หมวดหมู่: UPDATE
COLLECTING IN OTHER TIMES
TEXT: PAPHOP KERDSUP
PHOTO: SOOPAKORN SRISAKUL
(For English, press here)
สัปดาห์สุดท้ายแล้วของนิทรรศการ In Search of Other Times: Reminiscence of Things Collected นิทรรศการแรกของพื้นที่ศิลปะแห่งใหม่ในย่านจุฬาฯ-สามย่าน JWD Art Space ที่หลายๆ คนคงจะคุ้นเคยกับภาพของโครงกระดูกไดโนเสาร์ ‘สยามโมซอรัส สุธีธรนี’ ที่ถูกวางตั้งไว้คู่กับผลงาน Gogi-chan Sitting on Eternal Waste (2017) ของยุรี เกนสาคู ซึ่งเป็นเพียงบางส่วนของผลงานกว่า 70 ชิ้น ที่ถูกเลือกมาจากคอลเล็กชั่นของ 22 นักสะสมไทย สำหรับนิทรรศการนี้โดยเฉพาะ
ด้วยเพราะอีกพาร์ทหนึ่งของ JWD Art Space นอกเหนือจากการเป็นแกลเลอรี่สำหรับจัดแสดงงานศิลปะ คือการให้บริการด้านการดูแลและจัดเก็บงานศิลปะแบบครบวงจร ซึ่งครอบคลุมไปถึงการขนส่ง การประกันภัย การซ่อมแซม และให้คำปรึกษา นิทรรศการ In Search of Other Times ซึ่งได้ กิตติมา จารีประสิทธิ์ มารับหน้าที่เป็นคิวเรเตอร์ในครั้งนี้ ในด้านหนึ่งจึงดูเหมือนเกิดขึ้นเพื่อถูกใช้โชว์ศักยภาพในการให้บริการการขนส่งและจัดเก็บของ JWD Art Space ไปกลายๆ แต่แน่นอนว่านี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานหนึ่งที่เราสังเกตได้จากการมาอยู่รวมกันของผลงานศิลปะจำนวนมากภายในพื้นที่ขนาด 365 ตารางเมตรนี้เท่านั้น เพราะในแง่การนำเสนอเนื้อหาซึ่งเป็นความตั้งใจหลัก นิทรรศการก็ยังคงทำหน้าที่ของมันออกมาได้อย่างน่าสนใจ
แม้เนื้อหาหลักของ In Search of Other Times จะวนเวียนอยู่กับคำว่า “แสวงหา” และ “ค้นพบ” ซึ่งเป็นกริยาตั้งต้นที่มักนำมาสู่เหตุผลในการ “สะสม” ของเหล่านักสะสมอยู่เสมอ — เพราะออกแสวงหา แล้วค้นพบ จึงอยากเก็บสะสม — ทว่าอีกส่วนหนึ่งที่เรามองว่าน่าติดตามสำหรับนิทรรศการนี้คือรูปแบบการจัดแสดง ที่หยิบเอาการวางเรียงกันของวัตถุในลักษณะที่คล้ายกับที่พบได้ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติมาใช้ ซึ่งด้วยวิธีการนี้เอง In Search of Other Times สามารถช่วยให้เราทำความเข้าใจในความหลากหลายของภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสังคมที่แปรเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราไม่มากก็น้อย เหนือสิ่งอื่นใด วิธีการจัดแสดงนี้ยังฉายให้เราเห็นถึงภาพรวมของภูมิทัศน์การสะสมงานศิลปะในบ้านเรา ที่ประกอบขึ้นจากความสนใจที่หลากหลายอีกด้วย
ความพยายามผูกโยงเรื่องราวให้กับผลงานสะสมชิ้นต่างๆ ที่ถูกคัดเลือกมาจัดแสดงใน In Search of Other Times ของคิวเรเตอร์ ไม่ว่าจะด้วยการแสดงให้เห็นความเปรียบต่าง (contrast) ระหว่างช่วงเวลา หรือความย้อนแย้ง (contradiction) ซึ่งเกิดขึ้นจากการปะทะกันของธรรมชาติกับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นวิธีการที่ช่วยสร้างบทสนทนาระหว่างแต่ละชิ้นงานในอีกเส้นทางใหม่ที่คดเคี้ยวไปจากที่มันเคยมีอยู่เดิมได้ดี ถึงอย่างนั้น การที่นิทรรศการนี้ไม่มีป้ายคำอธิบายให้กับแต่ละชิ้นงาน ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เราอยากตำหนิ ก็ทำให้มันค่อนข้างจะเป็นไปได้ยากสำหรับคนทั่วไปพอสมควรที่จะสามารถทำความเข้าใจความเชื่อมโยงของความหมายเบื้องหลังเรื่องเล่าเหล่านี้ได้ หากไม่มีพื้นฐานความรู้ในผลงานแต่ละชิ้นมากพอ และถึงแม้จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำอธิบายอยู่ในพื้นที่ แต่มันก็คงจะสนุกไม่เท่ากับการที่ผู้ชมจะได้สร้างบทสนทนาให้กับผลงานศิลปะสะสมแต่ละชิ้นที่เห็นอยู่ตรงหน้ากันอย่างอิสระในแบบของพวกเขาเอง
หากยังไม่แน่ใจว่านิทรรศการนี้จะพาเราไปพบเจอกับ “ช่วงเวลาที่แตกต่างออกไป” ในรูปแบบใด สามารถไปชม In Search of Other Times: Reminiscence of Things Collected กันได้ที่ JWD Art Space จนถึงวันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2020 นี้ ซึ่งในวันสุดท้ายนี้ยังจะมีกิจกรรม Curator’s Tour อีก 2 รอบ (14.00 น. และ 17.00 น.) โดย กิตติมา จารีประสิทธิ์ ซึ่งเธอจะพาเราไปสำรวจและร่วมทำความเข้าใจความหมายเบื้องหลังผลงานและนิทรรศการในครั้งนี้อีกด้วย รายละเอียดเพิ่มเติมติดตามได้ทาง fb.com/JWDArtSpace