GOOD CYCLE BUILDING

นอกจาก façade ของอาคารที่เป็นเสาไม้ขนาดใหญ่จะมีความโดดเด่นแล้ว Good Cycle Building จาก Asanuma Corporation และ Nori Architects ยังน่าสนใจจากการถ่ายทอดแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการก่อสร้างที่เน้นใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมไปถึงการหยิบองค์ประกอบที่น่าสนใจอย่างดินเก่า ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร 

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: JUMPEI SUZUKI except as noted

(For English, press here

ความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ใครๆ ต่างก็หันมาสนใจกันในตอนนี้ Asanuma corporation บริษัทในประเทศญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจด้านการก่อสร้าง ก็เป็นอีกบริษัทที่มองเห็นความสำคัญของประเด็นนี้ จึงเริ่มต้นโครงการ GOOD CYCLE BUILDING เพื่อเสนอต้นแบบการก่อสร้างที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยโปรเจ็คต์นำร่องของโครงการก็คือ การรีโนเวทสำนักงาน Asanuma corporation สาขา Nagoya ที่มาอายุ 30 กว่าปี โดยได้สตูดิโอ Nori Architects มาร่วมออกแบบ

สิ่งสำคัญที่โครงการคำนึงสำหรับการรีโนเวทครั้งนี้ก็คือ การพลิกโฉมสเปซโดยยังเก็บโครงสร้างหลักของอาคารไว้อยู่ และการผนวกวัสดุจากธรรมชาติและวัสดุรีไซเคิลมาไว้ภายใน แนวคิดนี้แสดงออกมาให้เห็นตั้งแต่โถงต้อนรับที่ถูกปรับเปลี่ยนให้มีความโอ่โถงขึ้น ด้วยการนำพื้นชั้นสองออกจนเกิดสเปซอันสูงโปร่ง มีการนำเศษดินจากไซต์ก่อสร้างของ Asanuma corporation ในจังหวัด Aichi มาฉาบตกแต่ง เกิดเป็นพื้นและผนังสีแดงตามสีของดิน ดินยังถูกนำมาบดอัดเป็นบล็อกดินที่กั้นระหว่างห้องรับแขกทั้งสามห้องที่อยู่ข้างโถงทางเข้าอีกด้วย ลวดลายที่อยู่บนผิวดิน เป็นลวดลายจากรอยนิ้วมือของพนักงานในตึกที่เข้ามามีส่วนร่วมในการก่อสร้าง ถือเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนกับอาคารไปในตัว นอกจากนั้น ดินที่ใช้ในบริเวณต่างๆ ก็สามารถนำไปรีไซเคิลในอนาคตได้

 


พื้นที่ส่วนอื่นๆ ก็มีการปรับปรุงเพื่อให้มีบรรยากาศน่าใช้งานไม่แพ้กันช่น ออฟฟิศชั้นบนที่ร่นระยะออกมาจากแนวหน้าต่างเดิม จนเกิดระเบียงสำหรับนั่งเล่นด้านนอก และยังมีการเปลี่ยนผังภายในเพื่อให้เอื้อต่อการรับแสงธรรมชาติและการไหลเวียนของอากาศ หรือพื้นที่ชั้นเจ็ดและชั้นแปดซึ่งเป็นห้องประชุมและ auditorium ที่เปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาด้วยการนำแผ่นพื้นทางด้านทิศใต้ออก เฟอร์นิเจอร์ภายในอาคารอย่างเช่น โต๊ะ เก้าอี้ หรือผ้าม่าน ก็ทำมาจากวัสดุเหลือใช้ อย่างเช่น เศษหิน เศษไม้จากการก่อสร้าง หรือผ้าโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล เน้นย้ำแนวคิดการนำทรัพยากรมาหมุนเวียนใช้งานให้คุ้มค่าที่สุด

อีกจุดเด่นของอาคารที่น่าพูดถึงก็คือแท่งเสากลมที่เห็นบริเวณ façade ด้านหน้าอาคาร เสาเหล่านี้คือเสาไม้ Sugi อายุกว่า 130 ปีจากป่า Yoshino ในเมือง Nara ที่อยู่ในความดูแลของ Asanuma การใช้ไม้อายุกว่า 130 ปี ยังเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 130 ปี ของ Asanuma อีกเช่นกัน เสาไม้ถูกจัดวางไล่เรียงจากเสาขนาดใหญ่สุดที่ชั้นล่าง ไปจนถึงขนาดเล็กสุดที่ชั้นบน เพื่อให้ความรู้สึกเหมือนต้นไม้ในธรรมชาติที่กำลังงอกเงยอยู่ ช่างเป็นการพลิกโฉมอาคารที่ทั้งดีต่อโลก และดีต่อใจคนใช้งาน

norihisakawashima.jp
asanuma.co.jp

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *