Tag: Street Photography

PHOTO ESSAY : EVERYTHING JINGLE BELL


TEXT & PHOTO: BARRY MACDONALD 

(For English, press here) 

เทศกาลคริสต์มาสในประเทศอังกฤษ เป็นวันหยุดและเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองที่สำคัญที่สุดของปี ในช่วงฤดูหนาวที่มืดมน เทศกาลนี้จึงเป็นเทศกาลที่เรารอคอย เป็นโอกาสดีที่จะได้ใช้เวลารร่วมกับครอบครัวและคนที่เรารัก เป็นโอกาสที่ผู้คนได้เฉลิมฉลอง พักผ่อน ได้ทบทวนปีที่ผ่านไป และรวมถึงวางแผนปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

ในช่วงปี 2022 และ 2023 ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เฉลิมฉลองคริสต์มาสในประเทศไทย และรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับความกระตือรือร้นของคนไทยเกี่ยวกับวันคริสต์มาส ตั้งแต่การตกแต่งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ไปจนถึงงานปาร์ตี้คริสต์มาสของแต่ละออฟฟิศ การแลกของขวัญระหว่างเพื่อนๆ หลายๆ ประเพณีที่ผมรู้จักเกี่ยวกับวันคริสมาสต์ได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่ หรือมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย การได้เห็นคริสต์มาสผ่านวัฒนธรรมที่แตกต่างกันเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก โปรเจกต์ของผมต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของคริสต์มาสในประเทศไทย

ในประเทศไทย ‘Everything jingle bell’ เป็นภาษาพูดที่หมายถึง ‘ของเยอะแยะไปหมด’ หรือ ‘ทุกอย่าง’ ซึ่งคนใช้กันเพราะเสียงของคำว่า ‘ติง’ กับ ‘จิง’ คล้องจองกันเฉยๆ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเทศกาลคริสต์มาสเลย วลีนี้สามารถใช้ได้ทั้งปี เป็นการแสดงถึงการรับวัฒธรรมเข้ามาแบบไทยๆ ในอีกรูปแบบหนึ่ง

___________________

แบร์รี่ แมคโดนัลด์ (เกิดปี 1984) เป็นช่างภาพจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ เขาเริ่มต้นจากการ ถ่ายภาพนักดนตรี และได้ค้นพบความสนุกจากการเดินทางในขณะที่ออกทัวร์กับวงดนตรีต่างๆ ทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา ต่อมาเขาได้พัฒนาสู่การถ่ายภาพที่ผสมผสานระหว่างแนวสตรีท และสารคดี เขาสนใจในสังคมวิทยาและพยายามแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมและธรรมชาติของ มนุษย์ผ่านการถ่ายภาพของเขา เขาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2022

barrymacdonald.co.uk
instagram.com/barrymac84

PHOTO ESSAY : ORDINARY

TEXT & PHOTO: KROEKRIT NOPPHAGAO

(For English, press here

ในทุกวันที่ผมออกไปถ่ายรูป ผมเลือกมองหาความธรรมดาแต่ให้ความรู้สึกพิเศษ ด้วยการเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นผ่านมุมมองแบบ street minimalist เปลี่ยนสิ่งที่เราเห็นจนชินตา มองเมืองที่กว้างใหญ่ในมุมเล็กๆ เราอาจพบความสวยงามที่ซ่อนอยู่ตามซอกมุมของตึก ตรอกซอกซอย หรือท้องถนน นั่นเพราะความสวยงามมันอาจไม่ได้ซ่อนอยู่ เพียงแต่ว่าเราเองที่เป็นฝ่ายมองข้ามมันไปต่างหาก

___________________

เกริกฤทธิ์ นพเก้า เป็นช่างภาพ wedding ผู้มีความสนใจภาพสตรีทและภาพถ่าย contemporary

facebook.com/Cherbellphoto
instagram.com/bell_kroekrit

PHOTO ESSAY : THE CITY’S COLORS: BANGKOK

Julachart Pleansanit
Julachart PleansanitJulachart PleansanitJulachart PleansanitJulachart PleansanitJulachart PleansanitJulachart PleansanitJulachart PleansanitJulachart PleansanitJulachart PleansanitJulachart PleansanitJulachart PleansanitJulachart PleansanitJulachart PleansanitJulachart PleansanitJulachart Pleansanit

TEXT & PHOTO: JULACHART PLEANSANIT

(For English, press here

กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในเมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีความสนุกสนานที่สุดในโลก เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย วัฒนธรรมหลากหลาย และบรรยากาศที่มีชีวิตชีวา ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ โดดเด่นก็คือสีสันที่สดใส ทำให้เมืองนี้โดดเด่น มีลักษณะเฉพาะตัว ทั้งกลางวันและกลางคืน

สีสันในกรุงเทพฯ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญ ในการสร้างบรรยากาศและเอกลักษณ์ของเมืองอีกด้วย สีสันของเมืองนี้ปรากฏให้เห็นอย่างสดใสในทุกที่ ทั้งตามป้ายโฆษณา ผ้าใบกันสาด ยานพาหนะ แฟชั่น แม้กระทั่งอาคารบ้านเรือนและผู้คน อีกทั้งสีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงินนั้น โดดเด่นจนสามารถพบเห็นอยู่ทั่วทั้งเมือง เมื่อได้ผสมผสานอยู่ท่ามกลางสีอื่นๆ จึงทำเมืองนี้ มีสีสันที่พิเศษกว่าเมืองไหนๆ

ในการถ่ายภาพแนวสตรีท สีสันเป็นหนึ่งในองค์ประกอบแรกๆ ที่ผมมองหา เพราะสามารถสร้างภาพ ที่โดดเด่นขึ้นมาได้ เมื่อรวมกับการจัดองค์ประกอบที่เหมาะสม สีสันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรื่องราว ในภาพน่าสนใจยิ่งขึ้น

ภาพถ่ายชุดนี้แสดงให้เห็นถึงการใช้สีสันที่โดดเด่น ขณะเดียวกันยังสะท้อนความเป็น ‘street’ แบบไทย ที่มีเอกลักษณ์ ภาพแต่ละภาพ สะท้อนให้เห็นถึงการใช้สีสันของกรุงเทพฯ เพื่อสร้างบรรยากาศ และแต่งแต้มเรื่องราวให้เมืองนี้เต็มไปด้วยชีวิตชีวา

___________________

จุฬชาติ เปลี่ยนสนิท เป็นสถาปนิกและนักออกแบบอีเวนต์ event designer เมื่อประมาณปีที่แล้ว เขาได้เริ่มเดินถ่ายภาพสตรีทอย่างจริงจัง ระหว่างทาง เขาจะพยายามมองสิ่งรอบตัว ผ่านมุมมองของตนเอง โดยเชื่อว่าทุกสถานที่มีมุมมองที่ซ่อนอยู่เสมอ มันเหมือนกับการล่าสมบัติ ที่เขาเพียงแค่พยายามค้นหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ในที่ที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม

instagram.com/longstreet_bob

PHOTO ESSAY : THE FABRIC OF SOCIETY

The Fabric of Society
The Fabric of SocietyThe Fabric of SocietyThe Fabric of SocietyThe Fabric of SocietyThe Fabric of SocietyThe Fabric of SocietyThe Fabric of SocietyThe Fabric of SocietyThe Fabric of SocietyThe Fabric of SocietyThe Fabric of SocietyThe Fabric of SocietyThe Fabric of SocietyThe Fabric of SocietyThe Fabric of Society

TEXT & PHOTO: BARRY MACDONALD

(For English, press here

‘The Fabric of Society’ หรือ แปลเป็นภาษาไทย ‘ผืนผ้าของสังคม’ เป็นคำที่ใช้เปรียบเปรยในภาษาอังกฤษ หมายถึงโครงสร้างพื้นฐาน ความสัมพันธ์ ที่เชื่อมโยงที่ยึดถือสังคมไว้ด้วยกันเหมือนกับผ้าที่ทำจากเส้นด้ายแต่ละเส้นที่ถูกถักทอเข้าด้วยกันเพื่อสร้างเป็นผืนเดียว ‘ผืนผ้าของสังคม’ ประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ เช่น ค่านิยมร่วมกัน บรรทัดฐาน กฎหมาย สถาบัน และวัฒนธรรมที่ผูกพันบุคคลและกลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผืนผ้าผืนเดียวกัน

ผ้าใบ (ผ้าใบพลาสติกแถบสีน้ำเงินขาว) ภาพจำที่ทำให้เรานึกถึงเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นแรงงาน แต่อันที่จริงแล้วชีวิตของทุกคนต่างมีส่วนที่ข้องเกี่ยวกับผ้าใบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในอาหารทุกๆ มื้อที่เราทาน ถูกปลูก ตาก จับ ส่งขาย จนประกอบเป็นอาหาร ต่างล้วนมีผ้าใบเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการไม่มากก็น้อย อาคารที่ปลูกสร้างต่างต้องเคยใช้ผ้าใบมาแล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในงานก่อสร้าง งานประปา และงานไฟฟ้าต้องพึ่งพาวัสดุอเนกประสงค์นี้ หรือแม้กระทั่งสิ่งของทุกอย่างที่เราซื้ออาจใช้ผ้าใบในการขนส่ง, การเก็บรักษา หรือแม้แต่การสร้างแผงขายของตลาด ปูพื้น ทำโต๊ะ มุงหลังคา และอื่นๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของไร้ราคาบนท้องถนน หรือไปจนถึงพระพุทธรูปที่มีค่าที่สุดในวัด ผ้าใบถูกเชื่อถือในการปกป้องรักษา ดูแลสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมด

ภาพชุดนี้มองดูแล้วอาจจะเกี่ยวกับผ้าใบ แต่หากมองลึกลงไปแท้จริงแล้วผ้าใบสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับสังคมได้ในหลายมิติ เราจะเห็นถึงมิติแห่งกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่ทุกคนต่างใช้ผลิตภัณฑ์เดียวกัน จากแหล่งที่มาเดียวกัน มิติเชิงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของการผลิตพลาสติกจำนวนมาก รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยในการดัดแปลงวัสดุให้เป็นรูปแบบและการใช้งานใหม่ๆ ไปจนถึงการสะท้อนเห็นปัญหาแรงงานข้ามชาติและอาชีพที่พวกเขาทำในประเทศไทย ที่พวกเขาบางคนอาศัยอยู่ในที่ที่สร้างขึ้นด้วยผ้าใบ

ชวนให้ตั้งคำถามว่า หากไม่มีผ้าใบ ประเทศจะยังคงสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หรือผ้าใบคือสิ่งที่แสดงออกถึง ‘ผืนผ้าของสังคม’ ในรูปธรรมที่แท้จริง

___________________

แบร์รี แมคโดนัลด์ (เกิดปี 2527) เป็นช่างภาพอิสระจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ เขาเริ่มต้นถ่ายภาพนักดนตรีและค้นพบความสนุกสนานในการเดินทางจากการไปทัวร์กับวงดนตรีทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา งานของเขาพัฒนามาเป็นการผสมผสานระหว่างการถ่ายภาพแนวสตรีทและสารคดี เขาสนใจสังคมวิทยาและพยายามมองวัฒนธรรมและธรรมชาติของมนุษย์ผ่านการถ่ายภาพของเขา เขาอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2565

barrymacdonald.co.uk
instagram.com/barrymac84

PHOTO ESSAY: SUKHUMVIT- THE THIRD ROAD

TEXT & PHOTO: ADAM BIRKAN

(For English, press here

‘สุขุมวิท’ เป็นการสำรวจสมมติฐานที่ว่าถนนสุขุมวิทเป็นโลกใบย่อมๆ ใบหนึ่งของกรุงเทพมหานคร และก็อาจจะเป็นตัวแทนของสังคมในภาพรวมด้วยก็เป็นได้ แม้ว่าถนนทั้งสายจะทอดยาวจากกรุงเทพฯ ไปสุดที่ชายแดนกัมพูชา (ตามทางหลวงหมายเลข 3) แต่พื้นที่ที่ได้สำรวจในหนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่เน้นไปที่ระยะทาง 14 กิโลเมตร ของช่วงถนนที่ตัดผ่านในเขตกรุงเทพฯ จากจุดเริ่มต้นในใจกลางเมืองที่สถานีรถไฟฟ้าเพลินจิต ไปจนถึงทางตอนใต้ของตัวเมืองที่สถานีฯ ช้างเอราวัณ ซึ่งเลยเขตเมืองไปไม่ไกลนัก ทั้งนี้ ภาพชุดนี้ไม่ได้ชี้แนะทางออกใดๆ เพียงแต่เผยให้เห็นถึงมิติของชีวิตที่อยู่รวมกันบนถนนสายหนึ่งในเมืองเมืองหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่ผู้ชมรับรู้และเข้าใจเป็นการสะท้อนถึงความคิดตนเองและสะท้อนภาพความเป็นจริง ถนนสายนี้ก็เหมือนถนนสายอื่นๆ ที่แสดงประสบการณ์ของมนุษย์ออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม ที่ซึ่งความลำบากและความรุ่งเรือง อุตสาหกรรมและประวัติศาสตร์ เวลาและวัฒนธรรม หลอมรวมถักทอเป็นผืนผ้าที่มีชีวิต ในขณะเดียวกัน แรงขับเคลื่อนที่ไม่อาจหยุดยั้งของคนรุ่นใหม่และสิ่งต่างๆ ซึ่งคงหยุดอยู่กับที่ของคนรุ่นเก่าก็กำลังบดขยี้กันและกันไปจวบจนจุดสิ้นสุดของกาลเวลา

__________________

Adam Birkan เป็นช่างภาพอิสระและนักเล่าเรื่องด้วยภาพ ที่ได้รับการรับเลือกให้เป็นหนึ่งใน Magnum’s 30 Under 30 และ PDN 30 เขาจบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์ด้านการสื่อสารด้วยภาพจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ โดยปัจจุบัน Birkan อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และกำลังทำงานทั้งโปรเจ็กต์ระยะยาวและระยะสั้น ผลงานส่วนตัวของเขามักจะมองภาพรวมของปัญหาเชิงสังคมและเศรษฐกิจ และให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการเปรียบเทียบทั้งในความหมายโดยตรงและเชิงอุปมา และการมองหาช่วงเวลาอันละเอียดอ่อนและแทบไม่มีใครสังเกตเห็น ที่เมื่อรวมกันแล้ว เผยให้เห็นภาพกว้างของอุตสาหกรรมอันเร่งรัดและความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ

adambirkan.com
instagram.com/adambirkan

PHOTO ESSAY : HUMAN TRACE

TEXT & PHOTO: DITTA SUTHEPPRATANWONG

(For English, press here

เราต่างเดินบนพื้น เราสร้างบ้านบนพื้น เราเพาะปลูก หาอาหารและใช้ชีวิตบนพื้น และการมีอยู่ของเราล้วนถูกกำหนดอยู่บนระนาบนอนภายใต้แรงโน้มถ่วง จึงไม่แปลกเลยที่พื้นจะเต็มไปด้วยร่องรอยของมนุษย์ 

ทุกครั้งที่เราใช้ชีวิต ทุกครั้งที่เราเดินทาง ทุกครั้งที่เราประกอบกิจกรรมต่างๆ เราต่างเคยทิ้งร่องรอยหรือเศษเสี้ยวของเรา ทั้งทางรูปธรรมและนามธรรมไว้บนพื้นทั้งสิ้น 

ผมจึงเกิดความสงสัยใคร่รู้ เริ่มต้นศึกษาความเป็นมนุษย์ ผ่านสมมติฐานที่ว่า หากเราบันทึกร่องรอยที่หลงเหลือเหล่านั้น แล้วนำมาปะติดปะต่อกัน จะสามารถประกอบสร้างความเป็นมนุษย์ขึ้นมาใหม่เหมือนกับการต่อเลโก้ได้หรือไม่ ดังเช่นที่เราทุกคนต่างก็เคยเก็บเศษเสี้ยวของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง ทั้งหยิบยื่นบางส่วนของตนเองให้คนอื่น หรือแม้กระทั่งการเผลอทำบางส่วนของตัวเองหล่นพื้น 

ภาพชุดนี้จึงรวบรวมร่องรอยของมนุษย์ที่หลงเหลือบนพื้นเอาไว้และใช้ความผิดที่ผิดทาง เป็นชนวนขับเน้นร่องรอยเหล่านั้น พร้อมกับเชิญชวนผู้ชมมาลองประกอบสร้างความเป็นมนุษย์ขึ้นมาใหม่ผ่านความคิดและวิจารณญาณส่วนตัวของแต่ละคน ขอให้สนุกครับ

_____________

ดิษฐา สุเทพประทานวงศ์ นักเรียนสถาปัตย์ที่กลายมาเป็นช่างภาพสถาปัตยกรรม และศิลปินอิสระ ปัจจุบันเป็นช่างภาพให้กับ W Workspace

facebook.com/dittaphoto
instagram.com/ditta25

THAI TAXI TALISMANS

สรรพสิ่งมหัศจรรย์บนรถแท็กซี่ไทย เป็นแรงบันดาลใจให้ Dale Konstanz ถ่ายภาพห้องโดยสารรถ ค้นคว้าข้อมูลเครื่องรางต่างๆ ข้างใน และรวบรวมข้อมูลจนกลายเป็นหนังสือที่สะท้อนความเชื่อแบบไท้ยไทยให้เราเห็น Read More

PHOTO ESSAY : CHRISTMAS IN THAILAND

TEXT & PHOTO: BARRY MACDONALD

(For English, press here

สำหรับประเทศอังกฤษและประเทศอื่นๆ ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์ วันคริสต์มาสนับว่าเป็นเทศกาลแห่งการพักผ่อนและเฉลิมฉลองใหญ่ประจำปี ในช่วงเดือนที่อากาศมืดครึ้มหนาวเหน็บ คริสต์มาสคือสิ่งที่ใครหลายคนเฝ้ารอคอย เป็นโอกาสแห่งการได้ใช้เวลากับครอบครัวและคนที่รัก ทั่วทั้งประเทศปิดตัวลงไปชั่วครู่  วันปีใหม่ที่อยู่ไม่ไกลก็ถูกควบรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาแห่งความสุขนี้ มันยังเป็นโอกาสให้ผู้คนได้สนุกสนาน พักผ่อน ทบทวนปีเก่าที่กำลังจะผ่านพ้นไป และมองไปยังปีใหม่ที่กำลังจะมา ในช่วงปี 2022 เป็นปีที่ผมมีโอกาสได้ใช้เวลาช่วงคริสต์มาสในประเทศไทย ผมรู้สึกทึ่งที่ได้เห็นว่าคนไทยตื่นเต้นกับเทศกาลนี้มากแค่ไหน นับตั้งแต่การออกแบบพื้นที่ขนาดมหึมาในห้างสรรพสินค้า ปาร์ตี้คริสต์มาสที่จัดขึ้นในบริษัทต่างๆ ไปจนถึงการเล่นบัดดี้จับของขวัญระหว่างเพื่อนฝูง คนไทยสนุกสนานไปกับประเพณีต่างๆ ที่มาพร้อมคริสต์มาส องค์ประกอบบางอย่างได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับวัฒนธรรมของคนไทย มันน่าสนใจที่ได้เห็นคริสต์มาสถูกตีความผ่านอีกวัฒนธรรมหนึ่ง และหวังว่างานของผมจะแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณแห่งคริสต์มาสที่ผมได้สัมผัสในประเทศไทย

_____________

แบร์รี่ แมคโดนัลด์เกิดในเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ พ่อของเขามีงานอดิเรกคือการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิลม์ 35 มม. และสอนให้เขาเรียนรู้การใช้กล้องมาตั้งแต่ยังเด็กๆ เขามีกล้องถ่ายรูปฟิลม์เป็นของตัวเองครั้งแรกในปี 1995 สำหรับแบร์รี่ กล้องกลายเป็นสิ่งที่ช่วยเปิดหนทางในการปฏิสัมพันธ์กับโลกในแบบที่เขามองว่าเป็นเหตุเป็นผล การจับภาพ สร้างเฟรมและองค์ประกอบขึ้นจากช่วงเวลาๆ หนึ่งนำมาซึ่งความพึงใจ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นและคงอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว กล้องได้นำพาให้เขาออกเดินทางและพบเจอผู้คน และเขาก็รู้สึกขอบคุณมันเสมอที่มันเปลี่ยนชีวิตเขาและช่วยให้เขาเข้าใจโลกในแบบที่มันเป็น

instagram.com/barrymac84

PHOTO ESSAY : WHEN I WAKE UP, I WILL DREAM OF BEING A CHILD AGAIN

TEXT & PHOTO: RATTHEE PHAISANCHOTSIRI

(For English, press here)  

เมื่อฉันตื่น ฉันจะฝันให้กลายเป็นเด็กอีกครั้ง – ภาพชุดนี้เราถ่ายขึ้นเมื่อปี 2010-2011 ระหว่างที่ใช้ชีวิต 1 ปีในประเทศญี่ปุ่นในฐานะเด็กที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ซึ่งอาจเหมือนความฝันของเด็กเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์หลายๆ คน ณ ขณะนั้น ที่อยากมีโอกาสไปศึกษาต่อที่ประเทศนี้ ในช่วงที่ยุคสมัยที่ความมินิมอลกำลังเฟื่องฟู

หากแต่ช่วงการเปลี่ยนผ่านของชีวิตจากวัยเรียนไปสู่วัยทำงาน หรือที่ใครหลายคนเรียกว่า Coming of age เรากลับพบว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องที่เรียบง่ายเลยที่จะสามารถสร้างสมดุลระหว่าง ‘ความจริงกับความฝัน’ หรือการยอมรับความจริงที่ปราศจากอุดมคติ สิ่งที่เราค้นพบระหว่างช่วงเวลาจึงเป็นเพียงคำถามมากมายที่วนเวียนอยู่ในหัวเกี่ยวกับเรื่อง ‘การมีชีวิตและความตาย’ กับร่างกายที่อ่อนแรงลงในทุกๆ วัน เราจะอยู่กับความรู้สึกแบบนี้ต่อไปอย่างไร เมื่อถึงวันที่เราต้องเริ่มต้นดำเนินชีวิตในวันพรุ่งนี้ในแบบที่สังคมกำหนดโครงสร้างบางอย่างมาแล้ว

ตอนนี้ก็ผ่านมากว่า 12 ปี ความฝันในวัยเด็กที่เคยมีมันก็ไม่ได้ชัดเจนเหมือนแต่ก่อน พอเราลองมองย้อนกลับไปในภาพความทรงจำเหล่านี้เพื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันของเรา ในวันที่อายุเราค่อยๆ ใกล้เคียงกับผู้คนในภาพ ที่แม้ว่าเทคโนโลยีจะทำให้วิถีการใช้ชีวิตของเราสะดวกสบายมากขึ้น แต่ในภาพรวมของการเป็นมนุษย์มันก็ดูจะไม่แตกต่างจากวันนั้นมากนัก ซึ่งเราก็ยังคงดิ้นรนกับมันต่อไป กับความสุขที่มีในแต่ละวัน

_____________

รัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ นักออกแบบอุตสาหกรรม หนึ่งในสมาชิกกลุ่มอิสรภาพ ปัจจุบันใช้ชีวิตระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพฯ

rattheephaisanchotsiri.com
instagram.com/rattheephaisanchotsiri

PHOTO ESSAY : FLUKE

TEXT & PHOTO: WATTIKON KOSONKIT

(For English, press here)

“ทำงาน เก็บเงิน และออกเดินทาง” เป็นคำแนะนำจากเจ้านายคนสุดท้ายของผม และไม่ใช่เรื่องแปลกที่สถาปนิกจะออกเดินทางไปแสวงบุญตามสถาปัตยกรรมที่ตนชื่นชอบไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ แต่สำหรับคนที่ทำงานจนวินาทีสุดท้ายก่อนเดินทาง ก็มักจะหยิบจับอุปกรณ์ถ่ายภาพที่ไม่เหมาะแก่การเก็บภาพตึกต่างๆ ที่ตนเองชื่นชอบ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการไปเยี่ยมงานต่างๆ และบันทึกไว้เพียงความทรงจำเพียงเท่านั้น ไม่สามารถบันทึกภาพสถาปัตยกรรมที่ตนชื่นชอบได้ แต่ในทางกลับกันการพยายามจดจำทุกจุดของอาคารให้ได้มากที่สุดก็มักจะหันไปเจออากัปกริยาของผู้คนที่อยู่ทั้งภายในและภายนอกอาคารนั้นที่น่าสนใจ จนเป็นเหตุให้เริ่มใส่ใจผู้คนที่ใช้อาคารมากกว่าตัวงาน ยิ่งพอเราไม่ใช่ช่างภาพมืออาชีพด้วยแล้วการรอ subject ให้เข้ามาในเฟรมภาพยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการหยิบเลนส์ผิดในแต่ละทริป จังหวะการเก็บภาพในแต่ละการเดินทาง ถ้าไม่เรียกว่าฟลุ๊คแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร

_____________

วัทธิกร โกศลกิตย์ – สถาปนิกตัวกลมพิกัด 100 กิโลกรัม ปัจจุบันทำงานเป็น Draftsman อยู่ FATTSTUDIO ชอบลาพักร้อนหนีเที่ยวเป็นเดือนเพื่อท่องเที่ยวไปตามสถาปัตยกรรมที่ชื่นชอบ และมีความสนใจด้านการถ่ายภาพบางประเภท

instagram.com/wattikon21