TROP : TERRAINS + OPEN SPACE

art4d สนทนากับ อรรถพร คบคงสันติ ผู้ก่อตั้ง TROP : terrains + open space พร้อมพูดถึงผลงานของสตูดิโอในระดับนานาชาติ ทิศทางของงานภูมิสถาปัตยกรรมโลกและอนาคตของ TROP : terrains + open space

TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO COURTESY OF TROP : terrains + open space

(For English, press here

อรรถพร คบคงสันติ (ป๊อก) ผู้ก่อตั้งสตูดิโอ TROP : terrains + open space จัดเป็นภูมิสถาปนิกอีกรายหนึ่งที่มีผลงานท้าทายและโดดเด่นมากมายให้กับวงการภูมิสถาปัตยกรรมนานาชาติทั้งที่เป็น shortlist และ ที่ชนะรางวัลระดับโลกมาแล้ว วิธีทำงานของ TROP คือการผสมผสาน terrain (ดิน) และ open space (พื้นที่ว่าง) ได้อย่างสร้างสรรค์ จนมีความสำเร็จในทุกวันนี้ ป๊อกบอกเล่าความคิดในการทำงานของ TROP จนมีความสำเร็จในทุกวันนี้และความเคลื่อนไหวของวงการ landscape design ระดับโลกให้เราฟัง

art4d: อะไรคือยุทธศาสตร์ที่คุณวางไว้ให้ TROP เติบโตมาได้จนถึงทุกวันนี้?

Attaporn Kobkongsanti: ตั้งเเต่วันเเรกนี่ ผมก็ไม่ได้มียุทธศาสตร์อะไรเลย ไม่มีแผนว่าปีแรกต้องได้อะไร ห้าปีถัดมาต้องมีอะไร จำได้ว่าความรู้สึกตอนตั้งออฟฟิศใหม่ๆ คือ ผมอยากทำอะไรที่ผมอยากเห็น แต่ผมยังไม่เห็นจากงานออฟฟิศอื่นๆ ซึ่งตัวผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอยากเห็นอะไร แค่รู้สึกว่าตอนนั้นมันยังไม่มีใครทำ ก็เลยตัดสินใจเปิดออฟฟิศง่ายๆ แบบนั้น

หลังจากนั้นขอแบ่งเป็นช่วงๆ  ปีนี้ก็ครบ 15 ปีของ TROP พอดี ช่วง 5 ปีเเรกของออฟฟิศออกแบบก็เหมือนกับเรายังอยู่ใต้น้ำนั่นละ ไม่มีผลงานโชว์ใคร ได้เเต่ตั้งใจทำงานให้ดีที่สุดไปทีละงาน เริ่มตั้งเเต่งานเล็กๆ แต่ดีไซน์เต็มที่ทุกจุด คิดทุกเรื่อง โชคดีที่ลูกค้าหลายๆ ท่านให้โอกาสเเละยอมเปิดกว้างให้เราได้ทำอะไรใหม่ๆ ตั้งเเต่งานเเรกๆ เลย พอสร้างเสร็จออกมามันก็มีความน่าสนใจ เลยทำให้เกิดโมเมนตั้มที่สำคัญมากๆ กับทิศทางและอนาคตของบริษัทในช่วง 5 ปีถัดมา

Hilton Pattaya

พอเริ่มมี portfolio ผลงานที่สร้างเสร็จ ก็มีโอกาสได้ลงสื่อต่างๆ ก็ทำให้ลูกค้าต่างประเทศได้เริ่มเห็นผลงานมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าจีนที่ค่อนข้างถูกใจงานของ TROP ทำให้เราได้รับงานจากต่างประเทศที่ใหญ่ขึ้น พอความรับผิดชอบมากขึ้น ค่าออกแบบก็มากขึ้น ก็เลยทำให้เรามีโอกาสขยายทีมให้มีความพร้อมมากขึ้น แต่ก็ยังนับว่าเป็นช่วงลองผิดลองถูกอยู่มากนะครับ เพราะงานจีนช่วงนั้นสร้างกันเร็วมากแต่คุณภาพยังไม่ดี ตัวเราเองก็ควบคุมไม่ทั่วถึง ส่วนใหญ่สร้างออกมาก็ยังไม่ได้ตามความต้องการเท่าไหร่ เเต่โดยรวมก็นับเป็นประสบการณ์ที่ดีให้กับผมและน้องๆ

