SPACESHIFT STUDIO HOUSE

FOR PIRAK ANURAKYAWACHON AND ARANYARAT PRATHOMRAT OF SPACESHIFT STUDIO, HOME IS THE PLACE TO RETURN BACK TO. AND WHEN THE ARCHITECTURAL PHOTOGRAPHY DUO SET OUT TO CREATE THEIR OWN HOME, IT ALSO BECAME THE PLACE WHERE EXPERIENCES AND FRIENDS MEET AND MINGLE

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: SPACESHIFT STUDIO EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

สิ่งที่ได้จากการตระเวนถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมมานานสิบกว่าปี ไม่ได้มีเพียงภาพถ่ายสวยๆ เท่านั้นที่ ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน และ อรัญรัตน์ ประถมรัตน์ แห่ง Spaceshift Studio ได้เก็บเกี่ยวเอาไว้เป็นประสบการณ์ หากยังรวมถึงคุณสมบัติของพื้นที่ว่างที่แตกต่างกันไป บรรยากาศที่น่าประทับใจ ความรู้ด้านวัสดุและการก่อสร้าง ตลอดจนมิตรภาพจากเพื่อนสถาปนิกที่ได้พบเจอ เมื่อถึงวันที่ทั้งสองคนต้องสร้างบ้านหลังใหม่ของตัวเอง เรื่องราวเหล่านั้นจึงถูกนำมาเรียบเรียงจัดวาง ตัดแปะ และประกอบร่าง เพื่อให้ได้บ้านหลังใหม่ออกมาอย่างสมใจหวัง “เราไม่ได้ทำงานออกแบบมานานมากแล้วนะ โชคดีที่เวลาออกไปถ่ายงาน ได้ออกไปดูหน้างานเยอะหน่อย ก็อาศัยจำดีเทลของงานนั้นงานนี้มา แล้วก็เอามาปรับเป็นของตัวเอง” ภิรักษ์เปรยให้เราฟัง

บ้านกึ่งสตูดิโอหลังใหม่ของ Spaceshift Studio มีลักษณะเป็นอาคารร่วมสมัยความสูงสองชั้น (พร้อมดาดฟ้าที่ขึ้นไปใช้งานได้) มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 180 ตารางเมตร บนพื้นที่ดินขนาด 39 ตารางวา ตัวอาคารชั้นสองถูกห่อล้อมด้วย façade ที่ทำจากแผ่นเหล็กเจาะรู และพับซิกแซ็กเพื่อสร้างความแข็งแรงให้แผ่นวัสดุ ซึ่งก็ทำให้ตัวบ้านมีรูปแบบและมุมมองที่น่าสนใจเกิดขึ้น  

โดยแต่เดิม ที่ดินของบ้านหลังนี้เป็นที่ตั้งของบ้านเก่ากึ่งปูนกึ่งไม้อายุประมาณ 50 ปี สภาพโครงสร้างอาคาร และระดับพื้นที่ต่ำกว่าถนนสาธารณะ กลายเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นมาตามกาลเวลา เมื่อถึงจุดที่พร้อม ทั้งคู่จึงตัดสินใจรื้อบ้านหลังเดิมเพื่อสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นมาแทน แต่การที่มีสถาปนิกสองคนต้องมาออกแบบบ้านหลังเดียวกันนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะจบลงง่ายๆ อรัญรัตน์จึงทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบ โดยมีภิรักษ์รับบทเป็นเจ้าของบ้าน และมีเพื่อนสถาปนิกและผู้รับเหมาหลายต่อหลายคนตบเท้าเข้ามาให้คำปรึกษากันอย่างสนุกสนาน

 

โจทย์แรกที่ภิรักษ์และอรัญรัตน์ตั้งขึ้นมาในกระบวนการออกแบบ คือการแก้ปัญหาที่มีอยู่ในบ้านหลังเดิม ซึ่งนอกจากเรื่องระดับดินเดิมที่ต่ำกว่าทางสาธารณะแล้ว ตัวอาคารที่เป็นบ้านจัดสรรซึ่งถูกออกแบบไว้เมื่อ 50 ปีที่แล้วนั้น ปัจจุบันแทบจะไม่ตอบโจทย์ในเรื่องทิศทางแสงแดด และเส้นทางลมธรรมชาติ ซึ่งมักจะทำให้พื้นที่ภายในอาคารมีความร้อนสะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาบ่ายถึงเย็น เนื่องจากหน้าบ้านนั้นหันไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผู้ออกแบบจึงแก้ปัญหาด้วยการยกระดับพื้นบ้านให้สูงขึ้นกว่าระดับถนนสาธารณะเพื่อสะดวกในการทำทางระบายน้ำ พร้อมกับวางผังอาคารใหม่ จากแต่เดิมที่กลุ่มพื้นที่ใช้สอยหลัก เช่น พื้นที่ทำงาน พื้นที่ครัว และทานอาหาร จะอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตก โดยมีโครงสร้างบันไดอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ก็จัดให้สลับกันเพื่อให้โครงสร้างที่ไม่ได้ใช้งานตลอดวันเป็นตัวช่วยป้องกันความร้อน และทำช่องเปิดเพื่อรับลมได้อีกทาง 

Ketsiree Wongwan

การสลับพื้นที่ใช้สอยเพื่อสร้างพื้นที่ป้องกันความร้อนลักษณะดังกล่าว ถูกนำมาใช้บนพื้นที่ชั้นสองด้วยเช่นกัน จากเดิมที่ห้องนอนถูกวางอยู่ค่อนไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นบริเวณที่ถูกแสงแดดส่องลงในตอนบ่าย และยังเป็นพื้นที่ที่ร้อนที่สุดของบ้าน อรัญรัตน์ได้สร้างพื้นที่คอร์ทที่มีลักษณะเป็น semi-outdoor มาแทนที่ โดยกำหนดให้เป็นส่วนพื้นที่ใช้สอยสำหรับซักรีด และตากผ้า แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นพื้นที่สำหรับกันความร้อนให้กับพื้นที่ห้องนั่งเล่น และห้องนอนที่อยู่ถัดเข้ามาด้านใน อีกทั้งยังมีการวางตำแหน่งช่องเปิดเพื่ออำนวยให้เกิดเส้นทางลม และการไหลเวียนของอากาศตลอดทั้งวันอีกด้วย พื้นที่คอร์ทดังกล่าวไม่เพียงช่วยป้องกันความร้อนที่จะแผ่เข้าไปสู่พื้นที่อื่นๆ แต่ยังเป็นไฮไลท์ของบ้านหลังนี้ ด้วยความงดงามของแสงเงาที่ส่องผ่านพื้นกระจกบนชั้นดาดฟ้า และผนังเหล็กซึ่งถูกออกแบบสำหรับบ้านนี้โดยเฉพาะ “ก็ซักผ้าตากผ้าไป ก็อภิเชษฐ์กับแสงเงาไปพร้อมๆ กัน” ภิรักษ์เสริม

ไม่เพียงปัญหาเรื่องแสงแดดเท่านั้นที่รบกวนใจผู้อยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ เพราะยังมีเรื่องความแออัดของบริบทโดยรอบ มุมมองภายนอกบ้านที่ไม่สวยงาม และการขาดความเป็นส่วนตัว ก็เป็นอีกหลายประเด็นที่ทั้งสองคนคิดว่าน่าจะหาวิธีแก้ไขได้ไม่ยากเกินไปนัก นอกจากผนังโดยรอบอาคารจะมีความหนา 20 เซนติเมตร ทั้งคู่ได้ออกแบบผนังอีกชั้นหนึ่งให้มีลักษณะเป็น double skin ให้เป็นฉากกั้นสำหรับพื้นที่ใช้สอยบนชั้นสอง ทั้งนี้ก็เพื่อลดทอนความจัดจ้านของแสงแดด และอำนวยให้เกิดความเป็นส่วนตัวทั้งในแง่ความปลอดภัยและมุมมอง

แต่ถึงแม้จะทดไว้ในใจเรียบร้อยแล้วว่าต้องมี double skin ห่อหุ้มรอบบ้าน แต่ระหว่างทางการก่อสร้าง ทั้งคู่ก็ยังตกลงกันไม่ได้ว่าควรนำวัสดุอะไรมาใช้ในการก่อสร้าง หลังจากที่ได้ทดลองทำแบบกับวัสดุหลายๆ ประเภท ผ่านการทำแบบจำลอง และ photomontage เพื่อค้นหา visualization ในแบบที่ต้องอยู่ไปกับมันทั้งชีวิต กระทั่งพวกเขาได้ไปถ่ายภาพโรงแรม Oui J’aime ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งได้ใช้ façade แผ่นเหล็กเจาะรูทำผิวสนิมเป็นตัวชูโรง ทั้งคู่ประทับใจในความบางและเบา รวมถึงสัจจะวัสดุของมัน จึงได้ตัดสินใจเลือกใช้วัสดุแบบเดียวกันนี้สำหรับใช้เป็นฉากกั้นให้กับตัวบ้าน พร้อมกับติดต่อ สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ แห่ง Walllasia สถาปนิกผู้ออกแบบโครงการ และรู้จักมักคุ้นกับทั้งคู่เป็นอย่างดี ให้มาช่วยออกแบบดีเทลของผนังเหล็กในส่วนนี้ให้

เริ่มต้นจากแผ่นเหล็กเจาะรูตามขนาดที่ต้องการและอยู่ในงบประมาณ สุริยะออกแบบการพับแผ่นเหล็กไว้ 5 รูปแบบเพื่อที่จะนำมาวางเรียงต่อเนื่องกันตามความเหมาะสมของเส้นรอบรูปตัวอาคาร หากสังเกตในรายละเอียดการผลิต รูปแบบการพับแผ่นเหล็กที่ Spaceshift Studio จะมีลักษณะเป็นแบบฟันปลาเพื่อช่วยเสริมการรับแรงของเหล็กแต่ละแผ่น และใช้จำนวนแผ่นเหล็กน้อยกว่า ซึ่งแตกต่างจากโครงการ Oui J’aime ซึ่งใช้การพับเหล็กแบบตั้งฉาก ขณะเดียวกัน façade ของบ้านหลังนี้ยังเป็นสนามทดลองของสุริยะในการทำน้ำยาเคลือบกันสนิมสูตรใหม่ที่เขาตั้งชื่อไว้เล่นๆ ว่า ‘ตะกวดบิน’ (Flying Here) ด้วยเช่นกัน “บ้านหลังนี้ไม่มีบริบทอะไรน่าสนใจ รอบๆ บ้านไม่มีอะไรให้ดูจริงๆ ก็เลยคิดว่างั้นก็ปิดบ้านแล้วสร้างสภาพแวดล้อมของเราเองขึ้นมา พี่สุริยะเป็นคนทำงานศิลปะ เราก็คิดเข้าข้างตัวเองว่าได้งานประติมากรรรมเหล็กสวยๆ ของพี่เขามาล้อมบ้านเราไว้ก็พึงใจแล้ว จริงๆ แล้ว อรัญรัตน์อยากได้แผ่นเหล็กสนิมแบบบ้านพี่สุริยะมาใช้นะ หนาๆ ตันๆ แมนๆ แต่ผมบอกว่าอย่าเลย” ภิรักษ์กล่าวสำทับอีกครั้ง 

นอกจากสถาปนิกกัลยาณมิตรอย่างสุริยะ ที่เข้ามาช่วยทำแบบผนังเหล็กให้แล้ว Spaceshift Studio ก็ยังได้ทีมสถาปนิกจาก CASE Studio และ ED The Builder มาช่วยในเรื่องเทคนิคการก่อสร้าง และรายละเอียดโครงสร้างที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะงานไม้ ซึ่งเป็นไม้เก่าคุณภาพดีที่ได้มาจากบ้านเก่าที่รื้อออก และบางส่วนจากบ้านต่างจังหวัดของทั้งคู่ “พอเราได้ทีมช่างไม้มาจาก ED The Builder และดีเทลงานไม้มาจาก CASE Studio มาประกอบร่างกัน เรื่องงานไม้ภายในบ้านแบบที่เราต้องการ ก็มีคนทักเหมือนกันว่าดีเทลคล้ายของบ้านพี่ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ เราก็บอกว่าใช่ ก็ถือว่าโชคดี มีบ้านพี่ป่องเป็นโมเดล 1:1 ให้เห็นก่อน” อรัญรัตน์เสริมในประเด็นนี้

Ketsiree Wongwan

ขณะที่เขียนบทความนี้ ก็เป็นระยะเวลาหนึ่งปีพอดี ที่ภิรักษ์และอรัญรัตน์ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังใหม่ของพวกเขา แม้ว่าจะยังไม่เรียบร้อยทั้งหมด แต่ทั้งคู่ก็รู้สึกดีใจ และสบายใจที่ได้กลับมาอยู่บ้านอีกครั้ง “บ้านก็คือที่ที่เราออกไปข้างนอก แล้วเราอยากกลับเข้ามาอีก เรารู้สึกปลอดภัย ต่อให้ไปที่ไหน มันอาจจะสบายกว่า สวยงามกว่า แต่สุดท้ายเราก็อยากกลับบ้านอยู่ดี” ทั้งคู่ทิ้งท้าย

spaceshiftstudio.com
facebook.com/SPACESHIFTSTUDIO

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *