All posts by Ketsiree Wongwan

COLLECTING IN OTHER TIMES

 

TEXT: PAPHOP KERDSUP
PHOTO: SOOPAKORN SRISAKUL

(For English, press here)

สัปดาห์สุดท้ายแล้วของนิทรรศการ In Search of Other Times: Reminiscence of Things Collected นิทรรศการแรกของพื้นที่ศิลปะแห่งใหม่ในย่านจุฬาฯ-สามย่าน JWD Art Space ที่หลายๆ คนคงจะคุ้นเคยกับภาพของโครงกระดูกไดโนเสาร์ ‘สยามโมซอรัส สุธีธรนี’ ที่ถูกวางตั้งไว้คู่กับผลงาน Gogi-chan Sitting on Eternal Waste (2017) ของยุรี เกนสาคู ซึ่งเป็นเพียงบางส่วนของผลงานกว่า 70 ชิ้น ที่ถูกเลือกมาจากคอลเล็กชั่นของ 22 นักสะสมไทย สำหรับนิทรรศการนี้โดยเฉพาะ

ด้วยเพราะอีกพาร์ทหนึ่งของ JWD Art Space นอกเหนือจากการเป็นแกลเลอรี่สำหรับจัดแสดงงานศิลปะ คือการให้บริการด้านการดูแลและจัดเก็บงานศิลปะแบบครบวงจร ซึ่งครอบคลุมไปถึงการขนส่ง การประกันภัย การซ่อมแซม และให้คำปรึกษา นิทรรศการ In Search of Other Times ซึ่งได้ กิตติมา จารีประสิทธิ์ มารับหน้าที่เป็นคิวเรเตอร์ในครั้งนี้ ในด้านหนึ่งจึงดูเหมือนเกิดขึ้นเพื่อถูกใช้โชว์ศักยภาพในการให้บริการการขนส่งและจัดเก็บของ JWD Art Space ไปกลายๆ แต่แน่นอนว่านี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานหนึ่งที่เราสังเกตได้จากการมาอยู่รวมกันของผลงานศิลปะจำนวนมากภายในพื้นที่ขนาด 365 ตารางเมตรนี้เท่านั้น เพราะในแง่การนำเสนอเนื้อหาซึ่งเป็นความตั้งใจหลัก นิทรรศการก็ยังคงทำหน้าที่ของมันออกมาได้อย่างน่าสนใจ

แม้เนื้อหาหลักของ In Search of Other Times จะวนเวียนอยู่กับคำว่า “แสวงหา” และ “ค้นพบ” ซึ่งเป็นกริยาตั้งต้นที่มักนำมาสู่เหตุผลในการ “สะสม” ของเหล่านักสะสมอยู่เสมอ — เพราะออกแสวงหา แล้วค้นพบ จึงอยากเก็บสะสม — ทว่าอีกส่วนหนึ่งที่เรามองว่าน่าติดตามสำหรับนิทรรศการนี้คือรูปแบบการจัดแสดง ที่หยิบเอาการวางเรียงกันของวัตถุในลักษณะที่คล้ายกับที่พบได้ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติมาใช้ ซึ่งด้วยวิธีการนี้เอง In Search of Other Times สามารถช่วยให้เราทำความเข้าใจในความหลากหลายของภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสังคมที่แปรเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราไม่มากก็น้อย เหนือสิ่งอื่นใด วิธีการจัดแสดงนี้ยังฉายให้เราเห็นถึงภาพรวมของภูมิทัศน์การสะสมงานศิลปะในบ้านเรา ที่ประกอบขึ้นจากความสนใจที่หลากหลายอีกด้วย

ความพยายามผูกโยงเรื่องราวให้กับผลงานสะสมชิ้นต่างๆ ที่ถูกคัดเลือกมาจัดแสดงใน In Search of Other Times ของคิวเรเตอร์ ไม่ว่าจะด้วยการแสดงให้เห็นความเปรียบต่าง (contrast) ระหว่างช่วงเวลา หรือความย้อนแย้ง (contradiction) ซึ่งเกิดขึ้นจากการปะทะกันของธรรมชาติกับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นวิธีการที่ช่วยสร้างบทสนทนาระหว่างแต่ละชิ้นงานในอีกเส้นทางใหม่ที่คดเคี้ยวไปจากที่มันเคยมีอยู่เดิมได้ดี ถึงอย่างนั้น การที่นิทรรศการนี้ไม่มีป้ายคำอธิบายให้กับแต่ละชิ้นงาน ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เราอยากตำหนิ ก็ทำให้มันค่อนข้างจะเป็นไปได้ยากสำหรับคนทั่วไปพอสมควรที่จะสามารถทำความเข้าใจความเชื่อมโยงของความหมายเบื้องหลังเรื่องเล่าเหล่านี้ได้ หากไม่มีพื้นฐานความรู้ในผลงานแต่ละชิ้นมากพอ และถึงแม้จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำอธิบายอยู่ในพื้นที่ แต่มันก็คงจะสนุกไม่เท่ากับการที่ผู้ชมจะได้สร้างบทสนทนาให้กับผลงานศิลปะสะสมแต่ละชิ้นที่เห็นอยู่ตรงหน้ากันอย่างอิสระในแบบของพวกเขาเอง

หากยังไม่แน่ใจว่านิทรรศการนี้จะพาเราไปพบเจอกับ “ช่วงเวลาที่แตกต่างออกไป” ในรูปแบบใด สามารถไปชม In Search of Other Times: Reminiscence of Things Collected กันได้ที่ JWD Art Space จนถึงวันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2020 นี้ ซึ่งในวันสุดท้ายนี้ยังจะมีกิจกรรม Curator’s Tour อีก 2 รอบ (14.00 น. และ 17.00 น.) โดย กิตติมา จารีประสิทธิ์ ซึ่งเธอจะพาเราไปสำรวจและร่วมทำความเข้าใจความหมายเบื้องหลังผลงานและนิทรรศการในครั้งนี้อีกด้วย รายละเอียดเพิ่มเติมติดตามได้ทาง fb.com/JWDArtSpace

jwd-artspace.com

 

ASA EXPERIMENTAL DESIGN COMPETITION 2020: THE EVERYDAY HERITAGE

ไขข้อข้องใจอะไรคือ Everyday Heritage : ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ ชวนสถาปนิก-ดีไซเนอร์ร่วมส่งไอเดียประกวดแบบสถาปัตยกรรมเชิงทดลอง ณ งานสถาปนิก’63 ในหัวข้อ The Everyday Heritage

จับเข่าคุยกับ ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ ศิลปินดีเด่นรางวัลศิลปาธร 2561 สาขาสถาปัตยกรรม และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสถาปนิก Department of ARCHITECTURE ถึงการประกวดแบบระดับชาติ ASA Experimental Design Competition 20 ในหัวข้อ ‘The Everyday Heritage’ ที่เธอเป็นโต้โผดูแล

หลายคนบอกว่าโจทย์ปีนี้กำกวมทีเดียว ในฐานะผู้ดูแลการประกวดคุณช่วยไขข้อข้องใจตรงนี้หน่อยได้ไหม

ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ: “Everyday Heritage มันเป็นสิ่งที่กำกวมถูกต้องแล้วค่ะ (หัวเราะ) ดังนั้นใครที่รู้สึกไม่มั่นใจ หรือตั้งคำถามว่ามันคืออะไรกันแน่ นั่นคือคุณมาถูกทางแล้ว เพราะโดยทั่วไปสิ่งที่เรามั่นใจแน่ว่ามันเป็น heritage ของชาติ เช่นวัด เช่นวัง หรือของที่ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์แล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยเป็นปัญหา ส่วนใหญ่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่ในโลกปัจจุบันเรายังมีของอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะมีคุณค่าในฐานะมรดกสถาปัตยกรรม แต่เป็นสิ่งที่พวกเราลืมมอง หรือมองแล้วก็ผ่านไป ทั้งที่มันก็อาจมีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ หรือทางจิตใจ หรือทางใดทางหนึ่งที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน นี่คือสิ่งที่การประกวดปีนี้ต้องการชวนคุณออกตามหา อยากให้มาช่วยกันมอง และช่วยกันคิดว่าเราสามารถจะตีความ สร้างคุณค่า หรือสร้างความหมายใหม่ให้กับ everyday heritage เหล่านี้อย่างไรผ่านการทำงานออกแบบสถาปัตยกรรม”

หมายความว่า Everyday Heritage ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่เก่าเป็นร้อยๆ ปีก็ได้รึเปล่า

ทวิตีย์: นี่ล่ะคือสิ่งที่การประกวดปีนี้อยากให้คุณตั้งคำถาม เป็นคำถามสำคัญเลยนะคะ อะไรที่ทำให้สถาปัตยกรรมหนึ่งๆ มีคุณค่าพอที่เราจะเรียกว่า everyday heritage หรือที่ทำให้มันควรค่าแก่การอนุรักษ์ หรือเก็บรักษาไว้ในทางใดทางหนึ่ง บางทีมันอาจจะเป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้เก่าเป็นร้อยปีก็ได้รึเปล่า แต่ถ้ามันมีองค์ประกอบบางอย่างที่ทำให้มันมีคุณค่าในความรู้สึกของคุณล่ะ นั่นคือสิ่งที่คุณต้องหาคำตอบมาให้กรรมการ โจทย์ปีนี้แม้จะเป็นเรื่อง heritage แต่เราไม่ได้ตีกรอบมันด้วยอายุนะคะ ถ้าสถาปัตยกรรมหนึ่งมีอายุ 30 ปี หรือ 40 ปี แต่คุณเห็นนัยสำคัญบางอย่างที่มันสื่อถึงพลวัติทางวัฒนธรรม ทางรสนิยม หรือทางเทคโนโลยีในยุคสมัยนั้นๆ  มันก็อาจจะมีคุณค่าพอที่จะเป็นมรดกก็ได้ อันนี้เราเชื่อว่าแต่ละคนจะมีมุมมองไม่เหมือนกัน”

“ของบางอย่างบางคนก็ให้คุณค่า บางคนก็ไม่ให้คุณค่า
ปัญหาเรื่องมรดกสถาปัตยกรรมมันมักจะอยู่ในพื้นที่ก้ำกึ่งแบบนี้”

ฟังดูท่าทางคณะกรรมการจะตัดสินยาก

ทวิตีย์: “ก็ท้าทายล่ะค่ะ (หัวเราะ) เพราะมันไม่มีเงื่อนไขเป็นข้อๆ ที่เราจะบอกว่านี่คือถูกหรือนี่คือผิด เราถึงได้เรียกมันว่า Experimental Design Competition ไงคะ เพราะมันคือการก้าวเข้าไปในโลกที่เรายังไม่รู้ กรรมการก็ยังไม่รู้ คนตั้งโจทย์ก็ยังไม่รู้ ไอเดียสำคัญอยู่ที่การตั้งคำถามที่ดี และจะไม่มีคำตอบไหนที่ถูกหรือผิด ทั้งหมดขึ้นอยู่กับคุณจะตีความโจทย์ที่คุณเลือกมาอย่างไร และจะใช้การออกแบบเข้าไปทำงานกับสถาปัตยกรรมนั้นให้มันมีพลังขึ้นมาได้แค่ไหน

“กรรมการไม่ได้ตามหาการบูรณะสถาปัตยกรรมเก่าคืนสู่สภาพเดิม (restoration) แต่เราตามหาการออกแบบที่จะเปลี่ยนแปลงมรดกสถาปัตยกรรมนั้นอย่างสร้างสรรค์มากกว่า (architectural intervention)”

ถ้าผลงานใดสามารถจะไขประตูความคิดหรือสร้างมุมมองใหม่ๆ ให้คณะกรรมการรู้สึกทึ่งได้ นั่นคือคำตอบที่ใช่ และเราเชื่อมั่นว่าด้วยความหลากหลายของคนที่เข้าประกวด เราน่าจะได้เห็นไอเดียที่เปิดกว้างมาก และจะได้เห็นโซลูชั่นแปลกใหม่ที่เราคาดไม่ถึงแน่นอน”

_____________

สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอเชิญสถาปนิก นักออกแบบ นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด ASA Experimental Design Competition 20 ในหัวข้อ “THE EVERYDAY HERITAGE” ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 285,000 บาท โดยสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2563  ข้อมูลเพิ่มเติมที่: https://www.asacompetition.com

PHOTO ESSAY : WATCH YOUR STEP!

TEXT & PHOTO: THINGSMATTER

(For English, press here)

ถนนในกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยของระเกะระกะที่เป็นผลพวงมาจากหลายๆ สิ่งที่ดูเหมือนจะไม่สัมพันธ์กันแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็น ลัทธิทุนนิยม ความสุกเอาเผากิน รสนิยมคน อีโก้ของนักกราฟิตี้ ความไม่ชอบมาพากลของการทำงานของภาครัฐ ความขี้เกียจของคน อารมณ์เบื่อหน่ายของวินมอเตอร์ไซต์ ไปจนถึงเส้นสายไฟและสายโทรศัพท์ที่ไร้ซึ่งการจัดการอย่างมีระบบ และอื่นๆ อีกมากมาย เราพบเจอสิ่งเหล่านี้ได้ทุกตารางเมตร แต่มันก็สื่อถึงความฉลาด (ประหลาดๆ) และดึงดูดสายตาได้เป็นอย่างดี พื้นผิวและองค์ประกอบเหล่านี้สื่อสารกับวัฒนธรรมย่อยที่รายล้อมมันอยู่ราวกับบทกวี

แต่น้อยคนที่จะสังเกตเห็นสิ่งนี้ เพราะพวกเขามัวแต่จมจ่อมอยู่กับโทรศัพท์ในมือ เลื่อนจอขึ้นๆ ลงๆ และสนใจกับภาพที่จับต้องไม่ได้ ในงาน Bangkok Design Week ครั้งนี้ เราจึงจัดทำไกด์บุ๊คแนะนำวัตถุประหลาดๆ เหล่านี้บนถนนเอกมัย เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินเท้าแบบใหม่ ให้คนได้สังเกตเห็นสิ่งที่เขามองข้ามตลอดมา ภาพที่ถูกเลือกมาใส่ไว้ในนี้ถูกนำมาจากอีกหลายร้อยภาพที่ถูกถ่ายไว้ระหว่างการเดินเท้าจากปากซอยเอกมัยไปยังคลองแสนแสบเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ลองเดินตามเส้นทางนี้ด้วยตัวคุณเอง แล้วคุณจะเก็บภาพอีกชุดหนึ่งที่แตกต่างไปจากของเราอย่างสิ้นเชิ

_____________

thingsmatter เป็นสตูดิโอออกแบบที่ก่อตั้งโดยศาวินี บูรณศิลปิน และ Tom Dannecker สตูดิโอให้ความสนใจในการทำงานออกแบบที่ไร้พรมแดน และให้คุณค่ากับงานสถาปัตยกรรมในฐานะศิลปะ “Watch Your Step!” และงานอื่นๆ ที่ให้ความสนใจกับลักษณะทางกายภาพและวัฒนธรรมของสถาปัตยกรรมตามท้องถนนของพวกเขากำลังจัดแสดงอยู่ภายในสตูดิโอของ thingsmatter ในย่านเอกมัย ตั้งแต่ วันนี้ ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2020

thingsmatter.com

PHOTO ESSAY : SUPERNATURAL

TEXT & PHOTO: SANTANA PETCHSUK

(For English, press here)

มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เราเรียกว่า “ธรรมชาติแต่ด้วยความสามารถ สติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ หรือสิ่งใดๆ ก็แล้วแต่ แม้กระทั่งความกลัว ทำให้มนุษย์พยายามที่จะควบคุมหรือพยายามที่จะมีอำนาจเหนือธรรมชาติ ในรูปแบบของสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้  

เพราะฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าการสัมผัสรับรู้ถึงสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ (supernatural) ไม่จำเป็นต้องพึ่งพลังหรือสัมผัสพิเศษใดๆ หากแต่แค่ลองมองไปรอบตัวของเรา ก็อาจเห็นถึงอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ที่มนุษย์เราได้สร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยจนเรามองเป็นของธรรมดา ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติมาตั้งแต่ต้น

_____________

สันทนะ เพ็ชร์สุข ช่างภาพอิสระที่มีความสนใจในศิลปะและจิตวิทยา สำหรับเขา การถ่ายภาพเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ถ่ายทอดความคิดของเขาที่มีต่อสิ่งรอบตัว ความผิดที่ผิดทางและความไม่สมบูรณ์ มักจะดึงดูดความสนใจของเขา เพราะมันบ่งบอกและสะท้อนถึงพฤติกรรม วิธีคิด อันเป็นที่มาของความไม่สมบูรณ์นั้นๆ ปัจจุบันเขาสนใจในศิลปะภาพถ่าย Still Life และศิลปะ Collage

santanapetchsuk.com
fb.com/Santana-Petchsuk-Photography
ig: @santanapetchsuk