Hilton Pattaya

จนช่วง 5 ปีล่าสุดนี่เราเริ่มรู้ตัวเองว่าเราชอบทำอะไร ถนัดอะไร มี skills การออกแบบมากขึ้น ก็คิดว่าถึงเวลาที่อาจต้องขยับขยายเพื่อควบคุมคุณภาพงานที่จีนซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญมากของออฟฟิศเรา รวมทั้งได้สร้างอนาคตให้ทีมที่นั่นด้วย ผมก็เลยตัดสินใจเปิดสตูดิโอใหม่ที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งนี่นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีมากที่สุดครั้งนึงของชีวิตผมเลย เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราเจอกับสถานการณ์โควิด ผมไม่สามารถเดินทางได้ ก็โชคดีที่มีน้องๆ Tropsters ที่ Shanghai คอยดูแลควบคุมผลงานให้มีคุณภาพ ลูกค้าก็ไว้ใจเเละยังให้โอกาสให้เราทำงานสำคัญๆเสมอมา ทำให้เราผ่านช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาได้ นอกจากนี้การมีทั้ง Bangkok studio และก็ Shanghai studio ก็ช่วยทำให้งานของเรามีคุณภาพมากขึ้นมากโดยเฉพาะงานในประเทศจีนในช่วง 2-3 ปีหลัง ซึ่งก็เป็นกำลังสำคัญที่จะผลักเราไปสู่อนาคต 5 ปีที่จะกำลังจะมาถึง

art4d: ดูเหมือนงานของ TROP หลายชิ้นได้รับความสนใจในวงการ landscape ระดับโลกหลายโครงการ อยากให้ยกตัวอย่างงานที่คุณภาคภูมิใจ พร้อมเหตุผลประกอบมาสัก 2-3 โครงการ

AK: งานแรกที่ทำให้งานเราออกไปสู่สายตาชาวต่างชาติคือ Hilton Pattaya ก็เริ่มทำให้คนเห็นว่ามีเราอยู่ตรงนี้อยู่อีกคนนะ หลังจากนั้นก็มีงานสวนที่พักอาศัย Quattro by Sansiri ที่ทำให้เราได้รางวัล ASLA (American Society of Landscape Architects) award – ในปี 2012 ซึ่งตอนนั้นเป็นงานในประเทศไทยงานเเรกที่เคยได้รับรางวัลนี้และเป็นงานที่สองของ South East Asia งานที่ได้รับรางวัลนี้ต่อจากงานแลนด์สเคปของ Shangi Airport ที่สิงคโปร์ ก็เลยทำให้วงการออกแบบในเอเชียเริ่มสนใจงานของเรา

Hilton Pattaya

Quattro

Quattro

อีกงานที่ค่อนข้างประทับใจก็คืองาน SUNAC’s Grand Milestone ที่ซีอาน งานนี้มันสนุกที่ จริงๆ แล้ว scope ของเราคืองานออกแบบสวน clubhouse ของโครงการขนาดใหญ่ซึ่งเป็นงาน private แต่เนื่องจากที่ตั้งโครงการมันตั้งอยู่บนเนินที่สูงกว่าถนนไฮเวย์ด้านหน้าอยู่กว่า 10 เมตร ทางลูกค้าเองก็กังวัลว่าลงทุนสร้าง clubhouse ใหญ่โตแต่คนผ่านไปผ่านมาจะมองไม่เห็น ก็เลยอยากให้เราออกแบบ sculpture ยักษ์ที่หน้าทางเข้าด้วย ตัวผมเองไม่อยากทำแบบนั้นให้คนมองเฉยๆ อยากทำอะไรที่มีประโยชน์กับผู้คนรอบข้างโครงการด้วยมากกว่า พอไปดูไซท์ก็เห็นว่ามันมีสะพานลอยสร้างเสร็จเเล้วอยู่หน้าโครงการ เเต่ถูกปิดไว้ไม่ให้คนข้าม เพราะว่าบันไดมันต้องเชื่อมลงทางเท้าด้านล่างที่อยู่ต่ำลงไปสิบเมตร มันก็เลยค่อนข้างอันตราย ทางการเลยปิดไว้ไม่ให้ข้าม เราก็เลยคิดว่าไหนๆลูกค้าก็อยากได้ sculpture ยักษ์ แทนที่จะเอารูปปั้นใหญ่ๆมาตั้ง ถ้าเราเปลี่ยนบันไดสะพานลอยให้เป็นงาน sculpture กำจัดขั้นบันไดไม่ให้เหลือสักขั้นเเล้วเปลี่ยนเป็นทางลาดยาวๆสองร้อยกว่าเมตรให้คนพิการ คนแก่ และเด็กๆ เดินง่ายๆ นอกจากจะสวยแล้วก็มีประโยชน์ เชื่อมผู้คนสองฟากไฮเวย์เข้าด้วยกัน มี meeting place แห่งใหม่ของชุมชุน โชคดีที่ลูกค้าเห็นด้วยก็เลยได้สร้างออกมาตามที่เราจินตนาการไว้ ซึ่งงานนี้ก็ทำให้ เราได้รับรางวัล 2021 Architizer A+ Awards, Jury Winner ในหัวข้อ Urban and Masterplan

Grand Milestone

Grand Milestone

Grand Milestone

เมื่อปลายปีที่เเล้ว ส่วนงานล่าสุดที่ผมค่อนข้างชอบมากคืองาน An Villa ของ Vanke ที่เมือง Shaoxing ประเทศจีน เมืองนี้เป็นเมืองที่ฝนตกเยอะ ประชาชนใช้ชีวิตอยู่กับน้ำมาช้านาน มีเมืองโบราณที่เเสดงความสัมพันธ์ของผู้คนกับฝนและแม่น้ำลำคลอง พอเราได้รับ scope ในการออกแบบมา เราก็อยากทำงานที่มันสื่อถึง Shaoxing อยากให้มี sense of place ของเมือง กลิ่นอายวิถีชีวิตดั้งเดิม เป็น memento ให้นึกถึงวัยเด็กของผู้อยู่อาศัย area ที่เราต้องทำมันเป็น sunken space ที่กดลงไปให้แสงเข้าไปที่ห้องรับรองที่ชั้นใต้ดิน มีลักษณะเป็นหลุมขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เราไม่อยากให้ space ด้านล่างมันดูเป็นกล่อง มีกำแพงกันดินขนาดยักษ์ที่ปลายสายตา เราอยากสร้าง space ที่มันไหลขึ้นต่อเนื่องมาที่สวนและอาคารด้านบนด้วย นอกจากนี้ก็คิดว่าเราจะทำยังไงกับสภาพภูมิอากาศที่ฝนตกบ่อยๆ ฟ้าทึมๆ ก็เลยคิดถึงภาพหลังคาของเมืองโบราณเขานั่นละที่มันมี slope ที่โค้งสวยงาม วัสดุท้องถิ่นทำจากโรงงานในเมือง แถมยังดีลกับฝนที่นี่ได้มาหลายพันปีแล้วอีกต่างหาก ก็เลยเอาหลังคาของชาว Shaoxing มาเปลี่ยนเป็น Roof and Rain Court ของเรา

An Villa Shaoxing

An Villa Shaoxing

An Villa Shaoxing

art4d: วงการ landscape architecture ของโลกกำลังให้ความสนใจกับเรื่องอะไรเป็นพิเศษ? 

AK:  ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรื่องสภาพแวดล้อมน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ชาวแลนด์สเคป (และชาวโลก) สนใจและให้ความสำคัญมากที่สุด ซึ่งดูจากปัญหาต่างๆ ของโลกนี้เเล้ว เรื่องโลกร้อนน่าจะเป็นสิ่งที่น่ากังวลที่สุด งานของชาวแลนด์สเคปเองก็มีความสัมพันธ์กับการปรับปรุงสภาพเเวดล้อมโดยตรง นอกจากเรื่องความสวยงามแล้ว ความเข้าใจในธรรมชาติก็จะช่วยให้เราสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ดีขึ้น ให้โลกเราน่าอยู่ขึ้น ที่ผ่านมาสถานการณ์โควิดเองก็เปลี่ยนวิถีชีวิตชาวโลกไปมากเหมือนกัน พื้นที่ outdoor ที่อากาศถ่ายเทได้ดีมีผลต่อการควบคุมดูแลป้องกันโรค ก็คิดว่าน่าจะมีแนวคิดอีกมากมายเพิ่มขึ้นมาเกี่ยวกับสองเรื่องนี้

art4d: คุณสมบัติของ landscape architect มืออาชีพควรจะมีอะไรบ้าง ?

AK: น่าจะมีมากมายหลายข้อ ตัวผมเองก็ไม่น่าจะมีครบทุกข้อ ดังนั้นเอาง่ายๆ ว่า มืออาชีพทุกอาชีพก็น่าจะมีคุณสมบัติคล้ายๆ กันก็คือ มีความรู้ มี skills มีความรักในงาน พร้อมที่จะทุ่มเทศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมมาช่วยให้ตัวเองเก่งขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น มีความรับผิดชอบ และที่สำคัญที่สุดของมืออาชีพคือตรงต่อเวลา หลายคนถามว่าต้องมี passion ด้วยมั้ย หนึ่งใน idol ของผมคือเชฟ Thomas Keller เจ้าของร้านชื่อดัง French Laundry กล่าวไว้ว่า เกือบทุกคนที่ส่งใบสมัครมาหาเขา จะเขียนว่าตัวเองมี passion แบบนั้นแบบนี้ แต่ตัวเขาเองไม่ได้สนใจ passion เลย เขาบอกว่า passion มันมาเเล้วก็หมดไป แต่ละปี ทุกฤดูที่เชฟได้รับ ingredients ใหม่ๆของเเต่ละฤดู ทุกคนก็จะตื่นเต้นเเละมี passion ทั้งนั้นละ เเต่หลังจากนั้นสักสามอาทิตย์สิ การที่เชฟต้องปรุงเจ้า ingredients ที่ว่าทุกวันๆ วันละหลายร้อยจาน พอเบื่อเข้า passion มันก็มอดได้ เชฟ Keller บอกต่อว่า สำหรับเขา passion ไม่สำคัญเท่า desire เจ้า desire หรือความปรารถนาอย่างเเรงกล้าที่จะทำอะไรให้สำเร็จ (ไม่ว่าจะเบื่อหรือไม่มีไฟเเล้วก็ตาม) นี่ละ ที่จะทำให้คนเรามีพลังผลักดันตัวเองให้มุ่งมั่น ทำงานให้ดีขึ้นได้อีก  

art4d: ก้าวต่อไปของ TROP : terrain + open space ? 

AK: หลังจาก 15 ปีที่ผ่านมา ก็เหมือนทำให้เราได้ขึ้นมายืนอยู่บนเนินบ้าง เริ่มเห็นหนทางข้างหน้าไกลกว่าเดิมหน่อย เห็นภูเขาที่ขนาดใหญ่กว่าเนินที่เราอยู่มากมาย ยังมีเส้นทางให้เราค้นหาต่ออีกมาก บางเส้นทางอาจเปิดโอกาสให้เราไปได้ไกลกว่าเดิม บางเส้นทางอาจพาเราตกหลุมได้ ผมคิดว่าถ้าเราไม่รีบร้อนเกินไปนัก ประสบการณ์ที่ผ่านมามันก็น่าจะทำให้เรามองเห็นทางเดินชัดขึ้น ผมเองยังไม่รู้ว่า 5 ปีหลังจากนี้ จะพาเราไปอยู่ที่จุดไหน เเต่ก็คิดว่าเราจะพยายามปูทางเดินของเราไปทีละก้าวอย่างดีที่สุด

Grand Milestone

trop.land

facebook.com/TROP.terrains.openspace

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *