ผลงานใหม่ล่าสุดจาก Pezo von Ellrichshausen ที่ทดลองกับภาษาอันกำกวม การเล่นกับประสบการณ์การรับรู้ของคน และการจับคู่ระหว่างอาคารที่คงทนกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
TEXT: BHUMIBHAT PROMBOOT
PHOTO: RORY GARDINER
(For English, press here)
Pezo von Ellrichshausen สตูดิโอออกแบบงานศิลปะและงานสถาปัตยกรรม ก่อตั้งเมื่อปี 2002 ที่เมือง Cencepcion เมืองทางตอนใต้ของประเทศ ชิลี โดย Mauricio Pezo และ Sofia von Ellrichshausen มีผลงานครอบคลุมทั้งในด้านสถาปัตยกรรมและผลงานทางศิลปะ โดยทั้งคู่ได้รับเลือกให้เป็นภัณฑารักษ์ในการกำกับดูแล Chilean Pavilion ในงาน Venice Bienale เมื่อปี 2008 และมีผลงานทางศิลปะควบคู่กับงานทางสถาปัตยกรรมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน งานของพวกเขามักจะใช้รูปทรงเรขาคณิตพื้นฐานที่สมบูรณ์เป็นองค์ประกอบหลัก ผ่านการจัดวางรูปแบบ และพิกัดที่แตกต่างกันออกไป บนข้อจำกัดของที่ตั้ง บนกระบวนการทดลองทั้งจากการเขียนแบบร่างเชิงความคิด และการทำงานในลักษณะงานศิลปะจัดวาง ซึ่งนำไปสู่ผลงานที่มีความกำกวมระหว่างงานสถาปัตยกรรมและประติมากรรมอยู่เสมอ
โครงการ Less Pavilion เป็นผลงานลำดับล่าสุดของสถาปนิกดูโอคู่นี้ ตั้งอยู่ที่ ถนน Dairy กรุง Canberra ซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการปกครองของประเทศ Australia ถูกสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ให้เป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านอยู่อาศัย โดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในท้องถิ่นที่ชื่อ Molonglo เป็นผู้ริเริ่ม ตัวโครงการประกอบด้วยส่วนโครงสร้างเสาและทางเดินคอนกรีตที่ไม่อาจบอกได้ถึงประโยชน์ใช้สอยที่ชัดเจน และส่วนแลนด์สเคปที่ประกอบด้วยพืชพื้นถิ่นกว่า 6,000 ต้น และกว่า 50 สายพันธุ์ ที่เป็นตัวแทนของภูมิทัศน์ดั้งเดิมของ Canberra ที่มีองค์ประกอบทางธรรมชาติเหล่านี้เป็นองค์ประกอบหลัก ก่อนที่ออสเตรเลียจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ
ในส่วนของโครงสร้างคอนกรีต สถาปนิกเลือกใช้ รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส และ รูปทรงวงกลม เป็นรูปทรงเรขาคณิตพื้นฐาน พื้นคอนกรีตสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ถูกแบ่งออกเป็นกริดตาราง 6×6 โดยมีเสาวางอยู่ที่จุดตัดของกริดตารางนั้น เสาคอนกรีตรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ขนาดหน้าตัด กว้าง x ยาว ที่เท่ากัน ส่งผลให้ สัดส่วนของรูปทรงต่างๆในระนาบแปลน อยู่ในอัตราส่วน 1:1 ในทุกมิติ ทั้งขนาดของพื้นคอนกรีต แนวตารางกริดเสา และขนาดหน้าตัดเสาคอนกรีต แต่สถาปนิกเลือกใช้อัตราส่วน 2:3 กับสัดส่วนในรูปด้านอาคารที่แสดงมิติทางความสูงเพิ่มเข้ามา ทำให้เมื่อมองตัวอาคารจากด้านข้างนั้น จะเห็นกรอบรูปด้านอาคารที่เป็นรูปแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีสัดส่วนความสูงที่มากกว่าสัดส่วนด้านกว้างของอาคาร
อีกหนึ่งรูปทรงเรขาคณิตคือรูปทรงวงกลมนั้นทำหน้าที่เป็นทางลาด เชื่อมต่อพื้นชั้นบนกับพื้นชั้นล่างของอาคารเข้าไว้ด้วยกัน โดยพิกัดตำแหน่งการวางของรูปทรงวงกลมกับตัวอาคารสี่เหลี่ยมจัตุรัสนั้น ตำแหน่งจุดขึ้นและจุดลงทางลาด จะเป็นตำแหน่งที่ผู้ใช้งานจะเดินครบรอบวงกลมพอดี โดยจุดครบรอบตรงนี้จะตรงกับช่องกริดเสาช่องสุดท้ายของอาคารด้านที่ติดถนน Dairy นอกจากนี้ ขอบด้านนอกของทางลาดวงกลมนั้นยังขนานเป็นแนวระนาบเดียวกันกับขอบด้านนอกของตัวอาคารจัตุรัสด้วยเช่นกัน ทำให้รัศมีของวงกลมนั้นมีความยาวเท่ากับความยาวของทุกด้านของรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสนั่นเอง นอกจากนี้ คานคอนกรีตที่รับพื้นชั้นสอง ยังมีหน้าตัดเท่ากันกับหน้าตัดเสาทุกประการ
รูปทรงเรขาคณิตดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่าเป็นความพยายามที่จะควบคุมความเป็นไปได้หรือน้ำหนักของการกำหนดตัวตนของผลงานออกแบบให้น้อยที่สุด เพื่อปล่อยให้บริบทรอบข้างเข้ามาจัดการ ยึดครอง หรือสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ได้ขยายขอบเขตต่างออกไปจากการคาดการณ์ของทีมผู้ออกแบบในขั้นต้นได้ โดยการสร้างมุมมองผ่านสภาพแวดล้อมโดยรอบ ให้เมื่อมองมายังตัวโครงการแล้ว จะเห็นความกำกวมและไม่ชัดเจนของพื้นที่โครงการ เช่น ตำแหน่งทางเข้าอาคารหรือลักษณะการใช้งาน เป็นผลมาจากการที่ทีมผู้ออกแบบได้เลือกใช้รูปทรงวงกลมและรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่มีรูปทรงที่สมมาตร เชื่อมต่อการเข้าถึงตัวโครงการกับพื้นที่ข้างเคียง ทำให้เส้นสายที่เกิดขึ้นภายในโครงการ มีความต่อเนื่องกันไปไม่รู้จบ ทำให้ผู้ใช้งานเมื่อมองเข้ามาที่โครงการด้วยสายตา จะไม่สามารถมองเห็นตำแหน่งที่อ้างอิงถึงทางเข้า ทางออก หรือทางขึ้น ทางลง ตัวอาคารได้อย่างชัดเจน
งานหลายๆ ชิ้นของ Pezo von Ellrichshausen มักจะเลือกใช้วัสดุคอนกรีตเป็นหลัก โดยมีการจัดการรูปแบบ สัดส่วนและรูปทรงของคอนกรีตที่มีความแตกต่างกันออกไป ในโครงการนี้สถาปนิกยังคงเลือกใช้วัสดุคอนกรีตในทุกส่วน ในรูปทรงที่ต่างกันออกไป เพื่อสร้างสภาวะของการรับรู้ผ่านตัวพื้นที่โครงการ ที่แสดงสภาวะของการหยุดนิ่ง คงอยู่ถาวรของรูปทรงคอนกรีต ไปพร้อมๆ กับการสร้างสภาวะที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงผ่านระบบวิศวกรรมอาคาร โดยสถาปนิกได้ติดตั้งระบบท่อน้ำให้ไหลลงสู่ผิวของเสาคอนกรีต เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับความเคลื่อนไหวของสภาพแวดล้อมโดยรอบ ผ่านเสียงลมที่พัดผ่านช่องเสาที่สูงชะลูดและเสียงน้ำที่ไหลกระทบกับพื้นคอนกรีตที่หนักแน่น นำไปสู่การมีอยู่พร้อมๆ กันของการคงอยู่ของวัตถุที่ถาวร และการเปลี่ยนแปลงของสภาวะในพื้นที่โครงการในเวลาเดียวกัน