Tag: bangkok
BAAN TROK TUA NGORK
อาคารตึกแถวอายุ 90 ปีที่ได้ Stu/D/O Architects มาช่วยปรับเปลี่ยนพื้นที่และโครงสร้างให้เหมาะสมกับการใช้งาน ในฐานะพื้นที่อิสระสำหรับปล่อยเช่าทั้งยังรักษาจิตวิญญาณและร่องรอยของชีวิตภายในอย่างสมบูรณ์
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: STU/D/O ARCHITECTS AND KUKKONG THIRATHOMRONGKIAT
(For English, press here)
ช่วงอายุ 90 ปี ถ้านับในแง่ชีวิตคงต้องเรียกว่าเป็นวัยชรา แต่สำหรับ ‘บ้านตรอกถั่วงอก’ อาคารเก่าอายุกว่า 90 ปีในละแวก ตรอกถั่วงอกในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ช่วงนี้คือช่วงที่ชีวิตกำลังก้าวเข้าสู่บันทึกบทใหม่
ตั้งแต่การเป็นบ้าน โรงงานผลิตน้ำพริก ออฟฟิศ ไปจนถึงอาคารที่พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกปิดร้างเอาไว้เปล่าๆ บ้านตรอกถั่วงอกเป็นอาคารที่ผ่านร้อนผ่านหนาว และผ่านการใช้งานโดยคนหลายชั่วอายุคน ตอนนี้บ้านตรอกถั่วงอกกำลังถูกชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการเป็นพื้นที่ให้เช่าสำหรับจัดนิทรรศการ จัดกิจกรรม และอาจต่อยอดไปเป็นฟังก์ชันอื่นๆ ด้วยในอนาคต โดยได้ Stu/D/O Architects มาเป็นผู้ออกแบบปรับปรุงอาคาร
บ้านตรอกถั่วงอกเป็นอาคารตึกแถวยาว 5 คูหาติดกัน ด้านหลังอาคารมีคอร์ทรูปสี่เหลี่ยมคางหมูที่มีด้านกว้างที่สุดกว้างเพียง 5 เมตร หลังคอร์ทก็มีอาคารเล็กๆ อีกหลังหนึ่งที่เคยทำหน้าที่เป็นบ้านพักของคนงานมาก่อน เดิมทีอาคารด้านหน้ามีความสูง 4 ชั้น แต่ภายหลังมีการต่อเติมห้องดาดฟ้าของอาคารเพิ่มเติมขึ้นไปอีกชั้นเพื่อใช้เป็นห้องทำพิธีไหว้บรรพบุรุษ
“เมื่อก่อนอาคารนี้เป็นบ้านของบรรพบุรุษครอบครัวเจ้าของตึกที่ย้ายมาตั้งรกรากจากเมืองจีน” อภิชาติ ศรีโรจนภิญโญ สถาปนิกจาก Stu/D/O Architects เท้าความที่มาของอาคารให้เราฟัง “อาคารนี้เคยรองรับคนในครอบครัวเขามากถึง 5 ครอบครัว และเมื่อก่อนตึกก็เคยเป็นทั้งร้านขายน้ำพริกเผา และเป็นออฟฟิศบริษัทประกันชีวิตซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว พอเวลาผ่านไปเมื่อพื้นที่ไม่เพียงพอ แต่ละครอบครัวขยายจึงย้ายออกไปอยู่ข้างนอก ตึกเลยถูกทิ้งไว้เฉยๆ ยกเว้นเวลามีพิธีเคารพบรรพบุรุษตามประเพณีคนจีน สมาชิกครอบครัวก็จะแวะเวียนมาทีนึงที่ห้องบรรพบุรุษที่ชั้นบนสุดของตึกเพียงเท่านั้น”
หลังจากเห็นอาคารถูกปล่อยไว้ให้รกร้างเดียวดายมานาน สมาชิกครอบครัวรุ่นเหลนจึงเสาะหาไอเดียที่จะทำให้อาคารกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ไอเดียแรกเริ่มคือการทำร้านกาแฟ ร้านอาหาร และโรงแรมเล็กๆ แต่เมื่อขบคิดกันอีกที ไอเดียก็ลงเอยที่การทำพื้นที่ให้เช่า พร้อมการเตรียมงานระบบเผื่อไว้สำหรับการขยับขยายฟังก์ชันในอนาคต
ถึงการเปลี่ยนอาคารเป็นพื้นที่ให้เช่าจะดูไม่ได้ยากเย็นอะไร เพราะมันคือการเตรียมพื้นที่โล่งๆ เอาไว้ให้คนมาผลัดเปลี่ยนใช้สอย แต่กลายเป็นว่าสิ่งนี้คือโจทย์อันยิ่งใหญ่ของทีมออกแบบ เพราะการเป็นพื้นที่ให้เช่าจัดกิจกรรม หมายความว่าอาคารจะต้องรองรับน้ำหนักคนจำนวนมากเป็นหลักร้อยได้ และถ้าจะแทรกสอดฟังก์ชันเพิ่มเติมในอนาคต น้ำหนักก็จะมีมากขึ้นตามมาด้วย ปัญหาก็คือ อาคารเดิมมีข้อจำกัดเรื่องการรองรับน้ำหนัก Stu/D/O Architects และทีมวิศวกร เลยต้องระดมสมองกันว่าจะทำอย่างไรให้อาคารรับน้ำหนักคนเพิ่มได้
“ทางออกแรกที่เราคิดกันคือการใส่โครงเหล็กเสริมไปกับโครงสร้างอาคาร” ชนาสิต ชลศึกษ์ อีกหนึ่งสถาปนิกจาก Stu/D/O Architects เผย “เราทดลองดีไซน์โครงเหล็กหลายรูปแบบ ทั้งแบบพยายามให้มันดูกลืนหายไป และแบบโชว์ความแตกต่างชัดเจนระหว่างโครงสร้างเก่ากับโครงสร้างใหม่ ดีไซน์ที่ออกมามันก็ดูสวยดี แต่เราคิดว่าวิธีนี้มันจะทำให้สปิริตดั้งเดิมของตึกหายไปเลย”
เมื่อการใช้โครงสร้างเหล็กประกับเสริมไปกับโครงสร้างเก่าไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ใจคาด Stu/D/O Architects และทีมวิศวกรจึงสุมหัวกันอีกรอบว่าจะทำอย่างไร จนในที่สุดก็ได้วิธีการที่น่าพอใจ นั่นคือการรื้อโครงสร้างพื้นชั้นหนึ่งของอาคารเก่าออกเพื่อลดน้ำหนักที่ถ่ายลงฐานรากเดิม และสร้างพื้นชั้นหนึ่งบนฐานรากและเสาเข็มชุดใหม่เข้าไปแทนที่ “เราขุดโครงสร้างพื้นชั้นหนึ่งของอาคารเก่าออกหมด ทำให้อาคารส่วนที่เหลือรองรับน้ำหนักได้มากขึ้น เท่ากับน้ำหนักของพื้นชั้นหนึ่งที่หายไป” อภิชาติเล่า “แล้วเราก็ทำโครงสร้างใหม่สำหรับพื้นชั้นหนึ่งแทรกเข้าไปในตึกเดิม พร้อมกับการใส่โครงสร้างของลิฟต์และบันไดใหม่ข้างใน”
สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาแน่ๆ เมื่อโครงสร้างเก่าและใหม่มาอยู่ด้วยกันคือระยะการทรุดตัวที่ต่างกัน นอกจากการเว้นช่องว่างตามรอยต่อระหว่างโครงสร้างใหม่และเก่า อย่างเช่น ผนังกระจกบริเวณคอร์ตกลาง ที่สถาปนิกวางผนังที่ติดกับโครงสร้างเก่า ให้เหลื่อมมาข้างหน้าผนังที่ติดกับโครงสร้างใหม่ พวกเขาก็ออกแบบให้ผนังกระจกด้านหน้ามีรอยการไล่สี gradient สีแดงเหมือนสีกระเบื้องพื้นชั้นหนึ่ง ซึ่งหากในอนาคตพื้นชั้นหนึ่งทรุดตัวลง ส่วนสี gradient นี้ก็จะช่วยพรางระยะที่อาคารทรุดตัวไม่ให้เห็นจากภายนอกได้
ในส่วนรายละเอียดงานออกแบบอาคาร สถาปนิกเลือกเก็บหน้าตา façade อาคารเอาไว้ให้เหมือนเดิมมากที่สุด สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือการกรุกระจกใสที่ชั้นหนึ่ง เพื่อเชื่อมต่อชั้นแรกของอาคารเข้ากับโลกภายนอก สำหรับตัวอาคารข้างใน สถาปนิกตัดสินใจรื้อกำแพงที่กั้นห้องแถวแต่ละห้องออก เพื่อเชื่อมสเปซเข้าด้วยกัน แนวไม้ใหม่บนพื้นคือสิ่งที่บ่งบอกว่ากำแพงเหล่านั้นเคยอยู่ตรงไหนบ้าง บันไดและราวกันตกของห้องแถวแต่ละห้องถูกรื้อออกมา และนำขั้นบันไดแต่ละขั้นมาทำเป็นแผ่นพื้นประกอบใส่ในช่องบันไดเดิม ซึ่งเป็นอีกร่องรอยที่แสดงความทรงจำของอาคารเก่า ส่วนดีเทลอื่นๆ ของอาคารยังถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี อย่างเช่น เสาบากมุม คานปูน กระเบื้องพื้น ซึ่งเผยให้เราเห็นลีลาและฝีไม้ลายมือของช่างสมัยก่อน
คอร์ทภายในคือหัวใจของตึกเลยก็ว่าได้ ถึงคอร์ทจะไม่ได้มีขนาดใหญ่โตเท่าไหร่ (ด้านกว้างสุดกว้าง 5 เมตร ด้านแคบสุดกว้างแค่ 3 เมตร) แต่แสงสว่างที่ส่องผ่านลงมาและพร้อมด้วยกระจกเงาและกระจกใสที่กรุรอบห้องต่างๆ กลับทำให้คอร์ทดูโอ่โถงขึ้นถนัดตา ต่างกันอย่างลิบลับกับคอร์ทสมัยก่อนที่มืดทะมึน เหมือนเป็นแค่พื้นที่เศษเหลือหลังอาคาร
คอร์ทใหม่ยังสวมบทบาทเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เราจะได้เห็นชีพจรความเป็นไปในอาคารผ่านการมองทะลุกระจกใสรอบห้องต่างๆ ตามแนวกระจกมีบานหน้าต่างและบานประตูเก่าหลากสีหลายรูปแบบที่ถูกติดตั้งตามตำแหน่งเดิมที่มันเคยอยู่ในสมัยก่อน กระจกใสเป็นกระจกเทมเปอร์ลามิเนตที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ บานหน้าต่างและประตูจึงสามารถยึดตัวอยู่ได้บนบานกระจก จากบานหน้าต่างที่เคยทำหน้าที่เปิดรับแสงและลม ตอนนี้ บานหน้าต่างกลายเป็นองค์ประกอบที่นำพาผู้คนย้อนไปสู่ห้วงความทรงจำของอาคารในอดีต
นอกจากการสื่อถึงอารมณ์และกลิ่นอายของอดีต Stu/D/O Architects ก็ยังใส่องค์ประกอบใหม่เข้าไป เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานใช้อาคารได้สะดวกสบายและปลอดภัยขึ้น อย่างเช่น ลิฟต์และบันไดหนีไฟใหม่ ที่ช่วยรองรับการสัญจรในอาคาร การติดตั้งหลังคาโปร่งแสงบนชั้น 4 ที่เปลี่ยนพื้นที่ดาดฟ้า ให้กลายเป็นระเบียงนั่งเล่นในร่มที่ผู้คนใช้งานได้โดยไม่ต้องเปียกฝน หรือการสร้างทางเดินเชื่อมอีกอันระหว่าง core ลิฟต์เก่าและ core ลิฟต์ใหม่ที่ชั้น 5
ถึงบ้านตรอกถั่วงอกโฉมใหม่จะเพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นาน แต่อาคารก็ผ่านการจัดกิจกรรมมาแล้วหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น นิทรรศการศิลปะ Ghost 2565: อยู่ยังไงให้ไม่ตาย, Baan Soho พื้นที่ทดลองของ Soho House ก่อนที่คลับเฮ้าส์จริงจะเปิดตัว หรืองานดินเนอร์ส่วนตัวของแบรนด์ LOUIS VUITTON ในวันนี้ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของบ้านตรอกถั่วงอกก็ได้เริ่มต้นขึ้น พร้อมเปิดให้ผู้คนที่แวะเวียนได้มาจารึกเรื่องราวและร่องรอยใหม่ๆ และทิ้งให้มันเป็นมรดกที่ตกทอดในกาลเวลา เช่นเดียวกับที่รอยขีดข่วนบนบานหน้าต่าง หรือคราบไคลจากการเผากระดาษกงเต็กบนพื้นกระเบื้อง ได้เคยฝากฝังไว้
BANGKOK STREET ART AND GRAFFITI
หนังสือจาก Rupert Mann ที่รวบรวมผลงานกราฟฟิตีกว่า 140 ชิ้นที่เปิดประวัติศาสตร์สตรีทอาร์ทในกรุงเทพฯ ที่ดำเนินควบคู่ไปกับความฟอนเฟะของการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะโครงการโฮปเวลล์ Read More
PHOTO ESSAY : BANGKOK-SCAPE
TEXT & PHOTO: DON AMATAYAKUL
(For English, press here)
งานเซ็ตนี้เป็นการรวบรวมภาพถ่ายของสถาปัตยกรรมในกรุงเทพฯ ผ่านการเล่าเรื่องในเชิงภาพถ่ายแนว cityscape / urban ซึ่งเป็นการผนวกสถาปัตยกรรมและวิถีคนเมืองให้มาบรรจบกันในภาพเดียว ด้วยความที่เป็นคนกรุงเทพฯ สภาพแวดล้อมรอบตัวจึงเหมือนเป็นแค่สิ่งธรรมดาๆ ที่พบเจอได้ทุกวัน แต่การได้จับกล้องถ่ายรูปทำให้พบเจอเสน่ห์และความสวยงาม ที่อยากถ่ายทอดออกมาในมุมมองใหม่ๆ
ตั้งแต่เริ่มต้นถ่ายภาพก็รู้สึกหลงใหลในภาพถ่ายแนว cityscape และ architecture มาตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในมิติของความน่าสนใจในเชิงการออกแบบของ subject ที่ถ่าย ใน Instagram ก็เลยมีแต่รูปตึกและวิวเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่
_____________
ดรณ์ อมาตยกุล เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการถ่ายภาพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รับงานถ่ายภาพฟรีแลนซ์ทั่วไป รวมถึงทำเพจส่วนตัวเกี่ยวกับภาพถ่ายในเมืองกรุงเทพฯ ชื่อว่า donamtykl
REC: RECREATIONBKK
REC หรือ recreationbkk เป็นบริษัทออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมน้องใหม่ที่รวบรวมนักคิด นักสร้างสรรค์จากหลากหลายอาชีพที่มีอุดมการณ์เดียวกันคือ ‘เราสามารถมีสภาพแวดล้อมที่ดีกว่านี้ได้’
BAAN AKAT YEN
ในย่านใจกลางเมืองอย่างซอยเย็นอากาศ ‘บ้านอากาศเย็น’ คือบ้านจาก Studio Krubka ที่สร้างบทสนทนาระหว่างความเป็นส่วนตัว และส่วนรวม ด้วยการปกปิดตัวอยู่หลังรั้วสูง และห่อหุ้มตัวด้วยเปลือกคอนกรีตแน่นหนา ขณะเดียวกันก็เปิดอาคารโอบล้อมคอร์ท และเจาะช่องโล่งรับธรรมชาติภายใน
DUSIT RESIDENCES / PART2: ARCHITECTURE
ต่อเนื่องจากในบทความ Dusit Residences / Part 1 ที่บอกเล่าถึงเนื้อการออกแบบภายในของโครงการ Dusit Residences กันไปแล้ว คราวนี้ลองไปพิจารณากันการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมที่ได้ทีมสถาปนิกอย่าง A49 และ OMA มาร่วมกันถ่ายทอดความเป็นสากลและความเป็นไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ
AIM INTERIOR DESIGN
PHOTO: PANORAMIC STUDIO
(For English, press here)
WHO
บริษัท เอม อินทีเรีย ดีไซน์ จำกัด
WHAT
บริษัท เอม อินทีเรีย ดีไซน์ จำกัด คือบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมภายในก่อตั้งเมื่อปี 2018 โดย นางสาวสุธาสินี สุวรรณวลัยกร ด้วยความเชื่อว่าการออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน คือ การออกแบบคุณภาพชีวิตของผู้คน การออกแบบภายในจึงไม่ใช่เพียงการตกแต่งให้สวยงาม แต่สิ่งสำคัญคือการออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมกับการใช้งานที่เฉพาะของผู้ใช้งานในแต่ละโปรเจคโดยคำนึงถึงพื้นที่ในเชิงสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรมและบริบทรอบด้านร่วมด้วย
WHEN
เริ่มจากการเป็นสถาปนิกภายในฟรีแลนซ์ในปี 2018 และจดทะเบียนเป็นรูปแบบบริษัทในปี 2022
WHERE
กรุงเทพฯ ประเทศไทย
WHY
เรามุ่งหวังที่จะออกแบบพื้นที่ที่สวยงามและการใช้งานที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัย
คุณนิยามคำว่า ความคิดสร้างสรรค์ อย่างไร
ความคิดสร้างสรรค์ คือ กระบวนการที่ผลักดันให้สิ่งที่ดูเป็นไปไม่ได้เกิดขึ้นได้จริง ไม่มีถูกหรือผิด มีแต่มุมมองที่แตกต่าง
อธิบายหลักการทำงานของคุณด้วยคำ 3 คำ
ใส่ใจในรายละเอียด l เชื่อในการทำงานเป็นทีม l ให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า
คุณจะไปที่ไหนหรือทำอะไร หากคิดงานไม่ออก
เอาตัวเองออกมาจากงานไปสถานที่ใหม่ๆ ออกไปเจอผู้คนใหม่ๆ ฟังเรื่องราวของคนอื่นเพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ หรือบางครั้งอาจใช้เวลากับศิลปะที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกแขนงอื่นๆ เช่น เล่นดนตรี ฟังเพลง ดูหนัง ทานอาหาร เป็นต้น
โปรเจ็คต์ใดที่คุณภูมิใจมากที่สุด
ช่วงเวลารู้สึกภูมิใจของทุกโปรเจคคือเมื่องานสร้างเสร็จแล้วได้เห็นลูกค้ามีความสุข : )
ถ้าคุณสามารถเชิญ ‘ครีเอทีฟ’ สักคนไปดื่มกาแฟด้วยกันได้ คุณจะเลือกใครและทำไม
Peter Zumthor เพราะชอบผลงานและกระบวนการออกแบบของ Peter Zumthor ค่ะ
CAMPAIGN SIGN CONTEST
นอกเหนือจากความโดดเด่นในการออกแบบป้ายหาเสียงของผู้ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. พ.ศ. 2565 แต่ละคน สิ่งที่น่าสนใจในปีนี้อีกหนึ่งอย่างคงเป็นการที่แต่ละฝั่งพากันแข่งขันออกแบบป้ายหาเสียงให้เล็กที่สุดบนทางเท้า วีร์ วีรพร ชวนให้เราขบคิดอย่างจริงจังถึงประเด็นปัญหาที่ฝังรากลึกในไทยอย่างป้ายหาเสียงที่ยึดครอง ‘พื้นที่ทางเท้าสาธารณะ’
ARAYA KUBOTA ARCHITECT
PHOTO: BEER SINGNOI EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
WHO
Araya Kubota architect
WHAT
สตูดิโอออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่เน้นในการออกแบบองค์รวม เราเชื่อว่างานสถาปัตยกรรมที่ดีนั้นเป็นเพียงแค่ฉากหลังแต่สามารถก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ใช้งานได้
WHEN
17 พฤษภาคม 2564
WHERE
ถนนนางลิ้นจี่ กรุงเทพมหานคร
WHY
ชอบความรู้สึกที่ได้ร่วมสร้างฝันไปกับลูกค้า
คุณนิยามคำว่า ความคิดสร้างสรรค์ อย่างไร
ความคิดสร้างสรรค์คือการทำความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆไม่ว่าจะเป็นโจทย์ที่ได้รับจากลูกค้าหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และสามารถนำมาคิดต่อยอดเพื่อก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ได้
อธิบายหลักการทำงานของคุณด้วยคำ 3 คำ
Delicate / Learning / Happy
คุณจะไปที่ไหนหรือทำอะไร หากคิดงานไม่ออก
ออกไปร้านกาแฟใกล้ๆ
โปรเจ็คต์ใดที่คุณภูมิใจมากที่สุด
รู้สึกภูมิใจกับทุกโปรเจ็คต์ทั้งที่ทำเสร็จแล้วและอยู่ในระหว่างทำ เพราะว่าแต่ละโปรเจ็คต์ มีเรื่องราวในตัวเองที่แตกต่างกันไป ทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่หลากหลายและสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้
ถ้าคุณสามารถเชิญ ‘ครีเอทีฟ’ สักคนไปดื่มกาแฟด้วยกันได้ คุณจะเลือกใครและทำไม
ถ้าทำได้อยากชวนคุณ Dorte Mandrup ออกไปกินกาแฟด้วยเพราะว่าเป็นสถาปนิกที่เราชื่นชอบผลงานและศึกษางานเขามาตั้งแต่เรียนในมหาวิทยาลัย