หมวดหมู่: PICKS

TIME STRETCHED

Time StretchedTime StretchedTime StretchedTime StretchedTime StretchedTime StretchedTime StretchedTime StretchedTime StretchedTime StretchedTime StretchedTime StretchedTime StretchedTime StretchedTime StretchedTime StretchedTime StretchedTime StretchedTime StretchedTime StretchedTime StretchedTime Stretched

TEXT & IMAGE: ANTON REPPONEN

(For English, press here)

Time Stretched เป็นการเดินทางสำรวทางทัศนะที่จะพาเราไปค้นหาความเกี่ยวเนื่องอันซับซ้อนของเวลา การเคลื่อนไหว และการรับรู้ของมนุษย์ แต่ละภาพในชุดนี้แช่แข็งช่วงเวลาไว้ในปฏิทรรศน์แห่งเวลา (temporal paradox) สภาพแวดล้อมล้วนถูกบิดเบือนไปในความโกลาหลจากการยืดตัวของเวลา ในขณะที่ตัวละครหลักของภาพกลับไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากโครงสร้างแห่งเวลาที่บิดเบี้ยว ผลลัพธ์ที่ได้คือภูมิทัศน์ที่ยืดออก สถาปัตยกรรมที่ผิดรูป และสภาพแวดล้อมเหนือจริงที่สร้างภาพบรรยากาศอันตราตรึง

ภาพแต่ละภาพถูกบันทึกไว้จากสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ถนนที่วุ่นวายในนิวยอร์กจนถึงภูมิทัศน์ที่เต็มไปด้วยสีสันของโตเกียว บาร์เซโลนา และกรุงเทพฯ แต่ในโลกของ ‘Time Stretched’ ความแตกต่างทางภูมิศาสตร์จางหายไปจนไม่เหลือความสำคัญ ผู้ชมจะถูกนำไปสู่ช่วงเวลาที่บิดเบี้ยวและเป็นนามธรรม ในโลกแห่งนี้ ตัวละครหลักปรากฏตัวอย่างโดดเดี่ยว หยุดนิ่งไม่ไหวติงภายในห้วงเวลาของตนเอง หลุดพ้นจากข้อจำกัดของสถานที่ และดื่มด่ำในปฏิสัมพันธ์ที่น่าหลงใหลและน่าค้นหาของปฏิทรรศน์เวลา

___________________

Anton Repponen เป็นนักออกแบบปฏิสัมพันธ์ (interaction design) ที่มีสำนักงานอยู่ในนิวยอร์ก เขาร่วมนำทีมสตูดิโอออกแบบชื่อ ‘Anton & Irene’ ที่ดูแลลูกค้าหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวัฒนธรรมชั้นนำเช่น M+ Museum ในฮ่องกงและ The Met Museum ในนิวยอร์ก ไปจนถึงยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Spotify Netflix และ Google แนวทางการออกแบบของเขาผสมผสานอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมเข้ากับความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบปฏิสัมพันธ์ได้อย่างลงตัว สะท้อนถึงปรัชญาการออกแบบที่เน้นความเป็นมนุษย์และพื้นฐานทางสถาปัตยกรรมของเขาอย่างชัดเจน

repponen.com
instagram.com/repponen

ACUTE AND OBTUSE

TEXT: ADRIENNE LAU
PHOTO: RAQUEL DINIZ

(For English, press here)  

สถาปนิกและนักออกแบบ Adrienne Lau เป็นหัวหอกสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์ Acute And Obtuse ชุดเฟอร์นิเจอร์กลางแจ้งที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล 100% งานชุดนี้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการออกแบบซึ่งปล่อยให้วัสดุที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะเหล่าชิ้นส่วนที่ไม่ได้มาตรฐาน ได้เป็นตัวขับเคลื่อนการตัดสินใจว่ามันจะถูกใช้งานอย่างไร มีกระบวนการผลิตแบบไหน และต้องการสื่อสารอะไร

โครงการนี้เริ่มต้นจากความต้องการฟื้นฟูพื้นที่ปลูกพืชเพื่อบริโภคใน Abbey Gardens ซึ่งเป็นทั้งสวนสาธารณะและสวนเพื่อการเก็บเกี่ยวใน Newham, London เมื่อสิบห้าปีที่แล้วสวนชุมชนแห่งนี้ถือกำเนิดขึ้นจากโครงการศิลปะมีชีวิตที่ประกอบด้วยกระบะปลูกต้นไม้ที่เรียงตัวกันเป็นแนวทแยง ภายหลังเวลาผันผ่าน กระบะรูปสี่เหลี่ยมคางหมูที่ทำจากแผ่นไม้ยึดด้วยปลอกมุมเหล็กชุบสังกะสีก็ถึงเวลาต้องถูกเปลี่ยนใหม่

หลังจากรื้อถอนกระบะ Adrienne พบว่ามุมเหล็กส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพดีและน่านำกลับมาใช้ใหม่เป็นเฟอร์นิเจอร์ มุมเหล็กที่มีองศาเฉพาะเหมาะสำหรับการเป็นสร้างโครงสร้างของเฟอร์นิเจอร์ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นมุมเหล็กขนาด 150 องศา สำหรับการทำเป็นเก้าอี้เอนหลัง 110 องศา สำหรับการสร้างเก้าอี้ และมุมที่เล็กกว่าที่ถูกนำไปใช้เป็นส่วนรองรับม้านั่ง

การทำงานร่วมกับสวนชุมชนระดับรากหญ้าทำให้การจัดเก็บวัสดุและการทำงานอย่างยืดหยุ่นเกิดขึ้นได้ และด้วยความช่วยเหลือจากชุมชนในท้องถิ่นและเหล่าอาสาสมัคร เหล่ามุมเหล็กก็ถูกถอดสลักเกลียวและแยกออกจากแผ่นไม้เก่า

การเชื่อมเหล็กชุบสังกะสีบางๆ เหล่านี้มีทั้งอันตรายจากสารพิษและความเสี่ยงอื่นๆ ทำให้ต้องมีการใช้วัสดุอื่นเป็นข้อต่อ ผู้ออกแบบจึงจับมือกับสตูดิโอ Rosie Strickland โดยนำคานไม้ดักลาสเฟอร์ (Douglas Fir beam) จากโรงทหารสมัยวิคตอเรียนที่ถูกรื้อถอนมาใช้ในการสร้างชิ้นงานที่สมบูรณ์ และเพื่อสร้างความสมดุลและความแตกต่างระหว่างไม้กับความคมของแผ่นเหล็ก ชิ้นส่วนจากไม้ดักลาสเฟอร์จึงมีรูปทรงโค้งมนสะอาดตา รอยบากและรูตะปูบนไม้ที่ถูกนำมาใช้ถูกปล่อยไว้โดยไม่ผ่านการขัดเกลาเพื่อแสดงถึงร่องรอยทางประวัติศาสตร์และถูกชูให้เป็นองค์ประกอบเด่นของการออกแบบ

หลังจากเป็นส่วนหนึ่งของ Edgy Collective winning installation ในเทศกาลสถาปัตยกรรมลอนดอน 2023 (London Festival of Architecture 2023) Acute And Obtuse ได้ถูกย้ายกลับมาไว้ที่ Abbey Gardens สถานที่อันเป็นต้นกำเนิดของเหล่ามุมเหล็ก ปัจจุบันพวกมันทำหน้าที่เป็นที่นั่งที่สามารถปรับเปลี่ยนโยกย้ายได้อย่างยืดหยุ่นภายในพื้นที่ของชุมชนที่กำลังเติบโต

“แทนที่จะซ่อนความไม่สมบูรณ์แบบ เราควรโอบรับความไม่สมบูรณ์แบบนั้นอย่างสร้างสรรค์เพื่อทำให้การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่เป็นสิ่งน่าดึงดูดใจและเป็นที่สนใจในวงกว้างขึ้น” Adrienne Lau กล่าว “การทำให้เรื่องราวของวัสดุปรากฏชัดเจนจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนดูแลรักษามัน สิ่งของจะไม่กลายเป็นขยะ ถ้าสุดท้ายแล้วตัวมันยังมีคุณค่าในสายตาของผู้ใช้งาน”

_____________

Adrienne Lau เป็นสถาปนิกและนักออกแบบผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนกับสภาสถาปนิกแห่งสหราชอาณาจักร (Architects Registration Board หรือ ARB) ปัจจุบันเธอประจำอยู่ที่มหานครลอนดอนและฮ่องกง ด้วยความเชี่ยวชาญอันหลากหลาย ผลงานของเธอครอบคลุมทั้งด้านสถาปัตยกรรม การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ การสร้างสรรค์ installation ในพื้นที่เมือง ตลอดจนการออกแบบฉากเวที แนวทางการทำงานของเธอมุ่งเน้นการตอบสนองความจำเป็นทางสังคมและระบบนิเวศ ด้วยแนวคิดสร้างสรรค์อันล้ำสมัยในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง Edgy Collective กลุ่มนักออกแบบผู้คว้ารางวัลมากมาย Adrienne และทีมงานทุ่มเทให้กับการฟื้นฟูพื้นที่เมือง โดยเชื่อมโยงพื้นที่เหล่านั้นเข้ากับมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม พร้อมทั้งสะท้อนความเป็นจริงของโลกปัจจุบัน ด้วยประสบการณ์อันยาวนานกว่าทศวรรษในวงการ และเส้นทางอาชีพอันโดดเด่นในบริษัทออกแบบชั้นนำระดับโลกอย่าง Heatherwick Studio และ OMA Adrienne ได้ร่วมงานกับลูกค้าระดับแนวหน้าอย่าง PRADA และ Google นอกจากนี้ เธอยังได้ดำรงตำแหน่งผู้นำระดับอาวุโสของโครงการสถาปัตยกรรมและการออกแบบเมืองระดับนานาชาติขนาดใหญ่หลากหลายโครงการ

adriennelauprojects.com
instagram.com/thinking_out_lau

THE FURRY THING

TEXT & IMAGE: KAMWEI FONG

(For English, press here)  

The Furry Thing คือชุดผลงานภาพวาดสัตว์ขนฟูปุกปุยที่ถือกำเนิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจของ Kamwei ในปี 2009 ด้วยการใช้เพียงหมึกสีดำไมโครพิกเมนต์ Kamwei ได้สร้างสรรค์ละครสัตว์ที่เต็มไปด้วยเหล่าแมว สุนัข และสัตว์อื่นๆ สุดน่ารักขี้เล่น ที่แม้แต่ละตัวจะไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ในเชิงบริบทและมีรูปแบบเดียวกัน แมวของ Kamwei ก็มีบุคลิกที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น: บางตัวรูปร่างฟูฟ่องและพองตัวเป็นก้อนกลม บางตัวมองด้วยความอยากรู้อยากเห็น บางตัวแลดูระแวดระวังปลาที่กำลังแกว่งไกว หรือคลื่นที่ซัดมาจากหางของตัวเอง ศิลปินวาดรูปร่างของแมวแต่ละตัวขึ้นมาจากเส้นสายที่มีความสั้นและบางจำนวนนับไม่ถ้วน โดยปรับความหนาแน่นของรอยขีดเพื่อสร้างปริมาตรและความรู้สึกถึงความฟูฟ่องที่สัมผัสได้

