CENTRAL NAKHON PATHOM

ถึงคราวชมรายละเอียดการออกแบบของศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครปฐม ซึ่งผสมผสานระหว่างการถอดองค์ประกอบจากสิ่งที่มีอยู่เข้ากับภาพลักษณ์ร่วมสมัย โดย Stu/D/O Architects

TEXT: WARUT DUANGKAEWKART
PHOTO: JINNAWAT BORIHANKIJANAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

เซ็นทรัล นครปฐม เป็นศูนย์การค้าล่าสุดของเซ็นทรัลพัฒนาที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ mixed-use ที่จะประกอบไปด้วย ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม และโครงการบ้านเดี่ยว ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้กลายเป็น landmark แห่งใหม่กลางใจเมืองนครปฐม ภายใต้แนวความคิด ‘ปฐมบทแห่งความสุข’

คำว่าปฐมบทที่พูดถึงนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่คำโฆษณาเพียงเท่านั้น แต่เป็นสารตั้งต้นในการออกแบบสถาปัตยกรรมของ Stu/D/O Architects ผู้รับหน้าที่ออกแบบงานสถาปัตยกรรมหลัก PHTAA living design ผู้รับหน้าที่ออกแบบภายใน และ Landscape Tectonix ในส่วนของงาน landscape ที่ต่างร่วมกันสรรค์สร้างเพื่อให้เกิดเป็นพื้นที่สำหรับทุกกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในเซ็นทรัล นครปฐม

Central Nakhon Pathom

จากถนนเพชรเกษม จะสามารถมองเห็น façade ของ เซ็นทรัล นครปฐม ได้อย่างชัดเจน ซึ่งทาง Stu/D/O นั้นได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากพระปฐมเจดีย์ที่เป็นสถานที่สำคัญและเป็นภาพจำของจังหวัดนครปฐม สัดส่วนเว้าโค้งต่างๆ ถูกนำมาใช้ในการออกแบบ façade เพื่อให้เปิดเป็นผนังโค้งสลับกับผนังเรียบที่สื่อถึงการผสมผสานระหว่างภาพลักษณ์ที่สื่อถึงบริบทเดิมอย่างพระปฐมเจดีย์และภาพลักษณ์ที่ร่วมสมัย เกิดเป็นมุมมองที่แตกต่างกันจากภายนอกเมืองเดินทางมายังเซ็นทรัล นครปฐม

Central Nakhon PathomCentral Nakhon Pathom

ทางเข้าศูนย์การค้าถูกแบ่งออกเป็น 3 บริเวณ ที่ใช้แนวความคิดในการออกแบบแตกต่างกันออกไป แต่ยังคงได้ไอเดียมาจากบริบทของจังหวัดนครปฐม ทางเข้าหลักจากทิศเหนือเชื่อมโยงกับ façade ด้านหน้าอาคาร โดยสีของกระเบื้องหลักที่นำมาใช้ในการออกแบบ façade อ้างอิงถึงสีและขนาดของกระเบื้องของประปฐมเจดีย์ ในส่วนนี้ผู้ออกแบบได้นำองค์ประกอบของพระปฐมเจดีย์มาลดทอนจนเกิดเป็นเส้นโค้งคล้ายกับรูปลักษณ์ของฐานเจดีย์ เป็นพื้นที่ที่เปลี่ยนผ่านจากพื้นที่ภายนอกสู่ภายใน ซึ่งยังมีไอเดียของการสอดแทรกความรู้สึกร่วมสมัย ผ่านการใช้วัสดุที่เกิดเป็นเงาสะท้อน คอยสอดแทรกอยู่ในจุดต่างๆ เพื่อให้เกิดเป็นลูกเล่นที่ผู้ใช้งานสามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้ด้วยเช่นกัน

Central Nakhon PathomCentral Nakhon Pathom

Central Nakhon Pathom

Central Nakhon Pathom

Image courtesy of Stu/D/O Architects

สำหรับทางเข้าจากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือนั้น ผู้ออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจากพื้นที่ทางเดินภายในของเจดีย์ ที่เป็นเหมือนอุโมงค์ก้อนอิฐ ซึ่งมีความลึกลับ น่าค้นหา และพาผู้คนเข้าไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง พื้นที่ของทางเดินนั้นถูกจำลองขึ้นมาให้ด้วยองค์ประกอบที่น่าสนใจ จากลานกิจกรรมด้านหน้า พื้นที่ค่อยๆ โอบล้อมและลดสเกลลงเพื่อให้เกิดเป็นเส้นนำสายตา ก่อนที่จะพบกับ transition space ที่จำลองฟอร์มของอุโมงค์มาจัดวางสะท้อนกันไปมาจนเกิดเป็นทางเข้าศูนย์การค้าในบริเวณนี้

