Tag: Photo essay

PHOTO ESSAY : AYUTTHAYA, 2015 – 2021

TEXT & PHOTO: NAWAPAT DUSDUL

(For English, press here)

ชุดภาพถ่ายสถาปัตยกรรมเกิดใหม่ในอยุธยา ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2558 – 2564 บันทึกไว้ด้วยสมาร์ทโฟนขณะไปเยี่ยมชมสถานที่จริง จากโอกาสที่ผู้เขียนจับพลัดจับผลูได้ทำงานเป็นสื่อคลุกคลีแวดวงสถาปัตยกรรมและการออกแบบ และมักใช้สิทธิ์จากการเป็นคนพื้นเพ อาสาเป็นตัวแทนทีมไปสัมภาษณ์ผู้ออกแบบในแต่ละโปรเจ็คต์ด้วยความปรีติ
 
ไล่ตั้งแต่ The Wine Ayutthaya และ The Artisans Ayutthaya โดย ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา จาก Bangkok Project Studio, Baan Pomphet และ Sala Ayutthaya โดย ศิริยศ ชัยอำนวย และอริศรา จักรธรานนท์ แห่ง Onion จนล่าสุด The Summer Coffee Company Old Town โดย นพชัย อรรฆยะพิศุทธิ์ จาก Space+Craft
 
ผู้เขียนจึงอยากบันทึกภาพจากมุมมองของตัวเอง ผ่านช่วงเวลาที่แสงตกกระทบลงบนสถาปัตยกรรม ที่ผู้ออกแบบตีความและนำเสนอความเป็นอยุธยาออกมาในหลากมิติ เก็บเอาไว้ในฐานะชาวกรุงเก่า ที่หวังอย่างยิ่งว่าจะมีสถานที่ซึ่งเป็นมรดกใหม่ของเมืองเช่นนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น เพื่อตั้งอยู่คู่ขนานไปกับโบราณสถานที่ขึ้นหิ้งเป็นมรดกโลก
 
_____________
 
นวภัทร ดัสดุลย์ ปัจจุบันทำงานในสังกัดบ้านและสวน เป็นนักเล่าเรื่องที่ตัวเองอยากเล่าเป็นบางครั้ง เล่าตามสั่งด้วยหน้าที่เป็นส่วนใหญ่ สนใจการถ่ายภาพธรรมชาติที่ไม่ต้องสั่งเปลี่ยนท่า สถาปัตยกรรมที่ไม่เขินกล้อง รวมถึงวัตถุที่หยุดนิ่งและเคลื่อนไหวโดยไม่ต้องร้องขอ
 

PHOTO ESSAY : FEEL COMPLICATED

TEXT & PHOTO: ANAN NARUPHANTAWAT

(For English, press here)

ภาพถ่ายแนวกราฟิกเป็นสไตล์ภาพที่ผมชอบเสมอ มันเรียบง่ายแต่กลับสื่ออารมณ์ในภาพได้มากมาย ความบังเอิญในวันหนึ่งที่พบกับมุมแปลกๆ ระหว่างทำงานย่านอารีย์ ทำให้ผมพบเจอกับตึกรูปทรงที่น่าสนใจ 

เส้นสายของโครงสร้างตัดกับกระจกอาคารทอดตัวยาวต่อเนื่อง สลับกันไปมาหลายๆ ชั้น ดึงความรู้สึกให้เราเคลื่อนไหวตามไปในทุกมิติ ความสลับซับซ้อนของตัวอาคารทำให้ผมรู้สึกเหมือนถูกดึงลงไปในห้วงอารมณ์ลึกๆ ที่มีอยู่ภายในจิตใจ พร้อมกับทำให้ค้นพบว่า บางทีงานสถาปัตยกรรมอาจไม่ได้ซับซ้อนเท่าจิตใจของมนุษย์เลยก็ว่าได้…

_____________

อานันท์ นฤพันธาวาทย์ ช่างภาพอิสระที่หลงใหลธรรมชาติและงานออกแบบ ชื่นชอบในการถ่ายทอดความรู้สึกต่างๆ ที่มีผ่านการลั่นชัตเตอร์ ปัจจุบันเปิดเพจถ่ายภาพด้านสถาปัตยกรรม Studio.Horizon

facebook.com/StudioHorizonPhotograp

PHOTO ESSAY : IN THAT MOMENT

TEXT & PHOTO: WARUT DUANGKAEWKART

(For English, press here)

ในบางช่วงเวลาของการใช้ชีวิต จะมีบางครั้งที่รู้สึกว่าทุกสิ่งรอบตัวนั้นพิเศษ จนอยากที่จะบันทึกเรื่องราวผ่านภาพถ่ายเอาไว้ เพราะสิ่งที่ปรากฎนั้นอาจเกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียว ที่ชวนให้สงบนิ่ง หยุดหายใจ หลงใหล และ อยากใช้เวลาอยู่กับบรรยากาศที่อยู่ตรงหน้า ที่ไม่ใช่เพียงสิ่งที่มองเห็น แต่รวมถึงเสียง กลิ่น อุณหภูมิ ไปจนถึงความรู้สึกที่สัมผัสได้

หากแต่การที่จะสัมผัสได้นั้น ไม่ใช่การเฝ้ารอเพื่อให้สิ่งต่างๆ มาอยู่ตรงหน้า หรือให้ผู้อื่นเป็นคนชี้นำ ท้ายที่สุด มีหลากหลายองค์ประกอบที่ร่วมก่อร่าง คัดสรร มองหา ปรุงแต่ง และรับรู้ ว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ณ ชั่วขณะนั้น เป็นช่วงเวลาที่โลกทั้งใบหยุดนิ่ง เป็นช่วงเวลาที่ถูกต้องอย่างแท้จริง

ต้นไม้ที่อยู่นอกหน้าต่าง ผ้าม่านที่รับแสงแดด ต้นหญ้าที่เคลื่อนไหวตามแรงลม หมู่ดอกเห็ดที่ขึ้นใต้ขอนไม้ บ้านไม้ธรรมดาริมถนน ผืนป่าและภูเขา ใบไม้ที่เลือนลาง เมืองที่ไม่คุ้นตา ดอกหญ้าที่สังเกตเห็น และอะไรบางอย่างที่เลือกจะมองให้ไม่ชัดเจน

_____________

วรุตร์ ดวงแก้วกาศ ทำงานสร้างสรรค์ในนาม lowerline studio โดยสนใจการผสมผสานระหว่าง สถาปัตยกรรม ศิลปะ และ ชีวิต ชื่นชอบในการสังเกตเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว เริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เห็น และหาคำตอบจากสิ่งที่เป็นอยู่

facebook.com/lowerlinestudio
instagram.com/lowerline.studio
behance.net/lowelinestudio

PHOTO ESSAY : FLUKE

TEXT & PHOTO: WATTIKON KOSONKIT

(For English, press here)

“ทำงาน เก็บเงิน และออกเดินทาง” เป็นคำแนะนำจากเจ้านายคนสุดท้ายของผม และไม่ใช่เรื่องแปลกที่สถาปนิกจะออกเดินทางไปแสวงบุญตามสถาปัตยกรรมที่ตนชื่นชอบไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ แต่สำหรับคนที่ทำงานจนวินาทีสุดท้ายก่อนเดินทาง ก็มักจะหยิบจับอุปกรณ์ถ่ายภาพที่ไม่เหมาะแก่การเก็บภาพตึกต่างๆ ที่ตนเองชื่นชอบ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการไปเยี่ยมงานต่างๆ และบันทึกไว้เพียงความทรงจำเพียงเท่านั้น ไม่สามารถบันทึกภาพสถาปัตยกรรมที่ตนชื่นชอบได้ แต่ในทางกลับกันการพยายามจดจำทุกจุดของอาคารให้ได้มากที่สุดก็มักจะหันไปเจออากัปกริยาของผู้คนที่อยู่ทั้งภายในและภายนอกอาคารนั้นที่น่าสนใจ จนเป็นเหตุให้เริ่มใส่ใจผู้คนที่ใช้อาคารมากกว่าตัวงาน ยิ่งพอเราไม่ใช่ช่างภาพมืออาชีพด้วยแล้วการรอ subject ให้เข้ามาในเฟรมภาพยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการหยิบเลนส์ผิดในแต่ละทริป จังหวะการเก็บภาพในแต่ละการเดินทาง ถ้าไม่เรียกว่าฟลุ๊คแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร

_____________

วัทธิกร โกศลกิตย์ – สถาปนิกตัวกลมพิกัด 100 กิโลกรัม ปัจจุบันทำงานเป็น Draftsman อยู่ FATTSTUDIO ชอบลาพักร้อนหนีเที่ยวเป็นเดือนเพื่อท่องเที่ยวไปตามสถาปัตยกรรมที่ชื่นชอบ และมีความสนใจด้านการถ่ายภาพบางประเภท

instagram.com/wattikon21

PHOTO ESSAY : AKITA GEOMETRY

TEXT & PHOTO: NATHANICH CHAIDEE

(For English, press here)

การเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนตั้งแต่สมัยประถม (อโณทัย อูปคำ – คิวเรเตอร์) ซึ่งย้ายถิ่นฐานมาพำนักชั่วคราวที่จังหวัดอะกิตะ ประเทศญี่ปุ่น นำมาสู่ประสบการณ์ใหม่ของการท่องเที่ยวที่เหมือนมีเพียงเราสองคนที่กำลังเดินท่องเที่ยวอยู่ ณ สถานที่เหล่านั้น 

ต้นเดือนมีนาคมปีที่แล้ว (2019) เราเดินทางจากกลางเมืองไปยังออนเซ็นน้ำนมที่ขึ้นชื่อของอะกิตะ ปกติจะมีรถบัสตรงจากสถานีไปถึงปลายทางเลย แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง รถบัสคันนั้นที่เราขึ้นไปนั่งจำเป็นต้องแวะเปลี่ยนรถที่ทะเลสาบทะซะวะ จริงอยู่ว่าเพื่อนเราเคยไปออนเซ็นนี้แล้วสองสามครั้ง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เธอได้แวะระหว่างทาง

ที่นั่นมีเพียงเราสองคนกับคู่หนุ่มสาวคู่หนึ่งที่ลงป้ายแห่งนี้ แม้จะเป็นทะเลสาบขึ้นชื่อของจังหวัดแต่จุดที่เราลงไม่ได้เป็นแลนด์มาร์คในแผนที่ท่องเที่ยวแต่อย่างใด ความตื่นเต้นของสถานที่ที่บังเอิญได้ไป เทือกเขาที่ทอดยาว น้ำทะเลสาบใสแจ๋ว หิมะที่ฉาบพื้นผิวบางๆ และบทสนทนาของคนที่ไม่ได้เจอกันนานยังคงตรึงในใจของเราสองคนจนถึงทุกวันนี้

หลังจากกลับมามองภาพรวมของรูปทั้งหมด เราสังเกตเห็นความสัมพันธ์ของรูปทรงเรขาคณิตหลากหลายขนาด ร้อยเรียงอยู่อย่างสงบนิ่ง

_____________

ณัฐนิช ชัยดี เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนย้ายเข้ามาสู่กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อในคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเบนสายเข้าสู่ความสนใจทางด้านดีไซน์เต็มตัว ด้วยการศึกษาต่อปริญญาตรีอีกใบ ที่ภาควิชาการออกแบบตกแต่งภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ โดยมีการถ่ายภาพด้วยฟิล์มเป็นงานอดิเรกที่ยังคงทำต่อเนื่องตั้งแต่เรียนมัธยมต้นจนถึงทุกวันนี้

instagram.com/skiixy

PHOTO ESSAY : GEOMETRY IN STREET PHOTOGRAPHY

TEXT & PHOTO: SITTICHAI MAIKUPANDIN

(For English, press here)

ขณะเดินถ่ายภาพ เรามักสังเกต และปรับมุมมองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวให้เป็นกลายเป็นรูปทรงเรขาคณิต เช่น สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรือวงกลม และเสาะหาเส้นสายอื่นๆ มาเพิ่มเติมเรื่องราวของภาพถ่าย ให้เกิดความสวยงามและน่าสนใจ

ในบ้านเราเรียกวิธีการถ่ายแบบนี้ว่า ‘สตรีทแบบกราฟิก’ ซึ่งก็ไม่ใช่เทคนิคใหม่ เพราะรูปทรงสถาปัตยกรรมนั้นเป็นองค์ประกอบที่ถูกหยิบมา “เล่น” ในภาพถ่ายกันบ่อยๆ ตั้งแต่ในอดีต เราประทับใจกับรูปทรง เส้นสาย สี และแสงเงา โดยเอามาจัดวางองค์ประกอบอย่างเรียบง่าย วางเฟรมให้ไม่รก แล้วเพิ่มดีกรีความสตรีทด้วยการเชื่อมโยงเข้ากับอะไรบางอย่าง หรือมีซับเจ็คที่น่าสนใจ เพื่อสร้างเรื่องราวให้กับภาพถ่ายใบนั้น

_____________

บอย สิทธิชัย ไม้คู่แผ่นดิน – ปัจจุบันทำคลิปวิดีโอขายในเว็ปสต็อค เริ่มถ่ายภาพสตรีทมาตั้งแต่ปี 2018 ต้องการพัฒนางานตัวเองให้ดีขึ้น และออกเดินทางไปถ่ายภาพในที่ต่างๆ ให้บ่อยกว่านี้

instagram.com/sitti

PHOTO ESSAY: (VESPA PRIMAVERA)RED, POWER(RED) by LOVE

TEXT: SUTEE NAKARAKORNKUL
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

art4d ได้มีโอกาสเดินทางไปที่ AUBE อีกครั้ง ในงาน (Vespa Primavera) RED, A Love for (RED) เพื่อร่วมชมการเผยโฉม (Vespa Primavera)RED สกู๊ตเตอร์สัญลักษณ์แห่งความรักรุ่นพิเศษจาก Vespa ที่ดีไซน์ขึ้นจากการร่วมมือกับ (RED) ด้วยเจตนารมณ์เพื่อช่วยเหลือ ให้ความรู้ และสนับสนุน Global Fund ในการต้านภัยเอดส์ โดยภายในงานนอกจากการนำสกู๊ตเตอร์มาจัดแสดงให้ได้ชมกันแล้ว การตกแต่งสเปซยังเป็นสิ่งที่น่าหยิบมาเล่าให้ฟังด้วยเหมือนกัน

สถานที่จัดงานในวันนี้ถูกเติมเต็มความมีชีวิตชีวาด้วยการตกแต่งในธีม “POWE(RED) by LOVE” โดยมีจุดเด่นเป็น “สีแดง” ที่ถูกนำมาใช้ตัดกับสีขาวโพลนของสเปซได้อย่างลงตัวลูกบอลลูนสีขาวลายเรขาคณิตสีแดงขนาดใหญ่ ถูกวางไว้เต็มพื้นที่คอร์ทกลางรอต้อนรับแขกตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาในงาน มากไปกว่าการทำหน้าที่เป็นพรอพถ่ายรูปน่ารักๆ แล้ว ลูกบอลลูนยังกลมกลืนไปกับเส้นโค้งนำสายตาของสถาปัตยกรรมได้อย่างน่าประหลาดใจ

decoration อื่นๆ ภายในงานถูกวางตำแหน่งการติดตั้งในจุดที่แสงเงาจากช่องว่างต่างๆ ที่ลอดผ่านตัวอาคารดึงดูดให้เราอยากเอาตัวเองเข้าไปถ่ายรูปตรงนั้น รวมไปถึงการนำสกู๊ตเตอร์ขึ้นไปวางบนพื้นที่ยกระดับที่สูงกว่าระดับสายตาได้อย่างไม่ เคอะเขิน เพราะรูปทรงและเส้นสายของตัวรถที่เป็นเอกลักษณ์ของ Vespa นั้น ล้อไปกับส่วนโค้งเว้าด้านบนของสถาปัตยกรรมอย่างพอดิบพอดี ปิดท้ายด้วยงานตกแต่งในห้องจัดงานหลักที่ต้อนรับแขกด้วยคอนเซ็ปต์ Afternoon Caffè Party ก็มาพร้อมกับธีมดีไซน์แบบ art & deco ที่สะท้อนถึงเรื่องราวของแบรนด์ Vespa ที่มักเชื่อมโยงกับผู้คนที่รักในศิลปะมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที

vespa.co.th
fb.com/vespathailand

PHOTO ESSAY : MY WIFE IS A PROP

TEXT & PHOTO: KRAIPOL JAYANETRA

(For English, press here)

ผมชอบเดินทางไปดูงานสถาปัตยกรรมในประเทศต่างๆ ทุกครั้งที่ไป ภรรยาของผมก็จะติดตามไปด้วย ผมสังเกตว่าขณะที่ผมกำลังเพลิดเพลินกับการเสพสเปซงานของสถาปนิกที่ผมรัก ภรรยาที่รักของผมกลับเดินเหม่อบ้าง นั่งหาวบ้าง เธอคงเบื่อกับการต้องดูตึก ส่องกำแพงทีละหลายชั่วโมง ผมจึงหาหน้าที่ให้เธอทำ นั่นก็คือการเดินไปเดินมาประกอบอยู่ในภาพถ่ายงานสถาปัตยกรรมของผม ภาพสถานที่กว้างๆ พอมีพรอพเล็กๆ ประกอบอยู่ มันก็ดูมีชีวิตชีวาขึ้นว่าไหมครับ

#เมียคือพรอพของภาพ

_____________

ไกรพล ชัยเนตร สถาปนิกเจ้าของ Alkhemist Architects ออฟฟิศออกแบบเล็กๆ เขาเป็นเนิร์ดในเรื่องสถาปัตยกรรมตะวันตก เขาสนุกในการขุดคุ้ยหาความรู้เก่าๆ จากการฟัง lecture ของสถาปนิกรุ่นใหญ่ในคลัง YouTube และใฝ่ฝันที่จะเห็นงานสถาปัตยกรรมตามที่เขาปักธงไว้ใน Google Maps

instagram.com/donnie_boy

PHOTO ESSAY : BOUNDARY

TEXT: NATHANICH CHAIDEE
PHOTO: CHANATHIP KAEWSUK

(For English, press here)

ภาพฝันของครอบครัว พ่อแม่ลูก และกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนสัตว์ บทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเป็นลูกสู่การเป็นพ่อคนสร้างมุมมองที่เปลี่ยนแปลงต่อสถานที่แห่งเดิม จากที่เคยตื่นเต้นกับสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ ท่ามกลางสวนที่ถูกจัดขึ้นให้กลายเป็นบ้านแบบจำเป็น กลายเป็นเส้นบางๆ ที่นำมาสู่การตั้งคำถามระหว่างป่าจริงหรือป่าเสมือน? ขอบเขตพื้นที่หรือกักขัง?

มโนทัศน์ถูกปรับเปลี่ยนผ่านประสบการณ์ชีวิต สู่การมองเห็นเส้นสายงดงามจากสรีระของสัตว์ต่างชนิด เค้าโครงร่างใหญ่นำพาเข้าสู่ความสงสัยในดวงตา ราวกับสัตว์เหล่านี้กำลังสื่อสารอะไรบางอย่างกับมนุษย์ที่กำลังมองสู่นัยน์ตาของมันอยู่

ภาพถ่ายทั้งหมดถ่ายทอดเค้าโครงแท้จริงที่มองเห็นด้วยตา ปรับเปลี่ยนก็เพียงสภาพแสงที่สว่างขึ้นหรือมืดลงเพื่อขับเน้นความงามของสรีระเส้นสายทางธรรมชาติให้ชัดเจนขึ้น และที่สำคัญคือยังคง “ดวงตา” ที่ไม่เคยโกหกเอาไว้ ให้คุณลองแปลความหมายผ่านมุมมองและประสบการณ์ชีวิตที่ต่างกันไปตามแต่ละบุคคล

_____________

ชนาธิป แก้วสุข เกิดและเติบโตที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาปริญญาตรีจากภาควิชานิเทศศิลป์ สาขาการถ่ายภาพ เทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ปัจจุบันเป็นช่างภาพ และเปิดบริษัท Mashlab ที่ทำงานเกี่ยวกับภาพถ่าย ตั้งแต่เริ่มคิดสร้างสรรค์ผลงาน ไปจนถึงการรีทัชภาพถ่ายเชิงพาณิชย์ จากแรงบันดาลใจจากการแสดงงานที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี เมื่อปี 2011 จึงแตกไลน์ผลงานภาพถ่ายส่วนตัวมาสู่ Fine Print by Mashlab ภาพถ่ายสำหรับงานตกแต่งภายใน ด้วยความเชื่อที่ว่า ภาพถ่ายก็เป็นผู้สร้างชีวิตให้กับพื้นที่ได้เช่นเดียวกัน

fb.com/mashlabphotography
instagram.com/chanathip_k

PHOTO ESSAY : UNCERTAINTIES OF THEIR HOPES

TEXT & PHOTO: AKKARA NAKTAMNA

(For English, press here)

ฝันล้ม

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นเหมือนตัวแทนที่ป่าวประกาศอย่างภาคภูมิว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ดูมีความเจริญทัดเทียมอารยประเทศ แต่ความเป็นจริงอาจไม่ได้สวยหรูขนาดนั้น คลื่นรบกวนมากมายแทรกแซงมาเป็นระยะๆ โดยอำนาจบางอย่าง ทำให้ประชาธิปไตยของไทยเดินทางอย่างกระท่อนกระแท่น ตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองในปี ๒๔๗๕ มีการรัฐประหาร ๑๓ ครั้ง จำนวนรัฐธรรมนูญที่มีมากถึง ๒๐ ฉบับ เป็นเสมือนหลักฐานที่โดดเด่นและสื่อความหมายมากกว่าอนุสาวรีย์ปูนที่เอาไว้ให้รถขับรถวนผ่านหรือเอาไว้วางกระถางดอกไม้เสียด้วยซ้ำ งานภาพถ่ายชุดนี้ถ่ายภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจากหน้าจอทีวีที่เกิดสัญญาณรบกวนจนทำให้เกิดภาพที่บิดเกลียว เป็นคลื่นขาดๆ หายๆ ชาวบ้านเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ภาพล้ม” ประชาธิปไตยไทยก็เหมือนกับภาพเหล่านี้ เปราะบาง อ่อนไหว ราวกับภาพฝัน แทรกแซงง่าย ล้มง่าย จนในที่สุดบีบให้ประชาชนต้องลุกขึ้นเอามือไปตบหลังทีวีให้ภาพกลับมาดูได้อีกครั้ง

_____________

อัครา นักทำนา เกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 1979 เริ่มถ่ายภาพด้วยตัวเองในปี 2008 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือภาพของ Elliott Erwitt และหนังเรื่อง Pecker ในปี 2012 เขาได้ร่วมก่อตั้งกลุ่มช่างภาพ Street Photo Thailand อัคราเคยเข้ารอบสุดท้ายของการประกวดภาพถ่ายแนวสตรีทตั้งแต่ปี 2013 ในเทศกาล Miami Street Photography Festival และได้แสดงผลงานในเทศกาลถ่ายภาพหลายรายการ อาทิเช่น Singapore Photo Festival 2016, Photo Bangkok Festival 2015-2018. Signs หนังสือภาพถ่ายของเขาที่ทำขึ้นในปี 2016 ปีเดียวกับงานแสดงภาพถ่ายเดี่ยวครั้งแรก ถูกรวบรวมเข้าไปไว้ที่ Franklin Furnace Archive และ MoMA Library กรุงนิวยอร์ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานประกวดหนังสือภาพถ่าย The Anamorphosis Prize อัคราก่อตั้งอีแมกกาซีน CTypeMag เพื่อโปรโมตงานภาพถ่ายชุดที่น่าสนใจทั่วโลก ตามด้วยโปรเจค 99 Thai New Photographers ในปี 2020 อัคราได้รับการเสนอชื่อให้เข้าร่วม Joop Swart Masterclass ของทาง World Press Photo โดยมานิต ศรีวานิชภูมิ

akkaranaktamna.com/series/uncertainties-of-their-hopes