PANNAR AGRICULTURAL & SUFFICIENCY SCIENCE LEARNING CENTER

VIN VARAVARN ARCHITECTS REIMAGINES THE PRECONCEIVED NOTIONS OF THE AGRICULTURE CENTER IN THIS DESIGN

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

หากให้ลองจินตนาการพื้นที่ ‘ศูนย์การเรียนรู้การเกษตรพอเพียง’ ขึ้นมา คุณคิดว่าพื้นที่นี้จะมีหน้าตาอย่างไร?

เชื่อว่าในหลายๆ ภาพที่ปิ๊งกันขึ้นมา ต้องเป็นภาพเรือกสวนไร่นากว้างใหญ่ พร้อมกับอาคารกระต๊อบหรือเพิงหลายหลังที่ทำจากวัสดุบ้านๆ ง่ายๆ อย่างไม้ หรือไม้ไผ่ ซึ่งดูไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไร แถมอาจจะเก่าซอมซ่อจวนพัง จากความคิดที่ว่า ‘ศูนย์การเรียนรู้การเกษตร’ ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะเหมือนในภาพจำเก่าๆ เหล่านี้ คุณวิน-หม่อมหลวงวรุตม์ วรวรรณ สถาปนิก และผู้ก่อตั้ง Vin Varavarn Architects จึงลุกขึ้นมาปรับโฉมศูนย์การเรียนรู้การเกษตรที่เราคุ้นชินให้มีภาพลักษณ์ใหม่ ผ่านโครงการ ‘ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา เขาใหญ่ (PANNAR Agricultural & Sufficiency Science Learning Center)’ 

“เราไปศึกษาอาคารส่วนใหญ่ในโครงการส่งเสริมการเกษตรพอเพียงแบบนี้ ก็พบว่าอาคารส่วนใหญ่เป็นอาคารแบบง่ายๆ จริงๆ จะมองว่าความพอเพียงเป็นความธรรมดา ง่ายๆ ก็ได้ แต่ก็เกิดคำถามตามมาว่าอาคารมันพอเพียงจริงหรือเปล่า โครงสร้างที่ทำมาก็เหมือนเป็นโครงสร้างชั่วคราว มันจะเวิร์คกับการดูแลรักษาระยะยาวไหม เราเลยมองว่าความพอเพียงไม่จำเป็นต้องดูบ้านๆ อาคารสมัยใหม่ก็สามารถสอดแทรกเรื่องความพอดี แถมยังมีความคงทน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้เหมือนกัน อีกอย่าง คุณผึ้ง (พรรณราย พหลโยธิน) ก็มีแนวคิดทำศูนย์การเรียนรู้การเกษตรที่ช่วยให้คนที่สนใจมาร่วมกิจกรรมไม่ต้องอยู่อย่างยากลำบากเกินไป อยากให้มีความเป็นมิตรกับคนมากขึ้น ทั้งกับผู้สูงอายุ และเด็ก” ม.ล.วรุตม์กล่าว 

เมื่อเข้าไปในศูนย์การเรียนรู้ เราก็จะพบกับอาคารขนาดใหญ่ที่เตะตาด้วยหลังคาผืนกว้างในรูปฟอร์มหลายเหลี่ยม สถาปนิกออกแบบให้อาคารอันสะดุดตานี้เป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมในร่ม อย่างเช่น การอบรม สัมมนา รับประทานอาหาร พร้อมตระเตรียมให้มีพื้นที่ทั้งแบบอยู่ในห้อง และนอกห้องเพื่อรองรับกิจกรรมที่แตกต่างกันไป เหตุผลที่สถาปนิกเลือกออกแบบอาคารนี้ให้มีรูปลักษณ์โดดเด่น นอกจากจะเป็นการท้าทายภาพลักษณ์ศูนย์การเรียนรู้แบบเดิมๆ แล้ว ยังเป็นการสร้าง landmark ให้กับโครงการที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ช่วยให้ผู้มาร่วมกิจกรรมไม่หลงทิศ หลังคาผืนใหญ่ช่วยในการรองรับน้ำฝนและระบายสู่คลองไส้ไก่ ช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้พื้นที่โดยรอบ

Photo courtesy of Vin Varavarn Architects

Photo courtesy of Vin Varavarn Architects

แต่ในขณะเดียวกัน สถาปนิกก็ไม่ได้ต้องการให้อาคารเป็น landmark ที่ส่งเสียงดังแสบแก้วหู จึงออกแบบให้อาคารยังคงดูถ่อมตัว และเรียบง่ายผ่านการทดลองใช้วัสดุท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบร่วมสมัย เพื่อให้เห็นว่าวัสดุธรรมชาติรอบๆ ตัวก็สามารถทำงานที่น่าสนใจได้ เช่น การใช้ดินจากในพื้นที่มาฉาบผนังอาคาร หลังคาที่นำไม้ไผ่ที่หามาเองมาทำเป็นวัสดุมุง หรือการใช้วัสดุง่ายๆ ในการออกแบบเช่นพื้นซีเมนต์ขัดมัน หินขัด หรือผนังไม้ไผ่

ถัดไปไม่ใกลจากอาคารสัมมนา ก็คืออาคารห้องน้ำ ที่มีไฮไลท์เป็นอิฐโค้งที่สร้างให้เกิดสเปซรูปวงกลม 2 วงของห้องน้ำชาย และหญิง พร้อมพื้นที่ระหว่างกลางเป็นคอร์ทเล็กๆ ที่สามารถใช้นั่งพักคอยได้ โดยอิฐโค้งจะมีช่วงที่ก่อปิดทึบ และก่อเว้นช่องเพื่อระบายอากาศซึ่งสัมพันธ์ไปกับการใช้งานภายในห้องน้ำ เป็นพื้นที่ที่ให้ความรู้สึกสบาย อากาศถ่ายเท ปลอดโปร่ง และแปลกใหม่ ฉีกภาพห้องน้ำเดิมๆ ในโครงการลักษณะนี้ไปอย่างสิ้นเชิง “เรามองว่าห้องน้ำเป็นพื้นที่ที่สำคัญมากๆ เลย ห้องน้ำมักเป็นจุดอ่อนของโครงการพวกนี้ เพราะเวลาคนจะมาทำกิจกรรมในศูนย์ต่างๆ คนก็จะเริ่มคิดแล้วห้องน้ำจะสะอาดมั้ย ห้องน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่เวลาดีไซน์ไม่ค่อยพูดถึงกันเท่าไหร่ เราสนใจแปลนวงกลมเพราะรู้สึกว่ามันไม่มีจุดอับ เป็นห้องน้ำที่ไม่มี dead end” ม.ล.วรุตม์เน้นย้ำ

กว่าจะที่ออกมาเป็นผนังอิฐโค้งโฉบเฉี่ยวแปลกตา ม.ล.วรุตม์เล่าถึงเทคนิคการสร้างผนังนี้ว่า เราออกแบบโดยใช้เสาเอ็นเหล็ก flat bar ที่มีหน้าตัดต่างกันเป็นตัวช่วยกำหนดวางแนวทางในการก่ออิฐโค้ง รวมไปถึงทีมช่างที่มีการเสนอนำไม้อัดมากรุด้านนอกตามแนวโค้งตอนก่ออิฐอีกแรง เพื่อช่วยให้ก่อง่ายขึ้นอีกทาง ซึ่งนับว่าการก่อสร้างกำแพงนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายมากทีเดียวสำหรับทีมช่าง จนถึงขนาดที่พวกเขาเอ่ยปากออกมาว่า “เกิดมาไม่เคยทำห้องน้ำอะไรยากเท่าห้องน้ำของคุณวินมาก่อน”  

จากการลัดเลาะสำรวจดูดีไซน์ในโครงการนี้ของ Vin Varavarn Architects จะเห็นว่า สิ่งที่เราพบได้อย่างชัดเจนในงานออกแบบก็คือความโดดเด่นอย่างถ่อมตัว ความกลมกลืนของอาคารกับบริบทแวดล้อม และ ‘ความท้าทาย’ ที่สอดแทรกอยู่ในหลายมิติของงาน ไม่ว่าจะเป็นการท้าทายกับภาพลักษณ์เก่าๆ ของศูนย์การเรียนรู้การเกษตร หรือการท้าทายกับวิธีการก่อสร้าง และการใช้วัสดุก็ตาม 

“ผมเชื่อว่าความท้าทายทำให้คนก้าวไปจุดต่อไป เหมือนผมเองที่ไม่เคยรู้เรื่องศาสตร์การเกษตร พอได้เอาตัวเองมาเรียนรู้ และทำงานไปด้วยกันกับศูนย์ฯ มาเจอความท้าทาย ผมเองก็ได้เรียนรู้ คนอื่นก็เช่นกัน ทั้งช่างก่อสร้าง และทีมออกแบบ” ซึ่งดูแล้วก็น่าจะจริงอย่างที่ ม.ล.วรุตม์พูดไว้ เห็นได้จากทีมช่างก่อผนังห้องน้ำ ที่เคยพูดว่างานนี้เป็นการก่ออิฐที่ “ยากที่สุดในชีวิต” กลับนึกสนุกไปค้นหาเทคนิคก่ออิฐใหม่ๆ เพื่อสร้างในจุดอื่นๆ ภายในโครงการ จนช่ำชองเชี่ยวชาญ ราวกับว่าวลี “ยากที่สุดในชีวิต” หายไปจากสารบบของพวกเขาแล้ว น่าติดตามเหมือนกันว่า นอกจากเรื่องของทีมช่างแล้ว เมล็ดพันธุ์แห่งความท้าทายที่ Vin Varavarn Architects หว่านลงในโครงการนี้ จะออกดอกผลอะไรให้เราเห็นอีกบ้างในอนาคต

facebook.com/VinVaravarnArchitectsLimited
pannarlearningcenter.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *