SOMETHING WAS HERE

สำรวจประวัติศาสตร์ของสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นในไทย (ที่เหลืออยู่เพียงในความทรงจำ) พร้อมกลับมาตั้งคำถามว่า ‘คุณค่าของสถาปัตยกรรมนั้นคืออะไร?’ ผ่านนิทรรศการโดย วีระพล สิงห์น้อย (Foto_momo) 

TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

หากยังจำกันได้ เมื่อกลางปีที่แล้วมีเหตุการณ์ที่เป็น talk of the town นั่นคือการทุบโรงหนังสกาลาอันเป็นโรงภาพยนตร์ในความทรงจำของใครหลายๆ คน นำไปสู่บทสนทนาในวงกว้างที่ตั้งคำถามถึงการทุบทำลายหมุดหมายทางสถาปัตยกรรมที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน การวิพากษ์วิจารณ์ขยายวงไปยังประเด็นการตระหนักถึงคุณค่าของสถาปัตยกรรมในอดีตรวมไปถึงพลังของสถาปัตยกรรมในการก่อร่างประวัติศาสตร์ เฉกเช่นเดียวกับนิทรรศการ Something Was Here โดย FotoMoMo หรือ เบียร์ วีระพล สิงห์น้อย ที่จัดขึ้นในช่วงวันที่ 15-27 มีนาคม 2565 หรือในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ที่บอกเล่าความสัมพันธ์ของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นและประวัติศาสตร์ของไทยในช่วงศตวรรษที่ 20 แด่อาคารที่ยังอยู่ นิทรรศการนี้พาเราสำรวจคุณค่าของสถาปัตยกรรมและเรื่องราวที่แวดล้อมกับอาคารเหล่านั้น และแด่อาคารที่จากไปแล้ว นิทรรศการนี้บอกกับเราว่ามีสิ่งใดหลงเหลืออยู่ในอาคารเหล่านั้น

บนทางเดินโค้งในชั้น 3 ของ BACC นิทรรศการ Something was Here นั้นแบ่งพื้นที่จัดแสดงออกมาได้เป็นสองส่วน ส่วนแรกจัดแสดงผลงานภาพถ่ายสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในประเทศไทยที่เราต่างคุ้นชินกันดี อาทิ ห้างไนติงเกลโอลิมปิก (1966) โรงพิมพ์ผ้าปีนัง (N/A) โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สีลม (1970) โรงแรมอินทรา (1971) โดยโฟกัสไปที่รูปแบบของสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นด้วยรูปทรงและ façade จากคอนกรีตที่หน้าตาแตกต่างกันไปทั้งยังเป็นตัวแทนของการสร้างชาติไทยให้ทัดเทียมกับโลกตะวันตกในช่วงหลังรัชกาลที่ 5 อาคารตึกสูงที่เข้ามาแทนที่ตึกแถวเดิมอย่าง โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สีลม โรงแรมอินทรา หรือสนามม้านางเลิ้ง (1916) ที่มีหลังคาคอนกรีตลอนยื่นยาวกว่า 40 เมตร ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนภาพพจน์ของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับโลกตะวันตกผ่านการใชเทคโนโลยีทางการก่อสร้างที่ล้ำสมัยโดยการใช้เหล็ก คอนกรีต และกระจก อาคารประเภทสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เกิดขึ้นมากมายอย่าง โรงกรองน้ำสามเสน สถานีรถไฟหัวลำโพง (1916) การประปาแม้นศรี (1931) ก็บอกเล่าถึงการวางรากฐานของเมืองที่จะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในอนาคต ที่น่าสนใจคือในส่วนจัดแสดงนี้มีการติดป้ายเป็นเครื่องหมายบอกว่าอาคารแห่งไหนยังคงอยู่ อาคารแห่งไหนที่ถูกทำลายไปแล้ว อาคารบางแห่งถูกรื้อถอนตามการเวลาเนื่องด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถต้านทานเม็ดเงินของการลงทุนเช่น โรงแรมดุสิตธานี (1970) สถานทูตออสเตรเลีย (1980) แต่อาคารบางส่วนเช่นศาลฏีกาที่ถูกรื้อเพื่อสร้างใหม่หรือสนามม้านางเลิ้ง ก็ชวนให้เราคิดต่อว่าเป็นผลสืบเนื่องจากความพยายามในการสร้างหรือทำลายประวัติศาสตร์ใดๆ หรือเปล่า

ในส่วนที่สองของ นิทรรศการ Something Was Here นี้หยิบเอาอาคารที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในขณะนั้นอย่างโรงแรมดุสิตธานีและโรงภาพยนตร์สกาลามาเจาะลึกถึงเรื่องราวหลังจากที่อาคารทั้งสองถูกทุบไปแล้ว ในฝั่งของสกาลา สถาปัตยกรรมที่ผนวกโครงสร้างคอนกรีตเสาโค้งอันโดดเด่นด้วยฝ้าแบบ art deco ถูกจัดแสดงลงบนกล่องไฟ โดยด้านล่างมีปุ่มที่ให้เราเลือกได้ว่าจะ Save อาคารไว้ หรือจะ Demolish ทุบอาคารทิ้ง หากเลือกอย่างหลัง สกาลาจะถูกแทนที่ด้วยนั่งร้านของไซต์ก่อสร้างและปิดฉากตำนาน 51 ปีโดยที่รางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2555’ ไม่สามารถช่วยอะไรได้แม้แต่น้อย ที่ด้านล่างของกล่องไฟ เศษอิฐ เศษปูนและเหล็กเส้นถูกแปะทับด้วยรูป Interior ของสกาลาที่เต็มไปด้วยแสงไฟในยามค่ำคืน ราวกับบอกว่าแม้ว่าสถาปัตยกรรมนั้นก็มีสังสารวัฏที่ไม่อาจหลีกหนีได้ อาคารที่เต็มไปด้วยผู้คนที่รักใคร่และคุณค่าทางสถาปัตยกรรมสุดท้ายก็หนีไม่พ้นการเป็นเศษปูนเศษหินที่ต้องกลับสู่ดินในสักวัน ความพยายามในการชะลอการล่มสลายนี้ถูกแสดงออกผ่านหนังสือราชการของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ที่เคยส่งถึงกระทรวงวัฒนธรรมและกรมศิลปากร เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้การคุ้มครองอาคารโรงภาพยนตร์สกาลาในฐานะโบราณสถาน

นิทรรศการในส่วนนี้พูดกับเราอย่างตรงไปตรงมา บัดนี้ไม่มีสกาลาแล้ว จะเหลือแต่เพียงเศษกระดาษสองสามใบ เศษอิฐ และความทรงจำที่ฝากไว้กับผู้คนเพียงเท่านั้น

อีกฟากหนึ่ง โรงแรมดุสิตธานีกรุงเทพฯ นั้นก็ประสบกับชะตากรรมที่ไม่อาจเลี่ยงเช่นเดียวกัน ขั้นตอนการรื้อถอนโรงแรม 23 ชั้นที่เป็นแลนด์มาร์คบนแยกศาลาแดงถูกบอกเล่าผ่านภาพถ่ายบนแท่นหมุนสามเหลี่ยม ตั้งแต่ครั้งรุ่งเรืองที่สุดที่เต็มไปด้วยไฟประดับประดาขับเน้นยอดอาคารสีทอง ก่อนจะค่อยๆ ถูกเครนรื้อถอนออกอย่างช้าๆ จากส่วนบน และในรูปสุดท้าย อาคารที่เหลือแค่ครึ่งเดียวตอกย้ำเรื่องราวความภาคภูมิใจที่ครั้งหนึ่งได้เป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทย ข้างๆ กันนั้น รูปถ่ายแสดงความทรงจำของผู้คนกับอาคารที่นอกจากจะเป็นแขกเหรื่อหรืออาคันตุกะจากต่างประเทศ ยังรวมไปถึงครอบครัวหนึ่งที่ได้มาถ่ายรูปที่ระลึกโดยมีโรงแรมดุสิตธานีอยู่เบื้องหลัง เมื่อเวลาผ่านไป รูปถ่าย มุมเดิมแสดงการเปลี่ยนผ่านของผู้คนคู่กับสถาปัตยกรรม เด็กๆ เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่อ่อนแรงกลายเป็นคนแก่ อาคารที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพฯค่อยๆ สลายตัว สุดท้ายแล้วก็เหลือไว้เพียงโลโก้ของโรงแรมเท่านั้น

 

อย่างที่กล่าวมาข้างต้น สถาปัตยกรรมนั้นฝากความทรงจำให้กับผู้คนในทุกระดับทางสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราเรียกความทรงจำของคนส่วนมากในฐานะเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แต่เมื่อตีวงแคบเข้ามาในระดับบุคคล เราอาจเรียกสิ่งเหล่านั้นว่าความผูกพัน มีเรื่องราวหนึ่งที่ต้องย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้วในขณะที่โรงหนังสกาลายังฉายอยู่ตามปกติ ตัวผู้เขียนเองจำได้ว่าได้มีโอกาสเข้าชมภาพยนต์เรื่อง Logan (2017) ที่เป็นปัจฉิมบทของภาพยนตร์ superhero ในดวงใจของใครหลายคน ผู้เขียนไม่รู้เลยว่านั่นคือความผูกพันสุดท้ายที่เกิดขึ้นระหว่างโรงหนังสกาลาแห่งนี้ ปัจจุบันเมื่อเดินผ่านไป สกาลาที่คุ้นเคยกลายเป็นพื้นที่ที่เราไม่ได้รู้สึกเชื่อมโยง ความรู้สึกของแอร์ที่เย็นเฉียบ พนักงานขายตั๋วเสื้อสีเหลืองหรือภาพจำของภาพยนตร์ที่เคยชมกลับพร่าเลือนลงทุกวัน เมื่อนั้นเองที่เราได้เข้าใจความทรงจำนั้นเป็นเหมือนล็อกเกตที่ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ครึ่งหนึ่งอยู่กับเรา ครึ่งหนึ่งอยู่กับสถานที่ และนั่นเป็นเหตุผลที่ใครสักคนจะเกิดความรู้สึกเสียใจ เมื่อส่วนหนึ่งของความทรงจำได้ถูกพรากไปอย่างที่ไม่มีวันกลับคืน

นิทรรศการนี้แสดงจบลงไปแล้ว เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมหลายชิ้นที่จัดแสดงในนิทรรศการที่ไม่มีอยู่อีกแล้ว และเวลาก็ยังคงเดินทางไปข้างหน้าต่อไป หลงเหลือเพียงคำถามต่อคุณค่าของของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในประเทศไทยในฐานะสิ่งที่กักเก็บความทรงจำทั้งส่วนรวมและส่วนตัว ชี้ชวนให้เรานึกถึงหนทางที่ดีกว่าในการรักษาสถาปัตยกรรมมากกว่าการทุบทำลายที่ทำให้อาคารต่างๆ นั้นหายไปอย่างไม่มีวันกลับคืน และช่วยตอกย้ำว่าการลบไม่ได้ช่วยให้ลืม แต่กลับทำให้ภาพความผูกพันนั้น ยังคงปรากฏชัดเจนในความทรงจำ

fb.com/fotomomo.project

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *