THRU THE STRAITS OF DEMOS

นิทรรศการโดย กรกฤช เจียรพินิจนันท์ ที่ใช้กายภาพแกลเลอรี่ รายละเอียดของการติดตั้งผลงาน หรือแม้แต่ตัวกระดาษที่ใช้อัดรูปเพื่อถ่ายทอดบทกวีในพื้นที่จัดแสดง

TEXT: TUNYAPORN HONGTONG
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

ปีนี้ กรกฤช เจียรพินิจนันท์ มีหนังสือบทกวีภาพถ่ายในโครงการระยะยาว POEM ออกมาเพิ่ม 3 เล่ม คือ เล่ม 19: Lumphini Complex ที่กรกฤชใช้การทำงานแบบ research-based เข้าไปบันทึกภาพและเหตุการณ์ทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่สวนลุมพินี – สวนสาธารณะที่ศิลปินมองว่ามีการซ้อนทับกันของพื้นที่ส่วนตัว – อย่างต่อเนื่องตลอดปี 2565, เล่ม 20: Foreigners and the Area of Four to Eight Sunny Rain ที่บันทึกเรื่องราวการเดินทางไปจังหวัดระนองเพื่อไปดูคอคอดกระที่ศิลปินมีความสนใจเป็นพิเศษ ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และในเชิงภาพ และเล่ม 21: Day for Night ที่เป็นเรื่องราวในอพาร์ตเมนต์ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวของศิลปิน ระหว่างการล็อกดาวน์ช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยทั้งสามเล่มนี้ เขากลับมาทำงานร่วมกับ BANGKOK CITYCITY GALLERY และมีนิทรรศการ photo installation จัดแสดงไปพร้อมกันด้วย 

‘Thru the Straits of Demos’ ดึงภาพจากหนังสือ POEM ทั้งสามเล่มมาใช้ แต่กรกฤชก็เลือกใช้วิธีนำเสนอที่ต่างออกไปจากหนังสือภาพถ่ายโดยสิ้นเชิง คือเปลี่ยนจากโฟโต้บุ๊กที่เก็บรวบรวมภาพไว้เป็นจำนวนมากที่เล่าเรื่องเรียงตามลำดับเวลา เมื่อมาทำงานกับพื้นที่ที่เป็นห้องสี่เหลี่ยมสีขาว (white cube) เขากลับเลือกภาพถ่ายจากหนังสือมาใช้แค่ไม่กี่ชิ้น ซึ่งภาพถ่ายส่วนมากที่เลือกมาก็ถูกนำมาเพิ่มมิติให้อยู่ในรูปแบบประติมากรรม นอกจากนั้น กรกฤชยังใช้การจัดการพื้นที่แกลเลอรี่เพื่อสร้างความรู้สึกบางอย่างและเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมได้ตีความหมาย

“พื้นที่ white cube มันจะมี void ใหญ่ๆ ที่ศิลปินมักจะรู้สึกได้ว่ามันเหมือนดูดพลังเราไปได้ง่าย” เขาว่า “แต่ด้วยความที่สเปซของ BANGKOK CITYCITY GALLERY มันมีหลายจุดที่น่าสนใจมาก ทั้งในแง่ของสถาปัตยกรรม ความสูงของพื้นที่ เพดานที่เป็นช่องแสง แล้วก็มีทางเข้า-ทางออก มีประตู มันจึงมีทางเลือกให้ศิลปินเลือกว่าจะดึงจุดเด่นของสเปซมาพูดแบบไหนได้บ้าง ซึ่งทางเลือกที่เราเลือกเป็นเรื่องของการเลือกช่องทางในการเข้าถึงตัวงานและการจัดการการเคลื่อนไหวในพื้นที่นิทรรศการ”

เมื่อเดินผ่านประตูเข้าไปในแกลเลอรี่ เราจะสังเกตเห็นเทปตีเส้นบนพื้นเป็นเส้นตรงขนานไปกับผนังแกลเลอรี่ด้านยาวฝั่งซ้ายมือที่ศิลปินจงใจปล่อยทิ้งไว้ให้ว่างเปล่า (ผนังนี้มีแค่ป้ายที่เป็นบทกวี ‘Wall Text’ 2023 ชิ้นเล็กๆ ติดไว้เท่านั้น) โดยธรรมชาติแล้ว เรามีแนวโน้มจะเดินตามเส้นนั้นไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งเมื่อไปสุดผนังก็จะเจอกับภาพถ่าย ‘Non Place’ (2023) ที่เป็นรูปคอคอดกระถ่ายจากมุมสูง โดยศิลปินเลือกติดตั้งภาพนี้ให้อยู่สูงกว่าปกติ คืออยู่ในระดับเดียวกับกรอบด้านบนของประตูที่อยู่ทางซ้ายมือ (จนเราต้องแหงนหน้าดูและเกิดความรู้สึกที่แปลกไป) จากนั้น เมื่อเดินไล่ตามผนังตามเข็มนาฬิกา เราจะได้ชมผลงานชิ้นอื่นๆ จนไปจบที่ภาพ ‘Wooden Stage’ (2023) ในผนังฝั่งตรงข้ามกับที่ติดตั้ง ‘Non Place’ โดยในภาพนี้มีพื้นยกระดับทำจากไม้คล้ายเวทีและฉากหลังเป็นป่าโกงกางสีเขียว

กรกฤชบอกว่าเขาได้ไอเดียการจัดการพื้นที่ครั้งนี้มาจากตอนเดินทางไประนอง ทีแรก เขาตั้งใจไปดูสถานีรถไฟและรางรถไฟโบราณสายคอคอดกระที่กองทัพญี่ปุ่นพยายามสร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่พอไปถึงจริงๆ กลับไม่พบอะไรที่สามารถเอามาทำงานต่อได้ จนกระทั่งได้คุยกับชาวบ้านละแวกนั้น เขาและทีมงานอีกสามคนจึงเปลี่ยนแผนไปที่ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลน

“ในพื้นที่อนุรักษ์ฯ จะมีสะพานทางเดินเข้าไปในป่าโกงกาง เส้นทางนี้เป็นปูนสลับไม้ และมีจุดหนึ่งที่ยกพื้นไว้สูงเพื่อให้คนเดินขึ้นไปดูป่าจากมุมสูง ทีนี้ ตอนเดินกลับลงมา เราก็มาเจอเวทีอันนึง เป็นไม้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาเอาไว้ทำอะไร แต่ทั้งหมดนี้ทำให้เรามีไอเดียในการจัดการเรื่องความเคลื่อนไหวของพื้นที่ในนิทรรศการนี้ พ้องกับที่ตัวแกลเลอรี่ที่นี่ ถ้าเราเดินเข้ามาจากลานจอดรถก็จะต้องขึ้นสเต็ปมาด้านบนนิดนึง เดินผ่านช่องทาง เข้ามาในแกลเลอรี่ … มันทำให้เรานึกถึงการเดินในศูนย์อนุรักษ์ตรงนั้น”

 การจัดการเคลื่อนไหวของพื้นที่ที่กรกฤชพูดถึง อาจเป็นเรื่องที่อธิบายยากสักหน่อยว่าคืออะไรกันแน่ แต่จากประสบการณ์ที่ได้เข้ามาชมนิทรรศการครั้งนี้ เราต้องบอกว่ามันมีความเพลิดเพลินบางอย่างในการใช้เวลาค่อยๆ พิจารณารายละเอียดของการติดตั้งชิ้นงานแต่ละชิ้น เพราะนอกจากผนังขาวด้านหนึ่งที่ถูกปล่อยทิ้งให้ว่างเปล่า (คล้ายการทิ้งสเปซในเลย์เอาท์หนังสือ) และการติดตั้งภาพในระดับที่สูงถึงขอบประตูด้านบนอย่างที่กล่าวไปแล้ว เรายังสังเกตว่า ‘Wooden Stage’ (2023) หรือภาพเวทีไม้ในป่าโกงกางสีเขียว ติดตั้งอยู่บนผนังที่ทั้งด้านซ้ายและด้านขวามีบานกระจกเปิดให้เห็นต้นไม้สีเขียวและแสงแดดด้านนอก และภาพนี้ก็ติดตั้งตรงกันพอดิบพอดีกับ ‘Concrete Stage’ (2023) ในผนังด้านตรงข้าม ภาพ ‘Concrete Stage’ เป็นรูปเวทีเหมือนกัน แต่เป็นเวทีคอนกรีตในสวนลุมที่ถูกใช้เป็นที่ออกกำลังกายของประชาชน นอกจากนั้น ภาพนี้ยังมีความพิเศษซ่อนอยู่ในรายละเอียด นั่นคือการอัดภาพลงกระดาษวางขอบเอียง และเมื่อนำเอาภาพไปใส่กรอบก็เอียงอีก โดยที่ศิลปินเองไม่ได้ตั้งใจ แต่จงใจนำมาจัดแสดงเมื่อเห็นว่าภาพเอียงถึงสองจุดด้วยกัน 

ในนิทรรศการครั้งนี้ กรกฤชทำงานกับห้องอัดภาพหลากหลาย ตั้งแต่ห้องอัดภาพทั่วไปที่อัดภาพงานแต่งงาน งานรับปริญญา ห้องอัดภาพระดับมืออาชีพที่ทำงานเชิงอุตสาหกรรม และห้องอัดภาพเฉพาะทางที่อัดภาพในแนววินเทจ “คือจะบอกว่าเป็นการทดลองของเราก็ได้ แต่ช่วงล็อกดาวน์เนี่ย เราว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมบางอย่างเกิดขึ้น อย่างในเรื่องเศรษฐกิจ พอเราทำงาน เราก็อยากไปดูว่ามันมีอะไรเปลี่ยนไปในกระบวนการผลิตภาพถ่ายเหล่านี้บ้าง เราก็เลยไปดูตามแล็ปต่างๆ ว่ามีเทคนิคอะไรหลงเหลือบ้าง หรือว่าวิธีการทำงานมันเป็นอะไรยังไงแล้วบ้าง ซึ่งการทำงานกับ local lab ที่เขาทำภาพถ่ายเชิงแมสสำหรับคนทั่วไปมันน่าสนใจและน่าดึงเอาบางประเด็นมาพูดในอินสตอลเลชันครั้งนี้ เพราะเราคิดว่าอินสตอลเลชันน่าจะเป็นการที่ศิลปินสามารถสะท้อนภาพรวมของสังคมหรือบริบทที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวศิลปินในเวลานั้นออกไปได้ด้วย”

