มอง ‘กระจก’ วัสดุที่ทั้งมองเห็นและไม่เห็นผ่านสายตาของ กาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ บรรณาธิการ art4d ที่ชี้ให้เห็นความพิเศษของวัสดุที่ทั้งมีตัวตน และไม่มีตัวตน คาดเดาได้ และคาดเดาไม่ได้
TEXT: KARJVIT RIRERMVANICH
PHOTO: KUKKONG THIRATHOMRONGKIAT
(For English, press here)
ทุกวันนี้แม้เทคโนโลยีการก่อสร้างจะพัฒนาไปไกลมากเท่าไหร่ บทบาทของสถาปนิกก็ยังคงเหมือนเดิม เราอยู่ตรงกลางระหว่างความคิดและความเป็นจริง หน้าที่ของสถาปนิกคือการออกแบบ ซึ่งถ้าแปลแบบตรงตัวก็คือสถาปนิกมีหน้าที่ผลิต ‘แบบ’ ออกมา แบบคือภาษากลางและภาษาสากลที่เป็น final product ของกระบวนการออกแบบทั้งหมด เป็นรูปธรรมของความคิด บทสนทนา การเจรจาทั้งหลาย มันคือเครื่องมือในการสื่อสารที่ได้รับการวิวัฒนาการและพัฒนามาเพื่อให้สถาปนิกสามารถสร้าง ‘ตัวแทน’ ของอาคารหลังหนึ่งขึ้นมาได้ และสามารถควบคุมการแปรสภาพจากความคิดจนกลายเป็นรูปธรรมของอาคารนั้นจากระยะไกลโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปชี้สั่งการทุกอย่างที่หน้างานได้ บทบาทในการสร้างสรรค์ผลงานของสถาปนิกนับได้ว่าสิ้นสุดลงเมื่อแบบออกจากมือสถาปนิกไป แบบจะถูกแปรสภาพกลายเป็นอาคารผ่านการอ่านและปฏิบัติตามคำสั่งในแบบโดยผู้อื่นที่ไม่ใช่สถาปนิก หลังจากนั้นเรามักมีหน้าที่เพียงติดตามดูแลการแปรสภาพของแบบ หรือให้คำแปลความหมายในกรณีที่คำสั่งไม่ชัดเจน หรือคอยทักท้วงเมื่อการแปลความหมายนั้นผิดเพี้ยนไปจากความตั้งใจ มากบ้างน้อยบ้าง ราบรื่นบ้างไม่ราบรื่นบ้าง แต่กิจกรรมการก่อสร้างนั้นโดยกระบวนการแล้วไม่ใช่หน้าที่ของสถาปนิก
ในบทบาทนี้ โลกของแบบเป็นโลกในอุดมคติ มันคือ final product ทั้งของกระบวนการการออกแบบ และเป็น final product ในตัวมันเองในความที่มันเป็นตัวแทนของอาคารที่ ’เสร็จสมบูรณ์’ สถาปนิกเขียนแบบเพื่อออกคำสั่งให้ช่างก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบ ในความตั้งใจเดียวกันกับต้นฉบับที่เครื่องถ่ายเอกสารจะทำหน้าที่คัดลอกออกมาเป็นฉบับสำเนา กิจกรรมนี้น่าจะดำเนินมาตั้งแต่โลกมีอาชีพสถาปนิก เนื้อหนังและกายภาพของอาคารที่จับต้องได้ มีน้ำหนัก อยู่อาศัยและใช้งานได้ ถูกแปรสภาพมาจากเส้นจำนวนหนึ่งบนกระดาษหรือบนหน้าจออุปกรณ์ดิจิตอลในปัจจุบัน
แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นล้วนเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน วินาทีที่สถาปนิกส่งแบบออกไปและวินาทีที่อาคารถูกแปรสภาพเป็นรูปธรรมแล้วเสร็จนั้นล้วนกินเวลาห่างกันนานนับปีหรือนับหลายปี สถาปนิกต้องจัดการกับปัจจัยอีกมหาศาลที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตัวเอง และอยู่เหนือการควบคุมของแบบ เพราะการเดินทางจากแบบเป็นอาคารนั้นไม่ใช่การถ่ายเอกสารอย่างที่สถาปนิกตั้งใจหรือเข้าใจ หากแต่เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยการ ‘แปล’ ความหมายอยู่ตลอดเวลา จากภาษาของแบบไปเป็นภาษาของโลกของวัตถุ การเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งที่ดูเหมือนตรงไปตรงมา แท้จริงเป็นเส้นทางที่ปลายทางนั้นคลุมเครืออยู่เสมอ กิจกรรมนี้มักเป็นกิจกรรมที่โกลาหล และมันมักค่อยๆ เผยความจริงที่มีอยู่ตั้งแต่แรกแล้วว่าอำนาจในการควบคุมและออกคำสั่งของสถาปนิกนั้น เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของสถาปนิกเองอยู่พอสมควร
แต่ในกระบวนการที่ยาวนานและสับสนนี้ ในเวลาเดียวกันมันก็เป็นเวลาอันมหัศจรรย์ที่ไม่อาจหาได้จากกระบวนการทำของในรูปแบบอื่น เป็นเวลาเดียวกันกับที่อาคารค่อยๆ มีชีวิตขึ้นจริง และในบรรดาลายเส้นตัวแทนของสิ่งที่กำลังถูกสร้างทั้งหลายนี้ กระจกนับเป็นวัสดุที่มหัศจรรย์ที่สุด เพราะในโลกของแบบ มันเป็นสิ่งที่เกือบไม่ถูกเขียนออกมา ความตั้งใจที่มันจะถูกมองทะลุผ่านไปได้ในโลกของความเป็นจริงย้อนแย้งกับการมีตัวตนของมันในโลกของแบบอย่างสิ้นเชิง เราไม่อาจวาดเขียนรูปกระจกได้เพราะเราต้องการจะมองทะลุผ่านมันไป เราทำได้เพียงใช้ภาษาอื่นมาบอกว่าสิ่งนี้คือ (ภาษาไทย ในที่นี้) ‘กระจก’ แตกต่างจากวัสดุอื่นๆ เช่น ไม้ หิน คอนกรีต ที่ลวดลายของมันยังพอทำหน้าที่บอกเล่าถึงคุณสมบัติเชิงวัสดุของมันในแบบได้ บรรพบุรุษสถาปนิกคงต้องเคยจนปัญญากับสิ่งนี้ และจบลงที่แบบที่เต็มไปด้วยคำว่า ‘กระจก’ ลายพร้อยเต็มไปหมด จนมีใครสักคนประดิษฐ์สัญลักษณ์ /// ขึ้นมาเพื่อบ่งบอกความเป็นกระจกในแบบ มันเป็นสิ่งที่มีคุณูปการในระดับอารยธรรมมนุษย์ เป็นคำศัพท์สากลที่ประหยัดเวลาการสื่อสารของมนุษยชาติไปได้มหาศาล
ในเวลาเดียวกัน ความขัดแย้งนี้ทำให้การเดินทางจากแบบไปยังความเป็นจริงของกระจกเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยจินตนาการมหาศาลเช่นกัน เพราะสถาปนิกไม่สามารถมีตัวแทนบอกเล่าความเป็นกระจกทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริงผ่านโลกของแบบได้เลย สัญลักษณ์ /// ในแบบนั้นแท้จริงแล้วเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของปรากฏการณ์มากมาย ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ต้องซึมซับรับรู้ผ่านประสบการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริงเท่านั้น มันอยู่นอกเหนือความเป็นตัวแทนของภาษาแบบหรือภาษาใดภาษาหนึ่ง และมันเป็นสิ่งที่ยากที่จะอธิบายเป็นภาษาใดๆได้ในโลกของความเป็นจริง ที่เราไม่อาจอธิบายหรือเรนเดอร์ความรู้สึกนั้นได้อย่างชัดแจ้งปราศจากความคลุมเครือเช่นกัน และนี่คือขั้นตอนที่กระบวนการออกแบบทั้งหมดมีความหมายอย่างแท้จริง เมื่อสถาปนิกหมดคำจะพูด เมื่อวัสดุทำงานของมัน และปรากฏการณ์นั้นอยู่ไกลเกินกว่าอำนาจของภาษาที่สถาปนิกจะเขียนอธิบายเป็นแบบหรือสัญลักษณ์ได้อีกต่อไป เมื่อสัญลักษณ์ /// ในแบบถูกแปรสภาพเป็นความใส ความโปร่ง การมองทะลุผ่าน สเปซที่เชื่อมต่อ หรือการกั้นพื้นที่ การกั้นเสียงและอากาศ การรับรู้ถึงแสงธรรมชาติ บนพื้นผิวของกระจก บางอย่างทะลุ บางอย่างสะท้อน สิ่งเหล่านี้ไม่อาจเกิดจากการคำนวณ ไม่อาจสร้างแบบจำลองให้เหมือนจริงได้ทั้งหมด และในเวลาเดียวกัน มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจขัดขืน และไม่อาจปฏิเสธได้ แม้ว่าจะพยายามมากแค่ไหนก็ตาม
อาจกล่าวได้ว่าการเดินทางจากโลกของแบบสู่โลกของความเป็นจริงของกระจกนั้นเป็นประสบการณ์ที่ใหม่อยู่เสมอสำหรับอาคารแต่ละหลัง เสมือนการแปลภาษาจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่งซึ่งความหมายของถ้อยคำและประโยคเหล่านั้นถูกสภาพของความเป็นจริงทำให้ผิดเพี้ยน บิดเบี้ยว และยากต่อการอธิบาย และมีลักษณะเฉพาะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมเฉพาะตัวของมัน จุดเริ่มต้นของมันในโลกของแบบเกิดจากความไม่อาจอธิบายได้ชัดเจน และปลายทางของมันในโลกของความเป็นจริงก็เช่นกัน การเดินทางนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างเงียบๆ ในโลกของการออกแบบและก่อสร้าง สถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่งอาจใช้เวลายาวนานเมื่อเทียบกับอย่างอื่นที่ถูกสร้างขึ้นบนโลก บนการเดินทางที่เต็มไปด้วยการแปลความหมาย ความคลุมเครือ การถ่ายโอนซึ่งอำนาจในการเขียน การแปล และความโกลาหลอันเกิดจากการแปลนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการแปลความหมายของกระจกจากโลกของแบบสู่โลกของความเป็นจริงนั้นเป็นมิติที่พาสถาปนิกเข้าสู่โลกของอำนาจที่อยู่เหนือการควบคุมของสถาปนิก เป็นโลกที่ไม่อาจฟันธง ไม่อาจเข้าใจได้หมดสิ้น ไม่อาจบอกเล่าได้หมดจดจนสิ้นข้อสงสัย และนี่อาจเป็นเพียงเงื่อนไขเดียวที่ปรากฏการณ์ต่างๆในงานสถาปัตยกรรมจะเกิดขึ้น เมื่อตัวตนของสถาปนิกเลือนราง พ่ายแพ้ เมื่อถ้อยคำของสถาปนิกไม่เพียงพอ เมื่อหน้าที่ของแบบหมดความหมาย
เมื่อโลกและธรรมชาติทำหน้าที่ธรรมดาๆ ของมันและสิ่งเหล่านั้นสะท้อนเข้าสู่ตาเรา