หนังสือโดย Julia Watson ที่พาไปสำรวจตำนานความเชื่อของชนพื้นเมือง ซึ่งส่งผลต่อการคิดค้นข้าวของเครื่องใช้และสิ่งปลูกสร้างที่ดำรงอยู่โดยเกื้อกูลกับธรรมชาติ
TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
Julia Watson
Taschen America Llc (2020)
Hardcover
10 x 0.98 x 6.89 inches
418 pages
ISBN 978-383-657-818-9
เรื่องเล่าในอดีตขับเคลื่อนมนุษยชาติมาโดยตลอด ตำนานต่างถิ่นก่อร่างชุดความคิดที่กลุ่มอารยธรรมหนึ่งจะยึดถือในฐานะวัฒนธรรม ชี้นำหนทางในฐานะธรรมเนียมปฏิบัติ และสร้างโลกทัศน์ที่ชนชาติใดๆ จะมีต่อสิ่งแวดล้อมของตัวเอง เรื่องเล่าทั้งหลายต่างคล้ายธารน้ำที่มีอยู่กระจัดกระจาย บ้างไหลบ่ารวมกัน บ้างแห้งขอดสูญหาย ที่น่าเสียดายคือบางเรื่องเล่ากลับถูกผลัดทิ้งอย่างจงใจในฐานะสิ่งล้าสมัยที่ไม่ตอบรับกับโลกที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์และข้อมูล ในวันที่โลกกระแสหลักได้หันทิศทางไปสู่เรื่องเล่าแบบใหม่ในชื่อ ‘มายาคติแห่งเทคโนโลยี’ ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมที่เอาชนะขีดจำกัดของมนุษย์หรือธรรมชาติรอบข้าง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับ ‘ยุคแอนโทรโปซีน’ อันหมายถึงยุคสมัยที่มนุษย์ได้เป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างผลกับธรรมชาติมากที่สุดทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ได้ถือกำเนิดขึ้น และในห้วงเวลาที่ภาวะโลกร้อน อุณหภูมิในมหาสมุทรที่สูงขึ้น การสูญพันธุ์ของหลากหลายสปีชีส์ ได้ชวนให้มนุษย์ได้กลับมาตั้งคำถามถึงเรื่องเล่าและมายาคติอันเป็นกระแสหลักพร้อมทั้งค้นหารูปแบบเรื่องเล่าที่มนุษย์และธรรมชาติสามารถดำรงอยู่ด้วยกันได้ เรื่องที่น่าสนใจคือคำตอบของมายาคติแบบใหม่อาจจะไม่ได้ซ่อนอยู่ที่ไหนไกลไปกว่าอดีตที่เราได้เคยผ่านมา
Lo-TEK: Design by Radical Indigenism คือหนังสือจาก Julia Watson นักเขียน นักวิจัย และภูมิสถาปนิกผู้ก่อตั้ง Julia Watson Studio ในนิวยอร์กที่จะพาผู้อ่านสำรวจ ‘ตำนานความเชื่อ’ ของชนพื้นเมืองที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์และมุมมองที่ชนพื้นเมืองนั้นๆ มีต่อสิ่งแวดล้อมไปจนถึงเทคโนโลยีเชิงพื้นที่และสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งนำเสนอแนวคิด ‘Lo—TEK’ หรือ (Lo)cal + (T)raditional (E)cological (K)nowledge อันเป็นขบวนการทางความคิดที่พิจารณาเอาเทคโนโลยีในเชิงพื้นที่จากชนพื้นเมืองเหล่านั้นมาปรับใช้ในปัจจุบัน ในฐานะสถาปัตยกรรมและงานออกแบบที่ส่งเสริมความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ เนื้อหาภายในหนังสือได้ครอบคลุมเทคโนโลยีและที่มาอันถูกพัฒนามาจากตำนานของชนเผ่าทั้ง 18 เผ่า ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลกบนระบบนิเวศทั้ง 4 แบบ ประกอบด้วยภูเขา ป่า ทะเลทราย และพื้นที่ลุ่มน้ำ ที่ส่งผลต่อบริบททางกายภาพของพื้นที่ซึ่งแตกต่างกันออกไป
Julia ได้เริ่มต้นจากการชี้ให้เห็นถึงองค์ความรู้ของชนพื้นเมืองต่างๆ อันเกิดจากทั้งการลองผิดลองถูกพร้อมทั้งถูกส่งต่อและต่อยอดกันจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านวาทกรรมหลากหลายแบบ อาทิ พิธีกรรม นิทาน เรื่องเล่าปรัมปรา ที่ถูกถ่ายทอดกันภายในชนพื้นเมืองนั้นๆ ในฐานะแนวทางปฏิบัติที่สืบทอดกันต่อมา เกิดเป็นองค์ความรู้ที่มีความจำเพาะและสามารถตอบรับกับสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศจุลภาคในที่นั้นๆ ได้อย่างลึกซึ้ง
ชนเผ่า Khasis แถบรัฐเมฆาลัย ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดียมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำจากต้นยางอินเดีย โดยอ้างอิงจากตำนานโบราณที่บอกเล่าถึงบรรพบุรุษของตน ที่ได้เดินทางจากสวรรค์มายังดินแดนแห่งนี้ผ่านสะพานศักดิ์สิทธิ์ที่มีรูปลักษณ์เป็นต้นไม้ใหญ่ ในหน้ามรสุม ชาว Khasis จะใช้สะพานจากต้นยางอินเดียนี้เพื่อเดินทางข้ามสองฝั่งตลิ่งที่ถูกแบ่งขาดออกจากกันจากระดับน้ำที่ขึ้นสูง ซึ่งสะพานต้นไม้นี้ถูกสร้างจากการเริ่มต้นปลูกต้นยางอินเดียไว้ ณ สองฝั่งตลิ่ง ก่อนที่จะมีการวางท่อนไม้เชื่อมเพื่อให้รากของต้นยางอินเดียค่อยๆ พันรอบแกนต้นไม้ที่วางพาดสองฝั่ง
กระบวนการสร้างสะพานที่กินเวลาโดยเฉลี่ย 50 ปีก็ได้ทำให้สะพานที่เกิดขึ้นมีความแข็งแรงจากรากไม้ที่พันเกี่ยวกันอย่างแน่นหนา นอกจากจะสามารถทนทานต่อพายุมรสุมที่รุนแรงและสามารถแข็งแรงขึ้นได้เรื่อยๆ การสร้างสะพานที่ใช้วิธีเดียวกับการปลูกต้นไม้ยังสะท้อนปรัชญาของชนเผ่า Khasis ที่นำเสนอเรื่องของความยั่งยืน อันหมายถึงทั้งการใช้โครงสร้างจากสปีชีส์อื่นที่สามารถเป็นหนึ่งเดียวกับบริบทได้และการคิดถึงคนรุ่นต่อไปเป็นสำคัญจากการก่อสร้างอันกินเวลาหลักชั่วอายุคน
นอกจากภูมิประเทศและสภาพอากาศ สิ่งที่น่าสนใจของการพิจารณาเทคโนโลยีและการใช้พื้นที่ในแต่ละอารยธรรมคือการพิจารณาถึง ‘Cultural Keystone species’ หรือสิ่งมีชีวิตทั้งพืชหรือสัตว์ที่มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับวัฒนธรรมย่อยใดๆ ในทุกมิติของการใช้ชีวิต ชาว Kayapo ในป่าแอมะซอนมีความสัมพันธ์กับแมลงโดยเฉพาะผึ้งอย่างแน่นแฟ้น จากความเชื่อที่ว่าบรรพบุรุษของตนได้เรียนรู้ทักษะทางสังคมมาจากผึ้ง โดยเด็กและผู้หญิงชาว Kayapo จะมีการวาดลวดลายสีดำทั่วร่างกายคล้ายผึ้งในพิธีสำคัญ ซึ่งความสัมพันธ์ของชาว Kayapo กับผึ้งนั้นยังสะท้อนผ่านการสร้างออกแบบหมู่บ้านในชื่อ apete ที่มีลักษณะเป็นผังวงกลมล้อมรอบไปด้วยพืชกสิกรรม โดยชาว Kayapo จะทำการฝังท่อนไม้ที่มีโพรงไว้ข้างบ้านของตนเพื่อให้ผึ้งหรือชันโรงได้เข้ามาอาศัยและทำรังเพื่อนำน้ำผึ้งและรังผึ้งมาประกอบอาหาร ในขณะที่ผึ้งเองก็ได้ทำหน้าที่ดูแลและขยายพันธุ์พืชกสิกรรมอย่าง กล้วย ข้าวโพด ไปด้วยในตัว
Julia ยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากมนุษย์ต่อธรรมชาติที่ไม่ได้เพียงแต่ขึ้นจากการสร้างหรือหรือการทำลาย หากแต่ยังรวมไปถึงการรักษาธรรมชาติในวิธีคิดปัจจุบันที่กำหนดพื้นที่สงวนขึ้น และขับไสมนุษย์ที่อยู่ในพื้นที่เดิมออกไป ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นชนพื้นถิ่นที่อยู่มานานนับศตวรรษ (แม้คำว่า ‘anthropocene’ จะหมายถึงการที่มนุษย์มีอิทธิพลกับธรรมชาติอย่างมหาศาลไม่ได้หมายความว่าทุกความสัมพันธ์จะส่งผลร้ายเสมอไป) บางความสัมพันธ์นั้นกลับมีมนุษย์ในฐานะสิ่งจำเป็นที่จะเกื้อกูลให้ระบบนิเวศนั้นดำเนินต่อไปได้อย่างสมบูรณ์
ชนเผ่า Maasai ในเคนยาที่อาศัยอยู่ทุ่งหญ้ารอบตีนเขาคิลิมันจาโร ที่มีการย้ายถิ่นฐานในทุกๆ ปีจะสร้างพื้นที่อยู่กึ่งถาวรอย่าง boma ที่มีลักษณะเป็นการนำหวายและไม้หนามมาทำเป็นรั้วสำหรับที่อยู่อาศัย เมื่อผู้คนย้ายไปตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่ในช่วงหน้าแล้ง พื้นที่อยู่อาศัยเดิมที่ถูกทิ้งร้างก็ได้กลายเป็นแหล่งอาหารให้กับสัตว์กินพืชในพื้นที่ และส่งสร้างปฏิกิริยาลูกโซ่ให้เกิดการปลูกป่าในพื้นที่เหล่านั้นจากสัตว์ที่กินเมล็ดพันธุ์ของพืชเข้าไป ซึ่งการย้ายถิ่นฐานของชนเผ่า Maasai ที่มุ่งไปหาพื้นที่อุดมสมบูรณ์กว่าในทุกหน้าแล้งยังเป็นการสร้างทางเชื่อมผืนป่า ที่เชื่อมพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ในแต่ละจุดเข้าด้วยกัน กลายเป็นว่าวิธีคิดที่แยกมนุษย์ออกจากธรรมชาตินั้นกลับจะยิ่งเป็นการลบล้างความเป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเสียมากกว่า
หนังสือเล่มนี้ยังย้ำเตือนถึงบทบาทของนักออกแบบที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมและเรื่องเล่าแบบใหม่ ซึ่งองค์ความรู้จากชนพื้นถิ่นในอดีตกาลอาจเป็นกุญแจสำคัญที่นักออกแบบในปัจจุบันสามารถหยิบมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับงานออกแบบร่วมสมัยมากกว่าแค่การ ‘green washing’ งานออกแบบให้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือของการทำตลาดเพียงเท่านั้น พร้อมกันนั้น Julia ยังเสนอว่าแนวคิดในการออกแบบในปัจจุบันที่จำเป็นต้องหลุดจากแนวคิดของชาร์ล ดาร์วิน อย่างการอยู่รอดของผู้ที่ปรับตัวได้ดีกว่า ไปสู่การอยู่รอดของการพึ่งพาอาศัยกันและกันแทน
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือการเล่าเรื่องของตัวกายภาพหนังสือเองที่ได้ W-E studio จาก New York มาเป็น graphic designer และผู้ดูแล art direction หลัก รวมถึงยังได้ illustrator จาก London อย่าง Berke Yazicioglu มาเป็นผู้รับผิดชอบภาพประกอบทั้งหมดในเล่ม เพื่อให้หนังสือสามารถเข้าใจได้ง่ายเมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อหาที่อัดแน่นและซับซ้อนภายใต้ความหนากว่า 400 หน้า โดยที่ประเด็นต่างๆ ที่มีความเฉพาะทาง โดยเฉพาะในด้านมานุษยวิทยา ภูมิศาสตร์ และชีววิทยา จะถูกถ่ายทอดออกมาเพื่อให้คนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นผ่านการถอดเนื้อหาเหล่านั้นให้ออกมาอยู่ในรูปแบบของ drawing, diagram, isometric รวมไปถึง illustration ที่กอปรไปกับภาพถ่ายเชิงสารคดีที่ถูกใช้ในฐานะวิธีเล่าเรื่องหลักภายในเล่ม รวมถึงยังมีการสอดแทรกรายละเอียดเล็กๆ อย่างแถบสีเล็กๆ ที่มีอยู่ในทุกหน้า ซึ่งสามารถใช้เปิดเทียบกับไม้บรรทัดในปกในเพื่อดูได้ว่าชนเผ่าที่เรากำลังอ่านอยู่นั้นมีถิ่นฐานอยู่ในจุดไหนเมื่อเทียบกับระดับน้ำทะเล ทำให้บทบาทของหนังสือเล่มนี้ตอบรับทั้งในเชิงการเป็นหนังสือที่สำหรับใช้เพื่ออ้างอิง หรือแม้แต่ในเชิงสุนทรียภาพของการเป็น art book เล่มหนึ่งได้เลย
ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการสรุปเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ เราอยากชวนให้ผู้อ่านได้ลองทบทวนถึงการเดินทางของมนุษย์ที่ค่อยๆ ปลีกตัวออกจากธรรมชาติมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่ในสมัยยุคเรืองปัญญา ที่ให้ความสำคัญกับหลักเหตุผลในเชิงวิทยาศาสตร์แบบคลาสสิกและความเป็นปัจเจกชนแทนที่ความเชื่อและจารีตแบบเดิม ซ้ำด้วยแรงของยุคอุตสาหกรรม ที่ให้ความสำคัญกับการผลิตจนมาถึงยุดดิจิทัลในปัจจุบัน ถึงจะเป็นเช่นนั้น แต่สิ่งที่ Julia เสนอนั้นไม่ได้เป็นเรื่องของการผลัดทิ้งมายาคติที่มีเทคโนโลยีเป็นแก่นหลักให้หายไปเสียหมด เพียงแต่เป็นการพิจารณาถึงศักยภาพของนวัตกรรมและองค์ความรู้ของชนพื้นถิ่นในอดีตในฐานะเทคโนโลยีที่เราสามารถนำมาใช้งานได้จริง สิ่งที่น่ากังวลไม่ได้อยู่เพียงแค่ผลกระทบต่อธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการที่เราทุกคนกำลังค่อยๆ ปล่อยให้องค์ความรู้ในการจัดการกับธรรมชาตินั้นเลือนหายไปในฐานะของความเชื่อทางจิตวิญญาณมากกว่า
จะร่วงโรยหรือรุ่งโรจน์ คำตอบในอนาคตนั้นขึ้นอยู่กับเส้นทางที่เราเลือกในวันนี้ Lo-TEK: Design by Radical Indigenism โดย Julia Watson ได้ชี้ให้เราเห็นถึงประเด็นของความยั่งยืนที่ไม่เคยเป็นเรื่องของปัจจุบัน ผลลัพธ์ในวันนี้ก่อร่างจากสิ่งที่เราทำมา อนาคตที่จะมาถึงอาจอยู่ที่การปฏิบัติกับปัญญาและเรื่องเล่าในอดีตที่เราต่างเคยลืมไป สิ่งเหล่านี้ยังชวนให้เราคิดถึง ‘มนุษย์’ ที่มิได้หมายถึงเพียงปัจเจกชน หากแต่ควบรวมถึงทั้งองคาพยพของเผ่าพันธุ์หนึ่งๆ แม้ว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจะเริ่มต้นแก้ไขได้ตั้งแต่วันนี้ แต่กระบวนการและผลลัพธ์นั้นอาจกินระยะเวลานานจนเราทุกคนในตอนนี้อาจไม่ได้อยู่เห็นด้วยตาของตัวเอง
อาจจะดูเป็นเรื่องน่าเสียดาย แต่หากเรานึกย้อนถึงเรื่องราวก่อนหน้า ชาว Iroquois ผู้เป็นชาวพื้นเมืองในสหรัฐอเมริกา มีความเชื่อในเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าเพื่อคำนึงถึงสิ่งที่จะเหลือให้ลูกหลานของพวกเขาต่อไปอีก 7 รุ่น หรือสะพานต้นยางอินเดียจากชาว Khasi ที่คนสร้างไม่มีวันได้ใช้จากกระบวนการสร้างที่กินเวลานานกว่าครึ่งศตวรรษ เราทุกคนเลือกไม่ได้ว่าจะอยู่กับโลกแบบใด แต่เราเลือกได้ว่าลูกหลานของเราจะอยู่ในโลกแบบใด
และคำเปิดของหนังสือเล่มนี้ก็เป็นเหมือนถ้อยแถลงแด่โลกที่เราจะส่งมอบต่อไป
“หนังสือเล่มนี้อุทิศให้แก่ลูกหลานของพวกเราในอีก 7 ชั่วคน”