HOW DOES THE LATEST PROJECT BY ONION, WHICH RECENTLY OPENED ITS DOOR TO THE PUBLIC MONTHS AGO, FIND ITS WAY AROUND AN UNEXPECTED OPPORTUNITY DURING THE TIME OF COVID-19? WHAT IS IT THAT BRINGS PEOPLE TO THIS BRICK ‘SPOT’ IN AYUTTHAYA? OBSERVED M.L.CHITTAWADI CHITRABONGS
TEXT: M.L.CHITTAWADI CHITRABONGS
PHOTO: W WORKSPACE EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
ความแปลกประหลาดและอัศจรรย์ใจเกิดขึ้นเมื่อสังเกตสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และช่วงเวลาสุดท้ายในการก่อสร้างบ้านป้อมเพชร ร้านอาหารกุ้งเผา 160 ที่นั่งและโรงแรม 8 ห้อง ข้างโบราณสถานชื่อป้อมเพชร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บ้านป้อมเพชรน่าจะเปิดได้ภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 เชื้อโรคโควิด-19 ระบาดมาถึงเมืองไทยในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลไทยประกาศแถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 ถึง 30 เมษายน พ.ศ. 2563 ให้ประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ประชาชนต้องอยู่บ้าน ณ เวลาที่กำหนด ห้ามเข้าออกสถานที่บางแห่ง เช่น ห้างสรรพสินค้า ห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารแต่สั่งกลับบ้านได้ ข้อกังวลใจคือบ้านป้อมเพชร เมื่อเปิดทำการ จะมีแขกมาบ้างหรือไม่ เราออกแบบ ขออนุญาตก่อสร้าง และก่อสร้างกันมาสามปี ความฝันกำลังจะเป็นจริง เจ้าของโครงการและทีมงานก่อสร้างอุทิศตนในการเก็บรายละเอียดทุกอณูของบ้านป้อมเพชร ฐานอิฐซิกแซกของศาลพระพรหมและศาลตายายสร้างเสร็จรอพิธีตั้งศาล สบู่ก้อน สบู่เหลว แชมพู และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของโรงแรมถูกเลือกอย่างพิถีพิถัน ต้นไม้ใหม่พร้อม ต้นโพธิ์ใหญ่เดิมผ่านการแต่งกิ่งโดยรุกขกร เมนูอาหารและเมนูเครื่องดื่มพิมพ์สีอย่างดีโดยมีภาพถ่ายบ้านป้อมเพชรเป็นหน้าปก ความรักและความเอาใจใส่ปรากฏอยู่ทั่วไปทั้งโครงการ
เจ้าของโครงการตัดสินใจเปิดบ้านป้อมเพชรเพื่อขายกาแฟ เครื่องดื่ม และขนมเค้ก เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 โดยเลื่อนการเปิดร้านอาหารและบาร์ที่ดาดฟ้า ให้ความร่วมมือกับทางราชการตามนโยบายการงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การตัดสินใจเช่นนี้อาจส่งผลเสียต่อธุรกิจ ความเป็นจริงคือสิ่งตรงกันข้าม เจ้าของประสพความสำเร็จในเชิงธุรกิจ บ้านป้อมเพชรกลายเป็น “สถานที่ท่องเที่ยว” แห่งใหม่ของอยุธยา หรือแม้กระทั่งเป็นสถานที่ที่คนติดต่อมาขอถ่ายภาพแต่งงาน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการถ่ายภาพตนเอง การลงสื่อออนไลน์ และบางครั้ง การเขียนหน้ารีวิวให้บ้านป้อมเพชร แขกของบ้านป้อมเพชรเหมือนเป็นดารา ส่วนมากเป็นวัยรุ่น หน้าตาดี แต่งตัวทันสมัยเข้ากับสีสันของอาคารที่บ้านป้อมเพชร เราไม่มีความรู้ว่าคนเหล่านี้คือใคร แขกของบ้านป้อมเพชรมาเยือนแม้ว่าสถานที่ยังไม่เปิดทำการเต็มรูปแบบ ความกำกวมของความรู้สึกว่าสถานการณ์ดังกล่าว ดีหรือไม่ดี เกี่ยวเนื่องกับความกังวลว่า ถ้าคนมามากเกินไป วัสดุการก่อสร้างอาจเสียหายในเวลารวดเร็ว อีกเหตุผลหนี่ง ซึ่งมีความเป็นส่วนตัวมากกว่า คือ ร้านอาหารและโรงแรมที่มีแขกจำนวนมากมาถ่ายภาพตนเองอาจไม่ใช่สถานที่ที่ผู้เขียนอยากไป
แขกของบ้านป้อมเพชรต่อแถวเพื่อเข้าไปในโครงการประดุจการต่อคิวเข้าพิพิธภัณฑ์ มีการจองที่จอดรถสำหรับรถเฟอร์รารี่สีแดงและสีชมพูมาพร้อมกันสามคัน แขกของบ้านป้อมเพชรปีนขึ้นไปถ่ายภาพตนบนหลังคาที่สร้างจากอิฐราวกับว่าหลังคาของบ้านป้อมเพชรเป็นโบราณสถาน แม้กระทั่ง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยายังส่งตัวแทนมาเยี่ยมบ้านป้อมเพชร ตำรวจท่องเที่ยว 2 คนเดินและเต้นไปรอบโครงการ ภายใต้อากาศที่ร้อนเกือบ 40 องศาเซลเซียส โดยใส่ชุดตัวนำโชค (mascot) หนานุ่มเป็นตุ๊กตาตำรวจท่องเที่ยวเพศชายและเพศหญิง
คำถามคือคนชอบอะไรในบ้านป้อมเพชร วิธีที่จะรู้คำตอบคือการสอบถามผู้คน โดยเริ่มต้นจากการถามเพื่อน เพื่อนร่วมงาน และสมาชิกในครอบครัว สถาปนิกส่วนมากมักจะตอบในเชิงการวางผังบริเวณ การวางอาคารร้านอาหารออกจากอาคารโรงแรม ใช้พื้นที่ว่างระหว่างอาคารเป็นทางสัญจรหลักที่ทุกคนสามารถมองเห็นแม่น้ำได้ทันทีเมื่อเดินเข้ามาในที่ตั้ง ความรู้สึกคือบ้านป้อมเพชรต้อนรับผู้คน เมื่อเดินเข้ามาเรื่อยๆ จะค่อยๆ พบสิ่งที่น่าประทับใจ เช่น ทิวทัศน์ของการบรรจบกันระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก ต้นโพธิ์ใหญ่ข้างสระว่ายน้ำ ซึ่งแขกสามารถมองเห็นได้จากภายในโครงการเท่านั้น เพื่อนสถาปนิกคนหนึ่งเป็นคนชอบถ่ายรูปทัศนียภาพไปเยี่ยมบ้านป้อมเพชรเพราะเห็นภาพถ่ายในสื่อออนไลน์ เขาต้องการหาร้านขายกาแฟ เพื่อหยุดพักระหว่างการถ่ายภาพวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อเดินทางมาถึงบ้านป้อมเพชร เขาเห็นคนจำนวนมากถ่ายรูปตนเองและเกิดความรู้สึกรำคาญเพราะไม่มีพื้นที่เหลือให้เขาถ่ายรูปทัศนียภาพได้ เขาคิดว่าเหตุการณ์นี้น่าจะดีในเชิงการตลาด แต่ในความเห็นส่วนตัว เขาไม่ชอบความรู้สึกที่ว่าตนมาถึงสถานที่ใหม่ช้าไปกว่าคนอื่น หรือเรียกได้ว่า ตกเทรนด์ แม่ของผู้เขียนชอบความจริงที่ว่าทุกตารางนิ้วของโครงการใช้งานได้อย่างคุ้มค่า พื้นที่ดินของบ้านป้อมเพชรคือ 1,492 ตารางเมตร สร้างพื้นที่ใช้สอยได้ทั้งหมด 2,020 ตารางเมตร ภายใต้ข้อจำกัดด้านกฎหมายและข้อกำหนดของการสร้างอาคารในเขตเมืองเก่าของอยุธยา คำตอบเบื้องต้นไม่น่าพึงพอใจ เพราะเป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้และเป็นเกณฑ์ปกติในการออกแบบ ถ้าตอบว่าอิฐ ก็ยังยากที่จะยอมรับได้ อิฐเป็นวัสดุเห็นได้ทั่วไปในอยุธยา กำแพงอิฐคือกำแพงอิฐ สิ่งที่เพิ่มเป็นแค่การออกแบบเท่านั้น
Photo: Donlaporn Chanachai
อิฐของบ้านป้อมเพชรเป็นอิฐทำมือ ผลิตโดยบริษัท เฮ้งมุ่ยหลี อิฐ บ.ป.ก. จำกัด (บางปลากด) ที่จังหวัดอ่างทอง ขับรถ 30 นาทีจากที่ตั้ง อิฐเหล่านี้สั่งทำขนาดเล็กพิเศษ ก่อทั้งหมด 6 รูปแบบของพื้นและกำแพง ความพิเศษอยู่ที่สีส้มของอิฐ บริษัท บ.ป.ก. เผาอิฐด้วยฟืนในเตาเผาอิฐโบราณ ซึ่งเป็นเตาที่ทำจากอิฐรับน้ำหนักทั้งหมดไม่มีคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาเตาเป็นโดมมีช่องว่างอยู่บนยอด (oculus) คล้าย “ดวงตา” ของวิหารแพนธีออน ณ กรุงโรม เวลาที่น่าไปชมเตาเผาอิฐนี้คือช่วงเที่ยงวันเมื่อลำแสงก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างความสว่างและความมืด อิฐจากเตาเผานี้จะมีสีส้มต่างกันเล็กน้อย ยากที่จะรู้ถึงแบบแผน เพราะเป็นการเผาด้วยฟืนควบคุมด้วยมือคน ต่างจากโรงงานอิฐอื่นๆ ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการเผา เพื่อควบคุมคุณภาพมาตรฐานการผลิตและสีส้มของอิฐให้มีความสม่ำเสมอทุกก้อน
คำตอบที่น่าสนใจที่สุดต่อคำถามว่าคนชอบอะไรในบ้านป้อมเพชรเป็นคำตอบที่อ้างอิงกับฉากตลาดในภาพยนตร์เรื่อง อะลาดิน (ปี พ.ศ. ที่ออกฉาย 2562) ฉากตลาดนี้แสดงให้เห็นถึงพื้นที่แคบ กำแพงอิฐฉาบปูนทาสีชมพู พื้นดินแดง โครงสร้างระเบียงไม้ ห้องพักอาศัยทาสีเขียว กันสาดทับซ้อนหลายมิติ ตุ่มน้ำสีศิลาดล และดาดฟ้าที่เต็มไปด้วยประโยชน์ใช้สอย อะลาดินและเจ้าหญิงจัสมินวิ่งและกระโดดจากดาดฟ้าหนึ่งไปยังอีกดาดฟ้าหนึ่ง ความน่าแปลกใจคือสิ่งที่คล้ายกันระหว่างฉากตลาดในประเทศอินเดียกับบ้านป้อมเพชร ตลาดที่อินเดียไม่เคยอยู่ในความคิดของผู้เขียน ณ เวลาออกแบบบ้านป้อมเพชร อริศราและศิริยศก็เช่นกัน อริศราชอบการแยกและการลดทอนแมสของอาคารด้วยประโยชน์ใช้สอยเพื่อให้แขกของบ้านป้อมเพชรสำรวจพื้นที่ว่างแต่ละพื้นที่เมื่อเขาค่อยๆ เดินเข้ามาภายในโครงการ เธอชื่นชมงานหัตถกรรมเช่นเดียวกับศิริยศ ผู้ชอบผิวสัมผัสของอิฐทำมือและจังหวะที่พอดีในการเรียบเรียงพื้นที่ว่างสามมิติเมื่อเทียบกับองค์ประกอบเดิมของที่ตั้ง เช่น ต้นโพธิ์ใหญ่และโค้งแม่น้ำ พวกเราสามคนเห็นตรงกันว่าเรารักสถาปัตยกรรมของประเทศอินเดีย แต่เราไม่เคยคิดถึงอินเดียรวมถึงตลาดในประเทศอินเดียเวลาออกแบบบ้านป้อมเพชร โดยทั่วไป “ตลาด” มักจะเป็นมิตร ต้อนรับและมีเสน่ห์ ตลาดมักไม่มีสถาปนิกออกแบบ บ้านป้อมเพชรอาจจะสร้างความรู้สึกอบอุ่นจากการเลือกมาตราส่วนที่พบเห็นได้ในอาคารพื้นถิ่นทั่วไปตามสถานที่ต่างๆ ในโลก
เจ้าของโครงการชอบบ้านป้อมเพชรเพราะความรู้สึกถึง “การกลับบ้าน” เจ้าของเป็นคนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเจ้าของร้านอาหารกุ้งเผา บนถนนอู่ทอง ถนนเดียวกันกับบ้านป้อมเพชร ซึ่งประสบความสำเร็จอยู่แล้ว ร้านอาหารเดิมของเจ้าของมีลักษณะคล้ายร้านกุ้งเผาอื่นๆ ในอยุธยา กล่าวคือ สร้างอย่างมีเสน่ห์โดยปราศจากสถาปนิก ความกล้าหาญของเจ้าของคือการจ้างบริษัทสถาปนิกออนเนี่ยนให้ออกแบบร้านอาหารใหม่พร้อมโรงแรมจำนวน 8 ห้อง ณ ผืนที่ดินที่งามที่สุดผืนหนึ่งของอยุธยา เป็นการตัดสินใจลงทุนที่แน่วแน่ เจ้าของโครงการเป็นคนรับผิดชอบในการสั่งสิ่งของต่างๆ สำหรับโครงการเอง เช่น เก้าอี้ ชนาง (เครื่องมือสานสำหรับจับกุ้ง ที่ออนเนี่ยนออกแบบเป็นโคมไฟภายในร้านอาหาร) ป้ายสัญลักษณ์ เบาะที่นั่ง และต้นไม้ การสั่งสิ่งของเองเช่นนี้คืองานหนักและน่าประทับใจเป็นอย่างมาก สำหรับเจ้าของ บ้านป้อมเพชรคือบ้านของครอบครัวเธอ คนที่มาบ้านป้อมเพชรคือแขกของบ้าน เธอมีพื้นที่ของครอบครัวคือห้องนอนสองห้องอยู่เหนือครัว เจ้าของอาศัยอยู่ที่บ้านป้อมเพชร บ้านป้อมเพชรให้ความรู้สึกถึงการกลับบ้าน ที่เธอไม่สามารถหาได้จากสถานที่อื่นใดในโลก
บ้านป้อมเพชร และนี่คือคำตอบที่คิดว่าจริง แสดงออกถึงความไว้วางใจระหว่างเจ้าของโครงการ สถาปนิก และช่างฝีมือ การก่อสร้างบ้านป้อมเพชรคือการให้โอกาสทุกคนแสดงฝีมืออย่างเต็มความสามารถ หนแรกที่ผู้เขียนเห็นช่างผจญในเสื้อยืดแขนยาวสีชมพูแจ๋น กำลังปูกระเบื้องทำมือสีศิลาดลในห้องน้ำตามเส้นโครงร่างเฉียงไปมาผสมโครงร่างกริด ช่างผจญชนะใจผู้เขียน ช่างทำงานในความสงบ มีสมาธิ มีความตั้งใจที่จะปูกระเบื้องดินเผาทำมือโดยไม่ใช้ยาแนวคนเดียวทั้งห้องน้ำ ช่างผจญกลับบ้านต่างจังหวัดทันทีเมื่อเขาปูกระเบื้องห้องน้ำบ้านป้อมเพชรเสร็จ ความหวังคือทีมก่อสร้างจะสามารถเรียกช่างผจญกลับมาทำงานได้ใหม่เมื่อถึงคราวจำเป็น ช่างแบ้งค์ผู้ผูกเชือกสีขาวบนผนังไม้สีดำในห้องอาหารนอนไม่หลับอยู่หลายคืน ช่างพยายามทำความเข้าใจแบบว่าผูกเชือกผ่านช่องว่างของผนังไม้ตามสเกลจริงได้อย่างไร สถานการณ์เดียวกันเกิดขึ้นกับช่างก่ออิฐ ช่างหนึ่งคนจะได้รับความไว้วางใจให้ฝึกการก่ออิฐตามรหัสการก่อ (coding system) หนึ่งรูปแบบ ช่างเขียว เป็นต้น ก่ออิฐซิกแซกจิ๋วบนพื้นทางเข้าหลักของโครงการคนเดียวจนผมเต็มไปด้วยผงสีส้ม ชุณห์ศิริ ไชยเอีย ผู้ได้รับรางวัลนริศสาขาสถาปัตยกรรมไทยในปี พ.ศ. 2562 เป็นคนเขียนแบบมือจับประตูหนุมานเป่าลมก่อนที่ช่างจะบรรจงแกะสลักมือจับหนุมานด้วยไม้สัก ทุกคนภูมิใจในสิ่งที่ตนทำให้บ้านป้อมเพชร มิตรภาพคือรางวัล
ชีวิตของบ้านป้อมเพชรยังคงดำเนินต่อไป วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เป็นวันแรกที่ร้านอาหารกุ้งเผาเปิดทำการและประสบความสำเร็จทันที หนึ่งโต๊ะอาหารต้อนรับแขกสองชุดต่อหนึ่งมื้อเย็น โต๊ะอาหารบนระเบียงริมแม่น้ำและใต้ถุนเต็ม สายบัวผัดปลาทูกลายเป็นอาหารจานเด็ดอีกจานที่ได้รับความนิยม ข้อน่าสงสัยคือทางบริการที่ตั้งใจออกแบบไว้ระหว่างกำแพงระเบียงและรั้วโครงการได้ใช้เป็นทางสัญจรของบริกรจริงหรือไม่ คำตอบคือไม่ อาหารต้องผ่านทางบริการสำรองที่ใต้ถุนของร้านอาหารผ่านมายังระเบียงริมแม่น้ำ ซอกทางบริการข้างรั้วโครงการข้างต้นถูกจับจองโดยลูกค้าเพื่อการถ่ายภาพ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าแปลกใจ ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะหาคำตอบว่าทำไมคนถึงชอบพื้นที่ซอกทางบริการ เป็นไปได้ไหมว่าคนชอบอิสรภาพในการเดินไปที่ไหนก็ได้ของโครงการ หรือคนชอบไปในที่ที่ปกติไม่มีใครไปถ่ายภาพ หรือคนชอบความรู้สึกผจญภัยของการเดินขึ้นลงบันไดที่แคบมาก บางที หนทางหนึ่งที่จะสรุปบทความนี้คือการหยิบยืมคำพูดของคนอินเดียที่ว่า “ทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดีในตอนจบ ดังนั้นถ้าทุกอย่างไม่เป็นไปด้วยดี มันก็ยังไม่ใช่ตอนจบ”
///
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความไว้ใจ มิตรภาพและความทรงจำ ผ่านกระบวนการก่อสร้างช่วงสุดท้ายของบ้านป้อมเพชร ในสถานการณ์โควิด-19 แต่ก่อนหน้านั้น ผู้เขียนขอขอบคุณผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิกออนเนี่ยน อริศรา จักรธรานนท์ และ ศิริยศ ชัยอำนวย ผู้เชิญผู้เขียนให้มาร่วมทำงานกับออนเนี่ยนในโครงการนี้ สเกลของโครงการดีและสถาปัตยกรรมที่บ้านป้อมเพชรต้องการองค์ประกอบเชิงวัฒนธรรม บ้านป้อมเพชรเป็นโครงการแรกที่เราสามคนทำงานด้วยกัน ทีมงานของออนเนี่ยนทำให้บ้านป้อมเพชรเป็นไปได้ นำพร นีลวัชระ เขียนแบบก่อสร้างคนเดียวทั้งเล่ม ตุลย์ วัฒนสุข รับผิดชอบรายละเอียดขององค์ประกอบทั้งหมดภายในอาคาร ฐิติ พนาจรัส เขียนแบบบันไดไม้ลงสู่ระเบียงริมแม่น้ำ ขอบคุณออนเนี่ยน เสียงของผู้เขียนในบทความนี้จึงมีสองบทบาท ได้แก่ สถาปนิกและผู้สังเกตการณ์