LE LABO KYOTO MACHIYA

lelabo kyoto - feature pic

แนวคิดการออกแบบร้านน้ำหอม Le Labo สาขาเกียวโต ของ Schemata Architects ได้ผสมผสานความงามตามประเพณีญี่ปุ่นและประวัติศาสตร์ในพื้นที่เข้ากับความร่วมสมัย

TEXT: PANYAPORN SANPRADIT
PHOTO COURTESY OF LE LABO

(For English, press here)

“Le Labo ได้สร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ ด้วยสเปซที่เกิดจากสถาปัตยกรรมที่ไม่ปรุงแต่ง เปิดเผยให้เห็นเนื้อแท้ของวัสดุ โครงสร้างเหล็ก และเฟอร์นิเจอร์วินเทจ แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกของแบรนด์ที่พบความงามในวัตถุที่ใช้แล้วและปรัชญาแบบแบบวาบิ-ซาบิของญี่ปุ่น” Jo Nagasaka / Schemata Architects

lelabo kyoto

Le Labo แบรนด์น้ำหอมชื่อดังจากนิวยอร์ก ได้เปิดร้านแห่งแรกในญี่ปุ่นที่เมืองเกียวโต flagship store นี้ได้รับการออกแบบโดย Jo Nagasaka จาก Schemata Architects ด้วยแนวคิดของการผสมผสานความงามแบบประเพณีของญี่ปุ่นและความรู้สึกของงานออกแบบร่วมสมัย Le Labo Kyoto Machiya ตั้งอยู่ภายในทาวน์เฮาส์ของญี่ปุ่นที่เรียกว่า มาชิยะ จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถของ Nagasaka ในการเคารพและฟื้นฟูพื้นที่ทางประวัติศาสตร์

คนที่ติดตามงานของ Schemata Architects ก็คงรู้ได้เลยว่านี่เป็นโจทย์ที่เข้าทางสถาปนิกอย่าง Nagasaka งานนี้เขากำหนดแนวคิดในการออกแบบมาจากการทำความเข้าใจในอัตลักษณ์ของแบรนด์ Le Labo และการให้ความสำคัญกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่ในเมืองเกียวโต ด้านนอกของร้านได้รับการเก็บรักษาไว้ คงภาพลักษณ์ดั้งเดิมของตึกเก่าที่มีอายุกว่า 145 ปี ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพต่อประวัติศาสตร์ของอาคาร เมื่อเข้าไปข้างใน จะพบกับ interior space ที่มีการออกแบบและจัดวางองค์ประกอบต่างๆ อย่างพิถีพิถัน สถาปนิกได้เก็บลักษณะทางสถาปัตยกรรมของมาชิยะ เช่น คานไม้ที่โดดเด่น และห้องทาตามิ ขณะเดียวกันก็ได้นำเสนอองค์ประกอบร่วมสมัยเข้ามาเสริมรับกับบรรยากาศทางประวัติศาสตร์ด้วย

lelabo kyotolelabo kyoto

“เราจะผสมผสานวัฒนธรรมญี่ปุ่นกับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างไร? เราควรถอดรองเท้าที่ไหน? การจัดดิสเพลย์แบบไหนที่เหมาะสมสำหรับห้องทาตามิ? การจัดแสดงสินค้าควรสูงเท่าไร เพื่อให้ลูกค้าสามารถมองเห็นได้ง่ายขณะยืนอยู่ในสเปซแบบญี่ปุ่น? เราควรจะผสมผสานแสงสว่างในพื้นที่ที่สร้างขึ้นในยุคที่ไม่มีอุปกรณ์ให้แสงสว่างอย่างไร? เราจะใส่ภาพลักษณ์ของผสมน้ำหอมเข้ากับสเปซแบบญี่ปุ่นอย่างไรให้กลมกลืน? องค์ประกอบต่างๆ ของอาคารเดิมควรจะเก็บไว้มากน้อยแค่ไหน ในขณะที่เราต้องการให้พื้นที่สะอาดเพื่อให้สามารถจัดการผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ได้? เราควรจะผสมผสานงาน finishings ที่เฉพาะตัวของแบรนด์ในโครงสร้างไม้เก่านี้ได้อย่างไร?”

ชุดคำถามเหล่านี้เป็นประเด็นที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบ ซึ่งทีมสถาปนิกได้ร่วมกันสร้างงานออกแบบตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงงานรายละเอียด รวมถึงการเลือกเฟอร์นิเจอร์เก่ามาใช้ในโครงการ เคาน์เตอร์ท็อป ชั้นวางของ บันได โดยพยายามให้สอดคล้องกับองค์ประกอบของอาคารเดิม

lelabo kyoto

สิ่งที่โดดเด่นของงานออกแบบ Le Labo Kyoto Machiya คือการใช้สี โดยสีหลักที่ใช้ในงานอินทีเรียนี้เป็นสีเบงการะ (สีดินแดง) และโชเอ็น (เขม่าไม้สน) ซึ่งเป็นสีที่ใช้กันในสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น สีเอิร์ธโทนทั้งสองนี้ช่วยสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและสงบ เป็นบรรยากาศที่เชื้อเชิญให้ลูกค้าใช้เวลาในร้านและทดลองน้ำหอม การเลือกเฟอร์นิเจอร์ในร้านก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ภายในร้านมีองค์ประกอบที่เป็นของเก่าของญี่ปุ่นเป็นหลักโดยใช้โคมไฟแบบตะวันตกแบบวินเทจ การผสมผสานกันของเก่า-ใหม่และตะวันออก-ตะวันตก ทำให้เกิดมิติของความลุ่มลึกและความละเอียดอ่อน สร้างความน่าสนใจให้กับสเปซ และเป็นการเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ในเรื่องของงานคราฟต์และคุณค่าทางวัฒนธรรม

lelabo kyoto

ส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งในโครงการนี้ ก็คือสเปซสำหรับปฏิบัติการและทดลองกลิ่นน้ำหอมซึ่งลูกค้าสามารถมองเห็นกระบวนการผสมน้ำหอมได้ด้วยตัวเอง พื้นที่ส่วนนี้ถูกออกแบบโดยเน้นการใช้งานและภาพลักษณ์ที่น่าสนใจไปด้วยพร้อมกัน ซึ่งในการออกแบบใช้ชั้นวางของแบบเปิดและอุปกรณ์การทำงานแบบวินเทจมาใช้ให้เกิดบรรยากาศ ร่วมกับเคาน์เตอร์ปูนเปลือยที่ทึบตัน สเปซส่วนนี้ช่วยตอกย้ำจิตวิญญาณของแบรนด์ในด้านการทำงานของช่างฝีมือและการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าเหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะแบบ immersive

lelabo kyoto

เช่นเดียวกับหลายๆ โปรเจกต์ก่อนหน้านี้ของ Schemata Architects โปรเจกต์นี้สามารถผสมผสานสิ่งเก่ากับใหม่ได้อย่างกลมกลืน สถาปนิกได้สร้างสเปซที่มีความงามทั้งในด้านภาพและอารมณ์ งานออกแบบ Le Labo Kyoto Machiya เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เป็นตัวอย่างของงานดีไซน์ที่สามารถเปลี่ยนอาคารเก่าให้เกิดสภาพแวดล้อมใหม่ แต่ยังมีจิตวิญญาณแบบดั้งเดิมที่ให้ความรู้สึกพิเศษและให้แรงบันดาลใจ

“โดยการเชื่อมโยงและผสมผสานตึกเก่ากับองค์ประกอบใหม่ เฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์ อย่างพิถีพิถัน งานออกแบบได้สะท้อนถึงจิตวิญญาณของ Le Labo ซึ่งให้ความสำคัญกับยุคสมัย กาลเวลา งานฝีมือ และพื้นผิวสัมผัส”

schemata.jp
facebook.com/schemataarchitects

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *