ป้ายกำกับ: Photo essay

PHOTO ESSAY : WAT ARUN

TEXT & PHOTO: TANAGON TIPPRASERT

(For English, press here

ตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน วัดอรุณราชวรารามหรือวัดอรุณฯ เป็นวัดสำคัญที่คนไทยหรือชาวต่างชาติคุ้นเคยกับภาพความสวยงามของพระปรางค์วัดอรุณฯ กันเป็นอย่างดี แต่จริงๆ แล้วมุมมองแปลกใหม่ยังคงมีซ่อนอยู่ให้ได้ค้นหาในทุกๆ ครั้งที่ได้เข้ามาเยี่ยมชม รวมไปถึงบริเวณรอบๆ ที่ยังน่าสนใจและรู้สึกประทับใจทุกครั้งที่ได้มา สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ทำให้การเดินชมวัดอรุณฯ เต็มไปด้วยความสนุก น่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากชาติต่างๆ เป็นมุมมองจากเขาสู่เรา เพราะจะมีทั้งการบริการแต่งกายชุดไทยเพื่อให้ความรู้สึกสมจริงเหมือนย้อนเวลากลับไปในยุคเก่า เพิ่มความสนุกสนานในการเดิมชมวัด ถึงแม้ในบางวันที่อากาศอาจจะร้อนมากเป็นพิเศษ แต่นักท่องเที่ยวทุกคนยังดูมีความเพลิดเพลิน รวมไปถึงการเดินทางมายังวัดอรุณฯ ก็มีทั้งทางรถและทางเรือที่บริการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมได้อย่างสะดวก ภาพชุดนี้เลยอยากนำเสนอมุมมองและจังหวะที่พิเศษดูแปลกใหม่ ให้ผู้ชมภาพได้จินตนาการต่อ และอยากให้ความเป็นวัดอรุณฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงอยู่ตลอดไป

__________

ธนากร ทิพย์ประเสริฐ เป็นช่างภาพอิสระและรับถ่ายภาพ wedding มีความสนใจชื่นชอบการถ่ายภาพสตรีทและสารคดี

facebook.com/Tanagon56
instagram.com/tana_gon

PHOTO ESSAY : HUMAN TRACE

TEXT & PHOTO: DITTA SUTHEPPRATANWONG

(For English, press here

เราต่างเดินบนพื้น เราสร้างบ้านบนพื้น เราเพาะปลูก หาอาหารและใช้ชีวิตบนพื้น และการมีอยู่ของเราล้วนถูกกำหนดอยู่บนระนาบนอนภายใต้แรงโน้มถ่วง จึงไม่แปลกเลยที่พื้นจะเต็มไปด้วยร่องรอยของมนุษย์ 

ทุกครั้งที่เราใช้ชีวิต ทุกครั้งที่เราเดินทาง ทุกครั้งที่เราประกอบกิจกรรมต่างๆ เราต่างเคยทิ้งร่องรอยหรือเศษเสี้ยวของเรา ทั้งทางรูปธรรมและนามธรรมไว้บนพื้นทั้งสิ้น 

ผมจึงเกิดความสงสัยใคร่รู้ เริ่มต้นศึกษาความเป็นมนุษย์ ผ่านสมมติฐานที่ว่า หากเราบันทึกร่องรอยที่หลงเหลือเหล่านั้น แล้วนำมาปะติดปะต่อกัน จะสามารถประกอบสร้างความเป็นมนุษย์ขึ้นมาใหม่เหมือนกับการต่อเลโก้ได้หรือไม่ ดังเช่นที่เราทุกคนต่างก็เคยเก็บเศษเสี้ยวของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง ทั้งหยิบยื่นบางส่วนของตนเองให้คนอื่น หรือแม้กระทั่งการเผลอทำบางส่วนของตัวเองหล่นพื้น 

ภาพชุดนี้จึงรวบรวมร่องรอยของมนุษย์ที่หลงเหลือบนพื้นเอาไว้และใช้ความผิดที่ผิดทาง เป็นชนวนขับเน้นร่องรอยเหล่านั้น พร้อมกับเชิญชวนผู้ชมมาลองประกอบสร้างความเป็นมนุษย์ขึ้นมาใหม่ผ่านความคิดและวิจารณญาณส่วนตัวของแต่ละคน ขอให้สนุกครับ

_____________

ดิษฐา สุเทพประทานวงศ์ นักเรียนสถาปัตย์ที่กลายมาเป็นช่างภาพสถาปัตยกรรม และศิลปินอิสระ ปัจจุบันเป็นช่างภาพให้กับ W Workspace

facebook.com/dittaphoto
instagram.com/ditta25

PHOTO ESSAY : FISH AND CHIPPERFIELD

TEXT & PHOTO: KARJVIT RIRERMVANICH

(For English, press here

David Chipperfield บอกว่า “Good architecture provides a setting, It’s there and it’s not there.” มันทั้งอยู่ตรงนั้น และก็ไม่ได้อยู่ตรงนั้น งานของเขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ และถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนบนอาคารเหล่านี้ ผมคิดว่ามันคือเส้นที่บางเหลือเกินเส้นหนึ่ง ที่แบ่งอยู่ระหว่างความเหนือชั้นกับความดาษดื่นธรรมดาๆ 

The Hepworth Wakefield, Wakefield
Turner Contemporary, Margate
One Pancras Square, London

_____________

กาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ เป็นบรรณาธิการ art4d เป็นสถาปนิกผู้ก่อตั้งสตูดิโอ Physicalist และเป็นนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย

instagram.com/karjvit

PHOTO ESSAY : THINGS THAT QUICKEN THE HEART

TEXT & PHOTO: YOSSAWAT SITTIWONG

(For English, press here

สิ่งที่ทำให้ใจเต้นแรงระหว่างทาง

หัวใจคนเราเต้น 60-100 ครั้งต่อนาที ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
หลายครั้ง ในระหว่างที่ผมเดินทาง
ผมมักหัวใจเต้นแรงเมื่อพบเจอกับผลงานเหล่านี้

มันชวนให้ผมสนใจในกระบวนการผลิตทั้งหมด
ตั้งแต่ งานออกแบบ ดีไซน์ การปั้น ขึ้นโครง การเลือกใช้สี จนไปถึงการเลือกจัดวาง
ว่าควรอยู่จุดไหน เพราะอะไรถึงจัดวางไว้ตรงนี้

ผมคิดไปถึงจนกระทั่งว่า วันที่ผลงานได้ผลิตเสร็จ จนถึงวันจัดวาง
ผู้สร้างจะรู้สึกอย่างไร ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร

เหตุใด มันถึงทำให้ผมรู้สึกได้ถึงความพิเศษนี้
เหตุใด มันทำให้ผมหลงใหล
เหตุใด มันทำให้หัวใจผมเต้นแรง

_____________

ยศวัศ สิทธิวงค์
ผู้กำกับโฆษณา underdoc film / ช่างภาพ / ศิลปิน M Yoss

facebook.com/Myossmusic
facebook.com/underdocfilm

PHOTO ESSAY : JAPAN WAY

TEXT & PHOTO: THANACHAI TANKVARALUK

(For English, press here

‘Japan way’ คือ การออกเดินทางในดินแดนอาทิตย์อุทัยเพื่อตามหาความบกพร่องหรือความสมบูรณ์แบบ ที่กำลังเปล่งประกายระยิบระยับราวกับดอกไม้ที่กำลังเบ่งบานส่งกลิ่นหอมเย้ายวนดึงดูดคนแปลกหน้าเพื่อนำพาไปพบกับช่วงเวลาพิเศษที่เกินกว่าจะจินตนาการได้

ภาพถ่ายในสถานการณ์ต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้ครั้งแล้วครั้งเล่า ได้สะท้อนถึงความหลากหลายของยุคสมัยที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นผ่านบริบททางสังคมที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างเงียบๆ ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและมุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว โดยมีจารีตประเพณี วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่เป็นแนวทางและรากฐานมาแต่อดีตคอยเป็นเงาติดตามมาอยู่ห่างๆ

_____________

ธนะชัย ตั้งวราลักษณ์ เกิดที่จังหวัดอุดรธานี จบการศึกษาปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันประกอบธุรกิจส่วนตัว มีความสนใจเรื่องราวรอบๆ ตัว รักการเดินทาง และการถ่ายภาพ

facebook.com/profile.php?id=100031795672130
instagram.com/thanachai_diary

PHOTO ESSAY : CONTEMPLATING IN RAMADAN1444

TEXT & PHOTO: TEECHALIT CHULARAT

(For English, press here

พินิจในรอมฎอน 1444  

หากจะถามว่าช่วงเวลาพิเศษแห่งปีที่มุสลิมผู้ศรัทธารอคอยคือช่วงเวลาไหน เราตอบได้ในทันทีว่าคือช่วงเดือนรอมฎอน แม้ช่วงเวลานี้ชาวมุสลิมจะต้องอดทนกับความหิวกระหายในช่วงเวลากลางวันเพื่อบำเพ็ญจิตให้มีสติในการรำลึก นอบน้อมและขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า สำรวมจิตใจให้ห่างไกลจากสิ่งบันเทิง รวมถึงมีการประกอบศาสนกิจที่มากกว่าเดือนอื่นๆ แต่ชาวมุสลิมที่มีศรัทธาสามารถปฏิบัติได้อย่างมีความสุข และรู้สึกได้รับความจำเริญ เพราะเดือนนี้มีผลบุญมากกว่าเดือนอื่นๆ

สิ่งหนึ่งที่ผมมีความสุขในเดือนนี้ คือการมองเห็นชีวิตผู้คนชาวมุสลิมที่พิเศษกว่าเดือนไหนๆ ในกิจกรรม วิถีชีวิตต่างๆ ซึ่งได้รวบรวมภาพถ่ายชุดนี้ไว้ในช่วงต้นเดือนรอมฎอนของปีนี้ (เป็นปีที่ศาสนาอิสลาม ได้ครบรอบ 1,444 ปีพอดี) ผมได้ใช้เวลาในการถ่ายภาพช่วงขณะเวลาทำงาน หรือ เดินทางไปประกอบศาสนกิจที่มัสยิด รวมถึง การแวะเวียนซื้ออาหารในช่วงบ่ายเพื่อเตรียมละศีลอดในตอนพลบค่ำ โดยช่วงเวลาต่างๆ ผมสังเกต เห็นสีสันบรรยากาศและชีวิตผู้คนที่แตกต่างจากเดือนอื่นอย่างสิ้นเชิง 

ปีนี้จึงเป็นปีแรกที่ผมได้ทดลองการถ่ายภาพ พินิจวิถีในเดือนรอมฎอนด้วยมุมมองที่เรียบง่ายแต่ซ่อนความรู้สึกส่วนลึกที่มีอยู่ในภาพ ให้ทุกคนที่ชมร่วมรู้สึกเดินทางไปกับผม เห็นมิติชีวิตมุมมองแบบใหม่ๆ เปี่ยมไปด้วยศรัทธาในเดือนอันประเสริฐนี้

_____________

ทีป์ชลิต จุฬารัตน์ จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปัจจุบันเป็นสถาปนิกอิสระสตูดิโอ TEECHALIT ARCHITECT ออกแบบงานมัสยิดมาแล้วกว่า 4 หลัง เป็นช่างภาพ และเป็นแอดมินกลุ่ม จุลภาพ minimal

instagram.com/minimalmccalen
facebook.com/minimal.mccalen

PHOTO ESSAY : STAY AT HOME 2020

TEXT & PHOTO: THANACHAI TANKVARALUK

(For English, press here)

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงกับการดำรงชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคม ด้วยกฎ ข้อบังคับ และมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด จึงทำให้ผู้คนต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก เพื่อให้เข้ากับการดำเนินชีวิตแบบปกติในวิถีใหม่ ภาพถ่ายชุดนี้จึงเป็นการเก็บบันทึกความทรงจำและสะท้อนเรื่องราวรอบตัว ที่แอบซ่อนความงดงามและความสดใสผ่านความเรียบง่ายและความธรรมดา ในขณะที่ห้วงเวลาและบรรยากาศทางสังคมอยู่ในสถานการณ์ที่ต่างออกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง พร้อมกับการปรับตัวในการดำเนินชีวิตประจำวันแบบวิถีใหม่ จนกระทั่งรู้ตัวอีกที ทุกอย่างก็กลายเป็นความปกติสุขของชีวิต พร้อมกับความหวังอันแสนสดใสว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะคลี่คลาย และผ่านพ้นไปจนกลับเข้าสู่สภาวะปกติในเร็ววัน

_____________

ธนะชัย ตั้งวราลักษณ์ เกิดที่จังหวัดอุดรธานี จบการศึกษา ปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันประกอบธุรกิจส่วนตัว มีความสนใจเรื่องราวรอบๆ ตัว รักการเดินทาง และการถ่ายภาพ

instagram.com/thanachai_diary
facebook.com/profile.php?id=100031795672130

PHOTO ESSAY : A LONELY JOURNEY

TEXT & PHOTO: SUPAKORN SOONTARARAK

(For English, press here)

‘การเดินทางทำให้รู้จักตัวเอง’ มักจะเป็นประโยคที่ได้ยินจนคุ้นหู ที่ทำให้ใครๆ หลายคนเริ่มเก็บกระเป๋า เดินทางท่องเที่ยวไปที่ต่างๆ แต่หากเราเพิ่มเติมไปว่า ‘การเดินทางคนเดียวทำให้รู้จักตัวเองมากที่สุด’ อาจจะทำให้บางคนถอยกลับมาตั้งหลักก่อน กลัวบ้าง หรือ ยกเลิกการวางแผนทริปนั้นไปก็มี จนวันหนึ่งประโยคนี้ ก็ได้ทำให้ผมตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกัน คิดทบทวนอยู่ครู่หนึ่ง จนสลัดความกลัว และตกผลึกกับตัวเองว่าต้องไปตัวคนเดียวให้ได้ ตั้งเป้าเพื่อเรียนรู้อะไรบางอย่างกับตัวเอง ผมจึงได้เริ่มจัดแจงวางแผนและออกเดินทางด้วยตัวเองเพียงลำพังตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนกลายเป็นว่า การเดินทางคนเดียว เป็นบทสำคัญของชีวิตที่ทำให้ได้รู้จักตัวเอง อยู่กับตัวเอง ทำให้เรามีเวลาอยู่กับสิ่งๆ นั้น สถานที่นั้นๆ มากขึ้น ได้เห็นถึงรายละเอียดของสิ่งนั้นๆ มากขึ้น ซึมซับบรรยากาศและความรู้สึกจากสิ่งนั้นๆ ที่ถ่ายทอดมาสู่ตัวเรามากขึ้น

เมื่อกลับย้อนกลับมามองสถาปัตยกรรมและงานออกแบบ เราได้เห็นถึงความตั้งใจของงานออกแบบ แสงที่ตกกระทบในแต่ละช่วงเวลา ความงดงามที่ผู้ออกแบบต้องการถ่ายทอดให้เรา หรือ สื่อสารกับเรา ฉะนั้นคงไม่ผิดนักที่จะบอกว่า ประโยคที่เราได้ยินกันบ่อยๆ นั้น จะเป็นเรื่องจริง และถ้าวันนั้นผมไม่สลัดความกลัวออกจากใจ ไม่กล้าที่จะออกเดินทางด้วยตัวคนเดียว ก็คงจะไม่รู้จักตัวเองเท่าวันนี้แน่นอน

_____________

ศุภกร สุนทรารักษ์ เมื่อก่อนเคยเป็นสถาปนิก ปัจจุบันเป็น Senior Business Development มีอาชีพเสริมเป็น ช่างภาพสถาปัตยกรรมจาก SynSpaceStudio และเป็นคนไทยคนเดียวได้รับรางวัลถ่ายภาพระดับโลกจาก Arch2O ในปี 2021 (Architecture and Design Magazine) และ Cyberpunk2077 World Photo Contest ในปี 2020

instagram.com/synspacestudio
facebook.com/synspacestudio

WE SEE OUR SOULS BETTER IN THE DARK

TEXT & PHOTO: WAN CHANTAVILASVONG

(For English, press here)

เดินทางคนเดียวในวันที่ฟ้าครื้มไปด้วยเมฆและฝนพรำ ความสงัดตกลงท่ามกลางหมู่ถ้ำอชันตา มรดกโลกที่พระสงฆ์เคยใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมกว่าพันปีที่ผ่านมา ถ้ำและโครงสร้างเหล่านี้เป็นส่วนที่เหลือไว้จากการขุดของมนุษย์ ยิ่งขุดลึกเข้าไปในภูเขามากเท่าไหร่ แสงสว่างก็จะลดเหลือน้อยนิดและเลือนลางลง พื้นที่อันมืดมิดเหล่านั้นคือที่ตั้งของห้องเล็กๆ รายล้อมโถงกลาง เป็นช่องว่างอันมืดมิดเพื่อให้ผู้ปฏิบัติธรรมเห็นซึ่งธรรมชาติของจิตใจตนเอง

ในพื้นที่อันมืดมิดนั้นเองที่ช่างอนุรักษ์กำลังส่องไฟดวงน้อยเพื่อคอยต่อชีวิตให้กับช่องว่างแห่งการเข้าใจธรรมชาติของจิตใจ

_____________

ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ นักวางแผนเมืองและนักวิจัย ผู้มีการถ่ายภาพเป็นการเล่นที่จริงจัง ภาพถ่ายของว่านมักเป็นการถ่ายทอดความคล้ายและความแตกต่างของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คนจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก

facebook.com/wan.chtvlv
wanchantavilasvong.squarespace.com

PHOTO ESSAY : YOUR HOUSE DOWNSTAIRS

TEXT & PHOTO: JONATHAN TAN

(For English, press here)

สิงคโปร์เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องโครงการที่อยู่อาศัยของรัฐ โดยประชากรกว่า 80% ของสิงคโปร์อยู่อาศัยในแฟลตของ Housing Development Board หรือ HDB บริเวณใต้ถุนของแฟลตเหล่านี้มีองค์ประกอบหนึ่งที่มักถูกมองข้ามไปก็คือ ‘ช่องในกำแพง’ ที่มาในหลากหลายรูปทรงและสีสัน การมีอยู่ของมันช่วยทำให้พื้นที่ส่วนกลางของแฟลตที่เหล่าผู้พักอาศัยมาพบปะรวมตัวกันมีความสนุกขึ้นอีกเป็นกอง และแม้มักจะพบเจอได้เฉพาะในแฟลตการเคหะรุ่นเก่าๆ ช่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวสิงคโปร์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศเลยก็ว่าได้

ภาพถ่ายชุดนี้มุ่งหมายที่จะรวบรว ‘ช่อง’ เหล่านี้ที่ชาวสิงคโปร์รู้จักกันดีในฐานะ ‘Your House Downstairs’ 

_____________

เมื่อใดที่พอมีเวลาว่าง โจนาธานชอบสนุกไปกับโปรเจ็คต์แนวสร้างสรรค์อยู่เสมอๆ ผลงานภาพถ่ายของเขาอย่าง ‘Singapore Pantone’ และ ‘Your House Downstairs’ ได้รับการพูดถึงในสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งในท้องถิ่นและต่างประเทศ งานส่วนใหญ่ของเขางอกเงยมาจากความเชื่อที่ว่าคุณสามารถเจอศิลปะในสิ่งรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิ่งที่ถูกมองข้าม เพียงเพราะมันเป็นสิ่งที่คุณเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ปัจจุบันโจนาธานทำงานในวงการโฆษณา โดยดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการแบรนด์อาวุโสของ 72andSunny Singapore และแม้ตำแหน่งหน้าที่การงานจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานด้านสร้างสรรค์นัก โจนาธานเชื่อว่าทุกคนล้วนมีความเป็นครีเอทีฟด้วยกันทั้งนั้น

cargocollective.com/jontan
facebook.com/jontannn
instagram.com/jontannn