Category: PHOTO ESSAY

PHOTO ESSAY : BLINDING DUST

TEXT & PHOTO: PRIM KOMOLKITI

(For English, press here)

ตลอดเวลาหนึ่งเดือนที่ท่องเที่ยวคนเดียวในแอฟริกา
ไม่ว่าจะย้ายสักกี่เมือง ฝุ่นทรายก็ยังคงปลิวฟุ้งอยู่รอบตัว
แต่กลับมีฝุ่นอยู่ชนิดหนึ่งที่ค่อยๆ สลายไป

ฝุ่น ที่ก่อนหน้าเคยทำให้ทวีปนี้ดูหม่นหมองน่ากลัว
จนกลายเป็นภาพจำเพียงด้านเดียวที่คนส่วนใหญ่มีต่อแอฟริกา
แต่เมื่อได้สัมผัสจริงๆ ได้เห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่หลังม่านฝุ่นที่ลวงตา เห็นแบบปราศจากอคติ
ทุกอย่างก็ดูชัดเจนขึ้น เกิดเป็นแง่มุมที่น่าสนใจขึ้นมากมาย
ภาพถ่ายชุดนี้จึงเป็นเพียงอีกด้านหนึ่งที่อยากแสดงให้เห็นถึง
ความสวยงาม ความยิ่งใหญ่ ความมีพลังและมีชีวิตชีวาของแอฟริกา

_____________

พริม โกมลกิติ นักออกแบบอิสระ สนใจการถ่ายภาพทิวทัศน์ที่ดูเรียบง่ายลงใน Primintheair และมีหนังสือท่องเที่ยวที่ได้รับการตีพิมพ์ในชื่อ Africa is not Africa

primintheair.com
fb.com/primintheair
instagram.com/primintheair

 

PHOTO ESSAY : GREENERY IN BANGKOK, DREAM OR ILLUSION?

TEXT & PHOTO: PUVADOL SAENGVICHIEN

(For English, please scroll down)

พื้นที่สีเขียวในเมืองกรุง, ความฝันหรือภาพลวง

ความฝันของคนจำนวนมากที่พักอาศัยกันอยู่อย่างแออัดในกรุงเทพมหานคร คือการที่ได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ในขณะที่พื้นที่สวนสาธารณะในเมืองหลวงของเรานั้น มีขนาดเพียงน้อยนิด เมื่อเทียบสัดส่วนกับขนาดพื้นที่ของอาคารบ้านเรือน ถนน และอาคารพาณิชย์ในรูปแบบต่างๆ ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกวัน

สิ่งที่เราพบเห็นในเมืองกรุงกันจนชินตาก็คือ ภาพจำลองของการได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สีเขียวที่ใช้ในการโฆษณาแข่งขันการขายโครงการที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆ รวมไปถึงการตกแต่งรั้วผนังของพื้นที่ก่อสร้าง อาคาร และสิ่งก่อสร้างต่างๆ บนถนนหนทาง ที่นำเอาภาพจำลองของธรรมชาติมาแปะประกอบกันเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของโครงการและเขตพื้นที่ของตนให้ตรงกับภาพเมืองในฝันของคนส่วนใหญ่

หากเราสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่า ภาพของการตกแต่งแบบฉาบฉวยเหล่านี้ค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา พวกมันเริ่มสื่อสารข้อความที่แตกต่างไปจากสิ่งที่ผู้สร้างตั้งใจ ผลลัพธ์ที่ได้กลับกลายเป็นการสะท้อนถึงความรู้สึกโหยหาธรรมชาติของชีวิตคนเมืองอันเต็มไปด้วยความฉาบฉวย เปรียบเสมือนเป็นภาพลวงของความฝันของคนเมืองที่ยังห่างไกลจากสภาพความเป็นจริงยิ่งนัก

_____________

ภูวดล แสงวิเชียร เกิดและเติบโตในจังหวัดสมุทรปราการ จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ และปริญญาโทสาขาธุรกิจด้านการตลาด มีประสบการณ์การทํางานในบริษัทต่างๆ ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม ออกแบบร้านค้าและผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการวางแผนทางการตลาดให้กับธุรกิจการค้าปลีกเป็นเวลารวม 18 ปี ปัจจุบันภูวดลได้ตัดสินใจทิ้งโลกทางธุรกิจไว้เบื้องหลังเพื่อให้เวลากับตัวเองอย่างเต็มที่ในการถ่ายภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวเองรัก

Packed in the concrete residences, Bangkokians have been sought for a dream of getting access to nature. However, there is a lack of parks in urban areas when compared with the ratio size of residences, roads, and commercial buildings that have been deliberately increasing nowadays.

What Bangkok has always been portrayed to us is the illustration of a green city fantasizing the chance of community getting closer to the environment. Those images were consistently used for promoting in several real estate advertisements. Moreover, many construction sites were decorated with vinyl posters simulating the green ambience in order to highlight their image towards the projects in a district and connect the individuals’ utopia dream of the city.

If we take a closer look, we will be able to steadily observe the transformation of the green decorations throughout the time. The messages included inside those images will appear to change differently from the beginning. The result seems to be a reflection of the city people’s intense desire for the true nature in order to recompense their shallow life. This reveals the illusion dream of city people that is still quite far away from reality.

_____________

Puvadol Saengvichien was born and raised in Samut Prakan Province. He holds a  Bachelor’s degree in Architecture and a Master’s degree in Business Administration (Marketing). For 18 years, he had been working in the field of architecture, retail and product management. He left the corporate world behind and devote most of the time to pursue his passion for Photography.

puvadolsaengvichien.com
instagram.com/pudols

OPENING TO THE NEW POSSIBILITIES


TEXT: PAPHOP KERDSUP
PHOTO: WASAWAT DECHAPIROM EXCEPT AS NOTED

“ช่องเปิด” ทางสถาปัตยกรรมในแต่ละยุคสมัยบอกอะไรกับเรา?

นอกเหนือไปจากการแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป “ช่องเปิด” — ซึ่งในที่นี้นับรวมทั้งประตู หน้าต่าง การเจาะช่องลงบนระนาบทางตั้งและทางนอนในงานสถาปัตยกรรม หรือกระทั่งการกรอบภาพด้วยองค์ประกอบอย่างผนัง — ยังเป็นเครื่องสะท้อนความสัมพันธ์ที่มนุษย์เรามีต่อบริบทแวดล้อมอย่างสภาพภูมิอากาศ พฤติกรรมการใช้สเปซ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแสงธรรมชาติ…

เดิมการเลือกใช้โครงสร้างประเภทผนังรับน้ำหนัก (wall-bearing) ในงานสถาปัตยกรรมไทยเป็นข้อจำกัดหนึ่งที่ทำให้การเจาะช่องเปิดนั้นมีขนาดที่ไม่ใหญ่นัก เช่น ผนังของอุโบสถ หรืออาคารพาณิชย์ยุคแรก ซึ่งทำให้ความรู้สึกที่มนุษย์มีต่อแสงสว่างและความมืดในอดีตนั้นแตกต่างไปจากปัจจุบัน เผลอๆ เราเองอาจจะเคยคุ้นเคยกับความงามในเงาสลัวที่สัมผัสต่างๆ นั้นคลุมเครือมากกว่าการเห็นทุกอย่างชัดแจ้งอยู่ตรงหน้าเสียด้วยซ้ำ

เมื่อเทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 จนเอื้อให้ผู้คนสามารถเปิดรับเอาแสงสว่างเข้ามาอยู่ร่วมกับการใช้ชีวิตได้มากขึ้นผ่านการใช้กระจกบานใหญ่และกรอบประตูหน้าต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์บานกรอบอะลูมิเนียมที่ได้มาตรฐานของ TOSTEM ประสบการณ์ที่คนไทยมีต่อแสงสว่างก็พลันเปลี่ยนตาม ไม่ว่าแสงนั้นจะเป็นแสงธรรมชาติในช่วงกลางวัน หรือแสงจากหลอดไฟในช่วงค่ำคืน เราเริ่มได้กลับมาชื่นชมความสุนทรีย์ของแสงมากกว่าเคยอีกครั้ง

เมื่อสถาปัตยกรรมเดินทางมาถึง ณ ขณะปัจจุบัน ประสบการณ์ที่เรามีต่อสเปซเริ่มหลากหลาย ความคุ้นชินที่เกิดขึ้นจาก “ช่องเปิด” ที่เปลี่ยนไปตามแต่ละยุคสมัยทำให้เราเริ่มมองเห็นภาพรอบตัวในมุมมองที่แตกต่าง ภาพที่ถูกกรอบขึ้นเมื่อมองออกไปยังนอกหน้าต่าง ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้การเดินลัดเลาะไปรอบกรุงเทพฯ แล้วบังเอิญมองไปเห็นภาพปลายตาเป็นสถาปัตยกรรมสักแห่งที่ถูกกรอบไว้ด้วยผนังริมทาง

tostemthailand.com

PHOTO ESSAY : THE WELL

TEXT & PHOTO: KUKKONG THIRATHOMRONGKIAT

(For English, press here)

บ่อน้ำ (Well)

คำนี้ผุดขึ้นทันที ราวกับมันเกาะนิ่งอยู่ที่ริมฝีปาก เฝ้ารอเวลาอยู่ชั่วนานขณะ ความจริงแล้วผมยังไม่เคยฝันถึงมัน เหมือนที่มักพบเห็นได้จากตัวละครในหนังลึกลับ-ซับซ้อน อยู่บ่อย แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า มันเป็นส่วนหนึ่งในช่วงชีวิตการเติบโตขึ้นมา… (ของ) ผม ในช่วงเวลาที่ความรับผิดชอบต่อโลกหรือมวลมนุษย์ ยังน้อยนิด ในที่ๆ ห่างจากคำว่า “ศิวิไลซ์” กำแพงอิฐบล็อกสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่สวนหลังบ้านขนาดราวครึ่งไร่เศษ ภายใต้กฎการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียม…กฎแสนสามัญ ดั่งเช่นการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ ผมใช้เวลาที่เหมือนจะมีอยู่อย่างไม่สิ้นสุด ไปกับการสร้างและทำลายทุกสรรพสิ่งที่ดำรงอยู่ในนั้น เพื่อให้ก่อเกิดบางสิ่ง หล่อเลี้ยงกาลเวลา และทุบทำลายมัน เมื่อเริ่มมีสัญญาญเตือนถึงการแผ่ขยายล้ำขอบเขตนี้ออกไป

ภายใต้กฎการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียม… กฎแสนสามัญ ดั่งเช่นการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์

บ่อน้ำบาดาลขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 90 เซนติเมตร ตั้งอยู่ตรงกลางของสวนหลังบ้านนี้ ฝาบ่อถูกปิดสนิทด้วยแผ่นไม้และกองสังกะสีอีกราว 2-3 แผ่น ท่อเหล็กต่อผ่านปั๊มน้ำหย่อนลึกลงไป ปลายท่อกลืนหายไปกับความมืด และเมื่อแสงสว่างไม่อาจส่งไปถึง ความลึกจึงปรากฏอย่างชัดเจน… ผมย่อยตัวให้เล็ก หายใจให้ละเอียดลง และเมื่อทุกอย่างเล็กลงพอเหมาะ ผมจะแทรกตัวผ่านรอยต่อของฝาบ่อที่ปิดอยู่ได้ หย่อนตัวลงในนั้น… 4-5 วันอย่างน้อย หรือหากโชคดีหน่อย ก็จะสามารถอยู่ในนั้นได้นานเป็นเดือน ก่อนที่ความอึดอัดจะถาโถมเข้ามาอย่างไม่รู้ตัว…ต้องไม่ลืมว่า ต่อให้ผมย่อยตัวลงได้เล็กเพียงใด แต่กับความรู้สึกแล้ว ผมยังรับรู้ได้เท่าเดิม

ภายใต้กฎการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียม… กฎแสนสามัญ ดั่งเช่นการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์นี้ หลายคนเรียนรู้ บางคนยอมรับ และอีกมากมายที่ไม่ได้เรียนรู้เพื่อยอมรับ เขาพยายามแก้ไขดัดแปลง หรือบิดเบือนแล้วน้อมรับมันไว้ในเงื่อนไขของกาลเวลา หรือกระทั่งตั้งตนเป็นผู้ออกกฎเองก็มีให้พบเห็น… ด้วยอวิชชา

ในที่ซึ่งสีแดงเพียงแค่ดำรงอยู่แต่ไม่อาจปรากฎ ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ผลัดกันฉายแสงแต่ไม่อาจส่องถึง ภายใต้ความสงัด ผมเคยแอบคิดไปว่า ในที่นั้นเราอาจได้รับการยกเว้น

*ผลงานชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานชุด Eastern Song และ ขออุทิศให้แก่ดวงจิตวิญญาณหลงทาง หรือเพียงแค่กำลังร้อนรุ่ม กระสับกระส่าย อยู่ในหลุมบ่อภายใน… เพียงเพื่อดิ้นรนหาอิสรภาพและความเสมอภาค ในอุดมคติ

_____________

กึกก้อง ถิรธำรงเกียรติ เกิดปี พ.ศ. 2526 จบการศึกษาปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาปนิก ช่างภาพอิสระ และปัจจุบันกำลังเริ่มต้นทำนิตยสารเล่มหนึ่งชื่อ Window magazine

fb.com/kukkong.th

PHOTO ESSAY : NIGHT WANDER II

TEXT & PHOTO: MINTRA WONGBANCHAI

(For English, press here)

Night Wander II คือชุดภาพถ่ายต่อเนื่องจาก Night Wander ศิลปินถ่ายภาพบ้านชานเมืองบริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา จำนวนหลายหลัง ส่องกล้องมองลอดบานหน้าต่างหรือประตู ไปยังฉากกิจกรรมประจำวันและชีวิตอันธรรมดาสามัญที่เธอเป็นคนเซตขึ้น บางคนนั่งดูทีวี อ่านหนังสือ หรือทำความสะอาดบ้านของตัวเอง ในขณะที่บรรยากาศภายในบ้านส่องสว่างไปด้วยแสงไฟ ศิลปินยืนกดชัตเตอร์อยู่ในเงามืดของค่ำคืน

ในมุมของศิลปิน บรรยากาศยามค่ำคืนและแสงไฟทุกดวงภายในบ้านหลังนั้นของชุดภาพถ่าย Night Wander II คือการขยายภาพความรู้สึกอดกลั้น ความคิดถึงต่อครอบครัว ต่อสถานที่ที่จากมา และความโดดเดี่ยวอ้างว้างไร้ตัวตนของศิลปินเมื่อต้องอยู่ห่างจากคนรัก สังคม และวัฒนธรรมที่เคยอาศัยอยู่

_____________

มินตรา วงค์บรรใจ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาภาพถ่ายจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เคยได้รับตำแหน่งรองชนะเลิศจากรายการ Harper’s BAZAAR Canon Fashion Photography Award ในปี 2009 ทำงานสั่งสมประสบการณ์เป็นแฟชั่นสไตล์ลิสในกรุงเทพฯ ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะไปศึกษาต่อที่ Academy of Art ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่ที่ทำให้เธอหันมาสนใจการทำงานภาพถ่ายเชิงศิลปะ ปัจจุบัน มินตราพำนักและทำงานอยู่ในจังหวัดลำปาง โดยเป็นอาจารย์พิเศษ สาขาวิชาศิลปะการถ่ายภาพ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เธอชื่นชอบการถ่ายภาพตอนกลางคืน และเทคนิค long exposure เพราะเชื่อว่าความมืดยามค่ำคืนนั้นสามารถสื่อสารถึงความโดดเดี่ยวและความสงบไปได้พร้อมกัน  

mintrawongbanchai.com
fb.com/nightlighttherapy

PHOTO ESSAY : LEAVE ME A MESSAGE

TEXT & PHOTO: DONLAPORN CHANACHAI

(For English, press here)

บันทึกของเหตุการณ์ ในช่วงต้นปี ๒๕๖๓ ที่เกิดวิกฤตการณ์สำคัญเสียจนส่งผลให้ทั่วโลกเกิดการเปลี่ยน แปลงการใช้ชีวิตและปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ซึ่งเหตุการณ์ความไม่ปกตินี้ยิ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นในแต่ละวัน การออกไปสัมผัสกับวิถีชีวิตในเมืองและพื้นที่สาธารณะอย่างที่คุ้นเคย ดูจะเป็นเรื่องแปลกตาไปเสียทุกสิ่ง Physical Distancing” และ Social Distancing” กลายเป็นคำศัพท์ที่ควบคุมการใช้ชีวิตของผู้คนทั้งในบ้านและนอกบ้าน การใกล้ชิดและพูดคุยแบบตัวต่อตัวในพื้นที่สาธารณะ ก็ยิ่งแทบจะดูเป็น กฏใหม่ทางสังคมที่ต้องพึงปฏิบัติตาม

ในวันที่ผู้คนอยู่นอกบ้านน้อยลง สิ่งที่ปรากฎขึ้นมาแทนที่ คือ ข้อความที่ถูกทิ้งไว้ตามที่ต่างๆของเมือง และได้กลายเป็นสิ่งที่สะท้อนเหตุการณ์ต่างๆในช่วงเวลานี้ได้อย่างดี ทุกครั้งเมื่อมองเห็น ก็อดไม่ได้ที่จะออกเสียงตามในใจและจินตนาการถึงผู้เขียนประโยคเหล่านี้ ว่าข้อความเหล่านั้นถูกพูดด้วยน้ำเสียงความรู้สึกแบบใด และพวกเขาจะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางวิกฤตการณ์นี้ได้อย่างไร

_____________

ดลพร ชนะชัย ผู้ร่วมก่อตั้ง Cloud-floor บริษัทสถาปนิกที่มุ่งเน้นการศึกษางานออกแบบสถาปัตยกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่ส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่สาธารณะและเมือง มีความสนใจด้านการเก็บบันทึกรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์ สังคมและเมือง ผ่านภาพถ่ายในชีวิตประจำวัน

fb.com/donlaporn.chanachai
fb.com/thisiscloudfloor

PHOTO ESSAY : INTO THE MOUNTAINS

TEXT & PHOTO: CHAOVARITH POONPHOL

(For English, press here)

นี่คือครั้งที่สองที่ผมได้มาเดินบนเส้นทางนี้ ผมมาอันนะปุรณะ (Annapurna) ครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ช่วงฤดูร้อนที่สภาพอากาศช่างแตกต่างกับครั้งนี้โดยสิ้นเชิง ช่วงปลายเดือนธันวาคมข้ามปีใหม่อุณหภูมิจะลดลงไปได้ถึง 5 – 10°C และลดลงไปถึง -15°C บน Base Camp ไม่นับลมพายุที่พัดกระหน่ำใส่ การเดินครั้งนี้ต้องมีสมาธิอย่างมากในทุกๆ ก้าวเพราะทางเดินนั้นแทบจะเป็นน้ำแข็งตลอดเส้นทาง 
 
แต่ทุกๆ ก้าวนั้นคือการได้อยู่กับตัวเอง ความปวดล้า ความเจ็บปวดของขาทั้งสองข้างและหัวใจเต้นรัวเหนื่อยหอบ ทำให้ผมรู้จักตัวเองมากขึ้นทุกครั้ง ทริปนี้ใช้เวลาทั้งหมด 9 วัน รวมเป็นระยะทาง 124.7 กิโลเมตรภูเขา และสิ่งสำคัญที่สุดของการเดินทางครั้งนี้ก็ไม่ได้อยู่ที่กิโลเมตรสุดท้ายที่ผมไปถึง แต่มันคือทุกๆ ย่างก้าว คือระหว่างทาง ธรรมชาติรอบตัว เส้นทาง สภาพอากาศ และเพื่อนร่วมทาง
 

ภาพชุดนี้เป็นภาพที่ผมได้ถ่ายไว้ระหว่างเดินครั้งนั้น ขอตั้งชื่อว่า Into the Mountains

_____________

เชาวฤทธิ์ พูนผล จากสถาปนิกที่ทำงานออกแบบมาหลายปี หลงรักการถ่ายภาพจนกลายมาเป็นทั้งงานประจำและงานอดิเรก ปัจจุบันทำงานเป็นช่างภาพสถาปัตยกรรมในนาม SkyGround architectural film & photography ชอบการเดินทางและรักธรรมชาติ

 

 

PHOTO ESSAY : AT A STANDSTILL

TEXT & PHOTO: NATTASIT BUNRATSAMEE

(For English, press here)

 มิติของแสงและเงา กระทบและสะท้อนกันผ่านห้วงเวลาอันไม่รู้จบ รุนแรงและเงียบงัน จากนาทีไปสู่ชั่วโมง จากชั่วโมงไปสู่วัน หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หากแต่กลับหยุดนิ่งและถูกถ่ายทอดผ่านภาพถ่าย ความงดงามที่ปรากฏขึ้นมานั้นสะท้อนกลับไปอีกครั้ง ผ่านความทรงจำของฉัน ผ่านภาพที่คุณเห็น

_____________

ณัฐศิษฏ์ บุญรัศมี photographer, retoucher และ creative ขณะนี้เรียนต่อในสาขาศิลปะถ่ายภาพที่ประเทศฝรั่งเศส สนใจศิลปะร่วมสมัย การสร้างงานโฆษณาที่นำศิลปะในแขนงต่างๆ เข้ามาให้ดูสมดุล สวยงามและเข้าใจง่ายกับการตลาดของปัจจุบัน และสร้างงานศิลปะในรูปแบบ mise en scène photographie (การถ่ายภาพจัดฉากแสดง)

 

nattasitphotographer.com
fb.com/tumz.bunratsamee
ig: @tmzphotos

PHOTO ESSAY : WATCH YOUR STEP!

TEXT & PHOTO: THINGSMATTER

(For English, press here)

ถนนในกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยของระเกะระกะที่เป็นผลพวงมาจากหลายๆ สิ่งที่ดูเหมือนจะไม่สัมพันธ์กันแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็น ลัทธิทุนนิยม ความสุกเอาเผากิน รสนิยมคน อีโก้ของนักกราฟิตี้ ความไม่ชอบมาพากลของการทำงานของภาครัฐ ความขี้เกียจของคน อารมณ์เบื่อหน่ายของวินมอเตอร์ไซต์ ไปจนถึงเส้นสายไฟและสายโทรศัพท์ที่ไร้ซึ่งการจัดการอย่างมีระบบ และอื่นๆ อีกมากมาย เราพบเจอสิ่งเหล่านี้ได้ทุกตารางเมตร แต่มันก็สื่อถึงความฉลาด (ประหลาดๆ) และดึงดูดสายตาได้เป็นอย่างดี พื้นผิวและองค์ประกอบเหล่านี้สื่อสารกับวัฒนธรรมย่อยที่รายล้อมมันอยู่ราวกับบทกวี

แต่น้อยคนที่จะสังเกตเห็นสิ่งนี้ เพราะพวกเขามัวแต่จมจ่อมอยู่กับโทรศัพท์ในมือ เลื่อนจอขึ้นๆ ลงๆ และสนใจกับภาพที่จับต้องไม่ได้ ในงาน Bangkok Design Week ครั้งนี้ เราจึงจัดทำไกด์บุ๊คแนะนำวัตถุประหลาดๆ เหล่านี้บนถนนเอกมัย เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินเท้าแบบใหม่ ให้คนได้สังเกตเห็นสิ่งที่เขามองข้ามตลอดมา ภาพที่ถูกเลือกมาใส่ไว้ในนี้ถูกนำมาจากอีกหลายร้อยภาพที่ถูกถ่ายไว้ระหว่างการเดินเท้าจากปากซอยเอกมัยไปยังคลองแสนแสบเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ลองเดินตามเส้นทางนี้ด้วยตัวคุณเอง แล้วคุณจะเก็บภาพอีกชุดหนึ่งที่แตกต่างไปจากของเราอย่างสิ้นเชิ

_____________

thingsmatter เป็นสตูดิโอออกแบบที่ก่อตั้งโดยศาวินี บูรณศิลปิน และ Tom Dannecker สตูดิโอให้ความสนใจในการทำงานออกแบบที่ไร้พรมแดน และให้คุณค่ากับงานสถาปัตยกรรมในฐานะศิลปะ “Watch Your Step!” และงานอื่นๆ ที่ให้ความสนใจกับลักษณะทางกายภาพและวัฒนธรรมของสถาปัตยกรรมตามท้องถนนของพวกเขากำลังจัดแสดงอยู่ภายในสตูดิโอของ thingsmatter ในย่านเอกมัย ตั้งแต่ วันนี้ ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2020

thingsmatter.com

PHOTO ESSAY : SUPERNATURAL

TEXT & PHOTO: SANTANA PETCHSUK

(For English, press here)

มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เราเรียกว่า “ธรรมชาติแต่ด้วยความสามารถ สติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ หรือสิ่งใดๆ ก็แล้วแต่ แม้กระทั่งความกลัว ทำให้มนุษย์พยายามที่จะควบคุมหรือพยายามที่จะมีอำนาจเหนือธรรมชาติ ในรูปแบบของสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้  

เพราะฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าการสัมผัสรับรู้ถึงสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ (supernatural) ไม่จำเป็นต้องพึ่งพลังหรือสัมผัสพิเศษใดๆ หากแต่แค่ลองมองไปรอบตัวของเรา ก็อาจเห็นถึงอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ที่มนุษย์เราได้สร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยจนเรามองเป็นของธรรมดา ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติมาตั้งแต่ต้น

_____________

สันทนะ เพ็ชร์สุข ช่างภาพอิสระที่มีความสนใจในศิลปะและจิตวิทยา สำหรับเขา การถ่ายภาพเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ถ่ายทอดความคิดของเขาที่มีต่อสิ่งรอบตัว ความผิดที่ผิดทางและความไม่สมบูรณ์ มักจะดึงดูดความสนใจของเขา เพราะมันบ่งบอกและสะท้อนถึงพฤติกรรม วิธีคิด อันเป็นที่มาของความไม่สมบูรณ์นั้นๆ ปัจจุบันเขาสนใจในศิลปะภาพถ่าย Still Life และศิลปะ Collage

santanapetchsuk.com
fb.com/Santana-Petchsuk-Photography
ig: @santanapetchsuk