_____________

Kamwei Fong เป็นศิลปินชาวมาเลเซียที่ทำงานเกี่ยวกับโลกของสัตว์เป็นหลัก ผลงานของเขามักถูกอธิบายว่าเรียบง่าย สง่างาม มีความเป็นกวี ตลกขบขัน เปี่ยมจินตนาการ สนุกสนาน และเหมือนโลกในความฝัน ผลงานศิลปะของ Kamwei ยังได้รับการยอมรับในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการได้จัดแสดงงานที่ Salon des Beaux-Arts ในปารีสและ Art Expo Malaysia ในกัวลาลัมเปอร์ โดยในปี 2020 และ 2022 เขายังได้ร่วมงานกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่แห่งวงการแฟชั่นระดับโลกอย่าง UNIQLO อีกด้วย

kamweifong.com
facebook.com/Kamweiatwork 

THAI ARCHITECTURE INFOGRAPHIC

TEXT & IMAGE: KIDYANG ARCHITECTURE & RESEARCH

(For English, press here)

ซีรีส์ Thai Architecture Infographic เป็นการรวบรวมข้อมูลเนื้อหาเกี่ยวกับโบราณสถานและอาคารประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ที่เราเห็นว่ามีจุดน่าสนใจทั้งสถานที่ที่สูญหายไปแล้ว สถานที่ที่เข้าถึงยากหรือถูกสงวนการเข้าถึง และเป็นสถานที่ที่ไม่เคยได้สร้างจริง เช่นในการสันนิษฐานพระบรมบรรพต ที่แต่แรกสร้างนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ (King Nangklao) เคยมีพระราชประสงค์จะสร้างเป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดเทียบเท่ากับภูเขาทองอยุธยาและพระปรางค์วัดอรุณ แต่ก็ล้มเลิกไปด้วยปัญหาฐานรากทรุด

ทั้งหมดนี้ เรามีการนำเสนอผ่านการผสมเครื่องมือระหว่างการวาดมือและการปั้นโมเดลสามมิติเพื่อช่วยทุ่นแรงและเวลาในการผลิตผลงานโดยที่ infographic และ illustration ทั้งหมดของซีรีส์นี้ก็ยังคงจุดมุ่งหมายแรกของเราไว้คือการทำให้ข้อมูลที่เข้าถึงได้ยากถูกนำเสนอให้เข้าใจง่าย และมีความน่าดึงดูดสำหรับบุคคลทั่วไปให้มีความสนใจต่ออาคารทางประวัติศาสตร์ในมิติที่แปลกใหม่ยิ่งขึ้น และเป็นโชคดีที่ในการทำงานชุดดังกล่าวนี้ ทำให้เราได้รู้จักกับกองบรรณาธิการและทีมของ National Geographic Thailand เกิดเป็นการร่วมกันสร้างสรรค์บทความและภาพประกอบสำหรับเนื้อหาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในประเทศไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา

กลุ่ม ‘คิดอย่าง’ เกิดจากการรวมตัวของคนจากหลายสาขาวิชาและความถนัดที่มีความสนใจร่วมกับเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมทั้งในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีสุรเชษฐ์ แก้วสกุล และ พัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน เป็นทีมหลักในซีรีส์ Thai Architecture Infographic

facebook.com/Arch.kidyang
facebook.com/Maewsow
instagram.com/p.kulkan

ARCHITECTURE ANOMALY

Architecture Anomaly
Architecture AnomalyArchitecture AnomalyArchitecture AnomalyArchitecture AnomalyArchitecture AnomalyArchitecture AnomalyArchitecture AnomalyArchitecture AnomalyArchitecture AnomalyArchitecture AnomalyArchitecture AnomalyArchitecture AnomalyArchitecture AnomalyArchitecture AnomalyArchitecture Anomaly

TEXT & IMAGE: SAUL KIM

(For English, press here)  

จิตใจของเราถูกตั้งโปรแกรมให้ปฏิบัติตามแนวคิดที่สังคมกำหนดไว้ล่วงหน้า และแนวคิดใดๆ ที่ท้าทายข้อกำหนดนั้นมักจะถูกมองว่าเป็น ‘ความผิดปกติ (anomalous)’ Architecture Anomaly เป็นซีรีส์งานวิจัยด้านการออกแบบที่ริเริ่มโดย Saul Kim ซึ่งทดลองกับองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมในวิถีทางที่ผิดแผกไปจากปกติ เพื่อค้นหาวิธีการก่อร่าง ประกอบ และการอยู่อาศัยใหม่ๆ

แรงบันดาลใจของผลงานชุดนี้มาจากแทบทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ หากแต่ไม่ใช่สถาปัตยกรรม สิ่งนี้ช่วยให้นักออกแบบสามารถหลีกเลี่ยงการสร้างสรรค์งานตามรอยเดิม การออกแบบนั้นไม่ควรมีกฎเกณฑ์ แต่คนเรามักจะเผลอตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาเองเมื่อได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ และเริ่มเชื่อว่าการทำสิ่งอื่นนอกเหนือจากนี้เป็นสิ่งที่ผิด ตัวอย่างเช่น เราได้รับการสอนในโรงเรียนสถาปัตยกรรมว่าแผ่นพื้นควรถูกวางในทางราบ มีความหนาระดับหนึ่ง และต้องวางอยู่เหนือคานเพื่อสร้างสเปซสำหรับอยู่อาศัย นี่คือความเข้าใจถึง ‘แผ่นพื้น’ ในมุมมองของมนุษย์ เพราะเราได้เรียนรู้มาช้านานผ่านวิวัฒนาการหลายร้อยปีว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ปฏิบัติได้จริงและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการสร้างพื้นที่อยู่อาศัย แต่หากเราก้าวถอยออกมา และลองคลายคำจำกัดความที่ตายตัวของแผ่นพื้นดูว่าแท้จริงแล้วมันคืออะไร ถูกสร้างมาเพื่ออะไร ควรนำไปใช้ในอาคารอย่างไร เราจะเริ่มเห็นภาพแผ่นพื้นอย่างที่มันเป็นจริงๆ เพราะโดยพื้นฐานแล้ว มันก็เป็นเพียงชิ้นของพื้นผิวบางๆ ชิ้นหนึ่งที่กลายเป็นสิ่งอื่นได้อีก บางทีพื้นผิวนี้อาจต้องถูกพับ ถูกทำให้ยับย่น หรือถูกตัดบางส่วนออกไปเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ด้วยการตั้งคำถามเชิงอภิปรัชญาต่อองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเหล่านี้ เราจะสามารถหลุดพ้นจากจุดมุ่งหมายแรกเริ่มของการดำรงอยู่ เพื่อค้นพบความหมายใหม่ๆ ได้อย่างเสรี

_____________

Saul Kim เป็นนักออกแบบสถาปัตยกรรมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงโซล เขาเริ่มเส้นทางด้านสถาปัตยกรรมที่สิงคโปร์ ก่อนจะย้ายไปลอสแอนเจลิสเพื่อศึกษาระดับปริญญาตรีสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่สถาบันสถาปัตยกรรมแห่งเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (Southern California Institute of Architecture หรือ SCI-Arc) และปริญญาโทด้านสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ในปี 2563 Saul Kim ได้เปิดตัวซีรีส์งานวิจัยด้านการออกแบบ ‘Architecture Anomaly’ ที่ให้บริการด้านการวางแผนและการออกแบบ นอกจากนี้เขายังสอนที่มหาวิทยาลัยฮงอิก (Hongik University) ในฐานะศาสตราจารย์พิเศษและเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบเควอน (Kaywon University of Art and Design)

saulkim.com
instagram.com/saul_kim_

THE TUBE COLLECTION

TEXT: TIM TEVEN
PHOTO: PIERRE CASTIGNOLA

(For English, press here 

ผลงานชุด The Tube Collection นั้นมีจุดกำเนิดมาจากการทดลองกับวัสดุในรูปแบบต่างๆ อันรวมไปถึงการใช้เครื่องจักรมาเปลี่ยนรูปโลหะ การทดลองเหล่านี้ทำให้ได้มาซึ่งกระบวนการและระบบต่างๆ ที่ช่วยในการเล่นแร่แปรธาตุ และการเปลี่ยนแปลงรูปทรงวัสดุ เป็นสุนทรียะที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นเองจากเครื่องจักรและการดัดแปลงเชิงเทคนิค 

ด้วยการทำให้เส้นแบ่งระหว่างการควบคุมดีเทลงานออกแบบทุกกระเบียดนิ้วและการปล่อยผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นเองเลือนรางลง งานชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างการกระทำโดยเครื่องจักรกลและการกระทำที่เกิดขึ้นจากมือมนุษย์

_____________

Tim Teven (เกิดปี 1993) เป็นนักออกแบบชาวดัตช์ที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยการออกแบบ Design Academy Eindhoven ในปี 2018 การสรรหาแนวทางสร้างสรรค์ใหม่ๆ ด้วยการใช้วัสดุในรูปแบบที่แปลกใหม่ผิดแผกไปจากวิธีการทั่วไป เปิดประตูให้เขาได้ค้นพบเทคนิคที่น่าประหลาดใจมากมาย และนำไปสู่การประยุกต์สร้างสรรค์วัตถุที่มีทั้งประโยชน์ใช้สอยและความน่าสนใจ สถานที่ทำงานหลักของ Teven คือสตูดิโอออกแบบของเขาเองในเมืองไอนด์โฮเฟน ที่เขาก่อตั้งขึ้นในปี 2018 โดยผลงานทุกชิ้นถูกทำขึ้นจากมือควบคู่ไปกับกรรมวิธีทางอุตสาหกรรม

timteven.com

THIS IS MY VOICE ONE DAY IN THAILAND

TEXT & IMAGE: PIRUTCH MOMEEPHET

(For English, press here

งานชุดนี้เกิดจากแนวคิดที่ว่า ทำไมเวลาที่เราไปต่างประเทศ ต่างจังหวัด หรือแค่ต่างสถานที่ เรามักจะมีมวลความรู้สึกที่ตื่นเต้นในการไปสถานที่เหล่านั้น มันมักจะเป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าสิ่งใดกันแน่ที่ทำให้เราเกิดความประทับใจ มันก็คงจะเป็นทุกสิ่งอย่างที่เพิ่งได้มาเจอนี้ที่ประกอบกันให้เกิดความรู้สึก ถ้าจะต้องให้อธิบายก็คงจะเป็นคำว่า ‘mood’ หรือ ‘vibe’ จริงๆ แล้วเราไม่ได้สงสัยด้วยซ้ำว่าเราตื่นเต้นเพราะมันเป็นสิ่งที่แปลกใหม่จริงๆ หรือเป็นเพียงแค่สิ่งเดิมที่ใหม่เพราะมุมมองของเรา

ถ้าหากเราสามารถมองในมุมนั้นได้ ในบางทีสิ่งที่ทำให้เราเกิดความประทับใจ มันอาจจะไม่ได้เป็นสถานที่ที่มีเรื่องราวสำคัญ เป็น iconic places หรือการแนะนำจากบุคคลอื่นด้วยซ้ำไป บางทีมันอาจจะเป็นสถานที่ข้างทางที่เราต้องผ่านตอนไปทำงานทุกเช้า หรือเป็นเพียงตึกข้างทางที่เราเห็นในเวลารถติด

งานชุดนี้จึงเป็นเหมือนการจำลองภาพผ่านมุมมองเป็นบุคคลที่พึ่งเคยมายังประเทศไทย หากเราสามารถมองด้วยมุมมองนั้นได้เหมือนกัน แล้วสิ่งใดล่ะที่จะทำให้เรารู้สึกแบบนั้นได้

_____________

พิรัชย์ โมมีเพชร : BBep.o (เบพ – โป้) กราฟิกดีไซน์เนอร์จากกรุงเทพมหานคร ผู้หลงใหลในศิลปะสไตล์ Retro, Citypop และ สถาปัตยกรรมร่วมสมัย

instagram.com/bbep.o

THE ALPHABETICAL ROOM

TEXT: LIAD SHADMI
PHOTO: LIAD SHADMI & MICHAEL KOHLS

(For English, press here

โปรเจ็กต์ ‘The Alphabetical Room’ สำรวจขอบเขตและข้อจำกัดของการเขียนบนกริดสามมิติในพื้นที่ดิจิตัลอันราบเรียบ การเข้าไปทดลองกับตารางสามมิติบนหน้าจอดิจิตัลที่เป็นระนาบสองมิตินั้นเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับนักออกแบบกราฟิก โปรแกรมเมอร์ นักเขียนโค้ดเชิงสร้างสรรค์ และศิลปินแนวทัศนศิลป์เสมอมา

 

โปรเจ็กต์เริ่มต้นจากแนวคิดการสร้างกริดสำหรับการออกแบบภายในที่เสนอโดย Josef-Müller Brockmann ในปี 1961 มุมมองของผู้ชมจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตลอดการเปิดแผ่นหน้าแต่ละหน้าของแผ่นพับโปรเจ็กต์ เช่นเดียวกับความละเอียดของกริดสามมิติที่ใช้สร้างชุดตัวอักษร 

ผมอยากจะถือโอกาสนี้ขอบคุณศาสตราจารย์ Pierre Pané-Farré สำหรับคำแนะนำที่ช่วยนำทางโปรเจ็กต์นี้มาจนสำเร็จ

_____________

Liad Shadmi เป็นนักออกแบบกราฟิกอิสระและผู้กำกับศิลป์ที่ทำงานและพำนักอยู่ใน Hamburg  เขาเรียนจบพร้อมเกียรตินิยมจาก Shenkar College of Engineering & Design หนึ่งในโรงเรียนออกแบบชั้นนำของอิสราเอล โดยความเชียวชาญของ Liad ครอบคลุมการออกแบบกราฟิก อัตลักษณ์แบรนด์ การกำกับงานศิลป์ การออกแบบตัวอักษร การพิมพ์และการวางเลย์เอาท์ ไปจนถึงการออกแบบเว็บ โดยการออกแบบและจัดวางตัวอักษรเป็นสิ่งที่เขาให้ความสนใจและนำไปใช้ในงานอยู่เสมอ เขายังมีความสนใจแรงกล้าต่อการทำงานออกแบบเชิงวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงานออกแบบพื้นถิ่น เขาเชื่อว่างานออกแบบควรมีรากมาจากการค้นคว้าวิจัยเชิงลึกที่มีทั้งสาระและความหมาย ความมุ่งมั่นของ Liad คือการผสมผสานกลิ่นอายประเพณี และคุณสมบัติแบบคลาสสิค เข้ากับคุณลักษณะความร่วมสมัย

liadshadmi.com

RESONANCES OF THE CONCEALED

TEXT & IMAGE: NAPASRAPHEE APAIWONG

(For English, press here

Resonances of the Concealed เป็นชุดผลงานที่สร้างขึ้นโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพจากจินตนาการและจิตญาณของตัวศิลปิน

ตัวภาพมีที่มาและแรงบันดาลใจมาจากเรื่องต่างๆ ตั้งแต่สิ่งเล็กน้อยรอบๆ ตัวที่ดูไม่ได้มีความสลักสำคัญ เหตุการณ์ต่างๆ ที่ตัวศิลปินพบเจอ ไปจนถึงประเด็นปัญหาในสังคม นำเสนอในลักษณะที่เปิดกว้างให้ผู้ที่รับชมได้ตีความด้วยตัวเอง ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของตัวเองได้อย่างอิสระ ไม่ถูกผูกมัดและจำกัดโดยประเด็นหรือหัวข้อที่ศิลปินได้กำหนดเอาไว้

ชื่อของชุดผลงาน มาจากความรู้สึกของตัวศิลปินที่รู้สึกว่าภาพที่สร้างขึ้นจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ สามารถเปิดเผยโลกภายใน ความคิดและความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ของตัวผู้ที่ใช้งานได้อย่างน่าประหลาดใจ เปรียบเสมือนเสียงสะท้อนมาจากส่วนที่ถูกปิดบังเอาไว้ในจิตใจ

ผลงานชุดนี้มีความมุ่งหมายที่จะผลักดันขอบเขตของการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายโดยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสร้างภาพ ตั้งคำถามต่อความสำคัญของกล้องถ่ายรูปและการถ่ายภาพแบบดั้งเดิมในยุคที่ความหมายของรูปถ่ายกลายเป็นเรื่องที่มีความกำกวมและหาเส้นแบ่งที่ชัดเจนได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ

ศิลปินหวังว่าผลงานชุดนี้จะช่วยริเริ่มบทสนทนาที่มีความหมายจากผู้รับชมเกี่ยวกับการตีความของตัวภาพ ไปจนถึงธรรมชาติของศิลปะภาพถ่ายที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

_____________

pale flare (นภัสรพี อภัยวงศ์) ช่างภาพและศิลปินทัศนศิลป์ จากกรุงเทพฯ โดยผลงานมักสำรวจถึงประเด็นด้านสุขภาพจิต วัฒจักรชีวิต และความงามในสิ่งที่มักถูกมองข้ามในชีวิต ตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิดในเรื่องของความสุข ความเศร้า และจุดสิ้นสุดของสรรพสิ่ง และมีความเชื่อว่าภาพถ่าย สามารถเป็นได้มากกว่าแค่เพียงการจับโมเมนต์หรือบันทึกวัตถุที่อยู่ตรงหน้า แต่เป็นสื่อที่สามารถแสดงออกถึงสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ และเชื่อมโยงมนุษย์เข้าหากันผ่านทางการสำรวจประสบการณ์ร่วมของผู้คน

instagram.com/pale_flare

ZILLUSTATION

TEXT & PHOTO: ZILLUSTATION

(For English, press here

จุดเริ่มต้นของผลงานมาจากความหลงใหลความงามของสิ่งปลูกสร้างและสถาปัตยกรรมในวัยเด็ก การออกเดินทางสำรวจเมืองต่างๆ ทำให้พบเสน่ห์น่าค้นหาของแต่ละที่ที่แตกต่างกันไป จึงถ่ายทอดความทรงจำที่สะสมออกมาเป็นภาพวาดลายเส้น เชิงจิตรกรรม สถาปัตยกรรม+แผนที่ โดยเลือกใช้รูปแบบมุมมองที่ไม่ธรรมดา ซึ่งสามารถเห็นเมืองได้กว้างขวาง และลงรายละเอียดได้มากที่สุด 

แนวคิดของงานเริ่มจากการเรียนรู้การสร้างเมือง แสวงหาประวัติศาสตร์ของเมืองที่ฝังรากลึก ผ่านกาลเวลา หล่อหลอมกลมกลืนเป็นเมือง และสำรวจสถาปัตยกรรมในเมืองซึ่งเป็นสิ่งที่บันทึกกาลเวลาเอาไว้ได้ดี แต่ละเมืองมีอัตลักษณ์ต่างกันออกไป ไม่ต่างจากหน้าตามมนุษย์ ที่มีความงามหลากหลาย หัวใจหลักของกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานคือสร้างมุมมองที่เห็นภาพรวมของสถานที่ให้มากที่สุด โดยใช้ลายเส้นจากปากกาสร้างสรรค์เมืองขึ้นมา ทีละเส้น ทีละเส้น การได้ใช้เวลาสร้างเมืองผ่านปลายปากกา เสมือนได้ย้อนดูเส้นกาลเวลาของเมืองที่ยาวนาน 

_____________

การุญ เจียมวิริยะเสถียร ศิลปินอิสระเจ้าของสตูดิโอ ZilluStation ที่ถ่ายทอดความหลงใหลในเมืองผ่านลายเส้นปากกา 

facebook.com/Karooncity
instagram.com/zillustation