THE ART OF THAI COMICS: A CENTURY OF STRIPS AND STRIPES

จากความหลงใหลในการ์ตูนอิสระไทย จึงทำให้ Nicolas Verstappen ตัดสินใจขุดค้นและรวบรวมประวัติศาสตร์ของการ์ตูนไทย จนกลายมาเป็นหนังสือที่เปิดประวัติศาสตร์การ์ตูนไทยในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา

TEXT: PIYAPONG BHUMICHITRA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN 

(For English, press here)

Nicolas Verstappen
River Books, 2021
230 x 250 mm
288 pages
Paperback
ISBN 978-6-164-51036-4

ปัญหาของหนังสือเล่มนี้สำหรับคนไทยที่ใช้ภาษาไทยเป็นหลักและอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องคิดให้ดีก่อนใช้จ่ายก็คือ เราควรซื้อหนังสือเล่มนี้ฉบับแปลภาษาไทยหรือฉบับอังกฤษดีนะ?

The Art of Thai Comics: A Century of Strips and Stripes เขียนโดย Nicolas Verstappen พัฒนามาจากโครงการวิจัยระยะเวลาหนึ่งปีที่ชื่อ Thai Comics in the 21st Century: Diversity and Identity of the New Generation of Thai Cartoonists หรือชื่อภาษาไทย การ์ตูนไทยในศตวรรษที่ 21: ความหลากหลายและเอกลักษณ์ของนักเขียนการ์ตูนไทยรุ่นใหม่

Nicolas Verstappen เกิดที่เบลเยียม หลังเรียนจบด้าน Art History and Film Writing ที่ Université Libre de Bruxelles และทำงานร้านขายหนังสือการ์ตูนชื่อ Miti BD ก็ได้ทำซีน (Zine) ที่ชื่อ XeroXed เป็นซีนรวมบทสัมภาษณ์นักเขียนการ์ตูนทางเลือกจากทั่วโลก เขาเคยเป็นนักเขียนการ์ตูนประจำให้กับ Beaux Arts Magazine และยังเคยศึกษาวิจัยการ์ตูนในลักษณะที่เป็นภาษาของอาการที่เกี่ยวข้องกับบาดแผลทางจิตใจมนุษย์อีกด้วย

Nicolas และภรรยาย้ายมาประเทศไทยเมื่อปี 2014 ก่อนหน้านั้น 2-3 ปี ตอนมาเที่ยวไทยรอบนั้น เขารู้จักการ์ตูนไทยครั้งแรกจากการ์ตูนสยองขวัญที่ขายในร้านสะดวกซื้อ เจอเรื่อง hesheit ของวิศุทธิ์ พรนิมิตร และนิตยสาร MUD ที่เป็นนิตยสารขนาดพ็อคเกตบุ๊คว่าด้วยภาพประกอบ การ์ตูนและ subculture จากร้านหนังสือมือสองที่สยามสแควร์ ต่อเนื่องไปถึงการได้รู้จักกับสุทธิชาติ ศราภัยวานิช ผู้วาด Joe หัวปลาหมึกและเป็นอาจารย์ด้านการ์ตูนและแอนิเมชั่นที่มหาวิทยาลัยรังสิตและสุทธิชาติก็แนะนำให้ Nicolas รู้จักกับเพื่อนนักเขียนการ์ตูนอิสระและผลงานของพวกเขาเหล่านั้น

ความสนใจการ์ตูนอิสระของไทยจนกลายเป็นโครงการวิจัยและทำให้เขาต้องผันตัวเองเป็นนักวิจัยระดับนักโบราณคดีจนพัฒนากลายเป็นหนังสือวิชาการเล่มนี้ ทำให้ Nicolas พบว่าสภาพอากาศร้อนชื้น ฝนตกและน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี และปีละหลายครั้ง บวกด้วยหนอนหนังสือที่กัดกินกระดาษอย่างอร่อย รวมทั้งปัญหาคลาสสิกตลอดกาลของไทยก็คือเราเป็นเผ่าพันธุ์ที่ไม่ให้ความสำคัญในการจัดเก็บเอกสารกันสักเท่าไหร่ ทำให้การค้นหาการ์ตูนที่เขียนและพิมพ์ขึ้นในช่วงก่อนปี 2523 เป็นเรื่องยากลำบากแสนสาหัส เพราะมันหายไปจากทั้งตลาดสัญจร ร้านหนังสือเก่า และกลุ่มนักสะสมและซื้อขายออนไลน์ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่สิ่งพิมพ์ที่เขาตามหาโผล่ขึ้นมาในตลาด และด้วยความหายากระดับ super rare ทำให้ราคามีผลกับการเข้าถึงสิ่งพิมพ์พวกนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่ง Nicolas ขอยกเครดิตให้สุทธิพจน์ วงศ์ศรีใส นักสะสมและคนขายหนังสือเก่าที่เขารู้จักก็เป็นผู้ส่งต่อข้อมูลที่เขาต้องการ และทำให้หนังสือเล่มนี้เสร็จสมบูรณ์ในที่สุด

