WUTHIPOL UJATHAMMARAT

สนทนากับ วุฒิพล อุจจธรรมรัตน์ ศิลปินสิ่งพิมพ์อิสระและนักออกแบบการสื่อสาร ที่ถูกจดจำในฐานะเจ้าของผลงานภาพถ่ายสีสันฉูดฉาดซึ่งมักกระตุ้นให้ผู้คนฉุกคิดและถกถามต่อสิ่งที่ปรากฏในภาพถ่ายของเขาอยู่เสมอ

TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO: WUTHIPOL UJATHAMMARAT EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

“พอรูปทั้งหมดถูกรวมเป็นชิ้นเดียวที่มีขนาดใหญ่เต็มผืนกำแพงที่ศูนย์การค้า Emsphere จึงดูเป็นงานชิ้นหนึ่งที่มีขนาดใหญ่มาก แทนที่จะเป็น 20 ภาพที่ติดตั้งแยกออกจากกัน และด้วยสเกลของภาพที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมากนี้ ผมว่าการเล่าเรื่องราวอาจจะดีขึ้น เพราะเราจะสามารถเห็นรายละเอียดของภาพชัดเจนได้มากยิ่งขึ้น บางอย่างที่หลงลืมหรือไม่เคยเห็นก็ปรากฏขึ้นมาอย่างน่าสนใจ”

Photo: Ketsiree Wongwan

ภาพถ่ายระยะไกลด้านหนึ่งของอาคารและมุมมองระยะใกล้เจาะแสดงเฉพาะส่วนรายละเอียด ซึ่งตัดกันอย่างรุนแรงระหว่างสีสันในแต่ละองค์ประกอบของวัตถุและพื้นผิวที่ปรากฏ นับเป็นเอกลักษณ์การถ่ายทอดเรื่องราวอันโดดเด่นด้วยรูปแบบภาพถ่ายของวุฒิพล อุจจธรรมรัตน์ ศิลปินสิ่งพิมพ์อิสระ นักออกแบบการสื่อสารที่มุ่งความสนใจไปยังการออกแบบ เรียงร้อย และบอกเล่าด้วยภาพถ่ายในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ และเจ้าของโปรเจกต์ Aperture Brought Me Here และ Wuthipol Designs แม้จะถูกจดจำในสถานะศิลปินจากการจัดแสดงผลงานภาพถ่ายสีสันฉูดฉาดในรูปแบบนิทรรศการตามพื้นที่ที่จัดแสดงผลงานศิลปะหลากหลายแห่ง รวมไปถึงผนังภาพซึ่งแทรกประกอบด้วยวัตถุจัดวาง เป็นโปรเจกต์ติดตั้งระยะยาวในพื้นที่ศูนย์การค้า Emsphere ซึ่งเพิ่งเปิดตัวในช่วงที่ผ่านมาไม่นาน อย่างไรก็ตาม ชุดภาพเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สัมพันธ์ย้อนกลับไปยังการนำเสนอก่อนหน้าภายใต้ระเบียบของสิ่งพิมพ์อันเป็นกระบวนการสื่อสารหลักของเขา

WuthipolWuthipolWuthipol

วุฒิพลเล่าว่า เขาเริ่มต้นถ่ายภาพและเก็บสะสมภาพถ่ายนับตั้งแต่ระหว่างช่วงการทำงานและศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านกราฟิกดีไซน์ ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยในช่วงแรกเขานำเสนอในรูปแบบของ blog ท่องเที่ยว แล้วจึงค่อยปรับพัฒนาทักษะทางด้านการถ่ายภาพสู่แนวสตรีท กระทั่งได้เดินทางกลับมาที่ประเทศไทย เนื่องด้วยแนวทางภาพถ่ายดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายอย่างมากแล้ว เขาจึงตัดสินใจเลือกเสาะหาแนวทางการทำงานในรูปแบบเฉพาะของตนเอง อันนำไปสู่การค้นพบกรอบทัศนะที่เผยให้เห็นการเลือกใช้สีสันจำนวนมากมายบนพื้นผิวของอาคารในประเทศไทย ซึ่งมักไม่ได้เป็นที่สนใจและเป็นเพียงทางผ่านทางสายตา พร้อมกันนั้นก็สัมพันธ์ไปกับแนวทางการทำงานด้านกราฟิกของเขาได้อย่างพอดีที่นำเสนอในรูปลักษณ์แพทเทิร์น รูปทรงเรขาคณิต รวมไปถึงการเรียงต่อเนื่องของเส้นสาย เขาตระเวนเดินไปตามทาง ตรอก ซอก และซอยต่างๆ เพื่อการสำรวจและใช้ชีวิตร่วมไปกับบรรยากาศรอบข้าง ก่อนนำเสนอเป็นภาพถ่ายที่รุ่มรวยไปด้วยสีสันและรูปแบบการจัดวางองค์ประกอบ ราวกับเป็นผลงานภาพกราฟิก

Wuthipol

ภาพถ่ายบรรยากาศเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ผลงานภาพในช่วงแรกเริ่มที่เขาบันทึกและเก็บสะสม

ภาพถ่ายบรรยากาศเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ผลงานภาพในช่วงแรกเริ่มที่เขาบันทึกและเก็บสะสม

แม้จะเริ่มต้นจากการเห็นว่ามุมมองเหล่านี้ดูสวยงาม แต่ด้วยวิธีการหลอมรวมตนเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับพื้นที่ขณะการเก็บภาพถ่าย ก็เริ่มช่วยตีกรอบความสนใจในมิติชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งส่งผลต่อการออกแบบการสร้างอาคาร การประยุกต์สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์จากการปะติดปะต่อหลากหลายวัตถุเพื่อให้ตอบรับและสามารถใช้งานตามความเหมาะสมในบริบทเฉพาะของแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงการเลือกใช้สีสันของอาคารบ้านเรือน ชุดภาพถ่ายของเขาทั้งหมดจึงมักกระตุ้นให้เกิดการฉุกคิดและถกถามต่อสิ่งที่ปรากฏอยู่เสมอ ภาพถ่ายจะถูกรวมชุดเรียบเรียง ปะติดปะต่อสร้างเรื่องราว และออกแบบจากคลังภาพสะสม ก่อนถ่ายทอดด้วยรูปแบบสิ่งพิมพ์เป็นหลักและนิทรรศการในบางโอกาส วุฒิพลอธิบายเสริมว่า เขาเริ่มต้นทำงานถ่ายภาพกับสิ่งพิมพ์คู่ขนานไปพร้อมกันเพื่อเป็นพื้นที่เผยแพร่สื่อสาร เมื่อเขาได้สังเกตเห็นว่าตนเองถ่ายภาพเก็บไว้เป็นจำนวนมากและยังไม่ได้ใช้งาน จึงนำไปสู่ความคิดริ่เริ่มการทำงานสิ่งพิมพ์ที่สื่อสารด้วยภาพถ่ายในขนาดเป็นเล่มและโปสการ์ด

Wuthipol

บรรยากาศและผลงานภายในนิทรรศการ Urban Mass ซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ 22 กันยายน – 1 ตุลาคม 2567 ณ MESA 312

WuthipolWuthipol

เนื่องจากวุฒิพลได้มีโอกาสเดินทางเข้าร่วมเทศกาลหนังสือในหลายๆ เทศกาลหรือกิจกรรมที่จัดขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ เขาได้แสดงความคิดเห็นต่อมุมมองการตอบรับสื่อสิ่งพิมพ์ของคนสังคมไทยและประเด็นเรื่องที่ต้องการนำเสนอซึ่งถูกจำกัดของกลุ่มประเทศแถบเอเชียว่า ‘มุมมองโดยภาพรวม ในประเทศไทย ยังขาดการสนับสนุนทั้งทางด้านการซื้อที่กลุ่มผู้จัดการทำหนังสือหรือศิลปินผลิตสิ่งพิมพ์หรืองานออกแบบออกมาจำนวนมาก แต่การซื้อสินค้าก็มีค่อนข้างน้อย นอกจากนั้นเทศกาลหรือพื้นที่ที่ให้สามารถจำหน่ายก็มีอยู่อย่างจำกัด อีกแง่มุมที่น่าสนใจคือ การนำเสนอประเด็นปัญหาและเนื้อหาที่มีความละเอียดอ่อนค่อนข้างจะถูกจำกัด ไม่เพียงแต่ประเทศไทย แต่รวมถึงหลายประเทศในแถบเอเชีย ตรงกันข้ามกับประเทศในแถบอเมริกาหรือยุโรปที่เปิดกว้าง กล่าวได้ว่า นี่อาจเป็นกรอบบางๆ ที่เข้ามากำกับและครอบทับความคิดสร้างสรรค์ของผู้จัดทำอย่างปฏิเสธได้ยาก

Photo: Ketsiree Wongwan

ปัจจุบันผลงานของวุฒิพลได้ติดตั้งแสดงเป็นส่วนหนึ่งกับศูนย์การค้า Emsphere ยังคงนำเสนอมุมมองการรับชมในมิติมุมมองใหม่ซึ่งเรียงร้อยไว้อย่างน่าสนใจด้วยขนาดโดยภาพเฉลี่ยหนึ่งจุดห้าเมตรต่อภาพ ซึ่งยังคงบอกเล่าบนแนวคิดซึ่งต้องการนำเสนอความเป็นกรุงเทพมหานคร อันสัมพันธ์เป็นชุดภาพใช้ภาพร่วมกันทั้งจากหนังสือ Urban Mess นิทรรศการ The Peeking Cloud และนิทรรศการ Urban Mess ที่ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปก่อนหน้า อีกทั้งเขายังกำลังให้ความสนใจต่อการเรียบเรียงภาพถ่ายอาคารบ้านเรือนของประเทศสิงคโปร์ โดยเฉพาะ public housing หรือที่คนท้องถิ่นเรียกกันว่าตึก HDB ที่โดดเด่นด้วยการเลือกใช้สีและลวดลายออกแบบประกอบแต่ละอาคาร ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเรียบเรียงออกแบบสำหรับการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม เห็นได้ว่า สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งในผลงานสิ่งพิมพ์ งานออกแบบ และนิทรรศการของวุฒิพล นอกจากความสวยงามจากสีสันและการจัดวางองค์ประกอบภายในภาพแล้ว คำถามปลายเปิดที่ชวนให้ขบคิดต่อถึง ‘ความเป็นเมือง’ ในมิติต่างๆ ก็น่าติดตามไม่แพ้กัน

WuthipolWuthipol

wuthipoldesigns.com
instagram.com/aperturebroughtmehere
instagram.com/wuthipol.designs

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *