BY INTERPRETING THE CONCEPTS OF ‘PLAY’ AND ‘LEARN’ INTO A PHYSICAL SPACE, TOSTEM CLASSROOM DESIGNED BY DOLATHEP CHETTY WILL BE ANOTHER GREAT EXAMPLE OF HOW ARCHITECTURE CAN HELP CHILDREN EXPLORE THE SURROUNDING WORLD CREATIVELY
TEXT: PAPHOP KERDSUP
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
“สำหรับเด็กๆ แล้ว ‘การเรียน’ กับ ‘การเล่น’ เป็นสิ่งเดียวกัน เพราะพวกเขาเรียนรู้สิ่งต่างๆ ไปพร้อมๆ กับการเล่น” ดลเทพ เจตีร์ ผู้ชนะรางวัล Best of the Show และ Best of Category สาขา Architectural Design (สถาปัตยกรรม) จากการประกวด Degree Shows ประจำปี 2018 กล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลัง TOSTEM Classroom โครงการออกแบบและก่อสร้างห้องเรียนเด็กปฐมวัยสำหรับโรงเรียนวัดเศวตศิลารามที่ตั้งอยู่ในอำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเขารับหน้าที่เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ
นับตั้งแต่ที่แนวคิดซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างคำว่า “เล่น” และ “เรียน” อย่างคำว่า “เพลิน” (มาจากคำอ่านของคำว่า “plearn” หรือก็คือ play+learn) ถูกบัญญัติขึ้นเป็นครั้งแรกโดย ศ.ดร. ชัยอนันต์ สมุทรวณิช อดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย นักการศึกษาผู้มองว่า “การเล่น เพื่อรู้ เป็นวิธีการสำคัญในการพัฒนาเด็ก” และถูกประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในหลักสูตรการเรียนการสอนต่างๆ ประเด็นหนึ่งที่ชวนให้เราติดตามอยู่เสมอก็คือ ความพยายามในการตีความแนวคิดข้างต้นนั้นให้ออกมาอยู่ในรูปของสถาปัตยกรรม ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วจะพบว่า TOSTEM Classroom เป็นตัวอย่างที่สามารถถ่ายทอดแนวคิดแสนนามธรรมนั้นให้ออกมาอยู่ในรูปของพื้นที่กายภาพได้อย่างน่าสนใจ
สำหรับดลเทพ “safe explorer” เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่เขาใช้ในการตั้งโจทย์ให้กับการออกแบบอาคารเรียนหลังนี้ โดยเขามองว่าในระหว่างการเล่นและเรียนรู้ของเด็กๆ สถาปัตยกรรมควรจะต้องเป็นพื้นที่ที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กสามารถ “สำรวจ” และทำความเข้าใจตัวเอง ตลอดจนความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่าง “ปลอดภัย” ภายใต้สัดส่วนของพื้นที่ที่สอดคล้องกับสรีระของเด็กแต่ละช่วงวัย จากโจทย์นี้เอง เมื่อนำมารวมเข้ากับความต้องการของผู้ใช้จริงที่ได้จากการลงพื้นที่ไปสอบถามข้อมูลของดลเทพ จึงเกิดเป็นแนวทางการออกแบบองค์ประกอบต่างๆ ของ TOSTEM Classroom ขึ้นมา
ตั้งแต่ช่องเปิดบนผนังโซนหนึ่งที่มีขนาดและการวางตัวที่สูงต่ำแตกต่างกันตามสัดส่วนของเด็ก เพื่อให้พวกเขาสามารถมองเข้า-ออก และเล่นสนุกไปกับ “void space” เหล่านั้นได้ ผนังชั้นนอกสุดของอาคารที่มาพร้อมกับพื้นที่สำหรับวางกระถางต้นไม้ ซึ่งโครงสร้างภายในนั้นเกิดจากการนำเศษอะลูมิเนียมที่เหลือจากการผลิตของ TOSTEM มาใช้ จนถึงการเล่นสเต็ปทางเดินที่มีระดับความสูงต่ำแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ จากนอกอาคารเข้าไปยังภายในห้องเรียน ทั้งที่เป็นขั้นบันไดของอาคาร และชั้นวางบริเวณพื้นที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ ซึ่งต่างช่วยกันทำหน้าที่เป็น “playground element” ที่นำความสนุกสนานมาให้ผลงาน
ความพร่าเลือนระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอก ซึ่งเกิดขึ้นจากการเลือกใช้ชุดบานเฟี้ยมของ TOSTEM ที่บริเวณผนังด้านยาวของห้องเรียนตลอดทั้งผนัง เป็นอีกหนึ่งรายละเอียดสำคัญของ TOSTEM Classroom กล่าวคือผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะสร้างพื้นที่ปิดล้อมสำหรับการเรียนขึ้นด้วยการปิดบานเฟี้ยมท้ังหมด หรือจะเปิดออกเพียงบางส่วนหรือทั้งหมดเพื่อเอื้อให้เกิดการไหลเวียนของการสัญจรแบบ “free roaming” ที่เด็กๆ สามารถเคลื่อนที่ไปมาได้อย่างอิสระ การซ้อนทับกันระหว่างพื้นที่เรียนและพื้นที่เล่นนี้เอง ช่วยสะท้อนแนวคิด “เพลิน” หรือ “การเล่น เพื่อรู้” ออกมาเป็นพื้นที่ทางกายภาพที่เป็นไปตามความตั้งใจของดลเทพได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าการก่อสร้างที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าฝนจะเป็นอุปสรรค จนดลเทพออกปากว่า “การต้องจัดการกับปัญหาหน้างานในระหว่างการก่อสร้างเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าท้าทายที่สุดแล้ว” แต่ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างเต็มความสามารถระหว่างสถาปนิก วิศวกร ผู้รับเหมา ตลอดจนทีมผู้เชี่ยวชาญจาก TOSTEM ซึ่งในทางหนึ่งก็ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ครั้งสำคัญสำหรับสถาปนิกรุ่นใหม่อย่างดลเทพด้วย ก็ทำให้เรามั่นใจได้ว่า TOSTEM Classroom จะเป็นอีกตัวอย่างของผลงานออกแบบอาคารเรียนที่น่าติดตามทีเดียว