Tenjincho Place อพาร์ตเมนต์ในญี่ปุ่นที่ได้รับการออกแบบด้วยรูปลักษณ์ที่ลื่นไหล เพื่อลดทอนความอึดอัดจากพื้นที่ที่จำกัดและสร้างบรรยากาศชีวิตชีวา
TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO: MASAO NISHIKAWA
(For English, press here)
หากต้องออกแบบอาคารบนที่ดินสักผืนที่ถูกล้อมไว้ด้วยอาคารสูงโดยรอบ คอร์ทยาร์ดคงจะเป็นเครื่องมือหรือรูปแบบสเปซแรกๆ ที่เราจะใช้เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มความโปร่งและทิวทัศน์ภายนอกให้อาคาร แต่ถ้าลองนึกต่อไปว่าที่ดินผืนนั้นมีข้อจำกัดด้วยรูปทรงที่แคบยาวของมันด้วย วิธีสร้างสรรค์พื้นที่ก็จะซับซ้อนขึ้นอีก เนื่องจากคอร์ทยาร์ดจำเป็นต้องอาศัย ‘การปิดล้อม’ สร้างความรู้สึกเป็นส่วนตัว เมื่อลองหย่อนก้อนอาคารลงไปบนที่ดินแล้วบ่อยครั้งคอร์ทยาร์ดที่ได้จึงกลับกลายเป็นสวนจิ๋วๆ ที่ทำให้ต้องมาชั่งน้ำหนักอีกครั้งว่าจะมีคอร์ทยาร์ดหรือไม่มีดีกว่ากัน
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจของประเด็นที่ว่านี้ คืองานออกแบบ Tenjincho Place อพาร์ตเมนต์ในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ออกแบบโดย Hiroyuki Ito Architect ชั้นแรกของอาคารถูกกดลงให้ต่ำกว่าระดับพื้นถนนและมีด้านบนอีก 8 ชั้น รวมเป็น 9 ชั้น ความพิเศษของโครงการนี้คือใช้ความลื่นไหลของฟอร์มอาคารที่เป็นเส้นยาวม้วนรอบจนเกิดเป็นคอร์ทภายใต้ข้อจำกัดที่กล่าวมาข้างต้น การวางตัวเป็นเส้นโค้งนี้เองที่ลดทอนความอึดอัดจากพื้นที่ที่จำกัด และช่วยเสริมให้คอร์ทยาร์ดนี้ดูไหลลื่น มีชีวิตชีวาและต้อนรับผู้คนมากขึ้น ด้วยผังที่ไม่ปิดกั้นจากภายนอกโดยสิ้นเชิง แต่เปิดสเปซจากหน้าอาคารที่แคบ ให้ไหลเข้าไปในคอร์ท ซึ่งเป็นไปตามความตั้งใจของสถาปนิกที่อยากให้สเปซนี้เข้ามาแยกผู้อยู่อาศัยจากความน่าเบื่อแบบเดิมๆ
อย่างไรก็ตาม ผังห้องที่พักเรียงต่อกันเป็นเส้นย่อมต้องมาพร้อมการจัดการระบบทางเดิน ปกติแล้วอาคารพักอาศัยรวมโดยทั่วไปมักวางทางเดินในลักษณะที่ก่อให้เกิด ‘พื้นที่หน้าห้อง’ หันไปทางคอร์ทยาร์ดตลอดแนว สุดท้ายผู้อยู่อาศัยจึงยังจำเป็นต้องพึ่งพาช่องเปิดสู่ภายนอกไซต์ในการชักนำแสงและวิวเข้ามา ในขณะที่ Tenjincho Place แห่งนี้ไม่ได้หลงลืมจุดประสงค์ พวกเขาคิดระบบการสัญจรขึ้นมาใหม่ ทำให้สามารถลดมวลอาคารลงและเพิ่มความโปร่งให้คอร์ทยาร์ด รวมถึงคงความสงบของบรรยากาศภายในไว้ได้
อาคารนี้มี circulation core หนึ่งจุด ซึ่งประกอบด้วยลิฟต์และบันได การกระจายเจ้าของสู่ห้องของตัวเองโดยไม่สร้างทางเดินรอบนั้นจำเป็นต้องอาศัยลูกเล่นเล็กน้อย สถาปนิกได้ผสมผสานไทป์ห้องแบบ duplex (2 ชั้น) ไว้บนผังในตำแหน่งที่ห่างจากลิฟต์ ส่งผลให้อาคารไม่ต้องก่อสร้างทางเดินทอดยาวทุกชั้น เมื่อรวมกับการจัดการจำนวนห้องและพื้นที่ ผนังด้านยาวของทั้ง 5 ยูนิตในแต่ละชั้นจึงมีหน้าต่างเปิดสู่ภายนอกได้ทั้งหมด ซ้ำยังแทบไม่ต้องใช้ผนังร่วมกับเพื่อนบ้าน ยกเว้นเพียงชั้นที่เป็นทางเข้าของยูนิต duplex ข้อเสียที่เกิดขึ้นกับบางยูนิตดูเผินๆ อาจเป็นข้อแตกต่างใหญ่หลวงสำหรับผู้อยู่อาศัย แต่ในความเป็นจริงแล้วทางเดินที่เพิ่มเข้ามาก็มีผู้ใช้งานหลักเพียง 1 ยูนิต เท่านั้น แลกกับภาพรวมของทั้งโครงการที่รับแสงธรรมชาติได้มากขึ้น
นอกจากประเด็นด้านการจัดวางผังซึ่งนำมาสู่ฟอร์มของอาคารแล้ว ผิวสัมผัสของวัสดุก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สเปซตรงกลางของ Tenjincho Place ทวีความเป็นมิตร คอนกรีตหล่อในที่ผ่านการขึ้นรูปด้วยไม้แบบจากโครงการ Wood Station ในจิบะ ซึ่งทำจากเศษไม้สนญี่ปุ่น (Japanese cedar residue) ที่ถูกนำมาติดตั้งเข้ากับแผ่นไม้อัด (plywood) เพื่อให้ได้ texture ของคอนกรีตที่เป็นลายไม้ธรรมชาติ ไม่ดูแข็งเกร็งจนเกินไป และยังคงความดิบของวัสดุไว้อย่างมีสเน่ห์ เมื่อป่าคอนกรีตเหล่านี้แสดงตัวตนร่วมกับพันธุ์ไม้ที่แทรกอยู่ตามระเบียงและทางเชื่อม ก็ให้ความรู้สึกราวกับหลงอยู่กลางธรรมชาติในรูปแบบที่เราไม่คุ้นเคย
การออกแบบพื้นที่สำหรับอาศัยอยู่ร่วมกันในอาคารย่อมมีเงื่อนไขกว่าบ้าน ทว่าสิ่งที่เพิ่มเข้ามาคืออิสระของพื้นที่ส่วนกลางซึ่งมักตามมาด้วยกิจกรรมของคนใน community แม้ในตอนนี้ Tenjincho Place จะเพียงอาศัยคอร์ทยาร์ดในการรังสรรค์ความสวยงามบนมุมมองเชิงสถาปัตยกรรม แต่ในอนาคต สถาปนิกเองคาดหวังว่าฟอร์มปลายเปิดของที่แห่งนี้ จะสามารถชักนำให้เกิดกิจกรรมในชุมชนเล็กๆ นี้ขึ้นมาและกระตุ้นให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่น่าสนใจได้ในอนาคตข้างหน้า