ช่วงเดือนมีนาคม 2563 Nicolas เข้าถึงการ์ตูนช่องมากกว่าพันเรื่องที่ตัดมาจากหนังสือพิมพ์ไทยยุค 1930 หรือช่วงปี 2473-2483 มีทั้งงานที่ใกล้เสร็จสมบูรณ์ของสวัสดิ์ จุฑะรพ และจำนงค์ รอดอริห์ รวมทั้งผลงานในช่วงแรกๆ ของประยูร จรรยาวงษ์ และตุ๊กตา ซึ่งต้องบอกไว้ก่อนว่าผลงานเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในคลังหนังสือพิมพ์ของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และเป็นหนังสือว่าด้วยประวัติของการ์ตูนไทยเล่มแรกที่ตีพิมพ์ผลงานของ จำนงค์ รอดอริห์ นักเขียนการ์ตูนที่ได้รับการยกย่องจากนักเขียนการ์ตูนร่วมสมัยเดียวกับเขา เพียงแต่ผลงานได้สูญหายไป จน Nicolas ต้องปรับบางส่วนของหนังสือใหม่และขยายความให้แก่มาสเตอร์ที่ถูกลืมเหล่านี้

การใช้ส่วนผสมมากมายที่ว่ามาทั้งหมดนี้ปรุงให้ออกมาเป็นอาหารที่สมดุล-ไหลลื่น-และรสชาติแบบไหนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่นักเขียนเท่านั้น แต่บรรณาธิการเล่มนี้ทั้งฉบับอังกฤษและไทย Sarah Rooney และนริศรา จักรพงษ์ รวมทั้งนักออกแบบกราฟิก พีรพัฒน์ กิตติสุวัฒน์ คือผู้ที่จัดการให้ภาพรวมของหนังสือออกมาเป็นการ์ตูนไทยในรอบหนึ่งร้อยปีจริงๆ อย่างที่ Nicolas เขียนไว้ในส่วนบทนำของเล่มว่า การตัดสินใจตัดงานหลายชิ้นออกอย่างเด็ดเดี่ยวก็เพื่อภาพรวมที่เหมาะสม เขาเขียนไว้ว่าการคัดเลือกการ์ตูนไทยมาลงในเล่มนี้อยู่บนพื้นฐานความชอบส่วนตัวและรสนิยมแบบตะวันตกของเขา มันเลยอาจทำให้คุณผู้อ่านรู้สึกได้ถึงอคติที่ว่านี้ แต่เพื่อความแฟร์ก็ต้องบอกไว้ตรงนี้เช่นกันว่า Nicolas เลือกผลงานมาลงโดยอ้างอิงจากความชื่นชอบและชื่นชมของนักเขียนและนักอ่านชาวไทยที่มีต่อผลงานเหล่านั้นด้วย

การตัดสินใจเลือกนำเสนอเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ให้อยู่ในช่วงแค่เวลา 100 ปีถือเป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาดของผู้เขียน Nicolas เลือกที่จะเริ่มต้นที่ปี พ.ศ. 2450 ปีที่มีการตีพิมพ์การ์ตูนที่มีลำดับการเล่าเรื่องที่ชัดเจนแบบที่แบ่งเป็นช่องๆ ครั้งแรกในสยาม โดยที่เขาเลือกไม่หยิบเอางานอย่างพวกการ์ตูนล้อการเมืองหรือการ์ตูนตลกที่ถือเป็นศิลปะแบบที่ถ่ายทอดเรื่องเล่าเป็นฉากๆ (Sequential Art) ออกไป

และตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา หนังสือเล่มนี้ต้องการพูดถึงวงการการ์ตูนทางเลือกของไทยมากเป็นพิเศษ เรียกได้ว่าไม่ได้พูดถึงการ์ตูนไทยแบบเมนสตรีมสักเท่าไหร่เลยด้วยซ้ำ และ 2550 คือปีสุดท้ายที่ Nicolas เลือกเป็นปีสุดท้ายของเนื้อหาที่เขาเขียนถึง ไม่มีอะไรมาก เพราะ 2540-2550 คือ 10 ปีที่แน่นไปด้วยผลงานการ์ตูนไทยแบบทางเลือกที่เขาคิดว่ามันขึ้นสู่จุดสูงสุดและอิ่มตัวไปแล้วเรียบร้อยในระยะเวลาเพียงแค่ 10 ปี และความเชื่อนี้ถูกทำให้เราเห็นภาพที่แท้จริงอย่างหนึ่งก็คือ หลังปี 2550 เป็นต้นมาวงการการ์ตูนของไทยก็ต้องดิ้นรนตั้งแต่นั้น และเนื้อหาที่เขารวบรวมมาให้เราอ่านตั้งแต่หลังปี 2550 จนถึงปี 2563 นั้นน่าจะทำให้เราต้องยอมรับไม่ต่างจากที่ Nicolas เขียนเอาไว้ในหน้าบทนำว่า คนไทยนิยมศิลปะการ์ตูนกันน้อยเกินไป ทั้งคนทั่วไปและคนในวงการวิชาการ เหตุผลก็ไม่ซับซ้อนอะไรมาก มันเป็นความเชื่อฝังหัวว่าการ์ตูนเป็นแค่งานอดิเรกสำหรับเด็กและวัยรุ่น หรือบางทีก็แค่เป็นความบันเทิงยอดนิยมหมู่มาก และคนส่วนมากไม่เคยมองว่าการ์ตูนนั้นมีความสำคัญในตัวมันเอง กระทั่งการ์ตูนในหนังสือพิมพ์ยุค 30s-60s ที่เขียนขึ้นให้ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้อ่านหลักในยุคสมัยนั้นก็ถูกทำให้กลายเป็นสิ่งบันเทิงเริงใจสำหรับเด็กและเยาวชน Nicolas พูดไว้น่าสนใจไม่น้อยว่าเพราะคนไทยที่ทำงานในสำนักงาน ที่เป็นชนชั้นกลางในยุค 70s ( พ.ศ. 2513-2523) ต้องการเป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม พวกเขามักทิ้งสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นงานแบบชาวบ้านหรืองานแบบกระแสนิยมไปให้พ้นจากรสนิยมของตัวเอง และพวกเขาก็ผลักการ์ตูนไทยในหนังสือพิมพ์ที่เคยอ่านให้เป็นเพียงสิ่งบันเทิงเริงใจราคาถูกของเหล่าเด็กน้อย และนี่เองที่ Nicolas คิดว่าสังคมไทยผลักดันความคิดที่ว่าการ์ตูนเป็นเรื่องของเด็กน้อยออกไปจาก mindset ของสังคมไทยน้อยเกินไป เพราะส่วนมากของสังคมดันถูกทำให้ลืมความหลากหลายและความแพร่หลายของการ์ตูนไทยก่อนปี พ.ศ. 2540 ซึ่งตอนนั้นการ์ตูนไทยทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต่อสิ่งที่เป็นวัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์ของผู้คนในสังคม แม้แต่อุดมการณ์และการแสดงออกทางการเมือง

หนังสือเล่มนี้เป็นการหาโซลูชั่นที่สมดุลระหว่างนักเขียน บรรณาธิการ นักออกแบบจัดหน้า ข้อมูล เนื้อหา ภาพประกอบที่สแกนและปรับแต่งจากต้นฉบับ ภาพประกอบที่ทำขึ้นมาใหม่ จำนวนพื้นที่และจำนวนหน้ากระดาษ การทำให้คนอ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น หน้าดัชนีและบรรณานุกรม และแน่นอนที่ต้องไม่ลืมคือการสร้างฟอร์แมทของฉบับภาษาอังกฤษและภาษาไทยในรูปแบบที่ใกล้เคียงกันที่สุด พีรพัฒน์ กิตติสุวัฒน์ และ P. Library Design Studio หาโซลูชั่นในแบบที่ดูผ่านๆ 2-3 ครั้งแรกจะไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าใช้หนังสือเล่มนี้บ่อยขึ้น เปิดหาแบบหา reference แล้วล่ะก็ เราจะเห็นรายละเอียดในการจัดการกับหน้าตาและภาพรวมของหนังสือเล่มนี้เพิ่มขึ้นทุกที

ตั้งแต่หน้าไทม์ไลน์เหตุการณ์ในรอบ 100 ปี ที่รวมฟังชั่นของสารบัญเข้าไปด้วย การสร้างการ transform ของตัวการ์ตูนในแต่ละยุคสมัยของหน้าเปิดเรื่องที่เป็นเหมือนอนิเมชั่นง่ายๆ แต่น่าจะต้องใช้เวลาและการตัดสินใจที่เด็ดขาดว่าจะดึงเอาตัวละครตัวไหนมาใช้ในหน้าเปิด การสร้างระบบในชื่อเรื่องของหน้าแรกในแต่ละเรื่องทำออกมาให้คนอ่านได้เห็นภาพจำที่ชัดเจนว่าตัวการ์ตูนตัวไหนคือตัวละครเด่นที่สุดของเรื่องนั้น ลายเซ็นของนักเขียนการ์ตูน นามปากกาและชื่อ-นามสกุลจริง ปีชาตะและมะตะ และการออกแบบและวาด portrait นักเขียนการ์ตูนแต่ละคนขึ้นมาใหม่แทนที่จะใช้ภาพถ่ายเพราะหลายภาพเก่าเกินไปและคุณภาพดีไม่พอสำหรับงานพิมพ์

ที่บอกไว้แต่แรกว่าหนังสือเล่มนี้สร้างปัญหายุ่งยากในการตัดสินใจว่าจะซื้อฉบับภาษาอังกฤษหรือฉบับแปลไทยนั้นไม่ใช่เพราะอรรถรสในการอ่านภาษาต้นฉบับเดิมคืออังกฤษ หรืออ่านง่ายสบายๆ ในเวอร์ชั่นไทย ซึ่งการแปลไม่มีทางแปลได้เหมือนกับภาษาเดิมของต้นฉบับอยู่แล้วเท่านั้น และไม่ใช่แค่ความสงสัยเวลาอ่านเจอภาษาอังกฤษที่เป็นการสะกดชื่อเฉพาะของไทย ที่เราแทบไม่มีทางรู้ถ้าไม่อ่านฉบับภาษาไทยคู่กันไปว่าชื่อเฉพาะพวกนั้นออกเสียงอย่างไร และที่เป็นปัญหาจริงจังกว่านั้นเลยก็คือ ส่วนแคปชั่นบรรยายภาพของแต่ละเวอร์ชั่นมีเนื้อหาที่ต่างกันมากไป ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นเนื้อหาที่พูดถึงวรรณคดีไทยที่คนไทยคุ้นเคยอยู่แล้ว ในฉบับภาษาอังกฤษจะมีการอธิบายเสริมอยู่มากกว่าฉบับภาษาไทย ซึ่ง Nicolas เองก็มีเขียนบอกไว้ว่าเขาใช้เวลาทำในส่วนนี้มากที่สุดในการประกอบเล่าวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทยให้ผู้อ่านชาวต่างชาติที่ไม่ได้คุ้นเคยมาก่อนให้เข้าใจ และการพูดถึงการ์ตูนต่างประเทศที่นักเขียนไทยหลายๆ คนได้แรงบันดาลใจมาสร้างงานให้นักอ่านชาวไทยที่ไม่คุ้นเคยกับเนื้อหาแบบนี้ และผมเดาเอาเองว่าเพราะหน้ากระดาษที่จำกัด การที่จะลงเนื้อหาในปริมาณข้อความแบบ 1:1 นั้นแทบเป็นไปไม่ได้นอกจากลดขนาดตัวอักษรให้เล็กจนเกินอ่านได้

ไม่ว่าอย่างไรก็ตามแค่ภาพต้นฉบับการ์ตูนที่คุณภาพการสแกน รีทัชและปรับสีให้ลงตัวในแต่ละต้นฉบับที่แตกต่างกันก็ต้องให้เครดิตพีรพัฒน์และทีมของเขาอีกครั้ง พวกเขาจัดการต้นฉบับที่บางชิ้นสีเนื้อกระดาษเก่าเหลือง บางชิ้นขาดเป็นรู บางชิ้นก็โดนหนอนหนังสือกิน ไปบ้าง แต่พวกเขาก็ทำออกมาได้ดีจนคิดว่า การได้เห็นภาพต้นฉบับงานของ เหม เวชกร, วิตต์ สุทธเสถียร, จำนงค์ รอดอริห์, ประยูร จรรยาวงษ์, มงคล วงศ์อุดม, จุก เบี้ยวสกุล, ราช เลอสรวง, ทวี วิษณุกร, ‘โอม’ รัชเวทย์ และเตรียม ชาชุมพร ในคุณภาพการจัดการกับภาพต้นฉบับมาแล้วเป็นอย่างดีและการพิมพ์ในคุณภาพระดับนี้ ก็พอจะบอกได้ว่าหนังสือปกสีแดงที่มีภาพการ์ตูนเสือกำลังกระโจน (ตะครุบวัว แต่ตัดภาพวัวทิ้งไปเพราะเป็นภาพจากการ์ตูนลิเกที่ดัดแปลงมาจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง หลวิชัย คาวี ผลงานของประยูร จรรยาวงษ์ พิมพ์ในหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย เมื่อประมาณ พ.ศ. 2493) เล่มนี้ เป็นหนังสือที่ควรถูกลิสต์ให้เป็นหนังสือ 100 เล่มที่คนไทย (ย้ำว่าคนไทย ไม่ใช่แค่เยาวชนไทย) ควรอ่านในศตวรรษที่ 21

riverbooksbk.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *