WITH AN AIM TO USHER IN A BETTER LIVING QUALITY TO THE PEOPLE OF NAKHON PATHOM, WE CONTINUE OUR STORY WITH WEERAPAT CHOKEDEETAWEEANAN FROM ART4D NO.271 AND DELVE INTO HOW ‘BREATHABLE HOUSE’ BECOMES THE CORE IDEA OF HIS DEVELOPMENT PROJECT, THE BOUND HOUSE
TEXT: PAPHOP KERDSUP
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
หลังจากที่เมื่อช่วงต้นปีเราได้แนะนำให้ได้รู้จักกับ The Bound House ผลงานล่าสุดที่ริเริ่มขึ้นโดย วีรภัฏ โชคดีทวีอนันต์ แห่ง studiotofu และ วิชชุกร โชคดีทวีอนันต์ พร้อมกับได้ชวนวีรภัฏคุยถึงแนวคิดเบื้องหลังโครงการที่อยู่อาศัยขนาดย่อมในจังหวัดนครปฐมโครงการนี้ไปแล้วใน art4d ฉบับ 271 ‘Living Together’ ในครั้งนี้เราเลยอยากจะพาทุกคนกลับมาที่ The Bound House อีกครั้ง และเข้าไปทำความเข้าใจว่าทำไมนิยามของคำว่า “บ้าน” ในโครงการนี้ถึงแตกต่างจากคนอื่นๆ
อย่างที่ทราบกันดีว่าในช่วงหลายปีมานี้มีปรากฏการณ์หนึ่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ค่อนข้างน่าสนใจ นั่นคือการมาถึงของโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบโดยนักพัฒนารายย่อยที่นำ “งานออกแบบ” มาใช้ชูโรงให้ “บ้าน” ที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างไปจากบ้านจัดสรร หรือทาวน์โฮมจัดสรร ที่เรามักจะพบได้ทั่วไปในท้องตลาด ซึ่งด้วยวิธีการนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับโครงการแล้ว ผู้อยู่อาศัยยังจะได้รับ “ประสบการณ์” ที่แตกต่างไปจากบ้านจัดสรรที่พวกเขาเคยมีภาพจำอยู่เดิม ซึ่งถูกออกแบบมาในทุกๆ องค์ประกอบตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าไปในบ้านเลย
“บ้านที่หายใจได้” เป็นคำที่วีรภัฏเอ่ยขึ้นมาเมื่อเราถามถึงแนวคิดหลักที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบบ้านทาวน์โฮมใน The Bound House ทั้ง 20 หลังนี้ แม้ว่าการวางผังของบ้านแต่ละหลังซึ่งมีความยาวถึง 27 เมตร จะชวนให้รู้สึกว่าการระบายอากาศ รวมถึงการเข้ามาของแสงธรรมชาติ จะทำหน้าที่ของมันได้ไม่มีประสิทธิภาพพอ แต่ด้วยการยึดหลัก Passive Design ของวีรภัฏในโครงการนี้ คือการออกแบบให้อาคารมีความสอดคล้องไปกับสภาพแวดล้อม หรือถ้าจะอธิบายให้ง่ายขึ้นก็คือออกแบบบ้านให้เย็นโดยพึ่งพาธรรมชาติ The Bound House จึงเป็น “บ้านที่หายใจได้” อย่างที่ตั้งใจไว้ได้อย่างไม่ต้องสงสัย
รายละเอียดทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจซึ่งพบได้ทั้งในบ้านแบบ Type B (ขนาด 278 ตารางเมตร) และ Type C (ขนาด 255 ตารางเมตร) นอกเหนือไปจากวัสดุที่ถูกเลือกมาเป็นอย่างดี เช่น บานกรอบประตูหน้าต่างอะลูมิเนียมแบบเต็มความสูงของฝ้าเพดาน ความต่างของผิวสัมผัสที่บริเวณพื้นในแต่ละพื้นที่การใช้งาน หรือการออกแบบช่องระบายอากาศใต้หลังคาเพื่อให้ Passive Design ทำงานได้เต็มที่ คือการออกแบบให้เกิดโถงความสูงสองชั้นที่ใจกลางบ้าน ซึ่งโถงนี้ไม่เพียงช่วยดึงแสงธรรมชาติเข้ามาด้วยสกายไลท์ และทำให้อากาศไหลเวียนได้ทั่วทั้งบ้านจนเป็นบ้านที่หายใจได้ แต่ยังเป็นจุดศูนย์กลางของบ้านที่ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัยระหว่างชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 แถมด้วยขนาดของพื้นที่ภายในบ้านที่ถูกออกแบบให้มีความกว้างและความสูงในสัดส่วนที่มากกว่าบ้านทั่วไป และการจัดผังแบบ Eco Cluster ทำให้เมื่อได้ลองใช้เวลาอยู่ภายในบ้านที่วีรภัฎออกแบบแล้ว เราจะรู้สึกถึงประสบการณ์อีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างไปจากโครงการอสังหาริมทรัพย์แนวราบอื่นๆ เลย
จากที่เคยเล่าไปก่อนหน้านี้ว่าชื่อ The Bound House นั้นถูกคิดขึ้นมาจากคำว่า boundary ที่แปลว่า “ขอบเขต” และ bound ที่แปลว่า “ความผูกพัน” การเล่นกับขอบเขตของความสัมพันธ์ระหว่างผู้อยู่อาศัย บ้าน และบริบทแวดล้อม รวมทั้งขอบเขตทางสถาปัตยกรรมจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่วีรภัฏใช้ในการออกแบบโครงการนี้ ตั้งแต่การเลือกใช้ตะแกรงเหล็กมาเป็นรั้วกั้นระหว่างบ้านแต่ละหลังเพื่อเบลอให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านไม่ตัดขาดกันจนเกินไป หรือการยื่นเข้า-ออกของมวลอาคารที่บริเวณชั้น 2 ที่สร้างความแตกต่างให้กับขนาดพื้นที่ใช้สอยและรูปแบบของบ้านแบบ Type B และ Type C ด้วยการยุบยื่นนี้เอง ทำให้บ้านแต่ละแบบมีพื้นที่หน้าบ้านที่แตกต่างกัน กล่าวคือการยื่นของมวลอาคารที่ชั้น 2 ของ Type B ทำให้เกิดร่มเงาด้วยสถาปัตยกรรม ขณะที่การยุบเข้าไปของพื้นที่ตำแหน่งเดียวกันของ Type C นั้นทำให้เกิดพื้นที่ชานหน้าบ้านขึ้น ซึ่งสถาปนิกได้ใส่พื้นที่ปลูกต้นไม้ไว้สร้างร่มเงาด้วยธรรมชาติด้วย
นอกจาก “บ้านที่หายใจได้” แล้ว อีกแคมเปญสำคัญที่ถูกใช้ในโครงการนี้คือ “คราฟต์โฮม” ที่หมายถึงการที่บ้านของ The Bound House นั้นได้รับการ “คราฟต์” มาอย่างพิถีพิถันในทุกๆ รายละเอียด ตั้งแต่การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ถูกคิดเพื่อให้ได้บ้านที่ “ต่าง” การก่อสร้างที่ลงรายละเอียดในทุกขั้นตอน ไปจนถึงการตกแต่งภายในแสดงให้เห็นความหลากหลายของการใช้งาน และด้วยเครือข่ายเพื่อนนักออกแบบและศิลปินที่วีรภัฏและวิชชุกรมี บ้านตัวอย่างของโครงการจึงไม่ได้เป็นเพียงการแสดงให้เห็นพื้นที่และบรรยากาศที่ผู้อยู่อาศัยจะได้รับเมื่อก้าวเท้าเข้ามาภายในบ้านเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นโชว์รูปที่จัดแสดงทั้งผลงานศิลปะ งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงของแต่งบ้านเล็กๆ น้อยๆ ที่ผ่านการเลือกสรรมาด้วย ซึ่งผู้ที่สนใจก็ยังสามารถจะซื้อติดมือกลับไปหรือได้ไอเดียที่พบไปตกตะกอนเพื่อให้ได้ลองจินตนาการ “บ้าน” ที่พวกเขาอยากได้เป็นเจ้าของด้วย
แน่นอนว่าหากพิจารณาแล้ว การเกิดขึ้นของ The Bound House นั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็นับว่าเป็นการแนะนำรูปแบบของบ้านและการใช้ชีวิตที่แตกต่างและน่าตื่นเต้นสำหรับพื้นที่ในเขตปริมณฑลอย่างจังหวัดนครปฐมมากพอสมควร เหนือสิ่งอื่นใด การที่ “สถาปนิก” อย่างวีรภัฏเปลี่ยนบทบาทมา “ทำบ้านขายเอง” ในปริมาณที่กำลังพอดี ยังช่วยแนะนำให้ผู้ที่สนใจโครงการ (ไม่ว่าตกลงซื้อหรือไม่ก็ตาม) ได้รู้จักและค่อยๆ ทำความเข้าใจในรูปแบบสถาปัตยกรรมและพื้นที่อยู่อาศัยที่แตกต่างไปจากที่เขาเคยใช้ชีวิตอยู่เดิมได้อย่างน่าสนใจเลย
จากความน่าสนใจเหล่านี้เอง ทำให้ ณ ปัจจุบันบ้านในโครงการ The Bound House เหลืออยู่เพียงไม่กี่ยูนิตแล้ว สำหรับผู้ที่กำลังมองหาพื้นที่ใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจาก “บ้าน” แบบเดิมๆ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม หรือนัดหมายเพื่อเข้าชมโครงการได้ทาง fb.com/boundproject