Category: ART

COLLECTING IN OTHER TIMES

 

TEXT: PAPHOP KERDSUP
PHOTO: SOOPAKORN SRISAKUL

(For English, press here)

สัปดาห์สุดท้ายแล้วของนิทรรศการ In Search of Other Times: Reminiscence of Things Collected นิทรรศการแรกของพื้นที่ศิลปะแห่งใหม่ในย่านจุฬาฯ-สามย่าน JWD Art Space ที่หลายๆ คนคงจะคุ้นเคยกับภาพของโครงกระดูกไดโนเสาร์ ‘สยามโมซอรัส สุธีธรนี’ ที่ถูกวางตั้งไว้คู่กับผลงาน Gogi-chan Sitting on Eternal Waste (2017) ของยุรี เกนสาคู ซึ่งเป็นเพียงบางส่วนของผลงานกว่า 70 ชิ้น ที่ถูกเลือกมาจากคอลเล็กชั่นของ 22 นักสะสมไทย สำหรับนิทรรศการนี้โดยเฉพาะ

ด้วยเพราะอีกพาร์ทหนึ่งของ JWD Art Space นอกเหนือจากการเป็นแกลเลอรี่สำหรับจัดแสดงงานศิลปะ คือการให้บริการด้านการดูแลและจัดเก็บงานศิลปะแบบครบวงจร ซึ่งครอบคลุมไปถึงการขนส่ง การประกันภัย การซ่อมแซม และให้คำปรึกษา นิทรรศการ In Search of Other Times ซึ่งได้ กิตติมา จารีประสิทธิ์ มารับหน้าที่เป็นคิวเรเตอร์ในครั้งนี้ ในด้านหนึ่งจึงดูเหมือนเกิดขึ้นเพื่อถูกใช้โชว์ศักยภาพในการให้บริการการขนส่งและจัดเก็บของ JWD Art Space ไปกลายๆ แต่แน่นอนว่านี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานหนึ่งที่เราสังเกตได้จากการมาอยู่รวมกันของผลงานศิลปะจำนวนมากภายในพื้นที่ขนาด 365 ตารางเมตรนี้เท่านั้น เพราะในแง่การนำเสนอเนื้อหาซึ่งเป็นความตั้งใจหลัก นิทรรศการก็ยังคงทำหน้าที่ของมันออกมาได้อย่างน่าสนใจ

แม้เนื้อหาหลักของ In Search of Other Times จะวนเวียนอยู่กับคำว่า “แสวงหา” และ “ค้นพบ” ซึ่งเป็นกริยาตั้งต้นที่มักนำมาสู่เหตุผลในการ “สะสม” ของเหล่านักสะสมอยู่เสมอ — เพราะออกแสวงหา แล้วค้นพบ จึงอยากเก็บสะสม — ทว่าอีกส่วนหนึ่งที่เรามองว่าน่าติดตามสำหรับนิทรรศการนี้คือรูปแบบการจัดแสดง ที่หยิบเอาการวางเรียงกันของวัตถุในลักษณะที่คล้ายกับที่พบได้ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติมาใช้ ซึ่งด้วยวิธีการนี้เอง In Search of Other Times สามารถช่วยให้เราทำความเข้าใจในความหลากหลายของภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสังคมที่แปรเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราไม่มากก็น้อย เหนือสิ่งอื่นใด วิธีการจัดแสดงนี้ยังฉายให้เราเห็นถึงภาพรวมของภูมิทัศน์การสะสมงานศิลปะในบ้านเรา ที่ประกอบขึ้นจากความสนใจที่หลากหลายอีกด้วย

ความพยายามผูกโยงเรื่องราวให้กับผลงานสะสมชิ้นต่างๆ ที่ถูกคัดเลือกมาจัดแสดงใน In Search of Other Times ของคิวเรเตอร์ ไม่ว่าจะด้วยการแสดงให้เห็นความเปรียบต่าง (contrast) ระหว่างช่วงเวลา หรือความย้อนแย้ง (contradiction) ซึ่งเกิดขึ้นจากการปะทะกันของธรรมชาติกับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นวิธีการที่ช่วยสร้างบทสนทนาระหว่างแต่ละชิ้นงานในอีกเส้นทางใหม่ที่คดเคี้ยวไปจากที่มันเคยมีอยู่เดิมได้ดี ถึงอย่างนั้น การที่นิทรรศการนี้ไม่มีป้ายคำอธิบายให้กับแต่ละชิ้นงาน ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เราอยากตำหนิ ก็ทำให้มันค่อนข้างจะเป็นไปได้ยากสำหรับคนทั่วไปพอสมควรที่จะสามารถทำความเข้าใจความเชื่อมโยงของความหมายเบื้องหลังเรื่องเล่าเหล่านี้ได้ หากไม่มีพื้นฐานความรู้ในผลงานแต่ละชิ้นมากพอ และถึงแม้จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำอธิบายอยู่ในพื้นที่ แต่มันก็คงจะสนุกไม่เท่ากับการที่ผู้ชมจะได้สร้างบทสนทนาให้กับผลงานศิลปะสะสมแต่ละชิ้นที่เห็นอยู่ตรงหน้ากันอย่างอิสระในแบบของพวกเขาเอง

หากยังไม่แน่ใจว่านิทรรศการนี้จะพาเราไปพบเจอกับ “ช่วงเวลาที่แตกต่างออกไป” ในรูปแบบใด สามารถไปชม In Search of Other Times: Reminiscence of Things Collected กันได้ที่ JWD Art Space จนถึงวันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2020 นี้ ซึ่งในวันสุดท้ายนี้ยังจะมีกิจกรรม Curator’s Tour อีก 2 รอบ (14.00 น. และ 17.00 น.) โดย กิตติมา จารีประสิทธิ์ ซึ่งเธอจะพาเราไปสำรวจและร่วมทำความเข้าใจความหมายเบื้องหลังผลงานและนิทรรศการในครั้งนี้อีกด้วย รายละเอียดเพิ่มเติมติดตามได้ทาง fb.com/JWDArtSpace

jwd-artspace.com

 

UNFOLDING KAFKA FESTIVAL 2019

HELD BIANNUALLY, UNFOLDING KAFKA FESTIVAL IS AN ART FESTIVAL THAT HAS CONTEMPORARY DANCE ARTIST JITTI CHOMPEE AS THE PRINCIPAL CURATOR. THE SECOND EDITION OF THE FESTIVAL WILL TAKE PLACE BETWEEN 26TH OCTOBER AND 15TH DECEMBER 2019 UNDER THE THEME KAFKA ZOO WITH CHIANG MAI AND BANGKOK BEING THE DESIGNATED MAIN VENUES Read More

NON-BRAND (非品牌)

AS A PART OF ‘ARTISTIC LICENSE: SIX TAKES ON THE GUGGENHEIM COLLECTION,’ THE FIRST ARTIST-CURATED EXHIBITION AT THE SOLOMON R. GUGGENHEIM MUSEUM, ‘NON-BRAND (非品牌)’ CURATED BY CHINESE ARTIST CAI GUO-QIANG PROVIDES MUSEUMGOERS A CHANCE TO PERCEIVE THE ARTS WITHOUT ANY DISTRACTION FROM WORDS

Read More