BYBAMBAM

bybambam

ทำความรู้จัก bybambam และโลกแห่งสีสันและเส้นสายที่ไม่เหมือนใครของเธอ ซึ่งสะท้อนจากตัวตนและประสบการณ์ชีวิต

TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO & IMAGE COURTESY OF BYBAMBAM

(For English, press  here)

“สำหรับเรา ศิลปะอาจสามารถเทียบแทนเป็นภาษาที่สวยงามที่สุด เพราะเราไม่จำเป็นต้องอ่านจากรูปลักษณ์อักขระหรือระบบระเบียบทางภาษา ศิลปะสามารถสื่อสารกับเราได้ผ่านการอ่านภาพและสีสัน นี่จึงทำให้เรารู้ว่าเราชอบสิ่งนี้และเป็นวิถีทางที่เหมาะสมสำหรับเราเองจริงๆ”

bybambam

ดวงตาคู่โตขนานต่อด้วยเส้นขีดโค้งคู่ในแต่ละด้าน จมูกแดงระเรื่อ และเส้นตรงขีดสั้นของปาก ใบหน้าในท่าทีกำลังครุ่นคิดของเด็กสาวผมสีส้มสดชวนสะดุดตาซึ่งมีผิวสัมผัสเนียนนวล นูน และกลมมนยิ่งขึ้นจากแนวเส้นเงาสีขาวฟุ้งแบบบาง ทั้งยังติดประดับด้วยชุดกิ๊บติดผมหลากขนาดหลายสีสันบริเวณส่วนขวา โดยมีฉากหลังเป็นภาพภูมิทัศน์อันฉูดฉาดสดใสจากสีสันที่ขัดกันของผืนดิน พุ่มไม้ และท้องฟ้า นี่คือผลงาน ‘self protrait’ หนึ่งในภาพเขียนชุดล่าสุดของ bybambam หรือ สุชญา ทองรมย์ ศิลปินรุ่นใหม่ ที่มีโอกาสจัดแสดงผลงานทั้งในรูปแบบนิทรรศการเดี่ยวและกลุ่มระดับนานาชาติมากมากมาย

แม้สุชญามักจะริเริ่มหรือสื่อสารผ่านผลงานสร้างสรรค์จากขอบเขตความสนใจและการใช้ชีวิตส่วนตัว แต่ภาพวาดคาแร็กเตอร์ของเธอกลับนำเสนอด้วยจังหวะวิธีและภาษาภาพได้อย่างน่าสนใจและแยบยล ด้วยการเลือกใช้น้ำเสียงขบขันปนเสียดสีแบบ meme ผสานการหยิบจับสิ่งใกล้ตัว ก่อนเรียงร้อยบอกเล่าคลังคำเดิมบนรูปประโยคที่แตก (ไม่) ต่าง และเรียบ (ไม่) ง่าย

bybambam

bybambam

สุชญาเล่าย้อนถึงที่มาที่ไปของคาแร็กเตอร์เด็กสาวที่ดูซนแก่น bybambam ว่าช่วงขณะที่เธอศึกษาในสาขาวิจิตรศิลป์ เอกจิตรกรรม คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ครั้งหนึ่งในวิชาเรียนวาด ได้มีการมอบหมายหัวข้อในการสร้างสรรค์คือคาแร็กเตอร์ดีไซน์ ด้วยความสนใจและต้องการวาดออกแบบภายใต้รูปลักษณ์ของมนุษย์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสังเกตลักษณะทางบุคลิกภาพของเพื่อนร่วมชั้น เพื่อเป็นแรงบันดาลใจต่อการอ่านทำความเข้าใจในภาพลักษณ์ที่ล้วนโดดเด่นแบบเฉพาะของแต่ละคน ก่อนจะตั้งกระจกและค่อยๆ สเก็ตซ์ใบหน้าของเธอเองซ้ำไปวนมา

bybambam

กระทั่งประกอบสร้างเป็นคาแร็กเตอร์ลายเส้นการ์ตูนเด็กสาวที่พกพาอาการภูมิแพ้ไปในทุกที ด้วยใบหน้าซึ่งมีเอกลักษณ์จากเส้นขีดสองขีดใต้ดวงตาของรอยคล้ำใต้ดวงตา และจมูกที่มีส่วนปลายต่ำยาวราวกับน้ำมูกไหลย้อย รวมไปถึงท่าทางที่ดูซุกซน กับการเลือกใช้ palette สีสันสดใสตามฉบับเฉพาะตัว แม้ตอนต้นคาแร็กเตอร์นี้จะถูกใช้สำรวจและถ่ายทอดสะท้อนสภาวะป่วยไข้ทางอารมณ์ที่เธอต้องเผชิญ แต่ในภายหลังได้เคลื่อนขยายประกอบร่วมอัตลักษณ์ของใบหน้ากับรูปลักษณ์บุคคลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสิ่งของและสัตว์ พร้อมกันนั้นเธอก็ก้าวข้ามขอบเขตทางเทคนิคสู่การเขียนภาพลงผิววัตถุอื่นนอกจากผืนผ้าใบ ผลิตสร้างประติมากรรมลอยตัว หรือตุ๊กตาหมีสีน้ำตาล

bybambam

อย่างไรก็ตาม เธอเน้นย้ำที่จะยังคงมุ่งมั่นกับการสร้างสรรค์และพยายามต่อยอดให้ผลงานจิตรกรรมมีศักยภาพสูงยิ่งขึ้นไป ขณะเดียวกัน เธอก็เล่าต่อถึงกระบวนการทำงานไว้อย่างน่าสนใจว่า เธอจะเริ่มต้นด้วยการคิดคอนเซ็ปต์ของชิ้นงาน จากนั้นก็ปลดปล่อยตัวเองให้หลุดเข้าสู่ห้วงขณะแห่งการนึกคิดเพื่อสำรวจหาไอเดียบนแพลตฟอร์ม Pinterest และ TiKTok ต่อด้วยการเลือกชุดเฉดสี ถ้าหากเป็นการทำงานแบบชุดผลงานสำหรับนิทรรศการเดี่ยว เธอก็จะดูภาพรวมของสีที่ต้องการจะเลือกใช้ทั้งหมด เพื่อวางแผนการใช้สี ก่อนเขียนสเก็ตช์ภาพดิจิทัลต้นแบบของผลงานผ่านแอปพลิเคชันบนไอแพด

  • Grocery
    Grocery
  1. 1
  2. 2
  3. 3

สุชญาย้ำต่อว่า การคัดเลือก palette สีที่จะเลือกใช้จะต้องสัมพันธ์ไปกับเรื่องราวและคอนเซ็ปต์ซึ่งต้องการนำเสนอ คือตอนเธอกำลังนึกถึงภาพเรื่องราวหรือสภาวการณ์ของผลงาน เธอจะสามารถเห็นภาพ และจำแนกชุดสีสันภาพรวมที่แยกตามค่าเฉดและโทนที่เหมาะสม  โดยเริ่มจากการเห็นสีของภาพผลงานพร้อมไปกับส่วนรายละเอียดขององค์ประกอบและโครงสร้าง ประเด็นนี้อาจเป็นมุมมองการเห็นและจดจำสิ่งต่างๆ ในรูปแบบภาพที่ต่อรองกับภาวะผิดปกติทางด้านการอ่าน และการเรียนรู้ภาษา (Dyslexia) ของเธอ ซึ่งอาจรวมไปถึงการขลุกอยู่กับหนังสือ PANTONE : The 21th Century in Color ที่ตลอดทั้งเล่มจะดึงแยก palette สีของภาพตัวอย่างผลงานประกอบแยกไว้ด้วยเช่นกัน

bybambam

นิทรรศการ Face of Legendary

bybambam

นิทรรศการ Face of Legendary

สีสันสดใสในผลงานของเธอ นอกจากจะช่วยต่อขยายมิติของความเข้าใจต่อผลงานแล้ว ในอีกแง่หนึ่งยังชักชวนให้เราต้องขบคิดในสถานะอีกส่วนสำคัญต่อการเอื้อให้เกิดความเข้าใจเพิ่มเติมจากเรื่องราวและภาพที่เห็น โดยอาจเป็นการสัมผัสกับผัสสะทางอารมณ์ซึ่งเร้ากระตุ้นจากชุดสีที่คัดสรรไว้อย่างเฉพาะ และยังชี้ให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ซึ่งโยงใยระหว่างตัวตนกับตัวชิ้นงานของเธอ รวมไปถึงแนะให้ต้องนึกย้อนตามอย่างช้าๆ พร้อมกับคิดพินิจต่อบนมุมมองการเห็นภาพจินตนาการที่มาพร้อมกับการจำแนก palette สี สีสันในผลงานของเธอ ไม่เพียงเท่านั้น พื้นผิวอันนวลเนียนเรียบเสมอเป็นเนื้อเดียวกันและระยะพื้นที่ที่บีบแคบ แต่แสดงรายละเอียดการทับซ้อนของสิ่งต่างๆ ทั้งในลักษณะทึบและบางเบา เมื่อมองจากมุมมองนี้ จึงค่อนข้างน่าสนใจในแง่ของการซ้ำระยะที่กระชับให้ดูขยายกว้างออกไป ทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ชิ้นงานน่าจับตามองยิ่งขึ้นด้วยคุณภาพจากศักยภาพในการวาดเขียน

bybambam

ปัจจุบัน bybambam อยู่ในระหว่างช่วงขณะกำลังมุ่งสนใจไปยังการทบทวน พัฒนา และการสำรวจค้นหาตัวตนใหม่เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ด้วยความพยายามในการประยุกต์แทรกใช้เทคนิคใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยชุดผลงานจัดแสดงล่าสุดในนิทรรศการ Sassy, Sweet & Surreal ระหว่างวันที่ 7 ธันวาคม – 5 มกราคม 2568 ที่ MMAD BOX by Palette และ นิทรรศการ NIGHTMARE BEFORE CHRISTMAS ระหว่างวันที่ 7 ธันวาคม 2567 – 26 มกราคม 2568 ที่ L.O.F Gallery ชั้น 2 MMAD – MunMun Art Destination ทั้งสองนิทรรศการจึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเสนอภาพทิศทางการสร้างสรรค์ของสุชญาที่อยู่ในระหว่างการทดลอง และกำลังจะเป็นแนวทางการทำงานใหม่หรือเป็นก้าวขั้นที่สำคัญและชวนให้เราติดตามงานของเธอต่อไป

instagram.com/bybambam.1

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *