READY? GO!

IN 1998, ART4D GOT A CHANCE TO VISIT MAIN STADIUM AND AQUATIC CENTRE AT THAMMASAT RANGSIT TO MAKE SURE THAT THEY WILL BE READY IN TIME FOR 1998 ASIAN GAMES

ในปี 2541 art4d ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม Main Stadium และ Aquatic Centre ศูนย์กีฬาธรรมศาสตร์ รังสิต เพื่อให้แน่ใจว่าสถานที่จะพร้อมสำหรับการใช้งานในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ

(For English, please scroll down)

วันที่ art4d ไปยืนอยู่หน้าอาคาร Main Stadium และ Aquatic Centre ของศูนย์กีฬาเอเชียนเกมส์ที่ศูนย์ธรรมศาสตร์รังสิตนั้น ดูเหมือนท้องฟ้าจะเป็นใจกับการเยี่ยมชม แต่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยต่อการถ่ายรูปสักเท่าไหร่ ด้วยว่าแดดไม่ร้อนนักแต่แสงก็ไม่ค่อยมีเหมือนกัน

เจ้าหน้าที่ของทาง TRKT ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาผู้รับผิดชอบควบคุมงานก่อสร้างเกือบทั้งหมดในศูนย์กีฬาที่ธรรมศาสตร์รังสิต ได้อำนวยความสะดวกเป็นอย่างดีและพาตะลุยผ่านหน่วยงานก่อสร้างหลายหน่วยงาน มีทั้งที่เสร็จแล้วและจวนจะเสร็จ จนเข้าไปถึงใจกลางสำคัญของศูนย์กีฬาแห่งนี้ นั่นคืออาคาร Main Stadium และ Aquatic Centre ที่ art4d เคยนำผลการประกวดแบบในครั้งนั้นตีพิมพ์เผยแพร่ (ฉบับที่ 8) เมื่อหลายปีก่อน ชวนให้หยุดคิดได้ระยะหนึ่งว่าทำหนังสือนี้มานานแล้วเหมือนกัน ตั้งแต่งานออกแบบเริ่มต้นจนวันนี้ได้มายืนอยู่ตรงหน้าอาคารที่เคยเห็นเป็นรูปถ่ายจากหุ่นจำลอง เวลาสมัยนี้ช่างผ่านไปเร็วจริงๆ

art4d นัดกับสถาปนิกผู้รับผิดชอบในการออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างของทางบริษัท Christiani & Nielsen ซึ่ง เป็นบริษัทที่ทั้งรับออกแบบและรับผิดชอบการก่อสร้างอาคารหลักทั้ง 2 อาคารนี้ ไว้ที่บริเวณ Aquatic Centre เราจึงต้องออกแรงเดินจากที่จอดรถด้านหน้าผ่าน plaza ขนาดใหญ่เข้าไปที่ตัวอาคารสระว่ายน้ำ เมื่อลอดผ่านทางเดินใต้อัฒจันทร์เข้าไปก็จะเป็นส่วนของสนามแข่งขัน 2 สระ สระแรกเป็นสระ 100 เมตรสำหรับแข่งขัน อีกสระหนึ่งเป็นสระกระโดดสำหรับการแข่งขันกระโดดน้ำ ทั้ง 2 สระถูกปกคลุมไปด้วยโครงสร้างหลังคาโลหะที่บางเบาอย่างไม่น่าเชื่อ โครงถักโลหะ (truss) แต่ละตัวได้รับการออกแบบที่แตกต่างไปจากโครง truss ที่เคยเห็นโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธี bracing หรือรูปทรงที่โค้งมน แต่ที่น่าสนใจคือ member ของโครงสร้างแต่ละชั้นเล็กเพรียวอย่างไม่น่าเชื่อ

สถาปนิกทาง C & N อธิบายให้ฟังว่าโครงสร้างเหล็กที่เห็นนั้นมีขนาด section ของหน้าตัดเหล็กเล็กขนาดนี้ได้ เนื่องจากเหล็กทั้งหมดที่ใช้ในการก่อสร้างเฉพาะส่วนหลังคานั้น เป็นเหล็กรูปพรรณที่มีคุณภาพสูงนำเข้าจากประเทศอังกฤษ เพื่อให้ได้มาตรฐานงานที่ดี แต่นำมาขึ้นรูปในประเทศทั้งหมด สถาปนิกผู้ออกแบบคือ Phillip Cox Richardson Taylor & Partners จากประเทศออสเตรเลีย ที่ทาง C & N เป็นผู้คัดเลือกนั้น มีแนวความคิดหลักสำหรับอาคารทั้งในส่วน Main Stadium และ Aquatic Centre คือความโปร่งเบาของโครงสร้างหลังคาที่ไม่ต้องการให้โครงสร้างหลังคาปิดทึบและหนัก โครงเหล็กที่ใช้จึงต้องช่วยสามารถสะท้อนความคิดในจุดนี้ให้ได้ นอกจากโครงหลังคาที่โปร่งเบาแล้วตัวหลังคาโลหะที่ใช้ก็วางอยู่บน support ที่เรียบง่ายและหลังคาทั้งหมดตั้งอยู่บนเสาเหล็กที่เล็กเพรียวเพียงไม่กี่ต้น จนดูเหมือนโครงหลังคาทั้งหมดนั้นจะสามารถลอยอยู่เหนืออัฒจันทร์ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

การออกแบบผังของอาคารโดยทั่วไปก็เป็นไปตามมาตรฐานของสระว่ายน้ำแข่งขันชั้นดีทั่วไป เลยออกไปนอกบริเวณ อัฒจันทร์เพียงเล็กน้อยเป็นสระ 100 เมตร เพื่อใช้ในการฝึกซ้อมที่มีหลังคาคลุม ด้านล่างอาคารเป็นส่วนของห้องเครื่องและห้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายนักกีฬา ทางเข้าของผู้ชม นักกีฬา บุคคลสำคัญ และนักข่าว รวมทั้งครอบครัวนักกีฬา ดูเหมือนจะแยกจากกันอย่างเป็นสัดส่วนชัดเจน อัฒจันทร์ด้านหนึ่งเป็นที่นั่งของผู้ชม ในขณะที่ฝั่งตรงข้ามเป็นที่นั่งของโค้ช ผู้ติดตามนักกีฬา และนักข่าว ความจุที่นั่งรวม 5,000 คน

เดินลอดใต้อาคารสระว่ายน้ำผ่านบริเวณที่จอดรถกลับออกมาสู่ลานโล่งขนาดใหญ่อีกครั้ง แดดเริ่มร้อนขึ้นบ้างตามเวลา ที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ฉุกคิดว่าถ้าเดือนธันวาคมนี้อากาศไม่เย็นนักอย่างที่อยากให้เป็น บรรดาต้นไม้บางตาบริเวณลาน โล่งนี้จะช่วยกันโตเพื่อป้องกันไม่ให้บรรดาแขกเหรื่อที่มาชมกีฬาพากันหัวแดงไปตามๆ กันได้ทันเวลาหรือไม่ แต่แล้ว ความคิดดังกล่าวก็หายวับไปทันทีเมื่อเจอกับพญานาค 2 ตัวที่อยู่ตรงหน้า ความตกใจเรียกสติกลับมาจากการชื่นชม สถาปัตยกรรมที่ดูแล้วฝรั่งดี เจอเข้ากับความเป็นไทยที่ไม่ค่อยประยุกต์เท่าไหร่ ประกอบกับ scale ขนาดมหึมาของ พญานาคทั้ง 2 ตัวนี้เอง ทำให้สมาธิกลับมาที่ขาทั้ง 2 อีกครั้ง แล้วก็เดินต่อไปยังอาคาร Main Stadium ที่อยู่ตรงหน้า

อาคาร Main Stadium เป็นอาคารที่ควรจะใช้เวลาหยุดพิจารณาจากระยะไกลสักระยะหนึ่ง เพราะเมื่อเดินเข้าไปใกล้มากจะพลาดโอกาสที่จะเข้าใจ diagram ของ form อาคารอย่างชัดเจน โครงสร้างโลหะที่ดึงหลังคาคลุมอัฒจันทร์ไว้ล้อมดึงลงมาใต้ที่นั่งอัฒจันทร์ ช่วยทำหน้าที่เป็นเหมือนผิว (skin) ภายนอกที่กำหนด form ของสนามกีฬาไว้ ในขณะเดียวกันก็ปกคลุมส่วนใต้ของอัฒจันทร์ที่อาจจะไม่ค่อยน่าสนใจนักให้มีความสำคัญน้อยลงไป ประกอบกับระนาบของโครงสร้างผ้าใบที่คลุมทางเดินอยู่ด้านล่าง ที่ผู้ออกแบบตั้งใจให้สะท้อนความหมายของนกที่บินอยู่นั้น ก็ช่วยทำให้รอยต่อของอาคารกับพื้นดินดูบางเบาได้อีกเล็กน้อย เมื่อประกอบกับความเบาบางของโลหะที่ล้อมรอบเป็นผิวของอาคารด้วยแล้ว จึงอาจจะยอมรับได้ว่าความเบาที่สถาปนิกตั้งใจจะสร้างให้เกิดขึ้นในอาคารทั้ง 2 นั้น สามารถบรรลุความสำเร็จและได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจในอาคาร scale ขนาดมหึมาอย่างนี้มากทีเดียว อาจจะน่าสนใจกว่าการเน้นความใหญ่หนักของอาคาร ด้วยโครงสร้างคอนกรีตที่ทำให้ทุกอย่างดูหนักแน่นไปหมดด้วยซ้ำ น่าเสียดายตรงที่ว่าโอกาสที่คนไทยจะได้เห็นโครงสร้างเหล็กสวยๆ แบบนี้คงไม่มีอีกแล้ว เพราะมีคนมากระซิบเมื่อสักครู่ว่า พวกโรงงานผลิตเหล็กในเมืองไทยวิ่งเต้นให้ออกกฎหมายห้ามนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ ต่อไปนี้สถาปนิกและวิศวกรก็จะได้ใช้เหล็กคุณภาพต่ำในประเทศเท่านั้น ที่ความลึกคานเหล็กหนาเท่าคานคอนกรีตอย่างไรอย่างนั้น

การเดินทางของ art4d ในวันนั้นมาจบเอาภายในอาคาร Main Stadium นี่เอง ที่รายล้อมไปด้วยที่นั่งกว่า 20,000 ที่นั่ง สนามและลู่วิ่งราคาหลายสิบล้านบาท แม้ว่างานก่อสร้างจะเป็นระบบ prefabrication เป็นส่วนใหญ่แม้กระทั่งตัวเก้าอี้นั่งชม แต่คุณภาพของงานและวัสดุก็ได้แค่ปานกลางเท่านั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นที่เวลา แต่ส่วนใหญ่ก็ตกอยู่กับ งบประมาณแบบไทยๆ ที่มักจะให้น้อยแต่เอามาก ใครทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทํา ผลกรรมก็ตกกับประชาชนเสมอมา แต่ก็ยังดีที่งานออกแบบตัวอาคารนั้นแฝงเอาพลังความคิดแทรกไว้ในอาคารค่อนข้างมาก จนพอจะกลบเกลื่อนรายละเอียดของวัสดุเหล่านั้นไปได้

ก่อนจะกลับสถาปนิกของทาง C & N ก็อดที่จะเป็นห่วงไม่ได้ว่า หลังจากกีฬาเอเชียนเกมส์นี้ผ่านไปแล้ว อนาคตของ สนามทั้ง 2 นี้จะเป็นอย่างไร เพราะค่าใช้ จ่ายในการ operate สนามทั้ง 2 นั้น เดือนหนึ่งก็เป็นเงินหลายแสนบาทอยู่ ก็ เลยเกิดความคิดเฉียบพลันเข้ามาเป็นครั้งสุดท้ายในวันนั้นว่า อายุของสถาปัตยกรรมที่ดีนั้นบางครั้งก็อาจไม่ยืนยาวนัก การลงทุนในการก่อสร้างที่เหมาะสม แต่ไม่ได้ตระหนักในค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในการบำรุงรักษา อาจจะทำให้เงินลงทุนมหาศาลนั้นเหลือค่าไม่ถึงครึ่งก็ได้ ก็ได้แต่หวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้องคงคิดกันไว้ดีแล้ว อย่าวางแผนกันดีแบบผักชีโรยหน้าให้เพียงแค่พ้นมหกรรมกีฬาปลายปีนี้เพียงเท่านั้นก็น่าชื่นชมแล้ว

art4d was lucky enough to visit the Main Stadium and Aquatic Center of Thammasat Rangsit-the Asian Games Sport Center, thanks to the kindly folks of TRKT consultant, who are overseeing the project. They took us to see both the finished and unfinished parts. To start the tour, we arrived at the heart of this sports facility, the Main Stadium and Aquatic Centre, designed and built by Christiani & Neilsen, which art4d wrote about back in issue No. 8 many years ago.

We then walked past the car park to a giant plaza and the swimming pools. The first pool is to be used for the 100-meter swimming competitions. The other one is for diving. Both of them are covered by a steel roof that is an architectural marvel. Each truss has been designed with a kind of “brace” that makes it substantially different from normal trusses.

The architect from C & N explained that the trusses can be this small because all the steel is high quality. It was imported from England but bent into shape in Thailand. Playing a prominent role in the design are the architects from Phillip Cox Richardson Taylor & Partners from Australia. The main idea for both buildings was to have a “light” structure for the roof, which was built with supports on metal columns.

The design of the building itself, meanwhile, is standard. Not far from the grand- stand, there is a 100-meter swimming pool for practice. Down below is the boiler room and the dressing rooms for the athletes. There are also separate entrances for the audiences, the athletes and their families, VIPs, and the reporters. The grandstand on one side is for the sports fans, while the one on the opposite side is for the trainers and reporters. Altogether, there is seating space for 5,000 people.

Out in the car park, there are two pieces of genuine Thai art-giant Nagas. After gawking with something approaching awe at the King of the Serpents, we moved over to the Main Stadium.

You really need to see the stadium from a distance in order to understand and fully appreciate its form. The steel structure, which forms the roof, plays a role almost like that of the skin covering our bones. Furthermore, the architect intended to use the plane of the canvas structure that covers the path to look like a bird in flight. The lightness of the metal surrounding the building’s skeleton is another factor that helps the architects to realize their goal. The concrete structure and the sheer scale of this project also contribute to its overall sense of grandeur. Unfortunately, we may not be seeing anymore buildings like this in the future because steel producers in Thailand are lobbying the government to limit steel imports.

We finished up our trip inside the Main Stadium, which has 20,000 seats. The grounds of the stadium look like their well worth the millions of baht that went into them. However, because of time and budget restraints the inside of the stadium was prefabricated.

Before we left, the architects of C&N told us that they are worried about the future of these two buildings, because the overhead is many millions of baht per month. So will we have a sporting chance of attending athletic events there in the future?

Originally published in art4d#43 (October, 1998)

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *