HAPPIELAND

ร้านขายสินค้าประเภทกัญชาและไลฟ์สไตล์แบรนด์ ที่ Trimode studio ออกแบบให้มีบรรยากาศราวกับอยู่บนก้อนเมฆผ่านการเล่นกับกระจกเงา แสง และผนังโค้งที่โอบล้อม เพื่อจำลองสภาวะความรู้สึกขณะใช้กัญชาออกมาในโลกของความจริง

TEXT: NATHANICH CHAIDEE
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here

ท่ามกลางความคลุมเครือเชิงกฏหมายของกัญชา ดูเหมือนประชาชนสายเขียวจะไม่รีรอความชัดเจน ร้านค้ากัญชาผุดขึ้นบนถนนสำคัญหลายสายทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เช่นเดียวกับ Happieland คือดีไซน์แบรนด์ที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่กัญชา จากกลุ่มของนักออกแบบและครีเอทีฟ นำทีมโดย Trimode Studio และ เทพพงศ์เทพ อนุรัตน์ อาร์ตไดเร็กเตอร์และนักแสดงคอมเมดี้อารมณ์ดี ที่ต้องการดึงเอามุมมองและภาพลักษณ์ของกัญชาในแนวทางความคิดสร้างสรรค์มาสร้างเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์อาร์ตสเปซ และมองไกลไปถึงการเป็นปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ต้องการซึมซับเรื่องราวของกัญชา พร้อมกับการเปลี่ยนความรับรู้ของผู้คนที่มีต่อพืชชนิดนี้ในมุมมองที่หลากหลายแปลกใหม่ โดยตั้งอยู่ภายในพื้นที่ Creative Hub แห่งเจริญกรุง 82 อาคารเดียวกันกับบาร์ค็อกเทลในสเปซลึกลับ VOIDBkk และแบรนด์เครื่องหอม Copenn.

งานดีไซน์ของ Happieland เลือกหยิบเอาอารมณ์มาเป็นตัวตั้งของงานออกแบบ โดยหยิบเอาลำดับของอารมณ์ขณะใช้งานกัญชา จากจมดิ่ง จุดเริ่มต้นไปสู่ความเบาลอยสบายมาใช้เพื่อถ่ายทอดอารมณ์สู่ โลกแห่งความเป็นจริง (ที่ยังปราศจากฤทธิ์ของกัญชา) หลังจากผ่านประตูเข้าไป พื้นที่ภายในที่ตามองเห็นคือภาพสะท้อนไม่รู้จบของวัตถุต่างๆ ภายใน แสงไฟขาวนวลเบลอขอบเขตเบื้องบนเอาไว้ ร่างกายที่เหมือนกับลอยได้ทั้งที่ตรวจตราแน่นอนแล้วว่ายังอยู่บนพื้น ความรู้สึกในแวบแรกยากที่จะบอกได้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนกันแน่

ดีไซเนอร์จาก Trimode Studio ต้องการให้พื้นที่แห่งนี้สร้างปรากฏการณ์ทางประสาทสัมผัสทุกส่วน โดยอาศัยองค์ประกอบทางวัสดุ เทคนิควิธีการ และประสบการณ์การทำงานหน้างานเพื่อประกอบสร้างให้พื้นที่หนึ่งมีเอฟเฟกต์ต่อความรู้สึกอย่างท่วมท้น โดยจับเอาโมเมนต์ของความรู้สึกเบา ลอย สงบ ที่เกิดขึ้นจากเคมีภายในร่างกายขณะใช้งานกัญชา มาสร้างเป็นพื้นที่ที่จำลองสภาวะของอารมณ์บนโลกจริง ด้วยการสร้างพื้นที่ภายในรูปทรงกระบอกเพื่อสร้างสเปซที่ไร้ขอบเขต ส่วนคานที่พาดผ่านกลางห้องที่เหมือนจะเป็นปัญหาที่ยากที่สุดในตอนแรก ถูกแก้ด้วยการใช้ฝ้าเพดานโปร่งแสงซ่อนไฟที่สร้างให้คานกลับกลายเป็นพระเอก และเป็นเส้นนำสายตาสะท้อนกับกระจกเงาแบบไม่มีสิ้นสุด

อีกส่วนที่สำคัญคือการสร้างสภาวะลอยเหมือนอยู่บนที่สูงจากผนังกระจกเงาที่ห้อมล้อมซึ่งเกิดจากความบังเอิญหน้างาน เมื่อกระจกเงาที่เตรียมนำมากรุผนังถูกวางพิงเอาไว้เตรียมการก่อนก่อสร้าง และดีไซเนอร์เห็นว่ามุมมองที่เกิดจากองศาการพิงแบบนี้เลยคือเอฟเฟกต์ที่ต้องการ เริ่มต้นตั้งแต่ส่วนพื้นที่มุมสะท้อนของกระจกเงาจะช่วยกดพื้นที่รอบนอกให้เหมือนกับอยู่ต่ำลงไป พื้นภายในจึงให้ความรู้สึกเหมือนผลักให้คนลอยอยู่เหนือระดับพื้นที่ยืนจริง ร่วมกันกับการออกแบบสภาวะแสงให้เหมือนอยู่บนก้อนเมฆ ด้านบนเป็นชั้นบรรยากาศที่โปร่งแสงอาบไล้ทั้งสเปซ โอบล้อมด้วยผนังโค้งโดยรอบที่เป็นส่วนของพื้นที่นิทรรศการ เคาน์เตอร์แคชเชียร์ และพื้นที่จัดแสดงสินค้าที่มีหลากหลายทั้งสารสกัดจากกัญชา และสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีฉากหลังเป็นกระจกสะท้อนทุกองค์ประกอบให้อยู่ร่วมกัน

นอกจากความตั้งใจให้พื้นที่แห่งนี้เป็นอาร์ตสเปซและจุดเช็คอินสำหรับคนรักกัญชาแล้ว มากกว่านั้นคือการสอดแทรกความเป็นไทย ตั้งแต่อารมณ์ยิ้มมุมปากไปกับงานออกแบบผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์แบรนด์ ไปจนถึงการสนับสนุนวิสาหกิจผู้เพาะปลูกกัญชา โดยเฉพาะการพัฒนาสายพันธุ์ไทย ผ่านแกลเลอรี่ที่บอกเรื่องราวของการเพาะปลูก และคุณสมบัติความพิเศษของกัญชาโดยคนไทยในมุมมองที่เป็นสากล 

กัญชาในความหมายบนพื้นที่อาร์ตสเปซแห่งนี้จึงหมายถึงความใส่ใจในรายละเอียด ความคิดสร้างสรรค์ และการเสพความรู้สึกของพื้นที่ โดยดึงเอาจุดเด่นของกัญชาจากมุมมองที่หลากหลาย ทั้งตัวผลิตภัณฑ์กัญชาและไลฟ์สไตล์แบรนด์มาคลี่คลายออกในรูปแบบที่แตกต่าง ไม่ได้จำกัดแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง และในอนาคต พื้นที่ภายในจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามคอนเซ็ปต์ในแต่ละซีซั่นและแน่นอน สิ่งที่มุ่งหวังสูงสุดสำหรับผู้มาเยือน Happieland คือ อยากทำให้ทุกคนที่ได้มาที่นี่ จะต้องมีความสุขและรอยยิ้มมมมกลับไปด้วย

fb.com/happielandbkk

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *