พูดคุยกับ Elisa Poli หัวหน้าหน่วย Research Center & Innovation Hub จากสถาบัน NABA ถึงแนวคิดการสร้างเมืองที่น่าอยู่ ด้วยการแทรกแซงเล็กๆ และเล่นสนุกกับเมือง
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO COURTESY OF CEA
(For English, press here)
ครั้งหนึ่ง เราอาจเคยเชื่อกันว่าเมืองที่ดี จะเกิดจากการนั่งระดมสมองในห้องสี่เหลี่ยมของสถาปนิกหรือนักวางผังเมืองผู้เก่งฉกาจ แต่พอโลกเปลี่ยนไป พร้อมเผชิญกับความท้าทายที่หนักหน่วง ซับซ้อน และไม่เคยมีใครคาดคิดว่าจะได้เจอ อย่างโรคระบาด หรือภัยธรรมชาติที่รุนแรง การคิดด้วยวิธีเดิมๆ อย่างการเค้นไอเดียภายในห้องสี่เหลี่ยม ก็อาจไม่ได้ผลอีกต่อไป
ในงาน Bangkok Design Week 2023 ที่ผ่านมา ที่มาในธีม เมือง-มิตร-ดี มีกิจกรรมและเลกเชอร์หลายอย่างที่ชวนเราคิดกันใหม่ ว่าจะพัฒนาเมืองกันอย่างไรดี หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจคือเลกเชอร์ของ เอลิซา โพลี (Elisa Poli) หัวหน้าหน่วย Research Center & Innovative Hub จาก สถาบันนาบา (NABA: Nuova Accademia di Belle Arti) โรงเรียนสอนด้านศิลปกรรม อันดับ 1 ของอิตาลี ตามการจัดอันดับของ QS World University Rankings® ที่มาบรรยายพิเศษในหัวข้อ “From services to the city: how social behaviours transform urban quality” และหอบเอาไอเดียการพัฒนาเมืองจากนักศึกษา ที่เรียนหลักสูตร Master in New Urban Design มาให้เราได้ชื่นชมกัน
แทนที่ไอเดียจะเป็นการวางผัง วาง masterplan เมืองอันยิ่งใหญ่ ไอเดียที่เราเห็นในเลกเชอร์ คือโปรเจ็คต์เล็กๆ ที่ไปแทรกแซงและเล่นสนุกกับเมือง อย่างเช่น การออกแบบสเปซเพื่อให้คนไปเดินเที่ยวเล่นสนุกระหว่างรอรถไฟ หรือการติดตั้งป้ายสื่อสารข้อมูลในย่าน Chinatown ของเมืองมิลาน ซึ่งคนอิตาลีและคนจีนจะอ่านข้อมูลแตกต่างกันออกไป ด้วยพื้นหลังวัฒนธรรมที่ต่างกัน
ฟังเลกเชอร์แล้วก็สงสัยขึ้นมา ว่าทำไมโปรแกรม Master in New Urban Design จาก NABA ถึงให้นักศึกษาทำโปรเจ็คต์เหล่านี้ แล้วก็อยากรู้ด้วยว่าโปรแกรม Master in New Urban Design มีดีอย่างไร เพื่อให้คลายสงสัย เราจึงเข้าไปพูดคุยเล็กน้อยกับ Elisa Poli หลังจากเลกเชอร์จบลง
art4d: เราเห็นว่าโปรเจ็คต์จากโปรแกรม Master in New Urban Design ที่คุณเสนอในเลกเชอร์ จะเป็นโปรเจ็คต์ที่เข้าไปแทรกแซงเมืองด้วยงานดีไซน์สเกลเล็กๆ ไม่ใช่การนำเสนอแผนแม่บทอย่างที่เราคุ้นชิน ทำไมทางโปรแกรมถึงสนใจให้นักศึกษาทำโปรเจ็คต์ลักษณะนี้ ?
Elisa Poli: เรามองว่าการออกแบบเมืองด้วยการวางแผนที่แสนจะรัดกุม ไม่สามารถปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและชีวิตมนุษย์ มันใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว สิ่งที่เราเสนอคือการหา solution ที่มีความยืนหยุ่น รับมือได้กับสภาพแวดล้อมและบริบทที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะตอนนี้ที่เราต้องพบเจอกับโรคระบาดที่ไม่เคยเจอมาก่อน อย่างเช่น โรค COVID-19 และการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่รวดเร็วมากๆ การทดลองหาแนวคิดที่แตกต่าง และยืดหยุ่น จึงเป็นเรื่องสำคัญ
นอกจากนั้น เราก็อยากให้นักเรียนได้ทดลองสร้างความเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และได้ลงไปคลุกคลีกับคนในชุมชนจริงๆ พวกเขาจะได้ไปเข้าใจความต้องการผู้คน นำงานลงไปทดลองในพื้นที่ และให้คนในชุมชนไปประเมินผลลัพธ์งานจริงๆ
การออกแบบอย่างนี้ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการแบบ bottom-up (การบริหารงานที่มองปัญหาจากคนทำงานระดับล่างขึ้นไปสู่ระดับบริหาร) คือทักษะที่เรามองว่าสำคัญสำหรับนักออกแบบเมือง เพราะนักออกแบบเมืองที่ดี จะต้องสามารถทำงานร่วมกันกับคนในชุมชนได้
art4d: นอกจากนักศึกษาจะได้ลงมือทำโปรเจ็คต์สนุกๆ อย่างนี้แล้ว คุณมองว่าโปรแกรม Master in New Urban Design ของ NABA มีความพิเศษอะไรอีกบ้าง
EP: มีหลายสิ่งมากใน Master in New Urban Design ที่ฉันคิดว่ามันใหม่จริงๆ เราให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ออกแบบเมืองผ่านมุมมองของศาสตร์อื่นๆ ด้วย อย่างเช่น มานุษยวิทยา สังคมวิทยา จิตวิทยา รวมถึงให้นักเรียนได้ทำงานร่วมกันกับคนศาสตร์อื่นๆ อย่างนักปรัชญา นักเรียกร้องทางสังคม เพื่อให้พวกเขาได้มุมมองใหม่ๆ ในการออกแบบเมือง นอกจากนั้น เรายังให้ความสนใจกับการออกแบบเพื่อสัตว์และสิ่งมีชีวิตสปีชีส์อื่นๆ ด้วย เพราะโลกตอนนี้เริ่มสนใจการออกแบบที่ไม่ได้มีแค่มนุษย์เป็นศูนย์กลางแล้ว
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างสำหรับโปรแกรมนี้คือ นักเรียนจะไม่ได้เป็นแค่ฝ่ายรับข้อมูลเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาจะเป็นคนลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองด้วย เพราะฉะนั้นเราเลยให้ความสำคัญกับการลงมือ และเข้าไปคลุกคลีกับชุมชน
art4d: ดูแล้วภาพของคนที่จบออกมาจากโปรแกรมนี้ก็จะไม่ใช่นักวางผังที่นั่งอยู่ในออฟฟิศอย่างเดียว
EP: ใช่เลย โปรแกรมนี้ไม่ได้เหมาะกับคนที่อยากทำงานในสตูดิโอสถาปัตยกรรมหรือสำนักงานวิศวกรรมเพียงอย่างเดียว แต่เหมาะกับคนอยากเข้าไปทำงานกับองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ดูเรื่องการพัฒนาเมือง หรือคนทำงานด้านที่ปรึกษาต่างๆ เพราะโปรแกรมนี้ ไม่ได้โฟกัสกับความเป็นวิชาชีพอย่างเดียว แต่เรายังให้นักเรียนได้เรียนเรื่องวัสดุ การผลิตเฟอร์นิเจอร์สำหรับพื้นที่สาธารณะ หรือการเขียนขอทุนเพื่อพัฒนาเมือง โปรแกรมนี้เลยมีความหลากหลายศาสตร์อยู่ในตัว และเปิดโอกาสในอนาคตอีกมากมายให้กับนักเรียน
art4d: แล้วการเรียนที่ NABA มีความพิเศษอย่างไร
EP: NABA เป็นสถาบันที่เน้นด้านศิลปะและการออกแบบโดยเฉพาะ เราเปิดสอนทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท รวมถึงคอร์สระยะสั้น ในหลายสาขาวิชาด้วยกัน อย่างเช่น Fashion Design, Interior Design, Product Design, Graphic Design (Visual & UX/UI Design), Creative Media Production (Film, Games & Animation) หรือ Visual Arts & Curatorial Studies
สถาบันอยู่ในเมือง Milan ซึ่งเป็นเมืองที่พิเศษมาก มันเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยพลัง มีอีเว้นท์ งานนิทรรศการ งานศิลปะ งานดีไซน์เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ทำให้คุณสามารถเจอดีไซเนอร์และศิลปินตามโอกาสต่างๆ ได้
NABA ก็ส่งเสริมให้นักเรียนจากหลายสาขาวิชาทำงานร่วมกันด้วย ในแต่ละปี NABA จะมีอาทิตย์หนึ่งที่เราจัด workshop ให้นักเรียนจากแต่ละสาขามาทำงานร่วมกัน พวกเขาสามารถเลือก workshop ในสิ่งที่เขาสนใจได้ อย่างเช่นในปีหนึ่ง เราเคยมี workshop เกี่ยวกับกีฬาและงานดีไซน์ ซึ่งมันน่าสนใจมาก เพราะกีฬาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา แต่เราไม่ค่อยได้เห็นว่ามันเชื่อมโยงกับงานดีไซน์ เมือง หรือปัญหาต่างๆ เช่นปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไร มันทำให้พวกเขามี mindset (วิธีการคิด) ของความหลากสาขาวิชาอยู่ในตัว
art4d: ทำไม NABA ถึงมองว่าการมี mindset ของความหลากสาขาวิชาในตัวเป็นเรื่องสำคัญล่ะ
EP: มันทำให้พวกเขาเป็นคนยืนหยุ่น ปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ และได้เห็นภาพที่กว้างไปจากบริบทที่ตัวเองอยู่ ซึ่งมันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการทำงานดีไซน์
อีก mindset สำคัญที่ NABA พยายามสร้างให้นักเรียน คือความเชื่อมั่นในตัวเอง และมีความหวังในการสร้างความเปลี่ยนแปลง โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยความน่ากลัว เพราะมันเต็มไปด้วยข้อมูลมากมายถาโถมเข้ามา แต่เราจะเป็นคนส่งเสริมให้นักเรียนใช้ความกลัวอันนี้ เป็นแรงผลักดันไปสร้างความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนข้อมูลที่ล้นหลาม ย่อยเป็นแผนการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวที่จะช่วยให้ชีวิตของคนดีขึ้น นี่คือสิ่งที่ NABA พยายามจะทำ
สอบถามข้อมูลหลักสูตร รวมถึงแนวทางการศึกษาต่อกั