บ้านในประเทศจีน ที่ HAS Design and Research ที่สร้างบรรยากาศของการพักผ่อน ด้วยการเชื่อมโยงภายนอกภายใน และการควบคุมคุณภาพแสงธรรมชาติในบ้านให้นุ่มนวล
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: FANGFANG TIAN
(For English, press here)
จีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดที่สุดในโลก ผู้คนต้องกักตัวอยู่ภายในบ้านเป็นระยะเวลายาวนานหลังสถานการณ์คลี่คลายลง จึงไม่น่าแปลกใจที่แนวโน้มการออกแบบบ้านในจีนช่วงหลังจะเปลี่ยนไป บ้านไม่ได้เป็นเพียงแค่ที่อยู่อาศัย แต่เป็นสถานที่พักตากอากาศไปในตัวด้วย เพราะผู้คนปรารถนาให้สถานที่ที่ตัวเองใช้เวลาแต่ละวันมากที่สุดเกิดบรรยากาศของการพักผ่อน มีความใกล้ชิดธรรมชาติ ชดเชยความรู้สึกโหยหาโลกภายนอกอันรุนแรงตอนเกิดโรคระบาด
Forest Villa คือบ้านที่สตูดิโอสถาปัตยกรรม HAS Design and Research ดีไซน์ให้บรรยากาศภายในบ้านและภายนอกเชื่อมโยงเข้าหากัน พร้อมไล่เรียงประสบการณ์แต่ละชั้นให้แตกต่างจากชั้นใต้ดินที่เป็นดั่งถ้ำ สู่ลำต้น และยอดไม้ที่ชั้นสูงสุดของบ้านคือชั้นสาม บ้านตั้งอยู่ในเมืองเหอเฝย์ เมืองหลวงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของมณฑลอันหุย ประเทศจีน และอยู่ไม่ไกลจากอุทยานแห่งชาติภูเขาต้าชู อันสวยงามร่มรื่น
Forest Villa เดิมเป็นบ้านเดี่ยวภายในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ออกแบบอาคารลอกเลียนหน้าตาสถาปัตยกรรมตะวันตก ก่อนจะเป็น Forest Villa บ้านเคยประดับประดาด้วยซุ้มหน้าต่างทรงโค้ง บนกำแพงแปะด้วยเสาตกแต่ง และกรุด้วยแผ่นกระเบื้องที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับอิฐก่อ พรมแดนระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกแบ่งกั้นกันอย่างชัดเจน
เจอร์รี่ หง และ กุลธิดา ทรงกิตติภักดี สถาปนิกจาก HAS Design and Research สลัดอาภรณ์เก่าแบบตะวันตกออกไป แล้วหาจุดร่วมที่สามารถสอดแทรกกลิ่นอายของความตะวันออกเข้าไปใหม่ เพื่อย้ำเตือนถึงตัวตนและบริบทที่ตั้งบ้าน และสร้างความเชื่อมโยงธรรมชาติกับภายในเข้าหากัน ทำให้บ้านกลายเป็นสถานที่พักผ่อนอย่างเต็มตัว ห้องใต้ดินลึกสองชั้นคือพื้นที่นั่งเล่นและส่วนรับรองแขกเวลาจัดงานเลี้ยง กำแพงแบ่งกั้นโถงทางเดินกับส่วนนั่งเล่นมีสัดส่วนหนากว่าปกติเพื่อซ่อนตู้เก็บของไว้ด้านใน มอบความรู้สึกทึบตันหนักแน่นคล้ายอยู่ในถ้ำ แม้จะอยู่ใต้ดิน แต่ห้องกลับไม่มืดมิดอุดอู้ หากแต่ปลอดโปร่งเหมือนอยู่เหนือระดับดินด้วยแสงธรรมชาติที่ส่องสู่คอร์ทไม้ไผ่ด้านหลังผ่านช่อง skylight ช่องหน้าต่างน้อยใหญ่เปิดมุมมองหาสวนในตำแหน่งที่กะเกณฑ์ไว้อย่างดี เปลี่ยนภาพทิวทัศน์เป็นประหนึ่ง painting ประดับบ้าน
รูปแบบการเจาะช่องบนกำแพงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้งดำเนินต่อเนื่องจากชั้นใต้ดินมาที่ชั้นหนึ่ง กรอบอาคารชั้นนี้ล้อมรอบด้วยช่องหน้าต่างตัดสลับกับกำแพงเส้นตั้งทึบ สร้างบรรยากาศของสเปซที่ห่มคลุมด้วยลำต้นของต้นไม้นานาชนิด บานหน้าต่างติดแผ่น metal plate ขนาดบางเป็นกรอบยื่นออกมา เป็นดีเทลที่อ้างอิงถึงองค์ประกอบสถาปัตยกรรมในสวนจีนอย่าง ‘ประตูพระจันทร์’ ที่ทำหน้าที่เป็นกรอบภาพ ขับเน้นทิวทัศน์ของสวนให้ชัดเจน และสื่อถึงการเชื่อมโยง เปลี่ยนผ่าน ระหว่างพื้นที่หน้าประตูและหลังประตู สำหรับบ้านนี้ metal plate ก็เป็นสัญลักษณ์แทนการเชื่อมต่อระหว่างภายในและภายนอกบ้านไปด้วย