การขึ้นกรอบรูปแต่ละชิ้นก็เช่นเดียวกัน กรกฤชเลือกใช้กรอบที่มีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามเรื่องราว เช่น ‘Boat’ (2023) ที่นำภาพถ่ายจากบนเรือและชายหาดที่ระนอง มาจัดเลย์เอาท์และใส่กรอบที่ทำจากไม้บีช โดยออกแบบกรอบให้มีเหลี่ยมมีมุมคล้ายรูปทรงกราบเรือ, ‘Ivory’ (2023) ภาพนู้ดผู้หญิงและภาพทะเลเข้ากรอบไม้พ่นสีงาช้างที่หวานจนดูโดดออกมา และ ‘Cabinet’ (2023) ที่มีความเป็นประติมากรรมชัดเจนขึ้นไปอีก โดยเขาทำงานกับช่างฝีมือ ใช้กรอบไม้มะฮอกกานีที่ขึ้นรูปโดยไม่ใช้ตะปู ตามแบบกล้องถ่ายรูปสมัยกลางศตวรรษที่ 19 ที่พัฒนามาจากกล้องรูเข็ม เป็นกล้องไม้ มีเลนส์ เข้าไม้โดยไม่ใช้ตะปู และสามารถเปิดตัวกล้องด้านหลังออกได้ จากนั้น เขาจึงเอาภาพถ่ายที่อัดจากห้องอัดภาพทั่วไปมาทดลองวาง เพื่อดูว่าจะออกมาเป็นรูปทรงอย่างไร

“เราอาจมองว่าภาพถ่ายคือกระดาษ เพราะมันปรากฏอยู่บนกระดาษ แต่จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่แค่กระดาษ กว่าจะออกมาเป็นภาพถ่าย มันผ่านกระบวนการทางเคมี มีการผสมวัสดุอย่างอื่นเข้าไป เช่น ไฟเบอร์ ซึ่งสำหรับผม มันเป็นเซนส์ของประติมากรรม”

ยังมีงานอีกสองชิ้นที่ถูกนำเสนอในเชิงประติมากรรมชัดเจน คือ ‘Door’ (2023) ที่นำภาพถ่ายติดบนประตูไม้ขนาดเดียวกันกับประตูที่อพาร์ตเมนต์ของกรกฤช และ ‘Winkieboy Secret Map’ (2023) ที่เขานำภาพที่ถ่ายขึ้นตามจุดต่างๆ ในสวนลุมพินีมาจัดวางตามตำแหน่งจริงเป็นแผนผัง โดยมีเรื่องราวของประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของสวนลุมฯ ที่เคยเป็นสถานที่นัดพบกันของกลุ่มเกย์รวมอยู่ด้วย ในแผนผังนี้ยังมีนาฬิกาจัดวางอยู่ในตำแหน่งเดียวกับหอนาฬิกา โดยทั้งหมดจัดวางอยู่บนฐานไม้ที่ได้รูปทรงมาจากโต๊ะปูนในสวนลุมพินี

ในนิทรรศการ photo installation ของกรกฤชครั้งนี้ เรื่องราวที่อยู่ในภาพถ่ายไม่ได้สำคัญไปกว่าการที่ตัวภาพถ่ายถูกศิลปินนำเสนอออกมา และเรื่องราวที่ถูกเล่าในนิทรรศการก็แตกต่างไปจากในหนังสือภาพถ่ายของเขาพอสมควร แต่ไม่ว่าจะเป็นหนังสือบทกวีภาพถ่าย POEM หรือนิทรรศการ ‘Thru the Straits of Demos’ สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้เหมือนกัน คือ บรรยากาศความเป็นกวี (poetic) ที่มีกลิ่นอายอยู่ทั้งในหน้ากระดาษและบนพื้นที่แกลเลอรี่ ซึ่งแน่นอนว่ามันเกิดจากวิธีการของศิลปินที่แตกต่างกันเช่นกัน 

นิทรรศการ ‘Thru the Straits of Demos’ โดย กรกฤช เจียรพินิจนันท์ จัดแสดงที่ BANGKOK CITYCITY GALLERYY ระหว่างวันที่ 22 เมษายน – 3 มิถุนายน 2566

bangkokcitycity.com
facebook.com/bangkokcitycity

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *