All posts by admin

HIGHLIGHT ACTIVITIES

งานสถาปนิก ’66 ‘ตำถาด : Time of Togetherness’ เริ่มต้นไปแล้วอย่างคึกคัก งานอัดแน่นจัดเต็มด้วยกิจกรรม งานเสวนา นิทรรศการ และบูธดีไซน์จัดจ้าน ใครที่กำลังเลว่าจะไปงานดีหรือเปล่า ก็ลองมาดูไฮไลท์ของงานกันก่อนได้เลย
Read More

CPAC GREEN SOLUTION

พบกับมิติใหม่ของการก่อสร้างครบวงจร กับบูธ CPAC Green Solution ที่จัดแสดงนวัตกรรมการก่อสร้างสุดล้ำต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
Read More

THE ROBOT’S CHALLENGE: THE OTHER’S (POST?)MODERN

ชมชน ฟูสินไพบูลย์ พาเราไปทำความรู้จักกับ ‘ตึกหุ่นยนต์’ ก่อนที่หน้าตาอาคารจะเปลี่ยนไป และชวนให้เราเห็นความสำคัญของอาคารในฐานะอาคารจากประเทศโลกที่ 3’ ที่ท้าทายแนวคิดการออกแบบในวงการสถาปัตยกรรมโลก
Read More

THEMATIC PAVILION

สำรวจไฮไลท์ประจำงานสถาปนิก’66 อย่าง ‘Thematic Pavilion’ อันเป็นการสร้างสรรค์พื้นที่จัดแสดงสินค้าจากการนำวัสดุก่อสร้างมาตีความพื้นที่ผ่านมุมมองของนักออกแบบ เพื่อก่อให้เกิดจินตนาการในการใช้วัสดุผ่านความคิดสร้างสรรค์พร้อมทั้งสร้างประสบการณ์แบบใหม่ให้ผู้ที่มาร่วมชมงาน
Read More

FLOS

ทำความรู้จักกับโคมไฟทั้ง 3 จาก FLOS แบรนด์โคมไฟสัญชาติอิตาลีที่ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1960 โดย Dino และ Cesare Cassina ที่นำเสนองานออกแบบอันมากกว่าแค่แสงสว่างพื้นฐาน หากยังตอบรับกับการใช้งาน เทคโนโลยี รวมถึงสุนทรียภาพ ผ่านการร่วมมือกับนักออกแบบระดับโลกอยู่เสมอ Read More

ASA 2023 HUMAN LIBRARY

เรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านการพูดคุยกับ ‘หนังสือมนุษย์’ ในงานสถาปนิก’66 จาก 4 สาขาวิชาชีพทั้ง สถาปัตยกรรม ออกแบบภายใน ภูมิสถาปัตยกรรม และผังเมือง พร้อมทั้งพบปะเหล่า Influencer มากความสามารถจากสาขาอื่นๆ ไปพร้อมกัน Read More

CONNECTING STATION

สุพิชชา โตวิวิชญ์ พาไปสำรวจงานออกแบบทางเดินเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟทุ่งสงไปยังอาคารพิพิธภัณฑ์เมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เปลี่ยนภาพจำของสถานีรถไฟที่ไม่ดึงดูดตา ให้กลายเป็นศาลาและทางเดินที่เชื้อเชิญให้ผู้คนออกมามีปฏิสัมพันธ์กัน
Read More

LONG GOY

Sher Maker ออกแบบโรงตัดเย็บใหม่ของ LONG GOY แบรนด์เสื้อผ้าจากเชียงใหม่ที่ถ่ายทอด ‘ความเป็นท้องถิ่น’ อันเป็นจุดร่วมสำคัญของทั้งตัวแบรนด์และสถาปนิก Read More

FIELD COLLAPSE

หลังจากคุ้นเคยกับการทำงานสถาปัตยกรรมเป็นอย่างดี สตูดิโอ thingsmatter ก้าวขามารับบทบาทศิลปิน และสร้างผลงานจาก ‘เหล็กข้ออ้อย’ เพื่อนำเสนอประเด็นทางสังคมในวงการออกแบบ

TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

เหล็กข้ออ้อย แผ่นไม้อัด ยาง ตะปู สกรู และแสงเสียง คือวัสดุของผลงาน installaion ชิ้นใหญ่ คับพื้นที่ 100 Tonson Foundation ที่ให้ความรู้สึกต่างออกไปจากนิทรรศการศิลปะ นอกไปเหนือจากความ “หนักและดิบ” ของวัสดุ art4d พูดคุยกับ ศาวินี บูรณศิลปิน และ Tom Dannecker แห่ง thingsmatter ถึงประเด็นและความคิดอื่นๆ ที่แฝงอยู่ภายในนิทรรศการ Field Collapse

“Fragments ที่หน้างานก่อสร้าง ไม้แบบ คนงานในไซท์ สำหรับเรามันสวยงามและ conceptual มาก ทั้งในแง่ที่มันเป็น artifact และเป็น happening” ศาวินีมองกระบวนการก่อร่างสร้างตัวของงานสถาปัตยกรรมเป็น performance ที่เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาหนึ่งก่อนที่จะหายไป

“ตั้งแต่ตอนเรียนแล้ว ผมเป็นพวกที่ไม่ทำงานในสตูดิโอที่คณะ แต่ชอบหมกตัวในหอพักมากกว่า (…) เพื่อนที่หอซึ่งเรียนคณะอื่นก็ชอบถามว่าผมทำอะไร ผมออกแบบโรงเรียนศิลปะ พอบอกไปเพื่อนๆ ก็ตื่นเต้นกันใหญ่และถามต่อว่ามันจะสร้างเมื่อไหร่ ผมก็บอกว่ามันจะไม่ได้สร้างหรอก (หัวเราะ)” Tom พยายามอธิบายกับ art4d ว่าบทสนทนานี้มีความหมายซ่อนอยู่ นั่นคือความต่างระหว่างงานของสถาปนิกกับงานสายอื่นๆ “โมเดลของที่เพื่อนคนอื่นตั้งใจทำเพื่อเป็นแบบสำหรับสร้างงานจริงๆ  แต่ไอ้โมเดลที่ผมเดินถือไปส่งอาจารย์ มันไม่ใกล้เคียงกับผลลัพธ์สุดท้ายของงานสถาปัตยกรรมแม้แต่น้อย สำหรับผม สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่แบบหรือ representation แต่มันเป็นงานศิลปะในตัวมันเอง”

ทั้งสอง narrative นี้ดูเหมือนจะต่างแต่ก็มีจุดร่วมเดียวกันคือการให้ความสำคัญกับ กระบวนการ (process) และผลงานในระหว่างกระบวนการ (work in progress) หรือพูดอีกอย่างคือช่วงเวลาที่มี engagement ของผู้ออกแบบเข้มข้นมากที่สุด (แน่นอนว่ามากกว่าตอนที่งานสร้างเสร็จ) ซึ่งไอเดียที่ว่ามานี้ค่อยๆ สั่งสมจนกระทั่งมาถึงจุดพีคในปีนี้ กับโปรเจ็คต์ที่ 100 Tonson Foundation

thingsmatter ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในโครงการออกแบบสถาปัตยกรรม นั่นคือการใช้เหล็กข้ออ้อยไป 5 ตัน กับโครงสร้างที่ไม่ได้มีฟังก์ชันซับซ้อน “เรียกได้ว่า luxury สุดๆ ถ้ามองจากมุมมองงานออกแบบที่ต้องคิดเรื่องความคุ้มค่า กับ Field Collapse เราแค่อยากให้คนมาดูได้ slow down ค่อยๆ เคลื่อนๆ ไปใน space แคบๆ นี้ ท่ามกลางเมืองกรุงที่เร่งรีบและวุ่นวาย” 

โครงสร้างถูกวางติดประชิดทางเข้าห้องแกลเลอรี่ ทางเดินแคบๆ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนเดินเข้าไปในป่า พาคนเดินขึ้นไปหาจุดกำเนิดแสงเพียงหนึ่งเดียวของของห้องนิทรรศการนั่นคือ skylight และวนลงมาที่พื้นที่ว่างด้านหลัง ที่ถูกถูกเว้นไว้เพื่อให้มีระยะที่สามารถมองย้อนกลับไปมองโครงสร้าง และใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมเวิร์คช็อป และงานเสวนา “เราอยากให้คนมองเห็น movement ของคนอื่นที่ค่อยๆ เคลื่อนไปในความปรุโปร่งของโครงสร้าง ให้คนดูกลายเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน” thingsmatter บอกกับ art4d

แล้วทำไมต้องเหล็กข้ออ้อย? เหตุผลง่ายๆ ตรงๆ ที่ทั้งสองบอกกับ art4d คือว่า ในโลกแห่งความจริงมันคือผู้ปิดทองหลังพระแห่งวงการ (อันต้องถูกปูนเททับทุกครั้งไป) มาในครั้งนี้เขา (เหล็กข้ออ้อย) รับบทเป็นพระเอกหลักในการสื่อสารประเด็นทางสังคมวงการออกแบบหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือ ชนชั้นของตำแหน่งงานและบุคลากรในงานสถาปัตยกรรม Tom อธิบายต่อว่า “สมมติว่าเราทำงานด้วยกัน คุณเป็นนักออกแบบ แต่ผมดูด้าน business อีกคนทำ shop drawing คนอีกกลุ่มใหญ่ๆ นั่นคือช่างก่อสร้าง มันจะต้องมีคนคิดว่า คนที่ออกแบบเนี่ยมันต้องสำคัญที่สุด แต่ขอโทษเถอะ ถ้าไม่มีคนทำด้าน business มันก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีช่างก่อสร้าง คนงาน ตึกก็สร้างไม่เสร็จ” สรุปออกมาง่ายๆ ว่า stakeholder ทั้งหมดทั้งมวลนั้นต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทุกๆ องค์ประกอบมีหน้าที่ของตัวเองที่จำเป็นต่อการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และธุรกิจองค์รวมของงานสถาปัตยกรรม และพวกเขาหวังว่าการเอา work in progress มาโชว์ในรูปแบบของงานที่เสร็จสมบูรณ์จะทำให้คนดูมองเห็นประเด็นนี้

อีกหนึ่งประเด็นที่ art4d คุยกับ thingsmatter คือการทำงานในบริบทที่ต่างออกไป

Field Collapse ไม่ใช่งาน installation ชิ้นแรกของ thingsmatter พวกเขาทำงานที่ก้ำกึ่ง และสามารถเป็นอะไรได้หลายอย่าง (เช่น ประติมากรรม) นอกเหนือจากการเป็นสถาปัตยกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลงานโครงสร้างไม้ไผ่ Ligature ที่ Jim Thompson Farm จังหวัดนครราชสีมา และลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ในปี 2018 (และอันที่จริงเราอาจจะเห็นเค้าโครงของ Field Collapse ตั้งแต่งาน Caged Flower ที่เหมือนเป็นการทดลองสร้างโครงสร้างรับน้ำหนักด้วยเหล็กข้ออ้อยล้วนๆ ในงานสถาปนิกปี 2017) ที่ต่างออกไปคือครั้งนี้เป็นโปรเจ็คต์กับสถาบันศิลปะอย่าง 100 Tonson Foundation

Caged Flower, 2017 | Photo courtesy of thingsmatter

“ที่ผ่านมา thingsmatter ทำงานที่มีความคาบเกี่ยวมาตลอดนะ ภาพลักษณ์ในวงการสถาปัตยกรรม thingsmatter มีความศิลปะมากๆ แต่พอก้าวเข้ามาในแกลเลอรี่เราเป็น ‘คนนอก’ ทันที” ศาวินี บอกกับ art4d ว่า หนึ่งในเหตุผลสำคัญๆ ที่ thingsmatter พัฒนาโปรเจ็คต์ และตัดสินใจส่ง proposal ไปยัง 100 Tonson Foundation ที่เปิด open call โปรเจ็คต์ศิลปะเมื่อปีที่แล้ว คือพวกเขาต้องการทะลุไปยังพื้นที่การทำงานศิลปะ

“เราต้องการสิ่งนี้ เราต้องการ 100 Tonson Foundation ในฐานะ established art institution ที่จะมาบอกว่างานที่เราทำมันเป็นศิลปะ” ศาวินี กำลังพูดถึง authority ของสถาบันศิลปะในการสถาปนาว่าอะไรเป็นศิลปะหรือไม่เป็นศิลปะ ดังนั้นสำหรับพวกเขา ถ้าถามว่าความท้าทายของการทำงานกับบริบท white cube คืออะไร? มันจึงไม่ใช่แค่ความ craft ในการเขียนแบบเป็นร้อยๆ แผ่น ขั้นตอนการติดตั้งที่ยุ่งยากและข้อจำกัดในการทำงานกับพื้นที่ แต่เป็นช่วงเวลาก่อนที่จะเริ่มทำงานจริงซึ่งก็คือขั้นตอนการพัฒนาไอเดียเพื่อ pitch โปรเจ็คต์แข่งกับศิลปินและคิวเรเตอร์ 

อีกองค์ประกอบในนิทรรศการที่ต่างออกไปจากงานของ thingsmatter ชิ้นก่อนๆ คือวิธีการกำหนดปฏิสัมพันธ์ที่คนดูจะมีต่อแบบก่อสร้าง

“เรามานั่งคิดกันว่าจะใช้พื้นที่ห้องนิทรรศการห้องเล็กยังไงดี โดยรวมๆ แล้วไอเดียคือเราอยากเอาทุกอย่างมากางบนโต๊ะในวิธีที่ต่างออกไป” ศาวินี กล่าวก่อนที่ Tom จะเสริมว่า “ถ้าเราเอาแบบก่อสร้าง 100 แผ่น มาโชว์ คนดูจะอ่านมันในแบบที่อ่านแบบสถาปัตยกรรม แต่ครั้งนี้เราอยากให้คน appreciate แบบก่อสร้างในฐานะ artifact มากกว่า” สำหรับพวกเขา การเอาแบบก่อสร้างมาใส่กรอบจะเปลี่ยนฟังก์ชั่นของแบบก่อสร้างไปจากฟังก์ชันเดิม หรือพูดอีกแบบก็คือ ทำให้แบบก่อสร้างไม่มีฟังก์ชันสำหรับสร้างแต่กลายเป็นภาพคอลลาจชิ้นนึงไป ไอเดียนี้ยังต่อเนื่องไปเป็นผ้าพันคอที่เป็น exhibition merchandise ของนิทรรศการนี้ 

ท้ายที่สุดแล้ว Field Collapse จะเป็นสถาปัตยกรรม หรือศิลปะ เหนือไปกว่า authority ของสถาบันศิลปะคือเป็นอำนาจของคนดูเองว่าจะรับรู้ installation ชิ้นนี้ในฐานะอะไร แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า Field Collapse ให้ความรู้สึกที่ต่างออกไปจากนิทรรศการศิลปะที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานกับพื้นที่แกลเลอรี่ในเชิงปริมาตร ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนดูกับชิ้นงานที่ดูจะใกล้ชิดกว่าศิลปะทั่วๆ ไป การเปลือยให้เห็นสัจจะของวัสดุ รวมถึงความหลากหลายของกิจกรรมที่จัดขึ้นในตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา Field Collapse เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในฐานะสถานการณ์ใหม่ของห้องจัดแสดงศิลปะเมื่อมันตกอยู่ในมือของสถาปนิก 

Field Collapse โดย thingsmatter จัดแสดงถึงวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ ที่ 100 Tonson Foundation เวลาทำการ วันพฤหัสบดี – วันศุกร์ เวลา 10.00 – 18.00 น. และ วันเสาร์ – วันอาทิตย์ เวลา 11.00 – 19.00 น.

instagram.com/thingsmatterbkk
thingsmatter.com
facebook.com/100TonsonFoundation

TINY TIN HOUSE

บ้านที่ RAD studios หยิบ ‘กระป๋อง’ มาเป็นไอเดียหลักในการออกแบบ เพื่อตอบรับข้อจำกัดของที่ดินและทัศนียภาพที่ไม่น่ามอง และตอบโจทย์สำคัญอย่างการสร้างองค์ประกอบทางสายตาที่สวยงามให้แก่ผู้อยู่อาศัย

TEXT: KORRAKOT LORDKAM
PHOTO: SOFOGRAPHY

(For English, press here)

ในซอกซอยซับซ้อนของย่านที่อยู่อาศัยหนึ่งในแขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร บ้านสีขาวเรียบโล่งตั้งเด่นแตกต่างจากบรรดาบ้านหลังอื่นในละแวก แม้แต่ในที่ดินเดิมของบ้านหลังนี้เอง ก็เรียงรายไปด้วยกลุ่มบ้านเก่าหลายหลังของครอบครัวใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วยบ้านของสมาชิกหลายคนที่อยู่อาศัยในที่ดินผืนใหญ่ผืนนี้ด้วยกัน ด้วยความผูกพันของเจ้าของบ้านกับที่อยู่อาศัยเดิม ทำให้เขาเลือกลงหลักบ้านหลังใหม่ในที่ตั้งเก่าแทนการย้ายออก ในบริบทของที่ตั้งที่ท้าทายทั้งด้านขนาดที่ดินอันจำกัด รวมถึงด้านทัศนะวิสัยรอบบ้านที่ค่อนข้างเก่า ขาดการดูแลรักษาและภาพรวมดูแตกต่างกันเป็นอย่างมาก  อันยากจะให้ความรู้สึกสุนทรีย์ในการอยู่อาศัย

Tiny Tin House ถูกตั้งชื่อตามชื่อเล่นของผู้เป็นเจ้าของบ้าน และตามคอนเซ็ปต์การออกแบบที่สถาปนิก RAD studios เป็นผู้วางไว้ ปวัน ฤทธิพงศ์ สถาปนิกผู้ออกแบบ เปรียบเทียบสภาพที่ตั้งและบ้านหลังใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับกระป๋องบรรจุอาหาร ที่สำหรับเขาน่าสนใจทั้งในแง่รูปลักษณ์และความสามารถของการเป็นบรรจุภัณฑ์ ปวันกล่าวว่า

เรามองหาสิ่งต่างๆ รอบตัวว่า อะไรบ้างที่มันสามารถจุฟังก์ชันได้มากมายอยู่ในที่ที่อันเล็กนิดเดียว เราก็เลยมองไปถึงกระป๋องใส่อาหารต่างๆ ที่บางทีเราเปิดกระป๋องออกมาแล้วเราเทออกมา ของภายในมันดูเยอะมากกว่าที่ภายนอกเรามองเห็น เราคิดว่ามันน่าสนใจ กลายเป็นแรงบันดาลใจ และคิดว่ามันนำมาเล่นกับสถาปัตยกรรมได้

จากคอนเซ็ปต์นี้ ปวันกล่าวว่า ที่ดินขนาดราวเพียง 10 คูณ 13 เมตร เป็นความท้าทายแรกของการบรรจุพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ของครอบครัวใหม่ให้เพียงพอและต้องได้คุณภาพดีเทียบเท่าบ้านหลังใหญ่กระป๋องในที่นี้จึงได้เข้ามาเป็นคอนเซ็ปต์ที่ส่งผลต่อทั้งด้านรูปลักษณ์ภายนอกและต่อพื้นที่ใช้สอยภายใน โดยลักษณะของกระป๋องที่ปิดทึบเป็นลักษณะนำมาเป็นลักษณะเด่นของตัวสถาปัตยกรรม ที่สอดคล้องกับการตอบสนองต่อบริบทที่ไม่น่ามองได้ด้วย แต่ด้วยความเป็นที่อยู่อาศัย อาคารจึงจำเป็นต้องแบ่งรับแบ่งสู้ระหว่างการเปิดรับสภาพแวดล้อม และการปิดทึบบดบังสิ่งที่ไม่ต้องการ การเปิดรับและเชื่อมต่อกับภายนอกบ้านในบางด้านที่เหมาะสม และปิดบังตัวเองจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ในด้านที่เหลือ จึงเป็นความท้าทายหนึ่งด้านบริบทที่ส่งผลต่อการออกแบบโดยรวมของที่พักอาศัยแห่งนี้ ดังที่สถาปนิกอธิบายว่า

บริบทส่งผลกระทบเยอะมาก ทั้งขนาดที่ดินที่เล็กมาก แล้วก็สภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างไม่น่าดู แต่เราเอามาเป็นความท้าทายว่าเราจะสร้างอะไรดีๆ ขึ้นมาได้อย่างไร ผมใช้คำว่ามันบันดาลใจเรา ว่าทำอย่างไรให้ทำบ้านที่ปิดแบบนี้แล้วได้คุณภาพการอยู่อาศัยที่ดีที่สุด ให้เหมือนบ้านใหญ่ที่สามารถดีไซน์บนที่โล่ง หรือที่สภาพที่ตั้งที่ดีกว่านี้ได้

ผนังภายนอกห้องนั่งเล่น ออกแบบให้โค้งบังทิวทัศน์ภายนอกที่ไม่ค่อยน่ามองนัก

ในเบื้องต้น บ้านพักอาศัย 3 ชั้นขนาดราว 350 ตารางเมตร หลังนี้ถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นบ้านกล่องสี่เหลี่ยมสีขาว เรียบโล่งโดยตลอดทุกทิศทาง และปราศจากองค์ประกอบตกแต่งหรือส่วนยื่นเกินใดๆ ความเหลี่ยมและโล่งเรียบที่ภายนอกนี้ ถูกลดทอนโดยแนวคิดการนำลักษณะของกระป๋องมาใช้ในบริเวณแรกสุดคือทางเข้าบ้านเพื่อสร้างความโดดเด่น โดยมุมบ้านด้านทางเข้าได้ถูกคว้านให้โค้งเว้า ลึกและซ้อนเข้าไปใต้ตัวบ้านชั้นบนที่ยังคงความเป็นกล่อง เกิดเป็นองค์ประกอบที่สร้างความโดดเด่นในแง่รูปลักษณ์ให้กับทางเข้าบ้าน และยังมีประโยชน์โดยได้สร้างระยะร่นให้กับประตูบ้าน เกิดระยะห่างให้ประตูไม่ตั้งชิดกับพื้นที่ภายนอกมากเกินไป

เมื่อเดินเข้าสู่ภายในตัวบ้าน จะพบโถงต้อนรับเล็กๆ เป็นส่วนตู้รองเท้า ต่อจากนั้นขึ้นมาจะเป็นโถงนั่งเล่นหลัก ซึ่งเป็นส่วนใช้สอยต่อมาที่แนวคิดเรื่องกระป๋องถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างเห็นได้ชัดที่สุด ดังจะเห็นได้จากลักษณะของสเปซที่ถูกออกแบบให้เป็นรูปแบบโถงวงกลม มีลักษณะเด่นคือการเป็นโถงฝ้าสูงแบบ double volume โดยมีบันไดเชื่อมต่อไปยังชั้น 2 ที่บริเวณกึ่งกลาง ลักษณะของโถงเช่นนี้ ปวันกล่าวว่าเป็นแนวคิดของการแทรกความโปร่งโล่งเข้าไปในที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่ใช้สอยจำกัดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โถงนั่งเล่นที่ประกบด้วย pantry ที่เจ้าของบ้านจะใช้อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่นี้ ยังมีช่องเปิดขนาดใหญ่ที่ถูกกำหนดไว้ในมุมหนึ่งเพื่อสร้างความปลอดโปร่งและเชื่อมต่อระหว่างภายในกับภายนอกตามแนวความคิดหลัก อันเป็นมุมที่ต่อเนื่องออกไปยังที่ว่างระหว่างบ้านข้างๆ ที่กว้างขวางพอ และไม่มีภาพกวนสายตาจนเกินไป เช่นเดียวกับในส่วน pantry ก็ได้รับการออกแบบให้มีช่องเปิดขนาดย่อมเป็นของตัวเองในตำแหน่งที่ไม่มีสิ่งใดรบกวนสายตาที่ภายนอกด้วย

โถงวงกลมมีฝ้าบางส่วนทะลุออกมาภายนอก เป็นลูกเล่นของการออกแบบห้องให้เป็น “วงกลมสมบูรณ์”

ห้องซักล้างออกแบบโดยใช้สี Turquoise เพิ่มความสดใสให้บ้านสีขาวในบางมุม

บนชั้นสองจะเป็นพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น ประกอบไปด้วยห้องนอนสองห้อง และห้องทำงานหนึ่งห้องที่จัดวางชิดไปกับโถง double space ที่ต่อเนื่องมาจากข้างล่าง ห้องทำงานอันเป็นอีกส่วนพื้นที่ใช้สอยที่เจ้าของบ้านจะใช้เวลาภายในห้องนี้มาก จึงเป็นพื้นที่อีกส่วนที่สถาปนิกต้องการสอดแทรกความโปร่งโล่งให้มากที่สุด แนวคิด double space ถูกนำมาใช้อีกครั้ง ที่ท้ายที่สุดส่งผลให้ห้องที่มีลักษณะเป็นห้องแคบแต่ยาว ถูกกรุด้วยผนังกระจกสูงโปร่งด้านหนึ่งเพื่อรับทิวทัศน์และแสงธรรมชาติจากภายนอกได้เต็มที่เพื่อลดความคับแคบ และแน่นอนว่าตำแหน่งของช่องเปิดขนาดใหญ่ด้านนี้ก็จะสอดคล้องกับทัศนียภาพภายนอก อันเป็นด้านที่ทิวทัศน์ปลอดโปร่งกว่าด้านอื่นที่หันหน้าชนบ้านหลังข้างเคียง

ส่วนสุดท้าย ชั้น 3 เป็นชั้นที่อุทิศให้ห้องนอนมาสเตอร์ของเจ้าของบ้านผู้กำลังเริ่มสร้างครอบครัว โดยมีเฉพาะผนังของห้องอ่างอาบน้ำที่เอื้อให้กรุหน้าต่างบานใหญ่สร้างความพิเศษด้านทิวทัศน์ ส่วนที่เหลือบนชั้นนี้ ถูกออกแบบให้เป็นลานดาดฟ้ารูปวงกลม อันเป็นอีกหนึ่งกระป๋องที่ถูกบรรจุในลักษณะของพื้นที่ใช้สอยเพื่อการสันทนาการของครอบครัว ลานวงกลมนี้จึงนอกจากจะให้ประโยชน์ด้านหน้าที่ใช้สอยแล้ว รูปลักษณ์อันพิเศษก็ยังให้ความรู้สึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้านคอนเซ็ปต์ อันสอดคล้องต่อเนื่องไปทั่วทั้งบ้านหลังเล็กอีกด้วย

สำหรับการออกแบบภายใน สถาปนิกได้คงเอกลักษณ์ความเรียบโล่งไว้เป็นเอกลักษณ์สำคัญ มีบ้างบางองค์ประกอบ เช่น ช่องทางเดิน หรือฉากกั้นห้อง ที่ถูกออกแบบโดยเล่นกับเส้นโค้งหรือซุ้มโค้งแบบ Arch สร้างความรู้สึกสนุกสนานขึ้นในหลายจุด รวมถึงในหลายส่วนก็มีการซ่อนลูกเล่นทางกราฟิกดีไซน์หรือลูกเล่นทางวัสดุไว้เบื้องหลังรูปลักษณ์ภายนอกที่เรียบโล่ง แต่โดยรวม ความคมชัดของเส้นสายที่ชัดเจน เช่นเดียวกับรูปลักษณ์ภายนอกของตัวสถาปัตยกรรม ก็ยังเป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดของบ้านหลังนี้ อาจกล่าวได้ว่าลักษณะการออกแบบสถาปัตยกรรมโดยคำนึงถึงรูปทรง เส้นสาย และความสอดคล้องต่อเนื่องขององค์ประกอบทางสายตา นั้นเป็นเอกลักษณ์ที่แท้ของบ้านหลังนี้

อาคารที่ถูกออกแบบโดยให้คำนึงถึงการสอดคล้องกันขององค์ประกอบทางสายตาเป็นสำคัญ อาจเป็นแนวทางของสถาปัตยกรรมที่เดินเข้าใกล้ความเป็นภาพวาดหรือภาพศิลปะสองมิติมากขึ้น ที่ความงามหรือความเข้มข้นของชิ้นงานในหลายแง่เกิดจากความสอดคล้องกันขององค์ประกอบศิลป์ อย่างที่ปวันยกตัวอย่างถึงการออกแบบเส้นสายอันคดโค้งแต่สอดคล้องกันของบันไดบ้านในโถงกลาง รวมถึงผลลัพธ์ของปรากฏการณ์ของแสงและเงาอันแหลมคมที่เกิดขึ้นบนอาคารที่ภายนอก ที่เขาอธิบายว่าเราคิดค่อนข้างเป็นสองมิติมาก ในแต่ละส่วนเราดูสัดส่วนเป็นส่วนๆ ไป แล้วเอาแต่ละส่วนมาประกอบกันบ้านสีขาวเรียบโล่งอย่าง Tiny Tin House จึงเป็นตัวอย่างอันดีของบ้านที่แฝงการออกแบบที่คำถึงถึงผลกระทบทางสายตา มากพอๆ กับคุณภาพของสเปซ และคุณภาพการอยู่อาศัยของผู้อยู่ในภาพรวม

facebook.com/studios.rad
instagram.com/radstudios_official