เจอร์รี่เล่าว่าพวกเขาต่อเติมโถงทางเข้า เพิ่มออกมาจากห้องนั่งเล่น เพื่อสร้างเป็นพื้นที่เปลี่ยนผ่านจากด้านนอกสู่ด้านใน คล้ายระเบียงทางเข้าในสถาปัตยกรรมบ้านจีนสมัยก่อน โถงทางเข้าช่วยกรองแสงไม่ให้เจิดจ้าจนเกินไป แสงและเงาที่คละคลุ้งภายในจึงนุ่มนวลอ่อนโยน สวนด้านนอกให้ความรู้สึกอันอิสระ เป็นธรรมชาติที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุม แตกต่างกับสถาปัตยกรรมภายในที่สะอาดสะอ้าน ชัดเจนด้วยเส้นสายเฉียบคม กุลธิดาเสริมเพิ่มเติมเรื่องการออกแบบสวนว่า พวกเขาออกแบบสวนด้วยเส้นสายโค้งมนเพื่อให้เกิดภาพลื่นไหลล้อมรอบอาคารสถาปัตยกรรมทรงเหลี่ยม โดยเจ้าของโครงการเห็นด้วยกับการเลือกใช้พันธุ์ไม้ที่ดูงอกเงยอย่างเสรี ไม่มีการตัดแต่ง รังสรรค์สภาพแวดล้อมเป็นดั่งผืนป่าในธรรมชาติ
ต่อยอดจากถ้ำและลำต้น ชั้นสองและสามของบ้านซึ่งเป็นห้องนอนและพื้นที่ส่วนตัวคือบรรยากาศของการอยู่บนยอดไม้ ส่วนนี้ปรากฏบานหน้าต่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอนขนาดใหญ่ ซึ่งมีสัดส่วนแตกต่างกับช่องหน้าต่างและช่องโล่งส่วนใหญ่ในบ้านที่เป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง บานหน้าต่างขนาดใหญ่เหล่านี้เปิดรับภาพยอดไม้และทิวทัศน์ภายนอกอย่างเต็มที่ ดึงโลกนอกบ้านให้ใกล้ชิดเหมือนอยู่แค่ปลายเอื้อมมือ สถาปนิกยังปรับฝ้าห้องนอนทั้งสองชั้นให้ลาดเอียงเพื่อเปิดสเปซให้ดูโอ่โถงใหญ่โตมากขึ้น
โถงอเนกประสงค์ชั้นสามแวดล้อมด้วยบานประตูหลายบาน เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานเลือกเปิด เลือกปิด ตามอัธยาศัย หากต้องการให้แสงแดดและอากาศถ่ายเทอย่างทั่วถึง อยากเชื่อมต่อพื้นที่ทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียว ก็อาจเลือกเปิดบานประตูทั้งหมด แต่หากต้องการความเป็นส่วนตัว ก็เลือกปิดบานประตูบางส่วนหรือทั้งหมดตามดีกรีความเป็นส่วนตัวที่ต้องการ จากโถงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ห้องธรรมดา ก็กลายเป็นพื้นที่มีชีวิตที่สามารถปรับแต่งคุณลักษณะตามชีวิตที่อยากใช้
แสงสว่างที่ส่องเข้ามาภายในบ้านมีความนุ่มนวล ไม่หยาบกร้านจนทำให้ห้องขาวโพลนแสบตา เป็นเพราะแสงผ่านการกรองจากบรรดาต้นไม้มาแล้วชั้นหนึ่ง หรือไม่ก็เป็นแสงที่เข้ามาทางอ้อม (indirect light) อย่างเช่นห้องใต้ดินที่แสงตกกระทบลงบนคอร์ทไม้ไผ่ ก่อนจะสะท้อนเข้ามายังพื้นที่ภายใน กำแพงบ้านฉาบทาด้วยสี Microcement สีขาวนวลที่ช่วยกระจายแสงภายในให้อ่อนโยน ละมุนละไม
แม้แต่การส่องสว่างของดวงโคมก็ยังเป็นการส่องสว่างแบบ indirect light เป็นส่วนใหญ่ Jenna Tsailin Liu นักออกแบบแสงสว่างดีไซน์ให้ดวงโคมซ่อนอยู่ภายในฝ้า มอบแสงสว่างลงมาผ่านการสะท้อนจากผืนกำแพงอีกชั้น สเปซที่ออกมาจึงเกลี้ยงเกลา ไร้ร่องรอยของจุดดวงโคม ส่วนดวงโคมที่ต้องเผยกายออกมา ก็ถูกดีไซน์เป็นงานประติมากรรมหรืองานศิลปะที่มีเส้นสายอันบางเบา
แสงแดดลูบไล้บนผืนกำแพงขาวนวลอย่างอ่อนโยน พันธุ์ไม้โอนเอนไหวติงตามสายลม การใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน Forest Villa จึงไม่ใช่การตัดขาดตัวเองจากโลกภายนอก แต่เป็นการใช้ชีวิตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ และบริบททางวัฒนธรรมของจีนอันเป็นที่ตั้งอาคารนี้เอง