NANA COFFEE ROASTERS BANGNA

IDIN Architects และ TROP : terrains + open space ออกแบบ ร้านกาแฟ NANA Coffee Roasters Bangna ให้ตัวอาคารและสวนได้แทรกตัวกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน สร้างบรรยากาศฉากหลังเป็นร่มไม้ที่ช่วยให้คอกาแฟได้เพลิดเพลินไปกับรสชาติกาแฟตรงหน้ามากที่สุด

TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here

ร้านกาแฟ NANA Coffee Roasters Bangna ที่ออกแบบงานสถาปัตยกรรมโดย IDIN Architects และงานภูมิสถาปัตยกรรมโดย TROP : terrains + open space แห่งนี้ มีอาคารและพื้นที่สวนผสานรวมกันอย่างแยกไม่ขาดจนยากจะบอกว่าพื้นที่ส่วนไหนคืองานสถาปัตย์หรืองานแลนด์สเคป แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะสิ่งที่ผู้ออกแบบต้องการกลับไม่ใช่การจ้องมองไปที่งานออกแบบ แต่คือการที่ผู้คนได้ละเมียดละไมในรสชาติของกาแฟตรงหน้า ท่ามกลางบรรยากาศดีๆ ของร่มไม้ต่างหาก

นอกจากที่ดินเปล่าแล้ว IDIN Architects และ TROP : terrains + open space ยังได้รับของแถมมาอีกสองอย่าง คือต้นไม้น้อยใหญ่จำนวนมากและอาคารจั่วสองชั้นเก่าเก็บอีกหนึ่งหลัง ทั้งสองต่างเห็นพ้องกันว่า ต้นไม้เหล่านี้นี่เองที่จะเป็นเหมือน oasis ให้กับถนนบางนา-ตราดที่เต็มไปด้วยความพลุกพล่าน อีกทั้งตัวบ้านสองชั้นก็สามารถปรับแต่งให้ใช้ประโยชน์ใช้สอยได้โดยไม่ต้องสร้างใหม่ นำไปสู่การออกแบบที่เคารพพื้นที่เดิม ทั้งส่วนที่จอดรถที่ขยับไปอยู่ด้านหลัง อาคารใหม่ที่วางผังหลบต้นไม้เดิมอย่างระมัดระวัง ทั้งยังออกแบบให้อาคารแห่งใหม่นี้มีชายคาที่ยื่นชนกับผนังอาคารเดิมและมีองศาหลังคาที่เท่ากันเพื่อให้อาคารเก่าและอาคารใหม่มีรูปทรงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

NANA Coffee Roasters Bangna Plan

เมื่อผ่านกำแพงที่กั้นระหว่างที่จอดรถด้านหลังกับพื้นที่ร้านเข้ามา สิ่งแรกที่จะได้พบกลับไม่ใช่พื้นที่ต้อนรับแบบปกติที่เราคุ้นชิน แต่กลับเป็นห้องน้ำที่ถูกออกแบบให้เข้ากับต้นไม้ใน pocket space เป็นอย่างดี ซึ่ง IDIN Architects ชี้ให้เห็นถึงความน่าสนใจว่า ห้องน้ำเป็นที่ที่คนจะเข้าเสมอเมื่อมาถึงหรือเมื่อจะออกจากร้าน ห้องน้ำจึงเปลี่ยนจากพื้นที่ลับตาเป็น ‘สุขาสถาน’ ที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ใช้งานทุกคนทั้งขามาและขากลับ

ในส่วนร้านกาแฟ ตัวอาคารถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนที่ไม่ติดกันเพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่แตกต่างกันตามการเข้าถึง โดยส่วนด้านหน้าที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดเป็นพื้นที่ของเคาน์เตอร์สปีดบาร์ เพื่อรองรับคนที่มาซื้อกาแฟอย่างเดียวรวมถึงไรเดอร์ที่มารับออร์เดอร์ ส่วนที่สองที่อยู่ในพื้นที่ตรงกลางเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับคนที่ต้องการนั่งจิบกาแฟไปคุยกันไปโดยไม่ต้องการความสงบมากนัก และในส่วนที่สามที่อยู่ด้านในและมีความสงบที่สุด ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ว่าจะหยิบกาแฟมานั่งเงียบๆ และดื่มด่ำกับฉากของต้นไม้ด้านหลัง หรือเลือกที่จะใช้เข้าไปยังสโลว์บาร์ที่ถูกแยกไว้สำหรับคอกาแฟที่ต้องการความจริงจังเพื่อแลกเปลี่ยนสนทนาที่ลึกซึ้งของกาแฟกับบาริสต้า

เพื่อผสานพื้นที่สีเขียวให้เป็นส่วนหนึ่งของอาคาร ช่องว่างภายนอกระหว่างอาคารทั้งสามส่วนจึงถูกแทรกด้วยพื้นที่สีเขียวที่ไหลทะลุผนังกระจกเข้ามากลายเป็นส่วนหนึ่งของงาน interior ภายใน ทำลายเส้นหวงห้ามเดิมๆ ที่ว่าคนต้องอยู่ด้านใน ต้นไม้ต้องอยู่ด้านนอก ในร้าน NANA Coffee Roasters Bangna แห่งนี้ ผู้ใช้งานจะได้รู้จักกับต้นไม้ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่เราได้สังเกตและสัมผัสมากกว่าเป็นพร๊อพถ่ายรูปเพียงอย่างเดียว

ในส่วนภายนอก สีขาวบนผนังของอาคารทำหน้าที่เหมือนพื้นหลังให้กับร่มเงาของต้นไม้ที่อยู่ด้านบน ผนังสีขาวต่อเนื่องเข้ามาเป็นพื้นหลังให้กับรูปภาพต่างๆ และโต๊ะเก้าอี้ที่หยิบยืมเส้นโค้งมาจากภูเขาอันเป็นจุดกำเนิดของกาแฟ สร้างบรรยากาศความเป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าที่มาที่ไปของกาแฟแต่ละแก้วที่อยู่ในมือไปด้วยในตัว ในเวลาที่ไม่มีใครนั่งที่โต๊ะ องค์ประกอบเหล่านี้ก็คล้ายกับว่าเป็นประติมากรรมชิ้นหนึ่งที่ผู้ออกแบบจัดวางเอาไว้ในพื้นที่อย่างบรรจง

นอกจากพื้นที่สีเขียวในแนวราบ IDIN Architects ยังใส่ใจกับการเชื่อมต่อกับพื้นที่สีเขียวในพื้้นที่เหนือระดับสายตา ในภายนอก โครงสร้างหลังคาบางส่วนถูกยื่นออกมาเพื่อรับกับต้นไม้ด้านล่าง เกิดเป็นช่องที่ต้นไม้สามารถทะลุผ่านและเติบโตเป็นส่วนหนึ่งของหลังคา ส่วนภายในโดดเด่นด้วยฝ้าสเตนเลสสามแบบที่เรียงตัวเป็น pixel อันประกอบด้วยผิวสีดำ ผิวรมดำ และผิวสเตนเลสด้าน ทำให้เมื่อเรามองขึ้นไปด้านบน เราจะเห็นกับภาพภาพเบลอๆ ของทิวทัศน์ด้านนอกที่กำลังเคลื่อนไหว สร้าง dynamic ในพื้นที่ภายในให้คล้ายกับการที่เรานั่งอยู่ใต้ร่มไม้ที่พริ้วไหวตามแรงลม

ไม่ใช่ว่าตัวอาคารนั้นจะเข้าหาพื้นที่สีเขียวข้างนอกเพียงอย่างเดียว เพราะงานแลนด์สเคปเองก็ได้รับการออกแบบให้ใช้ภาษาที่ย้อนกลับไปล้อกับตัวอาคารอีกทีหนึ่ง ทั้งกระเบื้องปูทางเดินภายนอกที่มีขนาดและ pattern ล้อมาจากแผ่นสแตนเลสของฝ้าด้านใน water feature บางส่วนที่ยื่นต่อออกมาจากโต๊ะด้านในร้าน งานโรยกรวดสีขาวที่กลมกลืนกับผนังอาคาร นอกจากนี้ พื้นที่สีเขียวภายนอกที่ประกอบขึ้นจากทั้งต้นไม้เดิมในพื้นที่และต้นไม้ใหม่ที่เพิ่มลงไปกว่าสิบชนิดยังทำให้เกิดมิติของต้นไม้ที่ดูหนาแน่น อันมีผลพลอยได้คือระบบนิเวศขนาดย่อม ที่ดึงดูดแมลงให้เข้ามาผสมเกสรและคอยสร้างชีวิตชีวาให้กับพื้นที่อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ออกแบบทั้งสองยืนกรานกับเราว่า ความสำเร็จของร้านกาแฟ NANA Coffee Roasters ไม่ได้เกิดจากตัวอาคารหรืองานสวน แต่เป็นความตั้งใจและจริงจังของกุ้ง-วรงค์ ชลานุชพงศ์ เจ้าของร้าน ที่ต้องการนำเสนอรสชาติกาแฟ Specialty ให้เป็นที่ประจักษ์ในวงกว้างของสังคมไทย และขยับขยายไปยังที่ทางในเวทีระดับโลก ซึ่งการันตีได้จากการได้รับรางวัลที่หนึ่งในรายการ World Siphonist Champion 2018 ที่กรุงโตเกียว และนำมาสู่ข้อสรุปให้กับคนที่อยากเดินทางในธุรกิจกาแฟว่า “ร้านกาแฟที่สวยสามารถคนเข้าไปให้ แต่สิ่งที่ทำให้คนกลับไปอีกครั้งคือรสชาติของกาแฟ”

ผลลัพท์ของงานออกแบบย้ำเตือนให้เรานึกถึงความตั้งใจแรกเริ่มของทั้ง IDIN Architects และ TROP : terrains + open space ที่บอกกับเราว่างานออกแบบเหล่านี้เป็นเหมือนสิ่งที่คอยสนับสนุนพระเอกตัวจริงที่อยู่ในมือผู้ใช้งานอาคารก็คือ ‘กาแฟ’ เท่านั้น ระหว่างที่เรานั่งอยู่ในร้าน เราได้ยินเพลง background ที่ทางร้านเปิดเพื่อคลอสร้างบรรยากาศ ทำให้เราคิดไปว่า การออกแบบร้าน NANA Coffee Roasters Bangna ก็คงเหมือนกับเพลงเหล่านี้ ที่ไม่ใช่เพลงที่มีท่อนโซโล่จัดจ้านเพื่อเรียกร้องการมองเห็นและความสนใจจากผู้ชม แต่เป็นเพลงบรรเลงที่เครื่องดนตรีทุกชิ้นทำงานประสานคลอกันเบาๆ เป็นพื้นหลัง ให้รสกาแฟนั้นเป็นอรรถรสที่แท้จริง

idin-architects.com

trop.land

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *