À table คือชื่อของ Serpentine Pavilion ในปีนี้ ซึ่งเปรียบเปรยถึงการเชื่อมสัมพันธ์ด้วยการนั่งรับประทานร่วมกัน พื้นที่และเฟอร์นิเจอร์ถูกสถาปนิกออกแบบเป็นวงกลมให้เกิดการ ‘ล้อมวง’ ซึ่งสร้าง ‘ความใกล้ชิด’ ระหว่างผู้คน และผู้คนกับธรรมชาติ
หมวดหมู่: UPDATE
KALM PENTHOUSE ARI
โครงการ low-rise condominium ที่สร้างความน่าสนใจด้วยแนวคิดที่แตกต่าง แนวทางการออกแบบ ‘Product design lead’ ที่ใช้สถาปัตยกรรมและคุณภาพการอยู่อาศัยเป็นที่ตั้ง ทำให้ทีมพัฒนาโครงการและ PAON Architects สถาปนิกผู้ออกแบบเชื่อว่า โครงการนี้จะขายได้ด้วยตัวเอง
NOT JUST LIBRARY
ห้องสมุดที่คงโครงสร้างและรูปแบบเดิมของ ‘ห้องอาบน้ำรวม’ ไว้ เกิดเป็นรูปแบบการอ่านหนังสือใหม่ๆ และพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนในการพบปะพูดคุยกัน ช่วยให้ห้องสมุดได้เป็นมากกว่า ‘แค่ห้องสมุด’
PINGTUNG PUBLIC LIBRARY
สตูดิโอสถาปัตยกรรมจากไต้หวัน MAYU Architects รีโนเวทห้องสมุดใหม่ทั้งภายนอกและภายใน ให้ได้บรรยากาศราวกับอ่านหนังสืออยู่ในสวน รวมถึงสร้างพื้นที่ให้เหมาะสมกับคนทุกวัยไม่ใช่เพียงนักเรียนนักศึกษา
NAGOYA ZOKEI UNIVERSITY
ผลงานการออกแบบของ Riken Yamamoto ภายใต้แนวคิดว่าอาคารไม่ควรปิดกั้นผู้ใช้จากโลกภายนอก สถาปนิกจึงผลักพื้นที่ใช้งานไว้ที่ขอบนอกและนำทางเดินซึ่งเชื่อมโยงแต่ละส่วนมาไว้ภายใน
HOUSE K
‘บ้านดิบๆ 3 ชั้น’ ฝีมือการออกแบบของ Bangkok Tokyo Architecture ที่ไม่จำกัดกรอบให้คนอยู่อาศัยว่าต้องใช้ชีวิตอย่างไร เปิดกว้างรับความเป็นไปได้หลายแง่มุม
ROADSIDE STATION SHONAN TENTO
จุดแวะพักรถสุดเตะตาในเมือง Shonan ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมาพร้อมผังและเส้นสายเรียบง่าย การปาดหลังคาและวางกรอบผนังให้ซิกแซกคือวิธีที่สตูดิโอสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น NASCA ทำให้อาคารโดดเด่นออกมา
TOJIRO KNIFE GALLERY TOKYO
ร้านมีดทำครัวเก่าแก่ฝีมือ KATATA YOSHIHITO DESIGN ซึ่งทุกองค์ประกอบถูกออกแบบในรูปลักษณ์เรียบนิ่ง ตัดกับกลิ่นอายในย่านการค้าอย่างอาซากุสะ เพื่อชูสินค้าให้โดดเด่น
CLOUD 11
ผลงานจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ MQDC, Snøhetta สตูดิโอสถาปัตยกรรมจากนอร์เวย์ และ A49 สตูดิโอสถาปัตยกรรมจากไทย ที่หมายมั่นเป็น hub ฟูมฟักความคิดสร้างสรรค์ของ creator ที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO COURTESY OF CLOUD 11 EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
“creator คนไทยเก่งมาก แต่เมืองไทยยังไม่มี hub ให้ creator มารวมตัวและร่วมมือกัน ทำให้คอนเทนต์เติบโตสู่ระดับสากล”
องศา จรรยาประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการ Cloud 11 เกริ่นให้เราฟังถึงไอเดียของโครงการ Cloud 11 ก่อนที่จะเปลี่ยนสไลด์ไปโชว์รูปอาคารโครงการอันใหญ่โต ดูเหมือนกรอบประตูบานเบ้อเริ่มที่ดึงดูดนักสร้างสรรค์และผู้คนโดยรอบให้เข้าไปใช้งาน
คงไม่ต้องเถียงกันแล้วว่าอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เช่น หนัง เกม ดนตรี ศิลปะ มีพลังทางเศรษฐกิจมากขนาดไหน ในปี 2020 กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของประเทศเกาหลีใต้ เผยรายงานออกมาว่า แค่เพลงดังทะลุโลก ‘Dynamite’ ของวง BTS เพลงเดียว ก็สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาลถึง 1.7 ล้านล้านวอน (หรือประมาณ 26,000 ล้านบาท)
ประเทศไทย เป็นประเทศที่เปี่ยมด้วยคนมากความสามารถและศักยภาพในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ เห็นได้จากบุคลากรในประเทศที่ออกไปคว้ารางวัลระดับนานาชาติมากมาย แต่เนื่องจากนักสร้างสรรค์และทรัพยากรเครื่องมือต่างๆ อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย เมื่อมองในภาพรวม อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยเลยขับเคลื่อนไปได้อย่างไม่ต่อเนื่อง เป็นเหมือนกระแสลมที่เดี๋ยวแรง เดี๋ยวแผ่วเบา
MQDC บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จึงผุดโครงการ Cloud 11 เพื่อเป็นแหล่งผนึกพลังสร้างสรรค์ของ creator ผ่านการสร้างแหล่งเรียนรู้ การสนับสนุนด้านเงินทุน พื้นที่ อุปกรณ์ เทคโนโลยี และโอกาสต่างๆ เพื่อติดปีก creator ให้ไปได้ไกลอย่างฝัน
และที่นี่ไม่ได้วาดหวังเป็นแค่พื้นที่สำหรับ creator ในประเทศไทยเท่านั้น
เพราะจุดหมายของ Cloud 11 คือการเป็น hub ของ creator ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
On Cloud 11
นักอุตุนิยมวิทยาจำแนกก้อนเมฆบนท้องฟ้าไว้ 10 ประเภทด้วยกัน โดยใช้ตัวเลข 0 ถึง 9 บ่งบอกถึงเมฆแต่ละประเภท 0 คือเมฆที่อยู่ระดับต่ำสุด ไล่ไปจนถึง 9 ซึ่งก็คือเมฆที่อยู่ระดับสูงสุด ในภาษาอังกฤษเลยมีสำนวนว่า on cloud 9 ที่แปลว่ามีความสุขมากๆ เหมือนได้ลอยบนเมฆที่สูงสุดในท้องฟ้า
แต่โครงการ Cloud 11 มีเลข 11 ห้อยท้ายชื่อแทนที่จะเป็นเลข 9 ตามสำนวน เพราะโครงการอยากเป็นพื้นที่ให้ creator ได้มีความสุข และเติบโตได้ไกลกว่าที่เคยเป็น
Cloud 11 ตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 27 ไร่ ติดกับถนนสุขุมวิทและอยู่ระหว่าง BTS ปุณณวิถีและ BTS อุดมสุข โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในการพลิกย่านสุขุมวิทใต้ ให้เป็นย่านนวัตกรรม
พื้นที่ใช้สอยโครงการที่มากถึง 254,000 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยส่วนประกอบหลักๆ 7 ส่วนด้วยกันคือ
Creative Office & Studio Space พื้นที่สำนักงานและสตูดิโอเปิดทำการ 24 ชั่วโมง ที่ออกแบบมาเพื่อเหล่า creator โดยเฉพาะ ที่นี่มีระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบทำความเย็นแบบเงียบและยืดหยุ่น เอื้อให้ creator ปลดปล่อยพลังความสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่
Hybrid Retail ศูนย์การค้าเพื่อส่งเสริมสินค้าและธุรกิจของนักสร้างสรรค์ หากนักสร้างสรรค์อยากต่อยอดทำธุรกิจก็สามารถนำสินค้ามาวางจำหน่ายได้ รวมถึงยังมีศูนย์สต็อก แพ็ก ส่งสินค้า และ cloud kitchen ที่สนับสนุนครีเอเตอร์สายอาหาร ที่อยากขายของแต่ยังไม่พร้อมลงทุนทำหน้าร้าน
Hotel โรงแรมสองรูปแบบทั้ง Smart Hotel และ Lifestyle Hotel จากเครือโรงแรมระดับโลกที่จะเปิดตัวในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก เพื่อรองรับการสร้างย่านนวัตกรรมในอนาคต
Education ส่วนการศึกษาไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยต่างๆ สำหรับสร้างบุคลากร creator ให้แข็งแกร่ง
Cultural พื้นที่รองรับกิจกรรมทางวัฒนธรรม อย่างเช่น โรงละคร ฮอลล์จัดงานคอนเสิร์ต
และไฮไลท์สำคัญก็คือ พื้นที่สีเขียวลอยฟ้าขนาดใหญ่ของโครงการ ที่เปิดให้คนในตึก รวมถึงสาธารณชนคนทั่วไปได้เข้ามาพักผ่อน และปะทะพลังความสร้างสรรค์
หัวหอกที่อยู่เบื้องหลังงานดีไซน์ของ Cloud 11 คือ Snøhetta สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมจากนอร์เวย์ ที่เคยฝากผลงานน่าสนใจเช่น Oslo Opera House หรือการปรับปรุงพื้นที่ Times Square ในเมือง New York ร่วมกับ A49 บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมเจ้าใหญ่ของเมืองไทย ผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบ True Digital Park ซึ่งรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการออกแบบและวางผังงานสถาปัตยกรรม
“เรารู้สึกยินดีมากที่ได้เข้าร่วมโปรเจ็คต์นี้ เราชอบแนวคิดอันท้าทายที่จะเชื่อมต่อโลกดิจิตัลและโลกแอนาล็อกเข้าด้วยกัน รวมถึงการนำเสนอต้นแบบอาคารใหม่ๆ” Kjetil Thorsen สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้งออฟฟิศ Snøhetta กล่าว
“โครงการนี้เริ่มต้นด้วยแนวคิดที่แตกต่าง และมีฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่าง ซับซ้อน ผสมผสานอยู่ข้างใน ทำให้เป็นโครงการหนึ่งที่เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่ง” นิธิศ สถาปิตานนท์ สถาปนิกจาก A49 ร่วมยืนยันถึงความท้าทายของโครงการ Cloud 11
อาคาร Cloud 11 ได้รับการเนรมิตเป็นกลุ่มอาคารที่ยืนรายล้อมคอร์ทพื้นที่สีเขียวตรงกลาง คนที่เดินเข้าอาคารมาจาก skywalk จะประจันหน้ากับจอ LED ขนาดใหญ่และกรอบอาคารที่ดูไม่ต่างกับประตูเมืองขนาดยักษ์ ซึ่งแสนจะล่อตาล่อใจให้เดินเข้าไปค้นหาว่ามีอะไรอยู่ข้างใน
“ช่องโล่งด้านหน้าที่เปิดออกไปสู่สวนตรงกลาง มีความกว้าง 40 กว่าเมตร อาคารด้านบนตั้งอยู่บนโครงสร้าง truss ที่พาดช่วงขนาดยาว ทำให้อาคารมีภาพเป็นเหมือนกรอบประตูขนาดใหญ่ข้างหน้า” นิธิศ พูดถึงหน้าตาอาคารด้านหน้าอันเป็นเอกลักษณ์
ตัวอาคารวางผังล้อมรอบสวนลอยฟ้าตรงกลาง ผลจากการวางอาคารเป็นคอร์ทคือร่มเงาที่ตกทอดลงมาที่สวน ทำให้คนสามารถใช้สวนได้อย่างสบายๆ แม้จะเป็นช่วงเวลาบ่ายที่แดดจัด ถึงอาคารจะวางล้อมสวนตรงกลาง แต่อาคารก็ไม่ได้ล้อมกรอบทึบจนอุดอู้ โดยรอบมีการเว้นช่องว่าง เพื่อเปิดให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามา และช่วยให้อากาศบริสุทธิ์ไหลเวียน
เมื่อมองในภาพรวม ภาพกลุ่มอาคารที่ถูกแบ่งเป็นก้อนๆ ก็สะท้อนความครึกครื้น และหลากหลายของกิจกรรมที่บรรจุในอาคารได้จากไกลๆ หากมองรูปลักษณ์อาคารจากรูปด้าน อาคารจะถูกแบ่งสัดส่วนออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ street level พื้นที่ส่วนฐานอาคารที่ได้แรงบันดาลใจการดีไซน์จากตึกแถว garden level พื้นที่ระดับสวน พร้อมเส้นแนวอาคารหยึกหยักรอบๆ ที่เชื่อมต่อเส้นสายจาก skywalk ด้านหน้า และสุดท้ายคือตัวอาคารด้านบนที่เรียกว่าระดับ skyline
“เลเยอร์ที่หลากหลายของพื้นที่ใช้สอยของโครงการนี้ สะท้อนออกมาผ่านรูปทรงอาคาร ผู้คนสามารถมองเห็นได้จากหน้าตาอาคารข้างนอกเลยว่าอาคารหลังนี้เต็มไปด้วยการใช้งานที่หลากหลาย มันเหมือนกับเมืองกรุงเทพฯ ขนาดย่อ” Kjetil Thorsen เล่าถึงที่มาของหน้าตาอาคาร “และช่องว่างตามจุดต่างๆ ของตึกก็สะท้อนถึงต้นไม้เดิมที่อยู่ใน site ด้วย เพราะงานนี้ต้องออกแบบโดยไม่ตัดต้นไม้ที่มีอยู่เดิม”
Beyond Cloud 11
โครงการอสังหาริมทรัพย์บางโครงการอาจเน้นการสร้างพื้นที่ขายให้มากๆ เพื่อให้ได้เม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำที่สุด แต่เหมือนว่า Cloud 11 จะไม่ได้เดินตามเส้นทางนั้น เพราะกลางอาคารคือพื้นที่สวนลอยฟ้าอันใหญ่โต คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมถึงยอมแลกพื้นที่ตึกไปกับสวน ?
Cloud 11 มองว่า สิ่งที่โครงการได้กลับมาจากพื้นที่ขายที่หายไป คือคนจำนวนมากที่จะเข้ามาใช้งานสวนกลางอาคาร ไม่ว่าจะเป็นคนในตึกเองหรือคนในละแวกโดยรอบ และนอกจากโครงการจะได้ประโยชน์แล้ว ชุมชนรอบข้างก็ได้พื้นที่สีเขียวผืนใหญ่มาใช้งานด้วย ซึ่งพื้นที่สีเขียวลอยฟ้าตรงนี้ ก็จะกลายเป็นพื้นที่สีเขียวลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ อีกด้วย
“ตอนเริ่มทำโครงการ เราเดินลงไปถามคนในชุมชนรอบข้างว่าเขาต้องการอะไรบ้าง หรือเราจะช่วยแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง ก็พบคนบ่นว่าไม่มีสวนสาธารณะดีๆ หรือไม่มีพื้นที่ออกกำลังกาย เราเลยตั้งใจสร้างสวนออกมา เพื่อให้คนมาใช้งาน” องศา จรรยาประเสริฐ เผย
นอกจากนั้น Cloud 11 ยังจับมือกับกทม. ปรับปรุงคุณภาพคลองด้านข้างโครงการ และพลิกโฉมให้กลายเป็น canal walk อำนวยความสะดวกการสัญจรของผู้คน และเชื่อมถนนสุขุมวิทด้านหน้าโครงการ กับซอยสุขุมวิท 66 ที่อยู่ข้างหลังเข้าด้วยกัน เป็นอีกผลลัพธ์ที่เกิดจากความตั้งใจของ MQDC รวมถึง Snøhetta และ A49 ที่อยากสร้างสรรค์โครงการให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและคนนอกตึก ไม่ใช่แค่คนในตึกเพียงอย่างเดียว
ในวันนี้ โครงการ Cloud 11 ก็เริ่มลงหลักปักเสาเข็มและเดินหน้าก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะพร้อมเปิดบริการในช่วงปลายปี พ.ศ. 2567 หวังว่าเจ้าก้อนเมฆก้อนสูงสุดบนท้องฟ้านี้ จะหอบหิ้วความฝันของ creator และนำความสุขมาสู่ชุมชนรอบข้างได้อย่างที่ใจหวัง
BAAN TROK TUA NGORK
อาคารตึกแถวอายุ 90 ปีที่ได้ Stu/D/O Architects มาช่วยปรับเปลี่ยนพื้นที่และโครงสร้างให้เหมาะสมกับการใช้งาน ในฐานะพื้นที่อิสระสำหรับปล่อยเช่าทั้งยังรักษาจิตวิญญาณและร่องรอยของชีวิตภายในอย่างสมบูรณ์
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: STU/D/O ARCHITECTS AND KUKKONG THIRATHOMRONGKIAT
(For English, press here)
ช่วงอายุ 90 ปี ถ้านับในแง่ชีวิตคงต้องเรียกว่าเป็นวัยชรา แต่สำหรับ ‘บ้านตรอกถั่วงอก’ อาคารเก่าอายุกว่า 90 ปีในละแวก ตรอกถั่วงอกในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ช่วงนี้คือช่วงที่ชีวิตกำลังก้าวเข้าสู่บันทึกบทใหม่
ตั้งแต่การเป็นบ้าน โรงงานผลิตน้ำพริก ออฟฟิศ ไปจนถึงอาคารที่พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกปิดร้างเอาไว้เปล่าๆ บ้านตรอกถั่วงอกเป็นอาคารที่ผ่านร้อนผ่านหนาว และผ่านการใช้งานโดยคนหลายชั่วอายุคน ตอนนี้บ้านตรอกถั่วงอกกำลังถูกชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการเป็นพื้นที่ให้เช่าสำหรับจัดนิทรรศการ จัดกิจกรรม และอาจต่อยอดไปเป็นฟังก์ชันอื่นๆ ด้วยในอนาคต โดยได้ Stu/D/O Architects มาเป็นผู้ออกแบบปรับปรุงอาคาร
บ้านตรอกถั่วงอกเป็นอาคารตึกแถวยาว 5 คูหาติดกัน ด้านหลังอาคารมีคอร์ทรูปสี่เหลี่ยมคางหมูที่มีด้านกว้างที่สุดกว้างเพียง 5 เมตร หลังคอร์ทก็มีอาคารเล็กๆ อีกหลังหนึ่งที่เคยทำหน้าที่เป็นบ้านพักของคนงานมาก่อน เดิมทีอาคารด้านหน้ามีความสูง 4 ชั้น แต่ภายหลังมีการต่อเติมห้องดาดฟ้าของอาคารเพิ่มเติมขึ้นไปอีกชั้นเพื่อใช้เป็นห้องทำพิธีไหว้บรรพบุรุษ
“เมื่อก่อนอาคารนี้เป็นบ้านของบรรพบุรุษครอบครัวเจ้าของตึกที่ย้ายมาตั้งรกรากจากเมืองจีน” อภิชาติ ศรีโรจนภิญโญ สถาปนิกจาก Stu/D/O Architects เท้าความที่มาของอาคารให้เราฟัง “อาคารนี้เคยรองรับคนในครอบครัวเขามากถึง 5 ครอบครัว และเมื่อก่อนตึกก็เคยเป็นทั้งร้านขายน้ำพริกเผา และเป็นออฟฟิศบริษัทประกันชีวิตซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว พอเวลาผ่านไปเมื่อพื้นที่ไม่เพียงพอ แต่ละครอบครัวขยายจึงย้ายออกไปอยู่ข้างนอก ตึกเลยถูกทิ้งไว้เฉยๆ ยกเว้นเวลามีพิธีเคารพบรรพบุรุษตามประเพณีคนจีน สมาชิกครอบครัวก็จะแวะเวียนมาทีนึงที่ห้องบรรพบุรุษที่ชั้นบนสุดของตึกเพียงเท่านั้น”
หลังจากเห็นอาคารถูกปล่อยไว้ให้รกร้างเดียวดายมานาน สมาชิกครอบครัวรุ่นเหลนจึงเสาะหาไอเดียที่จะทำให้อาคารกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ไอเดียแรกเริ่มคือการทำร้านกาแฟ ร้านอาหาร และโรงแรมเล็กๆ แต่เมื่อขบคิดกันอีกที ไอเดียก็ลงเอยที่การทำพื้นที่ให้เช่า พร้อมการเตรียมงานระบบเผื่อไว้สำหรับการขยับขยายฟังก์ชันในอนาคต
ถึงการเปลี่ยนอาคารเป็นพื้นที่ให้เช่าจะดูไม่ได้ยากเย็นอะไร เพราะมันคือการเตรียมพื้นที่โล่งๆ เอาไว้ให้คนมาผลัดเปลี่ยนใช้สอย แต่กลายเป็นว่าสิ่งนี้คือโจทย์อันยิ่งใหญ่ของทีมออกแบบ เพราะการเป็นพื้นที่ให้เช่าจัดกิจกรรม หมายความว่าอาคารจะต้องรองรับน้ำหนักคนจำนวนมากเป็นหลักร้อยได้ และถ้าจะแทรกสอดฟังก์ชันเพิ่มเติมในอนาคต น้ำหนักก็จะมีมากขึ้นตามมาด้วย ปัญหาก็คือ อาคารเดิมมีข้อจำกัดเรื่องการรองรับน้ำหนัก Stu/D/O Architects และทีมวิศวกร เลยต้องระดมสมองกันว่าจะทำอย่างไรให้อาคารรับน้ำหนักคนเพิ่มได้
“ทางออกแรกที่เราคิดกันคือการใส่โครงเหล็กเสริมไปกับโครงสร้างอาคาร” ชนาสิต ชลศึกษ์ อีกหนึ่งสถาปนิกจาก Stu/D/O Architects เผย “เราทดลองดีไซน์โครงเหล็กหลายรูปแบบ ทั้งแบบพยายามให้มันดูกลืนหายไป และแบบโชว์ความแตกต่างชัดเจนระหว่างโครงสร้างเก่ากับโครงสร้างใหม่ ดีไซน์ที่ออกมามันก็ดูสวยดี แต่เราคิดว่าวิธีนี้มันจะทำให้สปิริตดั้งเดิมของตึกหายไปเลย”
เมื่อการใช้โครงสร้างเหล็กประกับเสริมไปกับโครงสร้างเก่าไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ใจคาด Stu/D/O Architects และทีมวิศวกรจึงสุมหัวกันอีกรอบว่าจะทำอย่างไร จนในที่สุดก็ได้วิธีการที่น่าพอใจ นั่นคือการรื้อโครงสร้างพื้นชั้นหนึ่งของอาคารเก่าออกเพื่อลดน้ำหนักที่ถ่ายลงฐานรากเดิม และสร้างพื้นชั้นหนึ่งบนฐานรากและเสาเข็มชุดใหม่เข้าไปแทนที่ “เราขุดโครงสร้างพื้นชั้นหนึ่งของอาคารเก่าออกหมด ทำให้อาคารส่วนที่เหลือรองรับน้ำหนักได้มากขึ้น เท่ากับน้ำหนักของพื้นชั้นหนึ่งที่หายไป” อภิชาติเล่า “แล้วเราก็ทำโครงสร้างใหม่สำหรับพื้นชั้นหนึ่งแทรกเข้าไปในตึกเดิม พร้อมกับการใส่โครงสร้างของลิฟต์และบันไดใหม่ข้างใน”
สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาแน่ๆ เมื่อโครงสร้างเก่าและใหม่มาอยู่ด้วยกันคือระยะการทรุดตัวที่ต่างกัน นอกจากการเว้นช่องว่างตามรอยต่อระหว่างโครงสร้างใหม่และเก่า อย่างเช่น ผนังกระจกบริเวณคอร์ตกลาง ที่สถาปนิกวางผนังที่ติดกับโครงสร้างเก่า ให้เหลื่อมมาข้างหน้าผนังที่ติดกับโครงสร้างใหม่ พวกเขาก็ออกแบบให้ผนังกระจกด้านหน้ามีรอยการไล่สี gradient สีแดงเหมือนสีกระเบื้องพื้นชั้นหนึ่ง ซึ่งหากในอนาคตพื้นชั้นหนึ่งทรุดตัวลง ส่วนสี gradient นี้ก็จะช่วยพรางระยะที่อาคารทรุดตัวไม่ให้เห็นจากภายนอกได้
ในส่วนรายละเอียดงานออกแบบอาคาร สถาปนิกเลือกเก็บหน้าตา façade อาคารเอาไว้ให้เหมือนเดิมมากที่สุด สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือการกรุกระจกใสที่ชั้นหนึ่ง เพื่อเชื่อมต่อชั้นแรกของอาคารเข้ากับโลกภายนอก สำหรับตัวอาคารข้างใน สถาปนิกตัดสินใจรื้อกำแพงที่กั้นห้องแถวแต่ละห้องออก เพื่อเชื่อมสเปซเข้าด้วยกัน แนวไม้ใหม่บนพื้นคือสิ่งที่บ่งบอกว่ากำแพงเหล่านั้นเคยอยู่ตรงไหนบ้าง บันไดและราวกันตกของห้องแถวแต่ละห้องถูกรื้อออกมา และนำขั้นบันไดแต่ละขั้นมาทำเป็นแผ่นพื้นประกอบใส่ในช่องบันไดเดิม ซึ่งเป็นอีกร่องรอยที่แสดงความทรงจำของอาคารเก่า ส่วนดีเทลอื่นๆ ของอาคารยังถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี อย่างเช่น เสาบากมุม คานปูน กระเบื้องพื้น ซึ่งเผยให้เราเห็นลีลาและฝีไม้ลายมือของช่างสมัยก่อน
คอร์ทภายในคือหัวใจของตึกเลยก็ว่าได้ ถึงคอร์ทจะไม่ได้มีขนาดใหญ่โตเท่าไหร่ (ด้านกว้างสุดกว้าง 5 เมตร ด้านแคบสุดกว้างแค่ 3 เมตร) แต่แสงสว่างที่ส่องผ่านลงมาและพร้อมด้วยกระจกเงาและกระจกใสที่กรุรอบห้องต่างๆ กลับทำให้คอร์ทดูโอ่โถงขึ้นถนัดตา ต่างกันอย่างลิบลับกับคอร์ทสมัยก่อนที่มืดทะมึน เหมือนเป็นแค่พื้นที่เศษเหลือหลังอาคาร
คอร์ทใหม่ยังสวมบทบาทเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เราจะได้เห็นชีพจรความเป็นไปในอาคารผ่านการมองทะลุกระจกใสรอบห้องต่างๆ ตามแนวกระจกมีบานหน้าต่างและบานประตูเก่าหลากสีหลายรูปแบบที่ถูกติดตั้งตามตำแหน่งเดิมที่มันเคยอยู่ในสมัยก่อน กระจกใสเป็นกระจกเทมเปอร์ลามิเนตที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ บานหน้าต่างและประตูจึงสามารถยึดตัวอยู่ได้บนบานกระจก จากบานหน้าต่างที่เคยทำหน้าที่เปิดรับแสงและลม ตอนนี้ บานหน้าต่างกลายเป็นองค์ประกอบที่นำพาผู้คนย้อนไปสู่ห้วงความทรงจำของอาคารในอดีต
นอกจากการสื่อถึงอารมณ์และกลิ่นอายของอดีต Stu/D/O Architects ก็ยังใส่องค์ประกอบใหม่เข้าไป เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานใช้อาคารได้สะดวกสบายและปลอดภัยขึ้น อย่างเช่น ลิฟต์และบันไดหนีไฟใหม่ ที่ช่วยรองรับการสัญจรในอาคาร การติดตั้งหลังคาโปร่งแสงบนชั้น 4 ที่เปลี่ยนพื้นที่ดาดฟ้า ให้กลายเป็นระเบียงนั่งเล่นในร่มที่ผู้คนใช้งานได้โดยไม่ต้องเปียกฝน หรือการสร้างทางเดินเชื่อมอีกอันระหว่าง core ลิฟต์เก่าและ core ลิฟต์ใหม่ที่ชั้น 5
ถึงบ้านตรอกถั่วงอกโฉมใหม่จะเพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นาน แต่อาคารก็ผ่านการจัดกิจกรรมมาแล้วหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น นิทรรศการศิลปะ Ghost 2565: อยู่ยังไงให้ไม่ตาย, Baan Soho พื้นที่ทดลองของ Soho House ก่อนที่คลับเฮ้าส์จริงจะเปิดตัว หรืองานดินเนอร์ส่วนตัวของแบรนด์ LOUIS VUITTON ในวันนี้ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของบ้านตรอกถั่วงอกก็ได้เริ่มต้นขึ้น พร้อมเปิดให้ผู้คนที่แวะเวียนได้มาจารึกเรื่องราวและร่องรอยใหม่ๆ และทิ้งให้มันเป็นมรดกที่ตกทอดในกาลเวลา เช่นเดียวกับที่รอยขีดข่วนบนบานหน้าต่าง หรือคราบไคลจากการเผากระดาษกงเต็กบนพื้นกระเบื้อง ได้เคยฝากฝังไว้