตลอดเวลาหลายเดือนที่งานดำเนินไป วงจรหนึ่งปิดตัวลง ก่อนจะบันทึกร่องรอยของสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ตรงนั้น รวมไปถึงเหล่าเครื่องจักรที่รื้อถอนเหล็ก เลื่อย และแรงงานของเหล่าคนงานผู้อดทนไปกับการคัดแยกวัสดุทั้งหลายแหล่

พาวิลเลียนบางหลังหายไปราวกับว่ามันระเหยไปกับอากาศ บนพื้นปรากฏร่องรอยของฐานรากและโคลนดิน บางชิ้นส่วนก็ถูกรื้อจนฉีกขาด บางหลังดูราวกับว่ามันถูกทำลายด้วยระเบิดลูกยักษ์ แต่ก็ยังคงยืนอยู่อย่างสงบนิ่ง

หลังจากที่เมื่อไม่กี่เดือนก่อนผมเที่ยวตามหาจุดถ่ายรูปดีๆ ตอนนี้ผมเดินอยู่คนเดียวไปตามทางเดินหลักที่รายล้อมไปด้วยภูมิทัศน์ที่ดูราวกับโลกในวันหลังระเบิดปรมาณูลง เหล่าอาสาสมัครเข้ามาช่วยชีวิตพืชพรรณ แต่ต้นที่ไม่สามารถมีชีวิตรอดหากขาดระบบน้ำที่มนุษย์สร้างมาช่วยหล่อเลี้ยงก็ได้ล้มตายไป ในขณะเดียวกัน the third landscape ตามแนวคิดของ Gilles Clement ก็เพิ่มพื้นที่ขึ้นท่ามกลางกองโครงกระดูกของโครงสร้างและพื้นที่สวนที่ถูกทิ้งรกร้าง ในแง่มุมนี้ Expo ก็มีเสน่ห์ในแบบของมัน

ผลงานภาพถ่ายที่ถูกนำเสนอในที่นี้ต้องการที่จะตั้งคำถามที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องแต่กับเพียงสถาปัตยกรรม แต่เกี่ยวพันไปถึงสังคมของเราและความหมายของงานนิทรรศการเหล่านี้

_____________

Filippo Poli เป็นช่างภาพที่เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรม เขาทำงานอยู่ในยุโรปและร่วมงานกับบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมหลายแห่งรวมไปถึงสถาบันและสำนักพิมพ์มากมาย

ผลงานส่วนตัวของเขามุ่งความสนใจไปที่ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ และผลลัพธ์ที่มันก่อให้เกิดต่อพื้นที่

ภาพถ่ายของเขาได้รับเลือกให้ถูกจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลคชั่นถาวรของ Art Centre of Santander of public Enaire Foundation แห่งใหม่ งานของเขายังได้ถูกนำเสนอในสถานที่และงานต่างๆในยุโรป เช่น Climate Summit (COP25) ที่มาดริด งาน Venice Biennale, Arco Madrid, Photo España, Deutsches Architekturmuseum และในสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงงานที่เป็นส่วนหนึ่งของคอลเลคชันส่วนตัวและสาธารณะหลายต่อหลายคอลเลคชัน

เขามีผลงานถูกตีพิมพ์ในนิตยสารสถาปัตยกรรมสำคัญๆหลายฉบับ รวมไปถึงงานที่ได้รับรางวัลโดย Fundación Enaire, PX3, European Architectural Photography, Architekturbild, IPA, Photography Master Cup, Philadelphia Basho, ArchTriumph และอื่นๆ

Filippopoli.com
facebook.com/filippopoliphotography
instagram.com/filippo.poli

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *