Tag: contemporary photography

PHOTO ESSAY : EVERYTHING JINGLE BELL


TEXT & PHOTO: BARRY MACDONALD 

(For English, press here) 

เทศกาลคริสต์มาสในประเทศอังกฤษ เป็นวันหยุดและเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองที่สำคัญที่สุดของปี ในช่วงฤดูหนาวที่มืดมน เทศกาลนี้จึงเป็นเทศกาลที่เรารอคอย เป็นโอกาสดีที่จะได้ใช้เวลารร่วมกับครอบครัวและคนที่เรารัก เป็นโอกาสที่ผู้คนได้เฉลิมฉลอง พักผ่อน ได้ทบทวนปีที่ผ่านไป และรวมถึงวางแผนปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

ในช่วงปี 2022 และ 2023 ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เฉลิมฉลองคริสต์มาสในประเทศไทย และรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับความกระตือรือร้นของคนไทยเกี่ยวกับวันคริสต์มาส ตั้งแต่การตกแต่งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ไปจนถึงงานปาร์ตี้คริสต์มาสของแต่ละออฟฟิศ การแลกของขวัญระหว่างเพื่อนๆ หลายๆ ประเพณีที่ผมรู้จักเกี่ยวกับวันคริสมาสต์ได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่ หรือมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย การได้เห็นคริสต์มาสผ่านวัฒนธรรมที่แตกต่างกันเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก โปรเจกต์ของผมต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของคริสต์มาสในประเทศไทย

ในประเทศไทย ‘Everything jingle bell’ เป็นภาษาพูดที่หมายถึง ‘ของเยอะแยะไปหมด’ หรือ ‘ทุกอย่าง’ ซึ่งคนใช้กันเพราะเสียงของคำว่า ‘ติง’ กับ ‘จิง’ คล้องจองกันเฉยๆ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเทศกาลคริสต์มาสเลย วลีนี้สามารถใช้ได้ทั้งปี เป็นการแสดงถึงการรับวัฒธรรมเข้ามาแบบไทยๆ ในอีกรูปแบบหนึ่ง

___________________

แบร์รี่ แมคโดนัลด์ (เกิดปี 1984) เป็นช่างภาพจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ เขาเริ่มต้นจากการ ถ่ายภาพนักดนตรี และได้ค้นพบความสนุกจากการเดินทางในขณะที่ออกทัวร์กับวงดนตรีต่างๆ ทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา ต่อมาเขาได้พัฒนาสู่การถ่ายภาพที่ผสมผสานระหว่างแนวสตรีท และสารคดี เขาสนใจในสังคมวิทยาและพยายามแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมและธรรมชาติของ มนุษย์ผ่านการถ่ายภาพของเขา เขาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2022

barrymacdonald.co.uk
instagram.com/barrymac84

PHOTO ESSAY : TRANSFORMATION THEORY

TEXT & PHOTO: SIRAWIT KUWAWATTANANONT

(For English, press here

‘Gain in entropy always means loss of information and nothing more.’ – G. N. Lewis 1930

สิ่งมีชีวิตต่างล้วนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด การเปลี่ยนแปลงในวงจรชีวิตของธรรมชาติเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในทุกช่วงเวลาของประวัติศาสตร์อยู่เสมอ แต่หากเราต้องเอาตัวรอดจากการคัดสรรของมนุษย์ด้วยกันเอง เราจะต้องทำเช่นใด

ทุกสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อบูชาความฝัน เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง ของคนอื่น หรือเพื่อแสวงหากำไร เมื่อเวลาผ่านไปการดำรงอยู่ในสภาพเดิมย่อมเป็นเรื่องที่ยากอยู่เสมอ ทุกสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ความฝันใดๆ ที่เราได้ร่างไว้สำหรับอนาคต ล้วนไม่สามารถซ้อนทับกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้อย่างลงตัวแทบจะทุกครั้ง เราจึงเริ่มทำลายสิ่งเดิมและสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาทดแทน เพื่อให้กำเนิดอนาคตในอุดมคติ แม้จะรู้ว่าอนาคตก็ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างคาดการณ์ไม่ได้อยู่เสมอ

ในทางกลับกันอีกหลายสิ่งที่มนุษย์สร้างไปแล้วจำนวนมาก ในวันหนึ่งปัจจัยจำนวนนับไม่ถ้วนจะพยายามทำทุกอย่างให้มันต้องพังทลายลง แต่ไม่ว่าจะผุพังแค่ไหน หากมีความผูกพันกับสิ่งเหล่านั้นแล้ว มนุษย์ก็ฝืนปกป้องรักษามันไว้ ไม่ว่าจะต้องยอมสูญเสียอนาคตไปมากเท่าใดหรือฉุดรั้งมันเอาไว้ได้ชั่วคราวเพียงแค่ไหนก็ตาม ขอเพียงให้บางอย่างเป็นตัวแทนของอดีตที่เคยงดงามได้นั้นก็เพียงพอแล้ว

ทฤษฎีสารสนเทศ หรือกฎข้อที่ 2 ของเทอร์โมไดนามิกส์ได้อธิบายว่าการเข้าใจข้อมูลของเรื่องต่างๆ ในอนาคต มีแนวโน้มที่จะซับซ้อนขึ้นตามกาลเวลา หากเราอยากกำหนดอนาคตหรือระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราต้องใช้อัลกอริทึมที่ทรงพลังยิ่งขึ้นตามไป บางสิ่งยิ่งเป็นระเบียบ ทำให้เรารับรู้ข้อมูลของมันได้น้อยลง บางอย่างยิ่งยุ่งเหยิง เราก็กลับรู้ข้อมูลของมันน้อยลงเช่นกัน สองสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่สามารถบรรจบกันได้นี้ กลับมีปลายทางร่วมกันอย่างน่าประหลาด 

Transformation Theory จึงเป็นการสำรวจสถานที่สองแห่ง ระหว่างเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ระหว่างการพยายามฉุดรั้งอดีตและพัฒนาสู่อนาคต ผ่านการประกอบสร้างเศษเสี้ยวของภาพถ่ายขึ้นมาใหม่อีกครั้ง รวมถึงเป็นการตั้งคำถามถึงการพัฒนาของมนุษย์ว่าจะนำพาเราไปสู่อุดมคติอย่างที่เราวาดฝันไว้ได้จริงหรือไม่กันแน่

___________________

ศิรวิทย์ คุววัฒนานนท์ ติวเตอร์สอนฟิสิกส์ที่เริ่มต้นเส้นทางนี้ด้วยการที่พยายามถ่ายภาพเพื่อสอนนักเรียนเกี่ยวกับเมฆและดวงดาวเมื่อ 8 ปีก่อน การถ่ายภาพได้พาศิรวิทย์ไปถึงการจัดนิทรรศการเพื่อเล่าหลายเรื่องที่เขาค้างคาใจ ทั้งเทคนิคการถ่ายภาพ วิทยาศาสตร์ ความรัก ตราบจนถึงความสัมพันธ์ของสังคม มนุษย์ และธรรมชาติ

sirawitkittikorn.com
instagram.com/titi.kittikorn

PHOTO ESSAY : ORDINARY

TEXT & PHOTO: KROEKRIT NOPPHAGAO

(For English, press here

ในทุกวันที่ผมออกไปถ่ายรูป ผมเลือกมองหาความธรรมดาแต่ให้ความรู้สึกพิเศษ ด้วยการเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นผ่านมุมมองแบบ street minimalist เปลี่ยนสิ่งที่เราเห็นจนชินตา มองเมืองที่กว้างใหญ่ในมุมเล็กๆ เราอาจพบความสวยงามที่ซ่อนอยู่ตามซอกมุมของตึก ตรอกซอกซอย หรือท้องถนน นั่นเพราะความสวยงามมันอาจไม่ได้ซ่อนอยู่ เพียงแต่ว่าเราเองที่เป็นฝ่ายมองข้ามมันไปต่างหาก

___________________

เกริกฤทธิ์ นพเก้า เป็นช่างภาพ wedding ผู้มีความสนใจภาพสตรีทและภาพถ่าย contemporary

facebook.com/Cherbellphoto
instagram.com/bell_kroekrit