Tag: Photo essay

PHOTO ESSAY : WEEKEND STAGE

TEXT & PHOTO: SOOPAKORN SRISAKUL

(For English, press here)

ผมคิดถึงที่นั่นในวันคล้ายวันหยุด

มีเพียงบางสถานที่ที่เราจะปรนนิบัติมันได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่แค่ทำงานจนมืดค่ำก็ไม่ได้หมายความว่าจิตของเราจะผูกพัน มันค่อนข้างแน่นอนว่าถ้าไม่อยู่กันดึกดื่นคงไม่มีใครเจอผี เรื่องมันมีอยู่ว่าเมื่อ 3 -10 กว่าปีก่อนที่สิ่งพิมพ์ยังไปได้สวย และที่ออฟฟิเรายังมีงานเลี้ยงฉลองอะไรสักอย่างที่ริมคลองบางกอกน้อย อันบรรจบกับคลองมหาสวัสดิ์ซึ่งเคยเป็นทางคมนาคมแต่เก่าก่อน นิ่มชวนน้องๆ (ซึ่งน่าจะเป็นเค้กและว่าน) ลงไปหอบเอาสิงห์และไฮเนเก้นใส่เสื้อจนตุงขึ้นมาส่งพี่ๆ ที่นั่งปั่นงานอยู่ชั้นสาม แม้ทุกวันนี้งานฉลองจะกลับมาอีกครั้งกับถังใส่น้ำแข็งที่มีแค่เบียร์ช้าง ที่เหลือคาตู้เย็นทุกครั้งเกือบสัปดาห์ จ๋อมอดีตเลขาและคุณแม่ของผมก็ยังยืนยันว่าถ้าเรื่องผีให้โทรไปถามพี่ซาร่า เพราะที่เล่ามาผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ 

บางตำนานเริ่มลางเลือนไม่ปะติดปะต่อ ในขณะที่บางรูปถ่ายเมื่อเดือนก่อนยังแสดงทัศนียภาพกับหน้าต่างบานกระทุ้ง และเฟรมกระจกอะลูมิเนียมที่ไม่ได้ทำสีอโนไดซ์ ซึ่งมักถูกเปิดออกรับลมพร้อมเสียงเรือในช่วงเวลาหลังหนึ่งทุ่มช่วงเดือนเมษาจนถึงปลายมีนาคม ผลไม้แห้งกรังริมระเบียงที่ไม่รู้ใครเอาไปวาง ไม่ว่าจะกล้วยแอปเปิ้ลหรือมะม่วงมัน ทำให้นึกถึงเสียงแหวกก้านใบหนาพุ่มที่กระรอกกระโดดไล่กันบนต้นหมากแดง พวกมันมีขนฟูสีดำแตกต่างจากพญากระรอก และกระรอกพันธุ์ขนสีน้ำตาลท้องขาว และถ้าตอนนี้เป็นเวลากลางวันพวกมันคงจะพากันไต่ต้นหูกระจงมาถึงหน้าต่างชั้นสาม

ท่ามกลางแดดร้อนในวันหยุด บางทีผมจะแอบสูบบุหรี่โดยยื่นแขนออกไปด้านที่ติดกับร่องสวนผลไม้ที่มีฉากหลังเป็นต้นยางนาคู่หนึ่งที่สูงที่สุดใน กทม. นี่เป็นการสูบบนชั้นสามในวันหยุดที่ต้องใช้หลักการง่ายๆ ก็คือ งอข้อศอกตามองศาบานกระทุ้ง แล้วชูบุหรี่มวนสุดท้ายไว้นอกหน้าต่างเพื่อดูทิศทางลม โดยที่ขาทั้งสองข้างคอยระวังหนามจากแคคตัส รวมถึงไม้อวบน้ำที่ชาวออฟฟิศชอบปลูกไว้ริมหน้าต่าง มู่ลี่อะลูมิเนียมสีขาววางตัวซ้อนกันในแนวยาวกับเชือกสองเส้นที่มีไว้ปรับองศา และใช้เชือกอีกคู่หนึ่งสำหรับรูดมันขึ้นจนสุด ด้วยกระแสลมเย็นจากระบบปรับอากาศรวมของอาคาร ทำให้มันทิ้งคราบละอองน้ำรูปสันทรายจากลมทะเลไว้บนกระจกเสมอ 

ในวันคล้ายวันหยุด ผมกลับไปที่นั่นอีกครั้ง บ่ายร้อนระอุฉายแสงฉาบประตูสแตนเลสด้านหน้าที่แทบไม่เคยปิดเลยตลอด 15 ปี พร้อมเสียงเตาะแตะจากรองเท้าแตะที่ผมลากผ่านป้อมยาม และโรงพิมพ์ขนาดใหญ่โตที่เกือบครึ่งถูกรีโนเวทให้เป็นอะไรสักอย่าง ในที่สุดเสียงนั้นก็มาหยุดตรงหน้าพี่ยามที่วันนี้ต้องทำหน้าที่วัดอุณหภูมิแทนเจ้าหน้าที่พยาบาล เขาเคยเล่าให้ฟังว่ามีบ้านอยู่จอมทองหรือที่ไหนสักที่แถวเอกชัยแต่ผมก็ไม่เคยเห็นเขากลับบ้านเลยสักครั้ง ด้วยเครื่องวัดที่ชี้มาบนหน้าผากแสดงผลสีแดง พี่ยามบอกผมว่าอากาศคงร้อนไปและบอกให้ผมลองเอาหน้าจ่อกับพัดลมเป็นครั้งที่สี่

บ่ายวันนี้น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะกลับไปโทรหาพี่ซาร่า และคงต้องส่งข้อความถามเบอร์เธอจากใครคนหนึ่ง

_____________

ศุภกร​ ศรี​สกุล ช่างภาพประจำนิตยสาร​บ้านและสวน รวมทั้งรูมแมกกาซีน​ นอกเหนือจากถ่ายภาพแนวสถาปัตยกรรม​แล้วมักถ่ายสิ่งใกล้ตัว​ (ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยคือแฟน)

behance.net/soopakornsrisakul

OPENING TO THE NEW POSSIBILITIES


TEXT: PAPHOP KERDSUP
PHOTO: WASAWAT DECHAPIROM EXCEPT AS NOTED

“ช่องเปิด” ทางสถาปัตยกรรมในแต่ละยุคสมัยบอกอะไรกับเรา?

นอกเหนือไปจากการแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป “ช่องเปิด” — ซึ่งในที่นี้นับรวมทั้งประตู หน้าต่าง การเจาะช่องลงบนระนาบทางตั้งและทางนอนในงานสถาปัตยกรรม หรือกระทั่งการกรอบภาพด้วยองค์ประกอบอย่างผนัง — ยังเป็นเครื่องสะท้อนความสัมพันธ์ที่มนุษย์เรามีต่อบริบทแวดล้อมอย่างสภาพภูมิอากาศ พฤติกรรมการใช้สเปซ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแสงธรรมชาติ…

เดิมการเลือกใช้โครงสร้างประเภทผนังรับน้ำหนัก (wall-bearing) ในงานสถาปัตยกรรมไทยเป็นข้อจำกัดหนึ่งที่ทำให้การเจาะช่องเปิดนั้นมีขนาดที่ไม่ใหญ่นัก เช่น ผนังของอุโบสถ หรืออาคารพาณิชย์ยุคแรก ซึ่งทำให้ความรู้สึกที่มนุษย์มีต่อแสงสว่างและความมืดในอดีตนั้นแตกต่างไปจากปัจจุบัน เผลอๆ เราเองอาจจะเคยคุ้นเคยกับความงามในเงาสลัวที่สัมผัสต่างๆ นั้นคลุมเครือมากกว่าการเห็นทุกอย่างชัดแจ้งอยู่ตรงหน้าเสียด้วยซ้ำ

เมื่อเทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 จนเอื้อให้ผู้คนสามารถเปิดรับเอาแสงสว่างเข้ามาอยู่ร่วมกับการใช้ชีวิตได้มากขึ้นผ่านการใช้กระจกบานใหญ่และกรอบประตูหน้าต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์บานกรอบอะลูมิเนียมที่ได้มาตรฐานของ TOSTEM ประสบการณ์ที่คนไทยมีต่อแสงสว่างก็พลันเปลี่ยนตาม ไม่ว่าแสงนั้นจะเป็นแสงธรรมชาติในช่วงกลางวัน หรือแสงจากหลอดไฟในช่วงค่ำคืน เราเริ่มได้กลับมาชื่นชมความสุนทรีย์ของแสงมากกว่าเคยอีกครั้ง

เมื่อสถาปัตยกรรมเดินทางมาถึง ณ ขณะปัจจุบัน ประสบการณ์ที่เรามีต่อสเปซเริ่มหลากหลาย ความคุ้นชินที่เกิดขึ้นจาก “ช่องเปิด” ที่เปลี่ยนไปตามแต่ละยุคสมัยทำให้เราเริ่มมองเห็นภาพรอบตัวในมุมมองที่แตกต่าง ภาพที่ถูกกรอบขึ้นเมื่อมองออกไปยังนอกหน้าต่าง ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้การเดินลัดเลาะไปรอบกรุงเทพฯ แล้วบังเอิญมองไปเห็นภาพปลายตาเป็นสถาปัตยกรรมสักแห่งที่ถูกกรอบไว้ด้วยผนังริมทาง

tostemthailand.com

PHOTO ESSAY : THE WELL

TEXT & PHOTO: KUKKONG THIRATHOMRONGKIAT

(For English, press here)

บ่อน้ำ (Well)

คำนี้ผุดขึ้นทันที ราวกับมันเกาะนิ่งอยู่ที่ริมฝีปาก เฝ้ารอเวลาอยู่ชั่วนานขณะ ความจริงแล้วผมยังไม่เคยฝันถึงมัน เหมือนที่มักพบเห็นได้จากตัวละครในหนังลึกลับ-ซับซ้อน อยู่บ่อย แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า มันเป็นส่วนหนึ่งในช่วงชีวิตการเติบโตขึ้นมา… (ของ) ผม ในช่วงเวลาที่ความรับผิดชอบต่อโลกหรือมวลมนุษย์ ยังน้อยนิด ในที่ๆ ห่างจากคำว่า “ศิวิไลซ์” กำแพงอิฐบล็อกสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่สวนหลังบ้านขนาดราวครึ่งไร่เศษ ภายใต้กฎการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียม…กฎแสนสามัญ ดั่งเช่นการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ ผมใช้เวลาที่เหมือนจะมีอยู่อย่างไม่สิ้นสุด ไปกับการสร้างและทำลายทุกสรรพสิ่งที่ดำรงอยู่ในนั้น เพื่อให้ก่อเกิดบางสิ่ง หล่อเลี้ยงกาลเวลา และทุบทำลายมัน เมื่อเริ่มมีสัญญาญเตือนถึงการแผ่ขยายล้ำขอบเขตนี้ออกไป

ภายใต้กฎการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียม… กฎแสนสามัญ ดั่งเช่นการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์

บ่อน้ำบาดาลขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 90 เซนติเมตร ตั้งอยู่ตรงกลางของสวนหลังบ้านนี้ ฝาบ่อถูกปิดสนิทด้วยแผ่นไม้และกองสังกะสีอีกราว 2-3 แผ่น ท่อเหล็กต่อผ่านปั๊มน้ำหย่อนลึกลงไป ปลายท่อกลืนหายไปกับความมืด และเมื่อแสงสว่างไม่อาจส่งไปถึง ความลึกจึงปรากฏอย่างชัดเจน… ผมย่อยตัวให้เล็ก หายใจให้ละเอียดลง และเมื่อทุกอย่างเล็กลงพอเหมาะ ผมจะแทรกตัวผ่านรอยต่อของฝาบ่อที่ปิดอยู่ได้ หย่อนตัวลงในนั้น… 4-5 วันอย่างน้อย หรือหากโชคดีหน่อย ก็จะสามารถอยู่ในนั้นได้นานเป็นเดือน ก่อนที่ความอึดอัดจะถาโถมเข้ามาอย่างไม่รู้ตัว…ต้องไม่ลืมว่า ต่อให้ผมย่อยตัวลงได้เล็กเพียงใด แต่กับความรู้สึกแล้ว ผมยังรับรู้ได้เท่าเดิม

ภายใต้กฎการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียม… กฎแสนสามัญ ดั่งเช่นการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์นี้ หลายคนเรียนรู้ บางคนยอมรับ และอีกมากมายที่ไม่ได้เรียนรู้เพื่อยอมรับ เขาพยายามแก้ไขดัดแปลง หรือบิดเบือนแล้วน้อมรับมันไว้ในเงื่อนไขของกาลเวลา หรือกระทั่งตั้งตนเป็นผู้ออกกฎเองก็มีให้พบเห็น… ด้วยอวิชชา

ในที่ซึ่งสีแดงเพียงแค่ดำรงอยู่แต่ไม่อาจปรากฎ ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ผลัดกันฉายแสงแต่ไม่อาจส่องถึง ภายใต้ความสงัด ผมเคยแอบคิดไปว่า ในที่นั้นเราอาจได้รับการยกเว้น

*ผลงานชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานชุด Eastern Song และ ขออุทิศให้แก่ดวงจิตวิญญาณหลงทาง หรือเพียงแค่กำลังร้อนรุ่ม กระสับกระส่าย อยู่ในหลุมบ่อภายใน… เพียงเพื่อดิ้นรนหาอิสรภาพและความเสมอภาค ในอุดมคติ

_____________

กึกก้อง ถิรธำรงเกียรติ เกิดปี พ.ศ. 2526 จบการศึกษาปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาปนิก ช่างภาพอิสระ และปัจจุบันกำลังเริ่มต้นทำนิตยสารเล่มหนึ่งชื่อ Window magazine

fb.com/kukkong.th

PHOTO ESSAY : INTO THE MOUNTAINS

TEXT & PHOTO: CHAOVARITH POONPHOL

(For English, press here)

นี่คือครั้งที่สองที่ผมได้มาเดินบนเส้นทางนี้ ผมมาอันนะปุรณะ (Annapurna) ครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ช่วงฤดูร้อนที่สภาพอากาศช่างแตกต่างกับครั้งนี้โดยสิ้นเชิง ช่วงปลายเดือนธันวาคมข้ามปีใหม่อุณหภูมิจะลดลงไปได้ถึง 5 – 10°C และลดลงไปถึง -15°C บน Base Camp ไม่นับลมพายุที่พัดกระหน่ำใส่ การเดินครั้งนี้ต้องมีสมาธิอย่างมากในทุกๆ ก้าวเพราะทางเดินนั้นแทบจะเป็นน้ำแข็งตลอดเส้นทาง 
 
แต่ทุกๆ ก้าวนั้นคือการได้อยู่กับตัวเอง ความปวดล้า ความเจ็บปวดของขาทั้งสองข้างและหัวใจเต้นรัวเหนื่อยหอบ ทำให้ผมรู้จักตัวเองมากขึ้นทุกครั้ง ทริปนี้ใช้เวลาทั้งหมด 9 วัน รวมเป็นระยะทาง 124.7 กิโลเมตรภูเขา และสิ่งสำคัญที่สุดของการเดินทางครั้งนี้ก็ไม่ได้อยู่ที่กิโลเมตรสุดท้ายที่ผมไปถึง แต่มันคือทุกๆ ย่างก้าว คือระหว่างทาง ธรรมชาติรอบตัว เส้นทาง สภาพอากาศ และเพื่อนร่วมทาง
 

ภาพชุดนี้เป็นภาพที่ผมได้ถ่ายไว้ระหว่างเดินครั้งนั้น ขอตั้งชื่อว่า Into the Mountains

_____________

เชาวฤทธิ์ พูนผล จากสถาปนิกที่ทำงานออกแบบมาหลายปี หลงรักการถ่ายภาพจนกลายมาเป็นทั้งงานประจำและงานอดิเรก ปัจจุบันทำงานเป็นช่างภาพสถาปัตยกรรมในนาม SkyGround architectural film & photography ชอบการเดินทางและรักธรรมชาติ

 

 

PHOTO ESSAY : AT A STANDSTILL

TEXT & PHOTO: NATTASIT BUNRATSAMEE

(For English, press here)

 มิติของแสงและเงา กระทบและสะท้อนกันผ่านห้วงเวลาอันไม่รู้จบ รุนแรงและเงียบงัน จากนาทีไปสู่ชั่วโมง จากชั่วโมงไปสู่วัน หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หากแต่กลับหยุดนิ่งและถูกถ่ายทอดผ่านภาพถ่าย ความงดงามที่ปรากฏขึ้นมานั้นสะท้อนกลับไปอีกครั้ง ผ่านความทรงจำของฉัน ผ่านภาพที่คุณเห็น

_____________

ณัฐศิษฏ์ บุญรัศมี photographer, retoucher และ creative ขณะนี้เรียนต่อในสาขาศิลปะถ่ายภาพที่ประเทศฝรั่งเศส สนใจศิลปะร่วมสมัย การสร้างงานโฆษณาที่นำศิลปะในแขนงต่างๆ เข้ามาให้ดูสมดุล สวยงามและเข้าใจง่ายกับการตลาดของปัจจุบัน และสร้างงานศิลปะในรูปแบบ mise en scène photographie (การถ่ายภาพจัดฉากแสดง)

 

nattasitphotographer.com
fb.com/tumz.bunratsamee
ig: @tmzphotos

PHOTO ESSAY : WATCH YOUR STEP!

TEXT & PHOTO: THINGSMATTER

(For English, press here)

ถนนในกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยของระเกะระกะที่เป็นผลพวงมาจากหลายๆ สิ่งที่ดูเหมือนจะไม่สัมพันธ์กันแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็น ลัทธิทุนนิยม ความสุกเอาเผากิน รสนิยมคน อีโก้ของนักกราฟิตี้ ความไม่ชอบมาพากลของการทำงานของภาครัฐ ความขี้เกียจของคน อารมณ์เบื่อหน่ายของวินมอเตอร์ไซต์ ไปจนถึงเส้นสายไฟและสายโทรศัพท์ที่ไร้ซึ่งการจัดการอย่างมีระบบ และอื่นๆ อีกมากมาย เราพบเจอสิ่งเหล่านี้ได้ทุกตารางเมตร แต่มันก็สื่อถึงความฉลาด (ประหลาดๆ) และดึงดูดสายตาได้เป็นอย่างดี พื้นผิวและองค์ประกอบเหล่านี้สื่อสารกับวัฒนธรรมย่อยที่รายล้อมมันอยู่ราวกับบทกวี

แต่น้อยคนที่จะสังเกตเห็นสิ่งนี้ เพราะพวกเขามัวแต่จมจ่อมอยู่กับโทรศัพท์ในมือ เลื่อนจอขึ้นๆ ลงๆ และสนใจกับภาพที่จับต้องไม่ได้ ในงาน Bangkok Design Week ครั้งนี้ เราจึงจัดทำไกด์บุ๊คแนะนำวัตถุประหลาดๆ เหล่านี้บนถนนเอกมัย เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินเท้าแบบใหม่ ให้คนได้สังเกตเห็นสิ่งที่เขามองข้ามตลอดมา ภาพที่ถูกเลือกมาใส่ไว้ในนี้ถูกนำมาจากอีกหลายร้อยภาพที่ถูกถ่ายไว้ระหว่างการเดินเท้าจากปากซอยเอกมัยไปยังคลองแสนแสบเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ลองเดินตามเส้นทางนี้ด้วยตัวคุณเอง แล้วคุณจะเก็บภาพอีกชุดหนึ่งที่แตกต่างไปจากของเราอย่างสิ้นเชิ

_____________

thingsmatter เป็นสตูดิโอออกแบบที่ก่อตั้งโดยศาวินี บูรณศิลปิน และ Tom Dannecker สตูดิโอให้ความสนใจในการทำงานออกแบบที่ไร้พรมแดน และให้คุณค่ากับงานสถาปัตยกรรมในฐานะศิลปะ “Watch Your Step!” และงานอื่นๆ ที่ให้ความสนใจกับลักษณะทางกายภาพและวัฒนธรรมของสถาปัตยกรรมตามท้องถนนของพวกเขากำลังจัดแสดงอยู่ภายในสตูดิโอของ thingsmatter ในย่านเอกมัย ตั้งแต่ วันนี้ ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2020

thingsmatter.com

PHOTO ESSAY : SUPERNATURAL

TEXT & PHOTO: SANTANA PETCHSUK

(For English, press here)

มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เราเรียกว่า “ธรรมชาติแต่ด้วยความสามารถ สติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ หรือสิ่งใดๆ ก็แล้วแต่ แม้กระทั่งความกลัว ทำให้มนุษย์พยายามที่จะควบคุมหรือพยายามที่จะมีอำนาจเหนือธรรมชาติ ในรูปแบบของสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้  

เพราะฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าการสัมผัสรับรู้ถึงสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ (supernatural) ไม่จำเป็นต้องพึ่งพลังหรือสัมผัสพิเศษใดๆ หากแต่แค่ลองมองไปรอบตัวของเรา ก็อาจเห็นถึงอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ที่มนุษย์เราได้สร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยจนเรามองเป็นของธรรมดา ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติมาตั้งแต่ต้น

_____________

สันทนะ เพ็ชร์สุข ช่างภาพอิสระที่มีความสนใจในศิลปะและจิตวิทยา สำหรับเขา การถ่ายภาพเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ถ่ายทอดความคิดของเขาที่มีต่อสิ่งรอบตัว ความผิดที่ผิดทางและความไม่สมบูรณ์ มักจะดึงดูดความสนใจของเขา เพราะมันบ่งบอกและสะท้อนถึงพฤติกรรม วิธีคิด อันเป็นที่มาของความไม่สมบูรณ์นั้นๆ ปัจจุบันเขาสนใจในศิลปะภาพถ่าย Still Life และศิลปะ Collage

santanapetchsuk.com
fb.com/Santana-Petchsuk-Photography
ig: @santanapetchsuk

 

PHOTO ESSAY : ON THE WALKWAY


TEXT & PHOTO: PAHPARN SIRIMA CHAIPREECHAWIT

(For English, press here)

ในการเดินทางไปยังจุดหมายต่างๆ หลายครั้งสิ่งที่ผ่านเข้ามาให้ได้พบเจอ “ระหว่างทาง” ก็มอบเรื่องและประสบการณ์ที่พิเศษให้เราได้จดจำ PHOTO ESSAY สัปดาห์นี้ art4d ถือโอกาสชวน ผ้าป่าน สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ ช่างภาพสตรีทหญิง หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Street Photo Thailand และภัณฑารักษ์นิทรรศการภาพถ่าย มาบอกเล่าเรื่องราวที่เธอพบเจอระหว่างการเดินทาง
.
“…คือส่วนหนึ่งของชีวิต ที่จะสะท้อนออกมาในภาพถ่าย และเรื่องราวของเราตลอดไป”

pahparnsirima.com
fb.com/ppsirima

 

 

PHOTO ESSAY : ALUM-NILE


TEXT & PHOTO: PEERAPAT WIMOLRUNGKARAT

(For English, press here)

บันทึกความทรงจำระหว่างทริปที่เกิดจากการกระโดดไปแจมทัวร์ของเพื่อนแบบคนใจง่าย
ครั้งที่ 2 ของ พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ (ADDCANDID)

กับเพื่อนแล้ว ชีวิตเรามักไม่มีอะไรซับซ้อน
แค่เพื่อนพูดคำว่า ‘อียิปต์’
เราก็ตอบทันทีว่า ‘ไปด้วย…’

แผนทุกอย่างเขาก็ทำกันไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่เราจะเดินทางไปกัน ไฟลท์เครื่องบิน เที่ยวรถไฟ ยันตั๋วเรือสำราญ เมื่อกล้าชวน ก็กล้าไป การเดินทางครั้งนี้ของผมเลยเริ่มต้นจากความเป็นคนใจง่าย ที่ทำให้ผมได้ไปตระเวนล่องแม่น้ำไนล์ เดินทอดน่องตามร่องอารยธรรมกับเพื่อน ได้บันทึกบางมุมมองไว้ในภาพ ให้มันเป็นความทรงจำที่ล้อไปตามเนื้อเพลงที่ว่าไว้ ต่อจากนี้ จะมีเรา…

#เราและไนล์

_____________

ADDCANDID – พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์
ช่างภาพผู้ชื่นชอบเก็บบันทึกภาพนิ่ง
ที่มีความเคลื่อนไหวในความทรงจำ

Leica Ambassador (Thailand)
Architecture photography @somethingarchitecture
Pocketbook A(dd)perture @abookpublishing

fb.com/addcandid
addcandid.com

PHOTO ESSAY : GOD IS IN DETAIL FOR DAILY LIFE

TEXT & PHOTO: XAROJ PHRAWONG

(For English, press here)

การออกแบบรายละเอียดสำหรับสถาปัตยกรรมในชีวิตประจำวันที่ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะผ่านการออกแบบของสถาปนิกและช่างชาวบ้าน ต่างก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจในสายตาของผมเอง เพราะมันผ่านการคิดเพื่อจุดประสงค์ในการแก้ปัญหาบางอย่าง หลายงานมีกลิ่นเซน ที่แม้จะดูเรียบง่ายมาก แต่กลับมีความละเอียดที่ต้องซ่อนอย่างแนบเนียนให้ดูน้อย

ในความน้อยแต่ยากเหล่านี้ ก่อเกิดเป็นความสนใจตลอดเวลาของการเดินทาง 3 ปี ในญี่ปุ่น ที่เก็บรายละเอียดที่ได้เห็นมาเล่าสู่กันฟังในภาพชุดนี้

_____________

สาโรช พระวงค์ สถาปนิก นักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อสาขาสถาปัตยกรรม ณ Kyoto Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น ช่วงที่เขาศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น เขาสนใจรายละเอียดต่างๆ ทั้งแง่มุมด้านศิลปะ การแก้ปัญหาของสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นในชีวิตประจำวันที่พบเจออย่างบังเอิญและตั้งใจ

fb.com/Xaroj-Photographic-Atelier