Tag: Amata Luphaiboon

PHOTO ESSAY : SCALA IN MY MEMORY

TEXT & PHOTO: AMATA LUPHAIBOON

(For English, press here)

ผมรู้จักสกาลาครั้งแรกตอนอยู่ ม.4  สมัยนั้นที่เตรียมอุดมจะไม่มีเรียนทุกบ่ายวันศุกร์ เวลาช่วงนั้นเป็นเวลาทองที่ผมจะตระเวนดูหนัง นอกจากโรงแถวๆ สยามสแควร์ เช่น สกาลา สยาม ลิโด และแมคเคนน่าแล้ว ก็จะมีโรงวอชิงตันบนสุขุมวิทที่เป็นทางผ่านรถเมล์กลับบ้าน ผมคุ้นเคยกับสกาลาเหมือนเพื่อนรุ่นเดียวกัน สกาลาเปิดใช้ในปีเดียวกับปีที่ผมเกิด ตอนอยู่เตรียมอุดมผมจะดูหนังได้เฉพาะวันศุกร์ แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยแล้วสบาย จะดูตอนไหนก็ได้ เดินไปสยามดูหนังกลับมาเรียนต่อก็ได้ พอเริ่มทำงาน ผมก็จะมาดูหนังแถวนี้แทบทุกอาทิตย์ ดูหนังเสร็จก็กินข้าวนิวไลท์ ซ้ำ routine นี้เป็นร้อยๆ ครั้ง 

เวลาผ่านไป โรงหนัง standalone ก็ทยอยปิดไปทีละโรง จนปี 53 โรงหนังสยามไฟไหม้ ก็เหลือแต่ลิโด สกาลาเท่านั้น ลิโดพยายามปรับสู้โรงแบบ multiplex โดยแบ่งเป็น 3 โรงเล็ก โรงสวยน้อยลงแต่ก็มีหนังให้เลือกมากขึ้น สกาลาก็จะได้ฉายหนังที่เพิ่งเข้าหรือหนังที่น่าจะมีคนดูเยอะหน่อย คือถ้าเลือกได้ก็จะดูสกาลาเพราะชอบ ritual ของการเดินขึ้นบันได รอซื้อตั๋ว ซื้อขนม แล้วเข้า foyer ไปรอคนดูรอบก่อนหน้าเดินออกมา ชอบสังเกตุดูสีหน้าคนที่กำลังเดินออก จะชอบเดาว่าใครชอบ ใครบ่น ใครหลับ พี่ๆ น้าๆ ที่สกาลาและลิโดบางคนก็จำผมได้ น้าที่ขายขนมรู้ว่าผมชอบซื้อโคลอนและน้ำเปล่าก่อนเข้าโรง พี่ที่ขายตั๋วก็รู้แถวที่นั่งประจำของผม ในวันที่ลิโดฉายหนังวันสุดท้ายผมก็ได้ไปไหว้ลาพี่ๆ น้าๆ ทุกคน บางคนบอกว่าคงไม่ตามไปทำต่อที่สกาลาแล้วเพราะคนเยอะเกินงาน จะกลับไปต่างจังหวัดอยู่กับลูกหลาน จริงๆ แล้วในคืนสุดท้ายของลิโดคืนนั้น หลายๆ คนก็คงแอบคิดแล้วว่าคงถึงคิวของสกาลาในอีกไม่นาน

ในหลายๆ ปีที่ผ่านมามีความพยายามของหลายกลุ่มที่พยายามทำให้คนทั่วไปเห็นถึงความสำคัญและความงามของสกาลา ด้วยหวังว่าเจ้าของที่จะมองเห็น หรือประชาชนจะสนับสนุนเป็นวงกว้าง เผื่อจะต่อชีวิตสกาลาจะได้อีกหลายๆ ปี เช่นหอภาพยนตร์ก็จัดโปรแกรม ‘ทึ่งหนังโลก’ เอาหนังคลาสสิกมาฉาย ในวันที่ Godfather ฉาย มีคนดูล้นโรง คนดูต้องนั่งบนบันได มีคุณย่าคุณยายมาดูพร้อมกับลูกหลาน คนทุก generation มาร่วมประสบการณ์ดูภาพยนตร์ด้วยกันที่นี่ สกาลาครึกครื้นมีชีวิตที่สุดในบ่ายวันนั้น เมื่อสองปีก่อน เพื่อนๆ lighting designer ก็จัด ‘The Wall’ lighting installation ทุกครีบเสา ดาวบนฝ้า ถูกเน้นด้วยแสงไฟจนคมสวย โถง foyer ได้รับการขับด้วยไฟสีทั้งที่ผนังและฝ้าเพดาน ในโรงก็มี lighting installation ที่เข้ากับดนตรีที่เรียบเรียงขึ้นมาเป็นพิเศษ ช่วงนั้นสกาลาสวยที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา มีคนไปชมไปถ่ายรูปถ่ายคลิปลง social กันมากมาย ทำให้พวกเรามีความหวังขึ้นมาอีกนิดนึง

ผมทำ presentation แสดงถึงความสำคัญของสกาลาทั้งในแง่สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรม พยายามแสดงแนวทางการเก็บอาคารนี้ไว้โดยปรับการใช้สอยและโปรแกรมให้ร่วมสมัย เพราะรู้ดีว่าจะคงเป็นโรงหนังฉายหนังแบบเดิมไม่ได้ตลอดไป เพิ่มความเป็นไปได้ของการหารายได้ และประเภทของ retail ที่เสริมกับโรงหนัง รวมทั้งตัวอย่างของโรงหนัง standalone ทั่วโลกที่ปรับตัวและ sustainable ในที่สุด ผมเอาเข้าไปคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เขาก็รับฟัง แต่มองไปที่ตาก็รู้ว่าสิ่งที่เราพยายามสื่อมันผ่านเข้าและออกไปเรียบร้อยแล้ว มันไม่ตรงกับเป้าที่เขาตั้งไว้ตั้งแต่ต้น

หลังจากนั้นไม่นาน โควิดก็มา Apex ก็จำเป็นต้องปล่อยสกาลาไปก่อนกำหนด ของประดับตกแต่งถูกถอดออกไป เหมือนเป็นความตั้งใจของเบื้องบนที่จะให้สกาลาดูโทรมลง ดูด้อยค่าลงเรื่อยๆ เมื่อวันที่จะทุบจะได้ไม่มีคนออกมาต่อต้านกันมากนัก 

จนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อนที่รักสกาลาด้วยกันส่งรูปสกาลาที่ถูกทุบมาให้ จนถึงวันที่เขียนวันนี้ก็คงไม่มีอะไรหลงเหลือแล้ว ผมคงไม่คร่ำครวญอะไรมากมาย ทุกอย่างมีวันจบของมัน หนังก็มีอวสาน จริงๆ ทางรอดของสกาลาก็ริบหรี่มาหลายปี เหมือนเพื่อนสนิทที่ป่วยหนักมานาน บางวันก็ทรงๆ บางวันก็สดใส เราก็เก็บความจำวันที่เพื่อนคนนี้สวยที่สุด มีชีวิตชีวาที่สุดไว้ก็แล้วกัน

_____________

อมตะ หลูไพบูลย์ เป็นสถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้ง Department of Architecture Co.