Category: PHOTO ESSAY

PHOTO ESSAY : GEOMETRY IN STREET PHOTOGRAPHY

TEXT & PHOTO: SITTICHAI MAIKUPANDIN

(For English, press here)

ขณะเดินถ่ายภาพ เรามักสังเกต และปรับมุมมองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวให้เป็นกลายเป็นรูปทรงเรขาคณิต เช่น สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรือวงกลม และเสาะหาเส้นสายอื่นๆ มาเพิ่มเติมเรื่องราวของภาพถ่าย ให้เกิดความสวยงามและน่าสนใจ

ในบ้านเราเรียกวิธีการถ่ายแบบนี้ว่า ‘สตรีทแบบกราฟิก’ ซึ่งก็ไม่ใช่เทคนิคใหม่ เพราะรูปทรงสถาปัตยกรรมนั้นเป็นองค์ประกอบที่ถูกหยิบมา “เล่น” ในภาพถ่ายกันบ่อยๆ ตั้งแต่ในอดีต เราประทับใจกับรูปทรง เส้นสาย สี และแสงเงา โดยเอามาจัดวางองค์ประกอบอย่างเรียบง่าย วางเฟรมให้ไม่รก แล้วเพิ่มดีกรีความสตรีทด้วยการเชื่อมโยงเข้ากับอะไรบางอย่าง หรือมีซับเจ็คที่น่าสนใจ เพื่อสร้างเรื่องราวให้กับภาพถ่ายใบนั้น

_____________

บอย สิทธิชัย ไม้คู่แผ่นดิน – ปัจจุบันทำคลิปวิดีโอขายในเว็ปสต็อค เริ่มถ่ายภาพสตรีทมาตั้งแต่ปี 2018 ต้องการพัฒนางานตัวเองให้ดีขึ้น และออกเดินทางไปถ่ายภาพในที่ต่างๆ ให้บ่อยกว่านี้

instagram.com/sitti

PHOTO ESSAY: (VESPA PRIMAVERA)RED, POWER(RED) by LOVE

TEXT: SUTEE NAKARAKORNKUL
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

art4d ได้มีโอกาสเดินทางไปที่ AUBE อีกครั้ง ในงาน (Vespa Primavera) RED, A Love for (RED) เพื่อร่วมชมการเผยโฉม (Vespa Primavera)RED สกู๊ตเตอร์สัญลักษณ์แห่งความรักรุ่นพิเศษจาก Vespa ที่ดีไซน์ขึ้นจากการร่วมมือกับ (RED) ด้วยเจตนารมณ์เพื่อช่วยเหลือ ให้ความรู้ และสนับสนุน Global Fund ในการต้านภัยเอดส์ โดยภายในงานนอกจากการนำสกู๊ตเตอร์มาจัดแสดงให้ได้ชมกันแล้ว การตกแต่งสเปซยังเป็นสิ่งที่น่าหยิบมาเล่าให้ฟังด้วยเหมือนกัน

สถานที่จัดงานในวันนี้ถูกเติมเต็มความมีชีวิตชีวาด้วยการตกแต่งในธีม “POWE(RED) by LOVE” โดยมีจุดเด่นเป็น “สีแดง” ที่ถูกนำมาใช้ตัดกับสีขาวโพลนของสเปซได้อย่างลงตัวลูกบอลลูนสีขาวลายเรขาคณิตสีแดงขนาดใหญ่ ถูกวางไว้เต็มพื้นที่คอร์ทกลางรอต้อนรับแขกตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาในงาน มากไปกว่าการทำหน้าที่เป็นพรอพถ่ายรูปน่ารักๆ แล้ว ลูกบอลลูนยังกลมกลืนไปกับเส้นโค้งนำสายตาของสถาปัตยกรรมได้อย่างน่าประหลาดใจ

decoration อื่นๆ ภายในงานถูกวางตำแหน่งการติดตั้งในจุดที่แสงเงาจากช่องว่างต่างๆ ที่ลอดผ่านตัวอาคารดึงดูดให้เราอยากเอาตัวเองเข้าไปถ่ายรูปตรงนั้น รวมไปถึงการนำสกู๊ตเตอร์ขึ้นไปวางบนพื้นที่ยกระดับที่สูงกว่าระดับสายตาได้อย่างไม่ เคอะเขิน เพราะรูปทรงและเส้นสายของตัวรถที่เป็นเอกลักษณ์ของ Vespa นั้น ล้อไปกับส่วนโค้งเว้าด้านบนของสถาปัตยกรรมอย่างพอดิบพอดี ปิดท้ายด้วยงานตกแต่งในห้องจัดงานหลักที่ต้อนรับแขกด้วยคอนเซ็ปต์ Afternoon Caffè Party ก็มาพร้อมกับธีมดีไซน์แบบ art & deco ที่สะท้อนถึงเรื่องราวของแบรนด์ Vespa ที่มักเชื่อมโยงกับผู้คนที่รักในศิลปะมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที

vespa.co.th
fb.com/vespathailand

PHOTO ESSAY : MY WIFE IS A PROP

TEXT & PHOTO: KRAIPOL JAYANETRA

(For English, press here)

ผมชอบเดินทางไปดูงานสถาปัตยกรรมในประเทศต่างๆ ทุกครั้งที่ไป ภรรยาของผมก็จะติดตามไปด้วย ผมสังเกตว่าขณะที่ผมกำลังเพลิดเพลินกับการเสพสเปซงานของสถาปนิกที่ผมรัก ภรรยาที่รักของผมกลับเดินเหม่อบ้าง นั่งหาวบ้าง เธอคงเบื่อกับการต้องดูตึก ส่องกำแพงทีละหลายชั่วโมง ผมจึงหาหน้าที่ให้เธอทำ นั่นก็คือการเดินไปเดินมาประกอบอยู่ในภาพถ่ายงานสถาปัตยกรรมของผม ภาพสถานที่กว้างๆ พอมีพรอพเล็กๆ ประกอบอยู่ มันก็ดูมีชีวิตชีวาขึ้นว่าไหมครับ

#เมียคือพรอพของภาพ

_____________

ไกรพล ชัยเนตร สถาปนิกเจ้าของ Alkhemist Architects ออฟฟิศออกแบบเล็กๆ เขาเป็นเนิร์ดในเรื่องสถาปัตยกรรมตะวันตก เขาสนุกในการขุดคุ้ยหาความรู้เก่าๆ จากการฟัง lecture ของสถาปนิกรุ่นใหญ่ในคลัง YouTube และใฝ่ฝันที่จะเห็นงานสถาปัตยกรรมตามที่เขาปักธงไว้ใน Google Maps

instagram.com/donnie_boy

PHOTO ESSAY : BOUNDARY

TEXT: NATHANICH CHAIDEE
PHOTO: CHANATHIP KAEWSUK

(For English, press here)

ภาพฝันของครอบครัว พ่อแม่ลูก และกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนสัตว์ บทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเป็นลูกสู่การเป็นพ่อคนสร้างมุมมองที่เปลี่ยนแปลงต่อสถานที่แห่งเดิม จากที่เคยตื่นเต้นกับสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ ท่ามกลางสวนที่ถูกจัดขึ้นให้กลายเป็นบ้านแบบจำเป็น กลายเป็นเส้นบางๆ ที่นำมาสู่การตั้งคำถามระหว่างป่าจริงหรือป่าเสมือน? ขอบเขตพื้นที่หรือกักขัง?

มโนทัศน์ถูกปรับเปลี่ยนผ่านประสบการณ์ชีวิต สู่การมองเห็นเส้นสายงดงามจากสรีระของสัตว์ต่างชนิด เค้าโครงร่างใหญ่นำพาเข้าสู่ความสงสัยในดวงตา ราวกับสัตว์เหล่านี้กำลังสื่อสารอะไรบางอย่างกับมนุษย์ที่กำลังมองสู่นัยน์ตาของมันอยู่

ภาพถ่ายทั้งหมดถ่ายทอดเค้าโครงแท้จริงที่มองเห็นด้วยตา ปรับเปลี่ยนก็เพียงสภาพแสงที่สว่างขึ้นหรือมืดลงเพื่อขับเน้นความงามของสรีระเส้นสายทางธรรมชาติให้ชัดเจนขึ้น และที่สำคัญคือยังคง “ดวงตา” ที่ไม่เคยโกหกเอาไว้ ให้คุณลองแปลความหมายผ่านมุมมองและประสบการณ์ชีวิตที่ต่างกันไปตามแต่ละบุคคล

_____________

ชนาธิป แก้วสุข เกิดและเติบโตที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาปริญญาตรีจากภาควิชานิเทศศิลป์ สาขาการถ่ายภาพ เทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ปัจจุบันเป็นช่างภาพ และเปิดบริษัท Mashlab ที่ทำงานเกี่ยวกับภาพถ่าย ตั้งแต่เริ่มคิดสร้างสรรค์ผลงาน ไปจนถึงการรีทัชภาพถ่ายเชิงพาณิชย์ จากแรงบันดาลใจจากการแสดงงานที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี เมื่อปี 2011 จึงแตกไลน์ผลงานภาพถ่ายส่วนตัวมาสู่ Fine Print by Mashlab ภาพถ่ายสำหรับงานตกแต่งภายใน ด้วยความเชื่อที่ว่า ภาพถ่ายก็เป็นผู้สร้างชีวิตให้กับพื้นที่ได้เช่นเดียวกัน

fb.com/mashlabphotography
instagram.com/chanathip_k

PHOTO ESSAY : UNCERTAINTIES OF THEIR HOPES

TEXT & PHOTO: AKKARA NAKTAMNA

(For English, press here)

ฝันล้ม

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นเหมือนตัวแทนที่ป่าวประกาศอย่างภาคภูมิว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ดูมีความเจริญทัดเทียมอารยประเทศ แต่ความเป็นจริงอาจไม่ได้สวยหรูขนาดนั้น คลื่นรบกวนมากมายแทรกแซงมาเป็นระยะๆ โดยอำนาจบางอย่าง ทำให้ประชาธิปไตยของไทยเดินทางอย่างกระท่อนกระแท่น ตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองในปี ๒๔๗๕ มีการรัฐประหาร ๑๓ ครั้ง จำนวนรัฐธรรมนูญที่มีมากถึง ๒๐ ฉบับ เป็นเสมือนหลักฐานที่โดดเด่นและสื่อความหมายมากกว่าอนุสาวรีย์ปูนที่เอาไว้ให้รถขับรถวนผ่านหรือเอาไว้วางกระถางดอกไม้เสียด้วยซ้ำ งานภาพถ่ายชุดนี้ถ่ายภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจากหน้าจอทีวีที่เกิดสัญญาณรบกวนจนทำให้เกิดภาพที่บิดเกลียว เป็นคลื่นขาดๆ หายๆ ชาวบ้านเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ภาพล้ม” ประชาธิปไตยไทยก็เหมือนกับภาพเหล่านี้ เปราะบาง อ่อนไหว ราวกับภาพฝัน แทรกแซงง่าย ล้มง่าย จนในที่สุดบีบให้ประชาชนต้องลุกขึ้นเอามือไปตบหลังทีวีให้ภาพกลับมาดูได้อีกครั้ง

_____________

อัครา นักทำนา เกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 1979 เริ่มถ่ายภาพด้วยตัวเองในปี 2008 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือภาพของ Elliott Erwitt และหนังเรื่อง Pecker ในปี 2012 เขาได้ร่วมก่อตั้งกลุ่มช่างภาพ Street Photo Thailand อัคราเคยเข้ารอบสุดท้ายของการประกวดภาพถ่ายแนวสตรีทตั้งแต่ปี 2013 ในเทศกาล Miami Street Photography Festival และได้แสดงผลงานในเทศกาลถ่ายภาพหลายรายการ อาทิเช่น Singapore Photo Festival 2016, Photo Bangkok Festival 2015-2018. Signs หนังสือภาพถ่ายของเขาที่ทำขึ้นในปี 2016 ปีเดียวกับงานแสดงภาพถ่ายเดี่ยวครั้งแรก ถูกรวบรวมเข้าไปไว้ที่ Franklin Furnace Archive และ MoMA Library กรุงนิวยอร์ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานประกวดหนังสือภาพถ่าย The Anamorphosis Prize อัคราก่อตั้งอีแมกกาซีน CTypeMag เพื่อโปรโมตงานภาพถ่ายชุดที่น่าสนใจทั่วโลก ตามด้วยโปรเจค 99 Thai New Photographers ในปี 2020 อัคราได้รับการเสนอชื่อให้เข้าร่วม Joop Swart Masterclass ของทาง World Press Photo โดยมานิต ศรีวานิชภูมิ

akkaranaktamna.com/series/uncertainties-of-their-hopes

PHOTO ESSAY : WEEKEND STAGE

TEXT & PHOTO: SOOPAKORN SRISAKUL

(For English, press here)

ผมคิดถึงที่นั่นในวันคล้ายวันหยุด

มีเพียงบางสถานที่ที่เราจะปรนนิบัติมันได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่แค่ทำงานจนมืดค่ำก็ไม่ได้หมายความว่าจิตของเราจะผูกพัน มันค่อนข้างแน่นอนว่าถ้าไม่อยู่กันดึกดื่นคงไม่มีใครเจอผี เรื่องมันมีอยู่ว่าเมื่อ 3 -10 กว่าปีก่อนที่สิ่งพิมพ์ยังไปได้สวย และที่ออฟฟิเรายังมีงานเลี้ยงฉลองอะไรสักอย่างที่ริมคลองบางกอกน้อย อันบรรจบกับคลองมหาสวัสดิ์ซึ่งเคยเป็นทางคมนาคมแต่เก่าก่อน นิ่มชวนน้องๆ (ซึ่งน่าจะเป็นเค้กและว่าน) ลงไปหอบเอาสิงห์และไฮเนเก้นใส่เสื้อจนตุงขึ้นมาส่งพี่ๆ ที่นั่งปั่นงานอยู่ชั้นสาม แม้ทุกวันนี้งานฉลองจะกลับมาอีกครั้งกับถังใส่น้ำแข็งที่มีแค่เบียร์ช้าง ที่เหลือคาตู้เย็นทุกครั้งเกือบสัปดาห์ จ๋อมอดีตเลขาและคุณแม่ของผมก็ยังยืนยันว่าถ้าเรื่องผีให้โทรไปถามพี่ซาร่า เพราะที่เล่ามาผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ 

บางตำนานเริ่มลางเลือนไม่ปะติดปะต่อ ในขณะที่บางรูปถ่ายเมื่อเดือนก่อนยังแสดงทัศนียภาพกับหน้าต่างบานกระทุ้ง และเฟรมกระจกอะลูมิเนียมที่ไม่ได้ทำสีอโนไดซ์ ซึ่งมักถูกเปิดออกรับลมพร้อมเสียงเรือในช่วงเวลาหลังหนึ่งทุ่มช่วงเดือนเมษาจนถึงปลายมีนาคม ผลไม้แห้งกรังริมระเบียงที่ไม่รู้ใครเอาไปวาง ไม่ว่าจะกล้วยแอปเปิ้ลหรือมะม่วงมัน ทำให้นึกถึงเสียงแหวกก้านใบหนาพุ่มที่กระรอกกระโดดไล่กันบนต้นหมากแดง พวกมันมีขนฟูสีดำแตกต่างจากพญากระรอก และกระรอกพันธุ์ขนสีน้ำตาลท้องขาว และถ้าตอนนี้เป็นเวลากลางวันพวกมันคงจะพากันไต่ต้นหูกระจงมาถึงหน้าต่างชั้นสาม

ท่ามกลางแดดร้อนในวันหยุด บางทีผมจะแอบสูบบุหรี่โดยยื่นแขนออกไปด้านที่ติดกับร่องสวนผลไม้ที่มีฉากหลังเป็นต้นยางนาคู่หนึ่งที่สูงที่สุดใน กทม. นี่เป็นการสูบบนชั้นสามในวันหยุดที่ต้องใช้หลักการง่ายๆ ก็คือ งอข้อศอกตามองศาบานกระทุ้ง แล้วชูบุหรี่มวนสุดท้ายไว้นอกหน้าต่างเพื่อดูทิศทางลม โดยที่ขาทั้งสองข้างคอยระวังหนามจากแคคตัส รวมถึงไม้อวบน้ำที่ชาวออฟฟิศชอบปลูกไว้ริมหน้าต่าง มู่ลี่อะลูมิเนียมสีขาววางตัวซ้อนกันในแนวยาวกับเชือกสองเส้นที่มีไว้ปรับองศา และใช้เชือกอีกคู่หนึ่งสำหรับรูดมันขึ้นจนสุด ด้วยกระแสลมเย็นจากระบบปรับอากาศรวมของอาคาร ทำให้มันทิ้งคราบละอองน้ำรูปสันทรายจากลมทะเลไว้บนกระจกเสมอ 

ในวันคล้ายวันหยุด ผมกลับไปที่นั่นอีกครั้ง บ่ายร้อนระอุฉายแสงฉาบประตูสแตนเลสด้านหน้าที่แทบไม่เคยปิดเลยตลอด 15 ปี พร้อมเสียงเตาะแตะจากรองเท้าแตะที่ผมลากผ่านป้อมยาม และโรงพิมพ์ขนาดใหญ่โตที่เกือบครึ่งถูกรีโนเวทให้เป็นอะไรสักอย่าง ในที่สุดเสียงนั้นก็มาหยุดตรงหน้าพี่ยามที่วันนี้ต้องทำหน้าที่วัดอุณหภูมิแทนเจ้าหน้าที่พยาบาล เขาเคยเล่าให้ฟังว่ามีบ้านอยู่จอมทองหรือที่ไหนสักที่แถวเอกชัยแต่ผมก็ไม่เคยเห็นเขากลับบ้านเลยสักครั้ง ด้วยเครื่องวัดที่ชี้มาบนหน้าผากแสดงผลสีแดง พี่ยามบอกผมว่าอากาศคงร้อนไปและบอกให้ผมลองเอาหน้าจ่อกับพัดลมเป็นครั้งที่สี่

บ่ายวันนี้น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะกลับไปโทรหาพี่ซาร่า และคงต้องส่งข้อความถามเบอร์เธอจากใครคนหนึ่ง

_____________

ศุภกร​ ศรี​สกุล ช่างภาพประจำนิตยสาร​บ้านและสวน รวมทั้งรูมแมกกาซีน​ นอกเหนือจากถ่ายภาพแนวสถาปัตยกรรม​แล้วมักถ่ายสิ่งใกล้ตัว​ (ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยคือแฟน)

behance.net/soopakornsrisakul

PHOTO ESSAY : BLINDING DUST

TEXT & PHOTO: PRIM KOMOLKITI

(For English, press here)

ตลอดเวลาหนึ่งเดือนที่ท่องเที่ยวคนเดียวในแอฟริกา
ไม่ว่าจะย้ายสักกี่เมือง ฝุ่นทรายก็ยังคงปลิวฟุ้งอยู่รอบตัว
แต่กลับมีฝุ่นอยู่ชนิดหนึ่งที่ค่อยๆ สลายไป

ฝุ่น ที่ก่อนหน้าเคยทำให้ทวีปนี้ดูหม่นหมองน่ากลัว
จนกลายเป็นภาพจำเพียงด้านเดียวที่คนส่วนใหญ่มีต่อแอฟริกา
แต่เมื่อได้สัมผัสจริงๆ ได้เห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่หลังม่านฝุ่นที่ลวงตา เห็นแบบปราศจากอคติ
ทุกอย่างก็ดูชัดเจนขึ้น เกิดเป็นแง่มุมที่น่าสนใจขึ้นมากมาย
ภาพถ่ายชุดนี้จึงเป็นเพียงอีกด้านหนึ่งที่อยากแสดงให้เห็นถึง
ความสวยงาม ความยิ่งใหญ่ ความมีพลังและมีชีวิตชีวาของแอฟริกา

_____________

พริม โกมลกิติ นักออกแบบอิสระ สนใจการถ่ายภาพทิวทัศน์ที่ดูเรียบง่ายลงใน Primintheair และมีหนังสือท่องเที่ยวที่ได้รับการตีพิมพ์ในชื่อ Africa is not Africa

primintheair.com
fb.com/primintheair
instagram.com/primintheair

 

PHOTO ESSAY : GREENERY IN BANGKOK, DREAM OR ILLUSION?

TEXT & PHOTO: PUVADOL SAENGVICHIEN

(For English, please scroll down)

พื้นที่สีเขียวในเมืองกรุง, ความฝันหรือภาพลวง

ความฝันของคนจำนวนมากที่พักอาศัยกันอยู่อย่างแออัดในกรุงเทพมหานคร คือการที่ได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ในขณะที่พื้นที่สวนสาธารณะในเมืองหลวงของเรานั้น มีขนาดเพียงน้อยนิด เมื่อเทียบสัดส่วนกับขนาดพื้นที่ของอาคารบ้านเรือน ถนน และอาคารพาณิชย์ในรูปแบบต่างๆ ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกวัน

สิ่งที่เราพบเห็นในเมืองกรุงกันจนชินตาก็คือ ภาพจำลองของการได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สีเขียวที่ใช้ในการโฆษณาแข่งขันการขายโครงการที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆ รวมไปถึงการตกแต่งรั้วผนังของพื้นที่ก่อสร้าง อาคาร และสิ่งก่อสร้างต่างๆ บนถนนหนทาง ที่นำเอาภาพจำลองของธรรมชาติมาแปะประกอบกันเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของโครงการและเขตพื้นที่ของตนให้ตรงกับภาพเมืองในฝันของคนส่วนใหญ่

หากเราสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่า ภาพของการตกแต่งแบบฉาบฉวยเหล่านี้ค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา พวกมันเริ่มสื่อสารข้อความที่แตกต่างไปจากสิ่งที่ผู้สร้างตั้งใจ ผลลัพธ์ที่ได้กลับกลายเป็นการสะท้อนถึงความรู้สึกโหยหาธรรมชาติของชีวิตคนเมืองอันเต็มไปด้วยความฉาบฉวย เปรียบเสมือนเป็นภาพลวงของความฝันของคนเมืองที่ยังห่างไกลจากสภาพความเป็นจริงยิ่งนัก

_____________

ภูวดล แสงวิเชียร เกิดและเติบโตในจังหวัดสมุทรปราการ จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ และปริญญาโทสาขาธุรกิจด้านการตลาด มีประสบการณ์การทํางานในบริษัทต่างๆ ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม ออกแบบร้านค้าและผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการวางแผนทางการตลาดให้กับธุรกิจการค้าปลีกเป็นเวลารวม 18 ปี ปัจจุบันภูวดลได้ตัดสินใจทิ้งโลกทางธุรกิจไว้เบื้องหลังเพื่อให้เวลากับตัวเองอย่างเต็มที่ในการถ่ายภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวเองรัก

Packed in the concrete residences, Bangkokians have been sought for a dream of getting access to nature. However, there is a lack of parks in urban areas when compared with the ratio size of residences, roads, and commercial buildings that have been deliberately increasing nowadays.

What Bangkok has always been portrayed to us is the illustration of a green city fantasizing the chance of community getting closer to the environment. Those images were consistently used for promoting in several real estate advertisements. Moreover, many construction sites were decorated with vinyl posters simulating the green ambience in order to highlight their image towards the projects in a district and connect the individuals’ utopia dream of the city.

If we take a closer look, we will be able to steadily observe the transformation of the green decorations throughout the time. The messages included inside those images will appear to change differently from the beginning. The result seems to be a reflection of the city people’s intense desire for the true nature in order to recompense their shallow life. This reveals the illusion dream of city people that is still quite far away from reality.

_____________

Puvadol Saengvichien was born and raised in Samut Prakan Province. He holds a  Bachelor’s degree in Architecture and a Master’s degree in Business Administration (Marketing). For 18 years, he had been working in the field of architecture, retail and product management. He left the corporate world behind and devote most of the time to pursue his passion for Photography.

puvadolsaengvichien.com
instagram.com/pudols

OPENING TO THE NEW POSSIBILITIES


TEXT: PAPHOP KERDSUP
PHOTO: WASAWAT DECHAPIROM EXCEPT AS NOTED

“ช่องเปิด” ทางสถาปัตยกรรมในแต่ละยุคสมัยบอกอะไรกับเรา?

นอกเหนือไปจากการแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป “ช่องเปิด” — ซึ่งในที่นี้นับรวมทั้งประตู หน้าต่าง การเจาะช่องลงบนระนาบทางตั้งและทางนอนในงานสถาปัตยกรรม หรือกระทั่งการกรอบภาพด้วยองค์ประกอบอย่างผนัง — ยังเป็นเครื่องสะท้อนความสัมพันธ์ที่มนุษย์เรามีต่อบริบทแวดล้อมอย่างสภาพภูมิอากาศ พฤติกรรมการใช้สเปซ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแสงธรรมชาติ…

เดิมการเลือกใช้โครงสร้างประเภทผนังรับน้ำหนัก (wall-bearing) ในงานสถาปัตยกรรมไทยเป็นข้อจำกัดหนึ่งที่ทำให้การเจาะช่องเปิดนั้นมีขนาดที่ไม่ใหญ่นัก เช่น ผนังของอุโบสถ หรืออาคารพาณิชย์ยุคแรก ซึ่งทำให้ความรู้สึกที่มนุษย์มีต่อแสงสว่างและความมืดในอดีตนั้นแตกต่างไปจากปัจจุบัน เผลอๆ เราเองอาจจะเคยคุ้นเคยกับความงามในเงาสลัวที่สัมผัสต่างๆ นั้นคลุมเครือมากกว่าการเห็นทุกอย่างชัดแจ้งอยู่ตรงหน้าเสียด้วยซ้ำ

เมื่อเทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 จนเอื้อให้ผู้คนสามารถเปิดรับเอาแสงสว่างเข้ามาอยู่ร่วมกับการใช้ชีวิตได้มากขึ้นผ่านการใช้กระจกบานใหญ่และกรอบประตูหน้าต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์บานกรอบอะลูมิเนียมที่ได้มาตรฐานของ TOSTEM ประสบการณ์ที่คนไทยมีต่อแสงสว่างก็พลันเปลี่ยนตาม ไม่ว่าแสงนั้นจะเป็นแสงธรรมชาติในช่วงกลางวัน หรือแสงจากหลอดไฟในช่วงค่ำคืน เราเริ่มได้กลับมาชื่นชมความสุนทรีย์ของแสงมากกว่าเคยอีกครั้ง

เมื่อสถาปัตยกรรมเดินทางมาถึง ณ ขณะปัจจุบัน ประสบการณ์ที่เรามีต่อสเปซเริ่มหลากหลาย ความคุ้นชินที่เกิดขึ้นจาก “ช่องเปิด” ที่เปลี่ยนไปตามแต่ละยุคสมัยทำให้เราเริ่มมองเห็นภาพรอบตัวในมุมมองที่แตกต่าง ภาพที่ถูกกรอบขึ้นเมื่อมองออกไปยังนอกหน้าต่าง ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้การเดินลัดเลาะไปรอบกรุงเทพฯ แล้วบังเอิญมองไปเห็นภาพปลายตาเป็นสถาปัตยกรรมสักแห่งที่ถูกกรอบไว้ด้วยผนังริมทาง

tostemthailand.com

PHOTO ESSAY : THE WELL

TEXT & PHOTO: KUKKONG THIRATHOMRONGKIAT

(For English, press here)

บ่อน้ำ (Well)

คำนี้ผุดขึ้นทันที ราวกับมันเกาะนิ่งอยู่ที่ริมฝีปาก เฝ้ารอเวลาอยู่ชั่วนานขณะ ความจริงแล้วผมยังไม่เคยฝันถึงมัน เหมือนที่มักพบเห็นได้จากตัวละครในหนังลึกลับ-ซับซ้อน อยู่บ่อย แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า มันเป็นส่วนหนึ่งในช่วงชีวิตการเติบโตขึ้นมา… (ของ) ผม ในช่วงเวลาที่ความรับผิดชอบต่อโลกหรือมวลมนุษย์ ยังน้อยนิด ในที่ๆ ห่างจากคำว่า “ศิวิไลซ์” กำแพงอิฐบล็อกสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่สวนหลังบ้านขนาดราวครึ่งไร่เศษ ภายใต้กฎการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียม…กฎแสนสามัญ ดั่งเช่นการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ ผมใช้เวลาที่เหมือนจะมีอยู่อย่างไม่สิ้นสุด ไปกับการสร้างและทำลายทุกสรรพสิ่งที่ดำรงอยู่ในนั้น เพื่อให้ก่อเกิดบางสิ่ง หล่อเลี้ยงกาลเวลา และทุบทำลายมัน เมื่อเริ่มมีสัญญาญเตือนถึงการแผ่ขยายล้ำขอบเขตนี้ออกไป

ภายใต้กฎการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียม… กฎแสนสามัญ ดั่งเช่นการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์

บ่อน้ำบาดาลขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 90 เซนติเมตร ตั้งอยู่ตรงกลางของสวนหลังบ้านนี้ ฝาบ่อถูกปิดสนิทด้วยแผ่นไม้และกองสังกะสีอีกราว 2-3 แผ่น ท่อเหล็กต่อผ่านปั๊มน้ำหย่อนลึกลงไป ปลายท่อกลืนหายไปกับความมืด และเมื่อแสงสว่างไม่อาจส่งไปถึง ความลึกจึงปรากฏอย่างชัดเจน… ผมย่อยตัวให้เล็ก หายใจให้ละเอียดลง และเมื่อทุกอย่างเล็กลงพอเหมาะ ผมจะแทรกตัวผ่านรอยต่อของฝาบ่อที่ปิดอยู่ได้ หย่อนตัวลงในนั้น… 4-5 วันอย่างน้อย หรือหากโชคดีหน่อย ก็จะสามารถอยู่ในนั้นได้นานเป็นเดือน ก่อนที่ความอึดอัดจะถาโถมเข้ามาอย่างไม่รู้ตัว…ต้องไม่ลืมว่า ต่อให้ผมย่อยตัวลงได้เล็กเพียงใด แต่กับความรู้สึกแล้ว ผมยังรับรู้ได้เท่าเดิม

ภายใต้กฎการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียม… กฎแสนสามัญ ดั่งเช่นการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์นี้ หลายคนเรียนรู้ บางคนยอมรับ และอีกมากมายที่ไม่ได้เรียนรู้เพื่อยอมรับ เขาพยายามแก้ไขดัดแปลง หรือบิดเบือนแล้วน้อมรับมันไว้ในเงื่อนไขของกาลเวลา หรือกระทั่งตั้งตนเป็นผู้ออกกฎเองก็มีให้พบเห็น… ด้วยอวิชชา

ในที่ซึ่งสีแดงเพียงแค่ดำรงอยู่แต่ไม่อาจปรากฎ ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ผลัดกันฉายแสงแต่ไม่อาจส่องถึง ภายใต้ความสงัด ผมเคยแอบคิดไปว่า ในที่นั้นเราอาจได้รับการยกเว้น

*ผลงานชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานชุด Eastern Song และ ขออุทิศให้แก่ดวงจิตวิญญาณหลงทาง หรือเพียงแค่กำลังร้อนรุ่ม กระสับกระส่าย อยู่ในหลุมบ่อภายใน… เพียงเพื่อดิ้นรนหาอิสรภาพและความเสมอภาค ในอุดมคติ

_____________

กึกก้อง ถิรธำรงเกียรติ เกิดปี พ.ศ. 2526 จบการศึกษาปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาปนิก ช่างภาพอิสระ และปัจจุบันกำลังเริ่มต้นทำนิตยสารเล่มหนึ่งชื่อ Window magazine

fb.com/kukkong.th