YELLOW MINI

ส่วนต่อเติมของ Yellow Submarine Coffee Tank ที่นำเสนอที่ว่างระหว่างระนาบด้านบนและภูมิประเทศเดิมด้านล่างอันตั้งคำถามว่าพื้นที่ใต้หลังคาลักษณะต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เกิดกิจกรรมร่วมกับการนั่งกินกาแฟอย่างไหนได้บ้าง

TEXT: KORRAKOT LORDKAM
PHOTO: BEER SINGNOI

(For English, press here

นานหลายปีที่ Yellow Submarine Coffee Tank ยึดเอาเนื้อที่เนินดินหนึ่งในเรือกสวนผืนใหญ่ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ปิดล้อมและสอดแทรกตัวเองไปในละแวกของไม้ยมหอมในฐานะคาเฟ่ที่มีรูปลักษณ์เป็นเอกลักษณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของพื้นที่ในเวลานั้น ส่วนต่อขยายในนาม Yellow Mini ถูกวางแผนต่อหลังจากโครงการแรกแล้วเสร็จในเวลาไม่นาน โดยตัวโครงการใหม่เพิ่งเปิดทำการเมื่อเร็วๆ นี้ด้วยแนวคิดการส่งเสริมและเล่นล้อไปกับสภาพแวดล้อมของที่ตั้ง เช่นเดียวกันกับอาคารเดิม ทว่าต่างกันที่การเลือกใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และต่างความมุ่งหมายด้านประสบการณ์ ที่กล่าวได้ว่าทั้งเปิดกว้าง และ (อาจจะ) กำกวมมากขึ้นกว่าโครงการก่อนด้วยในเวลาเดียวกัน

Yellow Mini ออกแบบโดย JOYS Architects ประกอบด้วย สืบสาย จิตตเกษม, ประเสริฐ อนันทยานนท์ และ ณัฏฐ์ ละเอียดอ่อน สมาชิกบางส่วนจากกลุ่มสถาปนิกเดิมผู้วางแนวทางของคาเฟ่ Yellow Submarine Coffee Tank ไว้ก่อนหน้า พวกเขาเล่าว่า โครงการมีจุดมุ่งหมายในด้านธุรกิจคือการเพิ่มพื้นที่นั่งและพื้นที่ให้บริการที่โครงการเดิมมีจำกัด โดยสิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้นแน่นอนว่าจะต้องมีเนื้อหาที่สอดคล้องต่อเนื่องไปกับแนวทางของสิ่งมีอยู่เดิม แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องน่าดึงดูดและสดใหม่ เพื่อเรียกผู้คนทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าให้มาเยือนสถานที่เดิมได้บ่อยครั้ง การเล่นและจัดวางองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมล้อไปกับสถานที่ตั้ง และประสบการณ์การใช้พื้นที่ของผู้มาเยือน คือสองจุดร่วมของทั้งโครงการเก่าและใหม่ ทว่าในเนื้อหาที่แตกต่างกันไปด้วยรายละเอียดในการออกแบบที่ไม่เหมือนกัน

“สิ่งที่เราทำกับ Yellow Submarine เดิมคือเราโยนองค์ประกอบสำคัญหนึ่งลงไป คือ กำแพงสืบสายเริ่มเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของแนวความคิด

“หรือเราจะพูดว่ามันเป็นระนาบแนวตั้งสองชิ้นก็ได้ ที่มันสับลงไปบนพื้นที่ แล้วมันทำให้เราเข้าใจลักษณะของพื้นที่ว่ามันมีความลาดเอียงเกิดขึ้น พอมีกำแพง ความลาดเอียงนี้ก็ยิ่งชัดขึ้น Yellow Submarine ตัวใหม่เราก็อยากจะคงไอเดียอันนี้ไว้ ก็คือการทำความลาดเอียงของดินให้ชัดเจนขึ้น

ความตั้งใจนำเสนอลักษณะทางภูมิประเทศอันริเริ่มในโครงการแรกนั้น สถาปนิกกล่าวว่ายิ่งเด่นชัดมากขึ้นอีกในโครงการใหม่นี้ กล่าวคือ เมื่อ Yellow Submarine เดิมตั้งกำแพงสองฝั่งเพื่อกำหนดขอบเขตระหว่างภายในและภายนอก สเปซที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะปิดทึบและปิดล้อม ผลที่ได้ก็คือสถาปัตยกรรมจะมีลักษณะชี้ชวนผู้ใช้ให้มุ่งความสนใจกลับไปที่สิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมภายในมากกว่าการมองออกไปยังทิวทัศน์อื่น ไม่ว่าจะเป็นบรรดาต้นไม้ ร่มเงาที่ได้ ผู้คนและกาแฟที่อยู่ตรงหน้า และรวมถึงความต่างของระดับดินที่พวกเขายืนอยู่

สำหรับโครงการใหม่ สถาปนิกกล่าวว่าพวกเขาต้องการที่จะตั้งประเด็นคล้ายกันแต่แตกต่างไปจากการให้ประสบการณ์ในเชิงการเพ่งความสนใจไปสู่สิ่งต่างๆ นั่นคือ การมุ่งสู่การขับเน้นที่ว่าง ที่จะเกิดจากการอ้างอิงกับความต่างของความลาดเอียงของผืนดินโดยเฉพาะ โดยวิธีการสำคัญ คือการเปลี่ยนจากการใช้ระนาบทางตั้งสองฝั่งปิดล้อม มาเป็นการวางระนาบแนวนอนผืนใหญ่เหนือศีรษะเพื่อกำหนดขอบเขตของพื้นที่แทน

ผืนหลังคาขนาดใหญ่ได้ถูกกำหนดตำแหน่งไว้เหนือเนินดินหนึ่งที่ไล่ความสูงถัดขึ้นมาจากโครงการเดิมทางขวามือ โดยให้อยู่ในระดับความสูงที่เทียบเท่ากับอาคารเดิมเพื่อความรู้สึกเชื่อมโยงถึงกัน ในจุดนี้ ลักษณะของเนินดินจะก่อให้เกิดช่องว่างใต้หลังคา อันไล่เรียงจากความสูงมากที่สุดคือราว 3.50 เมตร ไปจนถึงระดับที่ต่ำมากจนเข้าใช้งานไม่ได้ ต่อจากนั้น สิ่งที่ถูกคำนึงต่อมาจึงเป็นโครงสร้างที่จะมารองรับระนาบดังกล่าว ในขั้นนี้ ความเป็นไปได้ทางวิศวกรรมจึงมีส่วนอย่างมากต่อการแสดงออกของสเปซและรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม โดยเมื่อต้องการให้ผืนหลังคาขนาดถึง 8 คูณ 27 เมตร ได้แสดงตัวอย่างชัดเจนโดยปราศจากขอบเขตของอาคารที่แน่นอน จุดรับน้ำหนักของโครงการนี้จึงถูกกำหนดไว้เพียงห้าจุด สับหว่างและไต่ระดับขึ้นไปในตำแหน่งต่างๆ บนเนินดิน โดยท้ายที่สุดได้ถูกออกแบบให้มีรูปลักษณ์เป็นขั้นคล้ายบันไดเพื่อล้อไปกับลักษณะของเนินดินที่ลาดขึ้น การทำงานร่วมกับวิศวกรยังนำมาซึ่งเอกลักษณ์อีกจุด คือความหนาของแผ่นหลังคาคอนกรีตที่ถูกลดให้บางลงเป็นลำดับโดยเฉพาะในช่วงปลายระยะยื่นเพื่อช่วยเรื่องน้ำหนักและการยื่นยาว ที่สถาปนิกกล่าวว่า เป็นรูปลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นจริงด้านความเป็นไปได้ทางวิศวกรรมได้เป็นอย่างดี

Structural System

สถาปนิกยังอธิบายต่อว่า การกำหนดลักษณะพื้นที่ใช้สอยนั้นสอดคล้องกับตำแหน่งของฐานราก ที่แต่ละจุดได้ถูกออกแบบให้เป็นฐานรากแบบแผ่นขนาดใหญ่พิเศษ เพื่อให้สามารถถ่วงน้ำหนักของหลังคาคอนกรีตที่มีระยะยื่นยาวมากที่สุดถึงมากกว่า 10 เมตรได้ ขอบเขตของฐานรากเหล่านี้ได้เป็นส่วนกำหนดขอบเขตของที่นั่งที่จะเกาะเกี่ยวออกมารอบข้างอันจะถูกจัดการในวิธีที่ต่างกันออกไป เช่น จัดการพื้นดินให้เรียบและสร้างคันคอนกรีตรอบข้างในระดับที่อาจใช้นั่งได้ หรือใช้การสร้างผืนคอนกรีตราบเรียบผืนใหญ่ที่อาจใช้เป็นโต๊ะ นอกจากนั้น การจัดการพื้นที่แต่ละจุดดังกล่าวก็ยังสัมพันธ์กับขนาดที่ว่างใต้หลังคาที่ระดับความสูงค่อยๆ เปลี่ยนไปตามความสูงของระดับดิน โดยเฉพาะในจุดที่ระนาบเหนือศีรษะเริ่มไต่ถึงระดับที่ใกล้พื้นดินที่สุด หลังคาได้ถูกคว้านเปิดออกให้เป็นช่องว่างให้ผู้ใช้สามารถเดินไต่เนินดินและใช้งานต่อเนื่องไปบนพื้นที่ดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม การออกแบบส่วนใช้งานต่างๆ เพิ่มเติมภายหลังนี้ ยังคงมีลักษณะหลวมๆ และไม่ตายตัว ดังที่ประเสริฐ หนึ่งในสถาปนิกของทีมอธิบายว่า การแสดงออกของงานนี้ที่ชัดๆ ก็คือแผ่นหลังคานี่แหละ ที่บอกถึงความหนัก หรือความเป็นสสารบางอย่าง แต่พอมีข้อกำหนดเรื่องการใช้สอยว่าให้คนใช้นั่งรับประทานกาแฟ เราเองไม่อยากใช้โต๊ะ หรือพยายามจะไปสร้างอะไรที่มันชัดเจนมากเกินไป ระหว่างที่เราทดลองกับความลาดชันนี้ เราจึงดูว่าพื้นที่ใต้หลังคาลักษณะต่างๆ ที่เกิดขึ้นมันทำให้เกิดกิจกรรมร่วมกับการนั่งกินกาแฟอย่างไหนได้บ้าง

ทั้งหมดนี้ สถาปนิกเลือกนำเสนอการประกอบกันขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ว่ามา ด้วยการปล่อยคอนกรีตไว้ไม่ปิดผิว ส่วนหนึ่งมาจากความสมเหตุสมผลด้านงบประมาณ แต่อีกส่วนหนึ่งก็มาจากความต้องการรักษาทิศทางงานออกแบบ ที่พวกเขากล่าวว่า ต้องการมุ่งเน้นให้ทั้งกระบวนการการออกแบบ การก่อสร้าง และรูปลักษณ์สุดท้าย เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา หรือเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด หรือกล่าวอีกแบบว่า ระนาบเหนือศีรษะที่ถูกกำหนดขึ้นมานั้นเป็นดั่งสารตั้งต้นของสิ่งอื่นที่จะตามมาภายหลัง ที่พวกเขาเพียงคอยสังเกตการณ์ และดำเนินทิศทางการออกแบบให้คล้อยไปตามนั้น โดยไม่ต้องการไปกำหนดความหมาย หรือชี้ชัดว่าอะไรเป็นอะไรตั้งแต่ต้น สาระสำคัญของสถานที่แห่งนี้ จึงเป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นมาระหว่างทาง รวมถึงสิ่งที่กำลังดำเนินไป มากกว่าการมุ่งสู่จุดหมายที่ตายตัว

ดังที่ ณัฏฐ์ อีกหนึ่งผู้ออกแบบกล่าวเสริมว่า “เรามีอาคารเดิมที่ดีอยู่แล้ว พอเรากำลังจะทำต่อเติมอาคารนี้ขึ้นมาเราคิดกันตลอดว่าเดี๋ยวมันจะพาลพาให้อันเดิมเสียหายไปด้วยไหม มันจึงเกิดคำถามในการคุยกันเสมอมาว่า เขตแดนของความเป็นอาคารและไม่เป็นอาคารนั้น มันอยู่ตรงไหน

เราคิดว่ามันทำให้ตัวอาคารมันไม่หยุด คือตัวโครงการหรือสเปซนี้ มันไม่อยู่นิ่ง มันทำให้เหมือนกับว่าขอบเขตมันไม่ได้อยู่ใต้อาคารเท่านั้น มันไหลออกไปข้างนอก แล้วบางครั้งมันก็หดกลับมาข้างใน นั่นน่าจะเป็นข้อที่ทำให้สถาปัตยกรรมนี้มันเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนที่ในเชิงอุปมาอุปไมย หรือมันดูไม่อยู่กับที่

ความเคลื่อนไหว หรือการเคลื่อนที่ของสถาปัตยกรรมที่สถาปนิกกล่าวถึงนี้ กล่าวได้ว่าเป็นนัยหนึ่งที่ทำให้ Yellow Mini แตกต่างจากอาคารก่อนหน้า เพราะแม้ว่าทั้งสองโครงการจะเริ่มต้นจากการขีดเส้นระนาบนามธรรมขึ้นในที่ตั้งเพื่อกำหนดขอบเขตหนึ่งๆ ตามเหตุปัจจัยบางอย่าง แต่การปิดล้อมของสถานที่แรกนั้นเห็นได้ชัดว่าในแง่หนึ่งทำให้เกิดเส้นแบ่งที่ตายตัวที่มีเนื้อหาสะกดบรรยากาศและองค์ประกอบรอบๆ ที่ตั้งไว้แล้วนำเสนอในเชิงการรับรู้ ในขณะที่โครงการใหม่ นอกจากลักษณะทางกายภาพจะเปิดโล่งกว่า จุดมุ่งหมายด้านการใช้สอยและการรับรู้ก็เป็นปลายเปิดกว่า หรือกล่าวอีกแบบว่า เป็นการสร้างขอบเขตบางเบาที่เขตแดนจะเคลื่อนขยับตามการปรากฏของผู้ใช้ รวมถึง ทั้งบรรยากาศ การใช้สอย และการปฏิสัมพันธ์ของคนกับสถาปัตยกรรม นั้นอยู่นอกเหนือการครอบครองของเส้นแบ่งใดๆ ที่ชัดเจนและตายตัว

facebook.com/JOYSArchitects

1 Comment

  1. …บทความใช้ภาษาง่ายๆเข้าใจง่ายดีครับ ..ชวนให้มองตามเเละนึกอยากไปเมื่อมีโอกาส…

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *