TEXT & PHOTO: BARRY MACDONALD
(For English, press here)
ผมเป็นช่างภาพ และผมก็ได้ทำการบันทึกภาพบรรดาเก้าอี้ที่ถูกซ่อม หรือวัสดุที่ถูกดัดแปลงให้นั่งได้ตามท้องถนนของประเทศไทย สิ่งเหล่านั้นมองอย่างไรก็เป็นสิ่งที่ชำรุดแล้ว แต่มันกลับไม่ถูกทิ้งขว้าง หากแต่ได้รับการซ่อมแซมด้วยการเชื่อมต่อ ปะติด มอบชีวิตใหม่ให้สิ่งของอีกครั้งหนึ่ง ในสายตาคนบางคน เฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งที่อาจดูผุพังใช้งานไม่ได้อีกต่อไป แต่ก็ยังมีคนที่เลือกซ่อมแซมมัน เพราะยังมองเห็นโอกาสที่จะใช้งานต่อได้อย่างไม่รู้จบ เราสามารถพบเจอเก้าอี้เหล่านี้ได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นที่เพิงวินมอเตอร์ไซค์หรือตลาด หรือสถานที่สาธารณะที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ต้องการพักผ่อนแต่ไม่มีอุปกรณ์สาธารณะประโยชน์ตอบสนอง การสร้างที่พักพิงชั่วคราวเหล่านี้ขึ้นมาด้วยตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ
นักออกแบบและวิศวกรของเก้าอี้ชุดนี้คือกลุ่มคนธรรมดาๆ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และความหลักแหลมของตนรังสรรค์ผลงานเหล่านี้ขึ้นมา ภายใต้ปรัชญาการใช้ซ้ำ (recycling) และนำสิ่งของกลับมาใช้ใหม่ (upcycling) ในขณะที่ผลงานที่พวกเขาสร้างขึ้นมีการใช้งานเป็นจุดประสงค์หลัก แต่ถึงอย่างนั้น พวกมันก็ก่อกำเนิดความงามที่แตกต่างออกไป จากเทคนิคการประกอบร่างวัสดุหลายอย่าง เช่นงานไม้ การถักทอ การผูก การเชื่อม การติดกาว การผูกเคเบิล การแกะสลัก การติดเทป การใช้ยางยืด ฯลฯ บางครั้งวัตถุรอบๆ ก็กลายเป็นองค์ประกอบที่ช่วยเสริมความแข็งแรง ราวกับเก้าอี้และท้องถนนผสานหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เช่นเดียวกับเก้าอี้ตัวหนึ่งที่ผมเคยเห็น ที่วางตัวอยู่ภายในกิ่งไม้ที่กลายเป็นที่วางแขนของมันไปในที่สุด
ของราคาถูกที่พังง่ายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มการสร้างขยะและค่านิยมบริโภคนิยม ศิลปะของการซ่อมแซมสิ่งของที่เราเป็นเจ้าของกำลังล้าสมัย พร้อมๆ กับการที่เหล่าบริษัทผู้ผลิตใช้กลยุทธ์สร้างผลิตภัณฑ์ให้หมดอายุเมื่อผ่านระยะเวลาไปสักประมาณหนึ่ง เก้าอี้เหล่านี้เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของการออกแบบเมือง มันทำงานกับข้อจำกัดที่มาพร้อมความเสียหายและเงื่อนไขที่ไม่ปกติของวัสดุ การสร้างที่นั่งที่ทำให้การนั่งทำงานบนท้องถนนสามารถเป็นไปได้ ทักษะเหล่านี้จึงมีความจำเป็น เพราะในขณะที่เรากำลังเผชิญประเด็นปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับทรัพยากรในโลกนี้ การมีความคิดและทัศนคติว่าเราควรที่จะซ่อมแซมสิ่งต่างๆ มากกว่าที่จะหาสิ่งใหม่มาแทนที่สิ่งเก่าเสมอจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ
ผมคิดว่าทักษะของนักออกแบบธรรมดาเหล่านี้ คือการคิดริเริ่ม ความสามารถในการแก้ปัญหา รวมไปถึงมีความยืดหยุ่น เป็นสิ่งจำเป็นต่อความเป็นไปของประเทศไทย และมันควรได้รับการคำนึงถึงและส่งเสริม เมื่อมีการวางแผนพื้นที่สาธารณะในอนาคต
_____________
แบร์รี่ แมคโดนัลด์ เกิดที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร พ่อของเขาเคยถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์ม 35 มม. เป็นงานอดิเรก และได้สอนวิธีใช้กล้องนี้แก่เขาเมื่อเขายังเด็ก ตอนที่เขาอายุ 15 เขามีกล้องฟิล์มเป็นของตัวเอง สำหรับแบร์รี่ กล้องเป็นช่องทางในการปฏิสัมพันธ์กับโลกในแบบที่เป็นเหตุเป็นผล การจับภาพ สร้างเฟรมและองค์ประกอบขึ้นจากช่วงเวลาๆ หนึ่งอันนำมาซึ่งความพึงใจ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นและคงอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว กล้องได้นำพาให้เขาออกเดินทางและพบเจอผู้คน และเขาก็รู้สึกขอบคุณมันเสมอที่เปลี่ยนชีวิตเขาและช่วยให้เขาเข้าใจโลกในแบบที่มันเป็น