Central Nakhon Pathom

Image courtesy of Stu/D/O Architects

Central Nakhon Pathom

Central Nakhon Pathom

Central Nakhon Pathom

อีกส่วนที่สำคัญของโครงการคือ สวนส้มโอ ที่เป็นพื้นที่สวนที่ตั้งอยู่ใจกลางของโครงการทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดกว่า 1 ไร่ ที่เชื่อมต่อกับทางเข้าศูนย์การค้าด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่สร้างให้เป็นพื้นที่เปิด ก่อนที่จะออกแบบให้พื้นที่ semi-outdoor เชื่อมโยงเข้ามาสู่ภายในตัวอาคาร ในส่วนนี้ ทาง Stu/D/O ได้นำแรงบันดาลของหลังคาบ้านแบบไทยมาใช้ในการออกแบบ รูปฟอร์มของหลังคาจั่วถูกนำมาจัดองค์ประกอบให้เป็นทางเข้าพื้นที่ขนาดใหญ่ จากพื้นที่สีเขียวด้านในโครงการ เชื่อมโยงเข้าไปสู่ลานกิจกรรมปฐมสโมสรภายใต้โครงสร้างหลังคาจั่วนี้ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเดินเชื่อมโยงเข้าไปสู่ตัวศูนย์การค้าที่พื้นที่สีเขียวแทรกตัวเข้าไปสู่ตัวอาคารได้

Central Nakhon PathomCentral Nakhon Pathom

พื้นที่นี้ยังมีรายละเอียดของงานออกแบบที่แทรกตัวอยู่ด้วย ทั้งหลังคาขนาดใหญ่ที่ได้รับแรงบันดาลมาจากกระดานหมากรุก พื้นที่นั่งที่ยื่นตัวออกมายังโถงเป็น cloud pot ทำให้ใกล้ชิดกับต้นไม้มากขึ้น รวมไปถึงพื้นที่สีเขียวกลาง void ที่ Landscape Tectonix ออกแบบให้ต้นไม้ต่างๆ เข้ามาอยู่ในพื้นที่อย่างลงตัว ทำให้บรรยากาศของพื้นที่ semi-outdoor นี้ร่มรื่น และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้เข้ามาใช้งานด้วย

Central Nakhon Pathom

สำหรับการออกแบบพื้นที่ภายใน PHTAA ได้นำแนวความคิด Alter-Nakorn ที่เป็นการนำเอาสิ่งเก่ามาเล่าใหม่ ภายใต้บริบทของจังหวัดนครปฐมจนเกิดเป็น journey ที่เกิดขึ้นภายในอาคารทั้งหมด โดยพื้นที่หลักในการออกแบบคือโถงต่างๆ ของอาคาร ที่เป็นการเชื่อมโยงทั้งแกนแนวตั้งและแนวนอน เริ่มจาก Pathom Landmark ที่เป็นโถงโดยการนำองค์ประกอบของพระปฐมเจดีย์มาออกแบบ การย่อมุมของฝ้าอาคารที่นำไปสู่ช่องแสงธรรมชาติด้านบน รวมไปถึงกระเบื้องที่นำมาตกแต่ง จนเกิดเป็นโถงบนไดเลื่อนสีน้ำตาลที่เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของพื้นที่นี้

Central Nakhon Pathom

Central Nakhon Pathom

อีกโถงหนึ่งที่สำคัญ ที่มีความเป็น contemporary มากขึ้น ด้วยการนำเอาเส้นสาย องค์ประกอบ ของประตูหน้าต่างที่พบเจอในบ้านเรือนตามตลาดน้ำในจังหวัดนครปฐม นำมาออกแบบใหม่จนเกิดเป็นโถงอาคารที่มีลวดลายที่แตกต่างออกไป รวมไปถึงพื้นที่ semi-outdoor ที่เป็นการผสมผสานระหว่างงานออกแบบสถาปัตยกรรมหลัก สถาปัตยกรรมภายใน และภูมิสถาปัตย์ ที่ PHTAA ได้นำสัดส่วนของหลังคาจั่วบ้านทรงไทยมาสร้างให้เกิดเป็นฝ้าของอาคาร ประกอบกับลู่วิ่งจากสวนส้มโอที่นำสายตาผู้คน และเชื่อมโยงจากพื้นที่ภายนอกเข้าสู่พื้นที่ภายใน

Central Nakhon Pathom

Central Nakhon Pathom

Central Nakhon Pathom

สำหรับ เซ็นทรัล นครปฐม ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการของเซ็นทรัลพัฒนาที่มีเอกลักษณ์ในการออกแบบอย่างชัดเจน รวมไปถึงการนำบริบทของพื้นที่มาสื่อสารเพื่อให้งานออกแบบนั้นร่วมเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ เพื่อตอบโจทย์ความเป็น Center of Life ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่น่าจะเข้ามาช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ และก่อให้เกิดเป็นพื้นที่สำหรับ community ที่น่าสนใจ สำหรับชาวนครปฐมและผู้ที่เข้าไปใช้งานด้วย

Central Nakhon Pathom

facebook.com/CentralNakhonPathom

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *