All posts by admin

ANUBAN SAMUTSAKHON SCHOOL

Context Studio นำเสนอภาพใหม่ของโรงเรียนรัฐด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ทั้งผู้เรียนและผู้สอน ผ่านคอนเซ็ปต์หลักอย่าง ‘ทะเล’

TEXT: PICHAPOHN SINGNIMITTRAKUL
PHOTO: DOF SKY|GROUND

(For English, press here)

ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นโรงเรียนรัฐบาล ทุ่มทุนสร้างไปกับการออกแบบและตกแต่งด้านสถาปัตยกรรม เพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และการเล่นของเด็กๆ เหมือนอย่างโรงเรียนเอกชน แต่โรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัดสมุทรสาคร หรือที่รู้จักกันในชื่อ โรงเรียนอนุบาลสมุทรสาคร แห่งนี้ กลับให้ความสำคัญและกล้าที่จะทุ่มงบประมาณไปกับการปรับปรุงพื้นที่ภายในโรงเรียน จนผู้ปกครองหรือใครหลายคนที่ได้พบเห็น ก็เป็นต้องตั้งคำถามเป็นคำถามเดียวกันว่านี่คือพื้นที่ภายในโรงเรียนรัฐบาลจริงๆ หรือ

ต้น-บดินทร์ พลางกูร จาก Context Studio ผู้ออกแบบเริ่มเล่าให้เราฟังถึงบทสนทนากับ ผอ. โรงเรียน ว่า “ตอน ผอ. โรงเรียนติดต่อเข้ามาก็รู้สึกแปลกใจเหมือนกัน เพราะสำหรับผมและหลายๆ คน น่าจะคิดคล้ายกันว่าคงไม่ค่อยมีโอกาสเห็นโรงเรียนรัฐฯ นำงบประมาณมาใช้กับเรื่องนี้บ่อยๆ หรืออาจไม่เคยมีเลยก็ได้ พอได้คุยกับ ผอ. จริงจังก็เลยรู้ว่าการปรับปรุงโรงเรียนในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากวิสัยทัศน์ของผู้ว่าประจำจังหวัด เค้าอยากเห็นโรงเรียนประจำจังหวัดของเขามีพื้นที่การเรียนรู้ที่ดี ซึ่งมันจะเป็นผลดีต่อเด็กๆ ในจังหวัดและสุดท้ายก็เป็นหน้าเป็นตาให้จังหวัดไปด้วย ส่วน ผอ. ก็คิดเหมือนกันว่าอยากให้พื้นที่ภายในโรงเรียนสามารถเป็นพื้นที่ที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ ได้ออกไปเจอกับโลกกว้างนอกรั้วโรงเรียนได้ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับเด็กๆ ด้วยว่ากำลังเรียนอยู่หรือเคยเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้” 

ตำแหน่งที่ตั้งของโรงเรียน ที่อยู่ห่างจากปากอ่าวแม่น้ำท่าจีนเพียง 200 เมตร

จากประโยคบอกเล่าสั้นๆ ช่วงท้ายของ ผอ. นี่เอง ทีมดีไซเนอร์ได้หยิบใจความด้านการเตรียมความพร้อมเด็กๆ ให้ออกไปสู่โลกกว้าง มาใช้กับการออกแบบในครั้งนี้ โดยเปรียบเปรยว่าการออกไปสู่โลกกว้าง ก็เหมือนกับการเตรียมตัวออกเรือสู่ทะเล ซึ่งเมื่อพูดถึงทะเลขึ้นมาแล้ว แนวคิดนี้ก็ยังมีความสอดคล้องไปกับอุตสาหกรรมของจังหวัดและตำแหน่งที่ตั้งของโรงเรียน ที่อยู่ห่างจากปากอ่าวแม่น้ำท่าจีนเพียง 200 เมตร หรือจะเรียกว่าอยู่เกือบริมอ่าวเลยก็ไม่ผิด การออกแบบครั้งนี้จึงถ่ายทอดผ่านองค์ประกอบของแม่น้ำเป็นหลัก โดยพื้นที่ภายในโรงเรียนที่ได้รับการปรับปรุงใหม่นั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ห้องเรียนอเนกประสงค์อย่างที่เราเห็นกัน แต่ยังรวมไปถึงโถงใต้อาคาร และห้องพักครูด้วย

“สำหรับโปรเจ็คต์นี้ ส่วนที่เป็นไฮไลท์ที่สุดก็คือห้องเรียนอเนกประสงค์ หรือที่ครูในโรงเรียนเรียกกันว่า ห้องพรีเซนเทชัน ซึ่งจะเป็นห้องเรียนที่ถูกจัดตารางให้เด็กๆ สลับกันเข้ามาใช้งานตามความเหมาะสมของรายวิชา และด้วยการใช้งานที่จะถูกเน้นให้เป็นห้องสำหรับนำเสนองานผ่านจอโปรเจ็คเตอร์ หรือกิจกรรมที่ต้องใช้เสียงเป็นส่วนใหญ่นั้น พวกเราก็เลยพยายามออกแบบ surface ของผนังและเพดานภายในห้องให้สามารถช่วยซับเสียงได้ พอนำมาโยงกับคอนเซปต์ที่เราตั้งไว้เกี่ยวกับแม่น้ำ เพดานของห้องก็เลยมีลักษณะเป็นคลื่นน้ำอย่างที่เห็น แต่มันจะเป็นคลื่นที่ดูโหดร้ายนิดนึง (หัวเราะ) เพราะอยากให้มันช่วยซับเสียงได้จริงๆ” บดินทร์เล่าถึงแนวคิดการออกแบบพื้นที่ในส่วนแรก 

โดยในแง่ของการออกแบบและผลิตเกลียวคลื่นที่ดูโหดร้ายนี้ให้สามารถใช้งานได้จริงก็ไม่ง่ายเลย เพราะเกลียวคลื่นที่เกิดขึ้นจะต้องมีระยะห่างของคลื่นแต่ละลูกที่ค่อนข้างถี่ ดีไซเนอร์จึงออกแบบด้วยการปั้นฟอร์มคลื่นในโปรแกรม Rhino ขึ้นมาทั้งหมด 16 แบบ โดยแต่ละแบบจะมีรูปทรงของคลื่นที่แตกต่างกัน และมีระยะของคลื่นแต่ละลูกที่ถี่พอจะช่วยลดการเกิดเสียงก้องภายในห้องได้ตามตั้งใจ ก่อนจะนำดิจิตอลไฟล์ทั้งหมด 16 แบบนั้น มาผลิตเป็นแม่แบบผ่านกระบวนการ CNC สำหรับหล่อวัสดุไฟเบอร์กลาสผสมใยกระดาษ และนำแต่ละ module ที่ได้ มาประกอบเป็นเพดานเกลียวคลื่นในขั้นตอนสุดท้ายอย่างที่เห็น

ส่วนการออกแบบพื้นและวัสดุปิดผิวผนังภายในห้องเรียนอเนกประสงค์ เลือกใช้เป็นวัสดุไม้เทียมโทนสีอ่อน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรให้กับเด็กๆ ขณะที่ไม้ที่ใช้ในการปิดผิวผนังทั้งหมดนั้น ก็ยังถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นแนวร่อง เพื่อเพิ่มเส้นสายที่ดูสนุกมากขึ้นแทนการออกแบบเป็นเพียงห้องสี่เหลี่ยมที่มีพื้นผิวเรียบๆ และแนวร่องก็ยังสามารถช่วยซับเสียงตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานห้องเรียนห้องนี้ได้ในเวลาเดียวกัน

สำหรับพื้นที่ที่ได้รับการปรับปรุงอีกส่วนก็คือห้องพักครู โดยประกอบด้วย ห้อง ผอ. และห้องประชุมคณะครู ถูกออกแบบให้มีโทนสีและการเลือกใช้วัสดุที่เชื่อมโยงกันกับห้องเรียนอเนกประสงค์ คือเลือกใช้วัสดุไม้เป็นหลัก และนำองค์ประกอบของแม่น้ำมาสะท้อนผ่านเพดานที่ถูกออกแบบให้เป็นท้องเรือขนาดใหญ่ ซึ่งการผลิตท้องเรือในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากช่างไม้ต่อเรือฝีมือดีในจังหวัดสมุทรสาครมาช่วยผลิต เป็นการสร้างความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมระหว่างจังหวัด โรงเรียน และชุมชน ไปพร้อมๆ กัน ส่วนโถงใต้อาคารที่มักเป็นพื้นที่สำหรับให้เด็กๆ วิ่งเล่นและทำกิจกรรม ออกแบบส่วนฝ้าเพดานให้เป็นหลุมคล้ายท้องเรือ มีส่วนโค้งเว้าของเสาเพื่อลดความแข็งและลดการการเกิดอุบัติเหตุจากการวิ่งเล่นของเด็กๆ ไปจนถึงการปรับปรุงพื้นให้เป็นพื้น terrazzo ที่มีส่วนผสมของวัสดุหินขัดและขยะขวดแก้ว เพื่อนำขยะกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และสร้างการตระหนักรู้ต่อการรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเด็กๆ  

“โปรเจ็คต์นี้เราปรับปรุงไปหลายส่วนแล้วเหมือนกัน ในอนาคตโรงเรียนอนุบาลสมุทรสาคร ก็ตั้งใจที่จะปิดปรับปรุงพื้นที่ส่วนอื่นๆ ไปเรื่อยๆ ด้วย ซึ่งผลลัพธ์สุดท้าย ทุกพื้นที่ภายในโรงเรียนก็คงจะออกมาแตกต่างจากโรงเรียนรัฐฯ แห่งอื่นๆ แน่นอน ผมรู้สึกชื่นชมทางโรงเรียนที่เห็นความสำคัญเชิงพื้นที่พอๆ กับหลักสูตรการศึกษา ผมว่าถ้าโรงเรียนรัฐฯ ที่อื่นจัดสรรงบประมาณเพื่อการปรับปรุงตัวอาคารแบบนี้บ้างก็น่าจะดี” 

จากที่บดินทร์ได้แบ่งปันแนวคิดและมุมมองการปรับปรุงพื้นที่ภายในโรงเรียนอนุบาลสมุทรสาครที่แปลกตาไปจากโรงเรียนรัฐบาลแห่งอื่นๆ ในครั้งนี้ ทำให้พบว่าการจะสร้างโรงเรียนสักแห่งหนึ่ง หรือการจะสร้างผู้ใหญ่จากเด็กสักคนหนึ่งนั้น อาจไม่ได้ถูกอิงจากแค่เรื่องของงบประมาณ หรือหลักสูตรการเรียนเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของมุมมองจากผู้ใหญ่ที่มองกลับมายังเด็กยุคใหม่นี้ว่า แท้จริงแล้วเด็กๆ ต้องการที่จะเรียนรู้เรื่องอะไร และหน้าที่ของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะหน้าที่ของครู ก็คงจะต้องสังเกตการณ์กับเรื่องนี้เป็นพิเศษ แม้ว่าสถาปัตยกรรมที่ดีอาจไม่ใช่สูตรตายตัวที่จะทำให้เด็กเติบโตมาได้ดี แต่อย่างน้อยสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และการเสริมสร้างจินตนาการในรูปแบบต่างๆ ก็คงจะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และจิตใต้สำนึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ได้ดีกว่าการนั่งเรียนอยู่ภายในห้องสี่เหลี่ยมมืดๆ อย่างแน่นอน

facebook.com/contextinterior

LOUIS SKETCHER

art4d พูดคุยกับ หลุยส์ – ศุภชัย วงศ์นพดลเดชา ศิลปินนักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ Louis Sketcher ถึงเส้นทางของการเป็น urban sketcher ที่คอยเก็บบันทึกความรู้สึกของเมืองผ่านสายตาและสองมือของตัวเอง

Read More

HORIZON : CAFE & RESTAURANT

โครงการปรับปรุงอาคารเก่าริมแม่น้ำกกให้กลายเป็นคาเฟ่โดย ALSO design studio ที่หยิบเอาสิ่งที่โดดเด่นเดิมในพื้นที่มาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้เดิม โรงจอดรถ และบ้านเก่า เพื่อนำเสนอบรรยากาศของการพักผ่อนสบายๆ ให้กับผู้ใช้งาน

TEXT: MONTHON PAOAROON
PHOTO: PATIWETH YUENTHAM EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ในพื้นที่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายออกไปทางตะวันออกริมแม่น้ำกก เป็นที่ตั้งของ Horizon : Cafe & Restaurant โครงการปรับปรุงอาคารเก่าเป็นคาเฟ่ที่ออกแบบโดย รัชต์พล บัวจ้อย ที่พื้นเพเป็นคนเชียงรายแต่ปัจจุบันเปิดออฟฟิศ ALSO design studio ที่เชียงใหม่ สำหรับโครงการนี้ในตอนแรกเจ้าของไม่ได้บอกความต้องการอะไรเลย มีเพียงแค่โจทย์ว่าต้องการปรับปรุงพื้นที่เป็นคาเฟ่และให้อิสระสถาปนิกออกไอเดียได้เต็มที่ รัชต์พลบอกว่าความอิสระนี้ทั้งง่ายและยากในเวลาเดียวกัน สิ่งที่โดดเด่นและดีอยู่แล้วในพื้นที่จึงกลายมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้เดิมที่ปลูกอยู่เต็มพื้นที่ โรงจอดรถ และบ้านเก่าหนึ่งหลังที่มีชานด้านหลังเปิดออกไปสู่ที่ว่างริมแม่น้ำกก 

ตัวบ้านก่อนการปรับปรุง | Photo courtesy of ALSO design studio

การปรับปรุงเริ่มจากการวางผังที่จอดรถใหม่เพื่อเชื่อมอาคารโรงจอดรถเดิมกับบ้านให้เป็นอาคารเดียวกัน และสร้างพื้นที่ service เพิ่มเติมไว้ด้านหลัง โดยอาคารโรงจอดรถถูกปรับปรุงเป็นส่วนทางเข้าและเคาน์เตอร์ชงกาแฟ เมื่อเข้ามาภายในจุดแรกที่เห็นคือพื้นที่นั่งรอเครื่องดื่มทรงโค้ง ที่ตั้งใจให้พื้นที่นี้มีความเป็นประติมากรรมในตัวเอง ซึ่งเปลี่ยนจากความตั้งใจแรกที่สเปซมีช่องแสงเจาะจากด้านบนลงสู่บ่อน้ำล้น ให้ความรู้สึกนิ่งๆ มาเป็นน้ำตกที่ผ่านการทดลองกับผู้รับเหมาก่อสร้างอยู่หลายยก เนื่องจากได้เห็นความงามและมุมมองของแสงในสภาพจริง ถัดเข้ามาเป็นพื้นที่เคาน์เตอร์ชงกาแฟสโลว์บาร์ในส่วนต่อเติมที่มีผนังเป็นกระจกตลอดแนว เป็นเฟรมภาพที่เปิดออกไปเห็นต้นไม้เดิมได้อย่างเต็มที่ 

พื้นที่ถัดมาเป็นส่วนของอาคารบ้านเดิม สถาปนิกเลือกเอากำแพงแบ่งกั้นห้องออก และเปิดพื้นที่โล่งตามแนวหลังคา  โดยแทนที่จะเจาะหน้าต่างขนาดใหญ่เปิดเข้าสู่ต้นไม้เดิมเหมือนในส่วนเคาน์เตอร์กาแฟ สถาปนิกเลือกที่จะเว้าอาคารเป็นคอร์ทภายในอีกฝั่งที่ติดกับที่ดินข้างเคียง โชว์ความดิบของเสาโครงสร้างเดิมและต้นไม้ที่ปลูกใหม่แทน ด้วยอยากให้คอร์ทเล็กๆ นี้สร้างประสบการณ์ของแสงธรรมชาติคนละแบบกับพื้นที่ส่วนแรก พื้นที่ส่วนนี้ใช้โครงสร้างเดิม ผสมกับโครงสร้างใหม่ในส่วนที่นั่งเล่นระดับ 

ส่วนชานบ้านเดิมในด้านหลังที่เปิดไปทางที่ว่างริมแม่น้ำกกถูกปรับปรุงโดยเปลี่ยนประตูหน้าต่างเพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อพื้นที่ และเก็บสระว่ายน้ำเดิมไว้โดยเปลี่ยนเพียงแค่วัสดุกรุผิว สถาปนิกได้เพิ่มทางลาดด้านข้างเพื่อให้ผู้พิการและผู้สูงอายุเข้าถึงพื้นที่นี้ได้ง่ายจากทางเข้าอาคาร และเพื่อให้เส้นสายตัดกับ mass อาคารด้านนี้ที่ดูทึบตัน ราวจับทางลาดใช้วัสดุเหล็กทำสีสนิมที่ค่อยๆ ไล่เฉดสีมาจากสีผนังก่ออิฐมอญของอาคารเดิมที่ปล่อยเปลือยโชว์อยู่ภายในอาคาร การออกแบบลำดับการเข้าถึงตั้งแต่ทางเข้าไหลไปสู่พื้นที่ด้านหลังและวกกลับมาที่ทางเข้าอีกครั้งผ่านทางลาดช่วยทำให้การสัญจรทั้งหมดลื่นไหล และลูกค้าสามารถเคลื่อนที่เข้าออก และเคลื่อนที่ภายในสเปซได้อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงส่วนงาน landscape ที่คงแนวอุโมงค์ต้นไม้เดิมที่ปลูกเรียงกันอย่างเป็นระเบียบเอาไว้ และมีการปรับเนินดินเพื่อช่วยสร้างจังหวะและความต่อเนื่องของพื้นที่ ตั้งแต่เข้าถึงโครงการ

สิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนจากภาพรวมของอาคารทั้งภายนอกและภายในก็คือการให้ความสำคัญในโทนภาพรวมของสีวัสดุ ที่เริ่มต้นจากการนำวัสดุของบ้านเดิมเป็นวัตถุดิบแรก เช่นสีปูนของเสาคอนกรีตเปลือยหรือสีอิฐมอญ หลังจากนั้นจึงเติมสีหรือวัสดุใหม่ให้เข้ากับวัสดุเดิม ซึ่งในขั้นตอนการทำงานจริงนั้นมีการทดสอบสีและทำตัวอย่างวัสดุหลายรอบ เช่น การทดลองทำตัวอย่าง concrete block กว่า 30 ชิ้นเพื่อให้ได้สีที่ลงตัว และทำให้องค์ประกอบอาคารทั้งหมดต่อเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 

ภายใต้สโลแกนออฟฟิศ ALSO design studio ที่ว่า You are happy, I’m also ที่รัชต์พลบอกว่าแสดงแนวคิดที่ไม่ได้เอาความคิดของสถาปนิกเป็นศูนย์กลางอย่างเดียว แต่แบ่งปันกับทุกคนในการทำงานและผลลัพธิ์สุดท้าย อย่างเช่นที่ Horizon แห่งนี้ที่แม้จะอยู่ไกลจากตัวเมืองเชียงราย แต่ก็เริ่มเป็นที่รู้จักจากกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มทั้งวัยรุ่น กลุ่มผู้สูงอายุที่มานั่งเล่นพูดคุย และกลุ่มครอบครัวที่มาพร้อมเด็กๆ เพื่อมาใช้เวลาพักผ่อนร่วมกัน

facebook.com/ALSOdesignstudio

PINK, BLACK & BLUE

นิทรรศการที่พาเราไปสำรวจชีวิตของมานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปินภาพถ่าย ผ่านสีดำ สีน้ำเงิน และการเดินทางสู่ความตายและโลกหน้าของ ‘Pink man’ ไอคอนสำคัญที่ศิลปินสร้างขึ้นมา ทั้งชวนให้เรานึกถึงเหตุการณ์การช่วงชิงความหมายของสีสันต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย

TEXT: TUNYAPORN HONGTONG
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

เอ่ยชื่อ มานิต ศรีวานิชภูมิ เมื่อไร หลายคนก็มักจะนึกถึงพิงค์แมนเมื่อนั้น เพราะภาพถ่ายชุด Pink Man คือผลงานที่สร้างชื่อให้เขามากที่สุด ทั้งในประเทศไทยและระดับนานาชาติ ถึงขนาดบางคนเคยเข้าใจว่าพิงค์แมนที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายคือตัวมานิตเองด้วยซ้ำ (จริงๆ แล้ว ผู้รับบทพิงค์แมนคือ สมพงษ์ ทวี กวีและศิลปินด้านศิลปะการแสดงสด)

มานิตสร้างตัวละครพิงค์แมนขึ้นในปี 1997 โดยวางคาแร็กเตอร์ให้พิงค์แมนเป็นชายชาวเอเชียร่างอ้วน สวมสูทผู้บริหารผ้าซาตินสีชมพูสด (shocking pink) และเดินทางไปไหนต่อไหนพร้อมรถเข็นซูเปอร์มาร์เก็ตอันว่างเปล่าที่อยู่ในโทนสีเดียวกันกับสูทของเขา มานิตใช้พิงค์แมนเป็นตัวแทนของลัทธิบริโภคนิยมแบบสุดโต่งที่กำลังครอบงำสังคมไทย ซึ่งระดับความสุดโต่งของการบริโภคนั้นถึงขั้นที่ไม่แคร์เรื่องในสังคมอื่นใดที่ไม่เกี่ยวกับตนเองเลยก็ว่าได้ หลังจากนั้น มานิตสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่าย Pink Man ออกมาอีกหลายชุด โดยพิงค์แมนเดินทางไปปรากฏอยู่ตามสถานที่และเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยใบหน้าเฉยชาไม่ยี่หระต่อสิ่งใด ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ เช่น ‘Pink Man on Tour’ (1998) หรือแม้แต่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของประเทศ อย่าง การล้อมปราบและสังหารหมู่นักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาทมิฬ 2535 ในผลงานชุด ‘Horror in Pink’ (2001) มานิตก็ยังพาพิงค์แมนไปอยู่ในภาพถ่ายอันแสนสะเทือนใจด้วยสีหน้าราวกับกำลังชมมหรสพก็ไม่ปาน

ในซีรีส์ส่วนมาก พิงค์แมนจะเป็นจุดที่โดดเด่นที่สุดของภาพ หรือใน ‘Hungry Ghost’ (2003) พิงค์แมนไม่เพียงเป็นตัวละครหลัก แต่ยังมีขนาดใหญ่เหนือจริงเท่ากับอาคารสูงเสียดฟ้า ซึ่งขนาดที่ว่าก็น่าจะพอๆ กับอัตตาของตัวเขาเอง อย่างไรก็ดี ในบางซีรีส์ โดยเฉพาะ ‘Pink Man in Venice’ (2003) มานิตกลับเลือกถ่ายภาพพิงค์แมนในระยะไกล จนพิงค์แมนเหลือตัวเล็กนิดเดียว แถมในบางภาพยังยืนเหม่อออกไปในผืนน้ำกว้างและข้างกายก็ไม่มีรถเข็นสี shocking pink จนในตอนนั้น เราสงสัยไม่ได้ว่าการเดินทางครั้งต่อไปของพิงค์แมนจะเป็นอย่างไร? จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นกับเขาหรือไม่? หรือว่าหลังจากบริโภคทุกสิ่งทุกอย่างมาตลอดชีวิตแล้วจุดจบของพิงค์แมนจะอยู่ในรูปแบบไหน?

กว่าคำตอบที่ว่าจะมีออกมาให้เห็น พิงค์แมนก็ผ่านการเดินทางมาอีกมากมายจนกระทั่ง ปี 2018 ในซีรีส์ ‘The Last Man and the End of His Story’ (2018) มานิตถ่ายภาพแนวสตรีทดิบๆ ที่ในแต่ละภาพมีถุงใส่ศพสีชมพูวางอยู่ตามถนนหนทางในสหรัฐอเมริกา โดยมีรถเข็นซูเปอร์มาร์เก็ตสีเดียวกันวางทิ้งขว้างอยู่ข้างๆ แน่นอน นี่คือการบอกเล่าถึงความตายของพิงค์แมน แต่เมื่อพิจารณาผลงานอีกชิ้นที่ออกมาในปีเดียวกัน นั่นคือ ‘Dropping the Pink Self’ (2018) เราก็เริ่มไม่แน่ใจว่าความตายของพิงค์แมนที่ว่าคือเสียชีวิตหรือเป็นการอุปมาถึงการละทิ้งบางสิ่งบางอย่างไป เพราะใน ‘Dropping the Pink Self’ มานิตหยิบยืมไอเดียมาจากผลงาน ‘Dropping a Han Dynasty Urn’ (1995) ของ Ai Weiwei แต่ในขณะที่ Ai ปล่อยโถโบราณจากราชวงศ์ฮั่นให้ตกลงแตกกระจายเพื่อสื่อถึงยุคสมัยแห่งการรื้อทำลายและสร้างวัฒนธรรมจีนขึ้นใหม่ พิงค์แมนปล่อยตุ๊กตาจำลองของตัวเองตกลงพื้นจนหัวขาดกระเด็น 

สองผลงานดังกล่าวถูกนำกลับมาแสดงอีกครั้งในนิทรรศการเดี่ยวล่าสุดของมานิตที่ชื่อ Pink, Black & Blue รวมทั้งยังมีซีรีส์ใหม่ที่ต่อไปจากความตายของพิงค์แมนอีก คือ ‘Afterlife So Pink #2’ (2023) อินสตอลเลชันที่มีตุ๊กตาจำลองพิงค์แมนอยู่บนเรือไม้ สัญลักษณ์สากลที่เปรียบเสมือนการข้ามผ่านไปสู่โลกหลังความตาย แต่เพราะเป็นพิงค์แมน บนเรือจึงมีเศียรพระพุทธรูปวางอยู่และเรือนั้นก็อยู่ในอ่างเป่าลมสำหรับเด็กที่มีลวดลายเป็นสัตว์ทะเลแบบคิชๆ (kitsch) ส่วนผลงานอีกชุดคือ ‘Heavenly Pink’ (2023) พิงค์แมนไปปรากฏอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังไทยโบราณ ตั้งแต่รูปสวรรค์ชั้นฟ้าที่รายล้อมไปด้วยเทวดานางฟ้า ในพุทธประวัติที่พระพุทธเจ้าเจอกับองคุลีมาล หรือแม้แต่ในจิตรกรรมฝาผนังของขรัวอินโข่ง (ผลงานศิลปะของศิลปินหัวก้าวหน้าในอดีตที่ศิลปินไทยร่วมสมัยหลายคนหยิบมาใช้ในผลงานของตัวเองในช่วงที่ผ่านมา) การเดินทางของพิงค์แมนในซีรีส์นี้เปิดกว้างการตีความได้มันพอๆ กับภาพที่มานิตสร้างขึ้นมา เพราะเราสามารถจะคิดไปได้ตั้งแต่ว่า นี่คือการเดินทางของพิงค์แมนหลังปลดแอกตัวเองออกจากการบริโภค หรืออาจเป็นแค่ความฝันของเขาเองที่แม้จะตายไปแล้วแต่ก็ยังไม่หมดความปรารถนา

เรื่องของพิงค์แมนจัดอยู่ในส่วนของ Pink หนึ่งในเฉดสีที่ปรากฏอยู่ในนิทรรศการ Pink, Black & Blue ส่วนอีกสองเฉดสีที่เหลือคือ Black หมายถึง ‘When I was Twenty’ งานภาพถ่ายขาวดำของมานิตสมัยยังเป็นนักศึกษา และ Blue คือในส่วนของ ‘I Saw A Blue Wing’ ภาพถ่ายที่มานิตใช้การ snapshot เรื่องราวและผู้คนต่างๆ ที่พบเจอระหว่างการเดินทางไปร่วมเทศกาลงานศิลปะในต่างประเทศ โดยผลงานทั้งสองส่วนนี้ แม้จะไม่ได้มีเนื้อหาเข้มข้นเหมือน Pink แต่ก็ทำให้เรารู้จักตัวตนของมานิตมากขึ้น โดยเฉพาะความขบถ (Black) ที่มีให้เห็นตั้งแต่ในงานสมัยเป็นนักศึกษาและอารมณ์ขันที่บางครั้งติดตลกร้ายนิดๆ (Blue) ในภาพ snapshot ซึ่งทั้งสองส่วนยังคงเป็นลักษณะที่เราพบในการทำงานศิลปะของเขาจนถึงปัจจุบัน 

อย่างไรก็ดี บทบาทสำคัญของ Black และ Blue ที่เข้ามาอยู่ร่วมกับ Pink ไม่น่าจะหมดเพียงแค่นั้น แต่การที่มานิตเลือกใช้โทนสีมากกว่าแค่สีชมพูเพียงอย่างเดียวในครั้งนี้ น่าจะเป็นความต้องการของเขาที่จะพูดถึงการสร้างความหมายเฉพาะให้กับ ‘สี’ แต่ละสีในสังคมไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการใช้สีเพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การใช้สีเพื่อบ่งบอกจุดยืนทางการเมือง หรือแม้แต่อาจย้อนไปถึงการใช้สีเพื่อสื่อถึงความเป็นชาติ 

ไม่ว่าการสร้างความหมายดังกล่าวจะเป็นไอเดียของใคร มีจุดประสงค์แท้จริงเพื่ออะไร หรือตื้นเขินแค่ไหน แต่มันก็ได้กลายเป็นสิ่งที่เราทุกคนต่างยอมรับโดยทั่วกัน จนทำให้คนเสื้อแดงหลายคนไม่ยอมใส่เสื้อเหลืองอีกเลย และคนเสื้อเหลืองก็จะไม่มีวันหยิบเสื้อแดงมาใส่ออกจากบ้าน (ยกเว้นตรุษจีน) สำหรับมานิต การให้ความหมายแก่สีนี้ทำให้สังคมไทยแตกออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน ซึ่งก่อให้เกิดการแช่แข็งของประเทศ รวมทั้งในด้านเศรษฐกิจที่วางอยู่บนบริโภคนิยม โดยเราจะเห็นความคิดเห็นของเขาในเรื่องนี้ได้จาก ‘Afterlife So Pink #1’ อินสตอลเลชันที่เขาเอาตุ๊กตาจำลองพิงค์แมนไปใส่ไว้ในก้อนเรซินที่ทำให้เหมือนก้อนน้ำแข็ง และจัดวางอยู่บนถังน้ำแข็งสีน้ำเงินและแดง ส่วนอินสตอเลชันอีกชิ้นที่เหลือ ‘Stay Pink’ (2023) ที่รถเข็นซูเปอร์มาร์เก็ตของพิงค์แมนมีสายน้ำเกลือห้อยระโยงระยางอยู่เต็มไปหมด ก็คือความพยายามรักษาการบริโภคของผู้คนในสังคมไว้ เพราะแม้การแตกแยกในสังคมอาจเอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นปกครอง แต่เมื่อการบริโภคถูกกระทบกระเทือน ทุนนิยมก็ด้อยลงตาม และชนชั้นสูง-นายทุนก็สูญเสียผลประโยชน์

ในซีรีส์ Pink Man ของมานิต พิงค์แมนคือชายในชุดสูทสีชมพูผ้ามันวาวดูน่าขยะแขยง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง พิงค์แมนอาจอยู่ในเสื้อหรือสูทสีอื่นก็เป็นได้ และก่อนที่จะมองเห็นได้ว่าใครกันแน่ที่คือพิงค์แมน เราอาจต้องข้ามผ่านความหมายของสีที่ฉาบไว้เพียงผิวเผินภายนอกเสียก่อน

นิทรรศการ Pink, Black & Blue: A Solo Photographic Exhibition by Manit Sriwanichpoom จัดแสดงที่ Hub of Photography (HOP) ชั้น 3, MUNx2 ศูนย์การค้าซีคอนแสควร์ ศรีนครินทร์ จนถึงวันที่ 9 เมษายนนี้

facebook.com/hubofphotographybangkok

CLOUD 11

ผลงานจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ MQDC, Snøhetta สตูดิโอสถาปัตยกรรมจากนอร์เวย์ และ A49 สตูดิโอสถาปัตยกรรมจากไทย ที่หมายมั่นเป็น hub ฟูมฟักความคิดสร้างสรรค์ของ creator ที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO COURTESY OF CLOUD 11 EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

“creator คนไทยเก่งมาก แต่เมืองไทยยังไม่มี hub ให้ creator มารวมตัวและร่วมมือกัน ทำให้คอนเทนต์เติบโตสู่ระดับสากล”

องศา จรรยาประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการ Cloud 11 เกริ่นให้เราฟังถึงไอเดียของโครงการ Cloud 11 ก่อนที่จะเปลี่ยนสไลด์ไปโชว์รูปอาคารโครงการอันใหญ่โต ดูเหมือนกรอบประตูบานเบ้อเริ่มที่ดึงดูดนักสร้างสรรค์และผู้คนโดยรอบให้เข้าไปใช้งาน

องศา จรรยาประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการ Cloud 11 | Photo: Worapas Dusadeewijai

คงไม่ต้องเถียงกันแล้วว่าอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เช่น หนัง เกม ดนตรี ศิลปะ มีพลังทางเศรษฐกิจมากขนาดไหน ในปี 2020 กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของประเทศเกาหลีใต้ เผยรายงานออกมาว่า แค่เพลงดังทะลุโลก ‘Dynamite’ ของวง BTS เพลงเดียว ก็สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาลถึง 1.7 ล้านล้านวอน (หรือประมาณ 26,000 ล้านบาท) 

ประเทศไทย เป็นประเทศที่เปี่ยมด้วยคนมากความสามารถและศักยภาพในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ เห็นได้จากบุคลากรในประเทศที่ออกไปคว้ารางวัลระดับนานาชาติมากมาย แต่เนื่องจากนักสร้างสรรค์และทรัพยากรเครื่องมือต่างๆ อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย เมื่อมองในภาพรวม อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยเลยขับเคลื่อนไปได้อย่างไม่ต่อเนื่อง เป็นเหมือนกระแสลมที่เดี๋ยวแรง เดี๋ยวแผ่วเบา 

MQDC บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จึงผุดโครงการ Cloud 11 เพื่อเป็นแหล่งผนึกพลังสร้างสรรค์ของ creator ผ่านการสร้างแหล่งเรียนรู้ การสนับสนุนด้านเงินทุน พื้นที่ อุปกรณ์ เทคโนโลยี และโอกาสต่างๆ เพื่อติดปีก creator ให้ไปได้ไกลอย่างฝัน

และที่นี่ไม่ได้วาดหวังเป็นแค่พื้นที่สำหรับ creator ในประเทศไทยเท่านั้น 

เพราะจุดหมายของ Cloud 11 คือการเป็น hub ของ creator ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย 

On Cloud 11 

นักอุตุนิยมวิทยาจำแนกก้อนเมฆบนท้องฟ้าไว้ 10 ประเภทด้วยกัน โดยใช้ตัวเลข 0 ถึง 9 บ่งบอกถึงเมฆแต่ละประเภท 0 คือเมฆที่อยู่ระดับต่ำสุด ไล่ไปจนถึง 9 ซึ่งก็คือเมฆที่อยู่ระดับสูงสุด ในภาษาอังกฤษเลยมีสำนวนว่า on cloud 9 ที่แปลว่ามีความสุขมากๆ เหมือนได้ลอยบนเมฆที่สูงสุดในท้องฟ้า

แต่โครงการ Cloud 11 มีเลข 11 ห้อยท้ายชื่อแทนที่จะเป็นเลข 9 ตามสำนวน เพราะโครงการอยากเป็นพื้นที่ให้ creator ได้มีความสุข และเติบโตได้ไกลกว่าที่เคยเป็น

Cloud 11 ตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 27 ไร่ ติดกับถนนสุขุมวิทและอยู่ระหว่าง BTS ปุณณวิถีและ BTS อุดมสุข โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในการพลิกย่านสุขุมวิทใต้ ให้เป็นย่านนวัตกรรม 

พื้นที่ใช้สอยโครงการที่มากถึง 254,000 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยส่วนประกอบหลักๆ 7 ส่วนด้วยกันคือ

Creative Office & Studio Space พื้นที่สำนักงานและสตูดิโอเปิดทำการ 24 ชั่วโมง ที่ออกแบบมาเพื่อเหล่า creator โดยเฉพาะ ที่นี่มีระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบทำความเย็นแบบเงียบและยืดหยุ่น เอื้อให้ creator ปลดปล่อยพลังความสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ 

Hybrid Retail ศูนย์การค้าเพื่อส่งเสริมสินค้าและธุรกิจของนักสร้างสรรค์ หากนักสร้างสรรค์อยากต่อยอดทำธุรกิจก็สามารถนำสินค้ามาวางจำหน่ายได้ รวมถึงยังมีศูนย์สต็อก แพ็ก ส่งสินค้า และ cloud kitchen ที่สนับสนุนครีเอเตอร์สายอาหาร ที่อยากขายของแต่ยังไม่พร้อมลงทุนทำหน้าร้าน 

Hotel โรงแรมสองรูปแบบทั้ง Smart Hotel และ Lifestyle Hotel จากเครือโรงแรมระดับโลกที่จะเปิดตัวในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก เพื่อรองรับการสร้างย่านนวัตกรรมในอนาคต 

Education ส่วนการศึกษาไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยต่างๆ สำหรับสร้างบุคลากร creator ให้แข็งแกร่ง 

Cultural พื้นที่รองรับกิจกรรมทางวัฒนธรรม อย่างเช่น โรงละคร ฮอลล์จัดงานคอนเสิร์ต 

และไฮไลท์สำคัญก็คือ พื้นที่สีเขียวลอยฟ้าขนาดใหญ่ของโครงการ ที่เปิดให้คนในตึก รวมถึงสาธารณชนคนทั่วไปได้เข้ามาพักผ่อน และปะทะพลังความสร้างสรรค์ 

หัวหอกที่อยู่เบื้องหลังงานดีไซน์ของ Cloud 11 คือ Snøhetta สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมจากนอร์เวย์ ที่เคยฝากผลงานน่าสนใจเช่น Oslo Opera House หรือการปรับปรุงพื้นที่ Times Square ในเมือง New York ร่วมกับ A49 บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมเจ้าใหญ่ของเมืองไทย ผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบ True Digital Park ซึ่งรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการออกแบบและวางผังงานสถาปัตยกรรม

“เรารู้สึกยินดีมากที่ได้เข้าร่วมโปรเจ็คต์นี้ เราชอบแนวคิดอันท้าทายที่จะเชื่อมต่อโลกดิจิตัลและโลกแอนาล็อกเข้าด้วยกัน รวมถึงการนำเสนอต้นแบบอาคารใหม่ๆ” Kjetil Thorsen สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้งออฟฟิศ Snøhetta กล่าว

Kjetil Thorsen, architect and co-founder of Snøhetta

“โครงการนี้เริ่มต้นด้วยแนวคิดที่แตกต่าง และมีฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่าง ซับซ้อน ผสมผสานอยู่ข้างใน ทำให้เป็นโครงการหนึ่งที่เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่ง” นิธิศ สถาปิตานนท์ สถาปนิกจาก A49 ร่วมยืนยันถึงความท้าทายของโครงการ Cloud 11

นิธิศ สถาปิตานนท์ สถาปนิกจาก A49

อาคาร Cloud 11 ได้รับการเนรมิตเป็นกลุ่มอาคารที่ยืนรายล้อมคอร์ทพื้นที่สีเขียวตรงกลาง คนที่เดินเข้าอาคารมาจาก skywalk จะประจันหน้ากับจอ LED ขนาดใหญ่และกรอบอาคารที่ดูไม่ต่างกับประตูเมืองขนาดยักษ์ ซึ่งแสนจะล่อตาล่อใจให้เดินเข้าไปค้นหาว่ามีอะไรอยู่ข้างใน 

“ช่องโล่งด้านหน้าที่เปิดออกไปสู่สวนตรงกลาง มีความกว้าง 40 กว่าเมตร อาคารด้านบนตั้งอยู่บนโครงสร้าง truss ที่พาดช่วงขนาดยาว ทำให้อาคารมีภาพเป็นเหมือนกรอบประตูขนาดใหญ่ข้างหน้า”  นิธิศ พูดถึงหน้าตาอาคารด้านหน้าอันเป็นเอกลักษณ์ 

ตัวอาคารวางผังล้อมรอบสวนลอยฟ้าตรงกลาง ผลจากการวางอาคารเป็นคอร์ทคือร่มเงาที่ตกทอดลงมาที่สวน ทำให้คนสามารถใช้สวนได้อย่างสบายๆ แม้จะเป็นช่วงเวลาบ่ายที่แดดจัด ถึงอาคารจะวางล้อมสวนตรงกลาง แต่อาคารก็ไม่ได้ล้อมกรอบทึบจนอุดอู้ โดยรอบมีการเว้นช่องว่าง เพื่อเปิดให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามา และช่วยให้อากาศบริสุทธิ์ไหลเวียน 

เมื่อมองในภาพรวม ภาพกลุ่มอาคารที่ถูกแบ่งเป็นก้อนๆ ก็สะท้อนความครึกครื้น และหลากหลายของกิจกรรมที่บรรจุในอาคารได้จากไกลๆ หากมองรูปลักษณ์อาคารจากรูปด้าน อาคารจะถูกแบ่งสัดส่วนออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ street level พื้นที่ส่วนฐานอาคารที่ได้แรงบันดาลใจการดีไซน์จากตึกแถว garden level พื้นที่ระดับสวน พร้อมเส้นแนวอาคารหยึกหยักรอบๆ ที่เชื่อมต่อเส้นสายจาก skywalk ด้านหน้า และสุดท้ายคือตัวอาคารด้านบนที่เรียกว่าระดับ skyline 

“เลเยอร์ที่หลากหลายของพื้นที่ใช้สอยของโครงการนี้ สะท้อนออกมาผ่านรูปทรงอาคาร ผู้คนสามารถมองเห็นได้จากหน้าตาอาคารข้างนอกเลยว่าอาคารหลังนี้เต็มไปด้วยการใช้งานที่หลากหลาย มันเหมือนกับเมืองกรุงเทพฯ ขนาดย่อ” Kjetil Thorsen เล่าถึงที่มาของหน้าตาอาคาร “และช่องว่างตามจุดต่างๆ ของตึกก็สะท้อนถึงต้นไม้เดิมที่อยู่ใน site ด้วย เพราะงานนี้ต้องออกแบบโดยไม่ตัดต้นไม้ที่มีอยู่เดิม” 

Beyond Cloud 11  

โครงการอสังหาริมทรัพย์บางโครงการอาจเน้นการสร้างพื้นที่ขายให้มากๆ เพื่อให้ได้เม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำที่สุด แต่เหมือนว่า Cloud 11 จะไม่ได้เดินตามเส้นทางนั้น เพราะกลางอาคารคือพื้นที่สวนลอยฟ้าอันใหญ่โต คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมถึงยอมแลกพื้นที่ตึกไปกับสวน ?

Cloud 11 มองว่า สิ่งที่โครงการได้กลับมาจากพื้นที่ขายที่หายไป คือคนจำนวนมากที่จะเข้ามาใช้งานสวนกลางอาคาร ไม่ว่าจะเป็นคนในตึกเองหรือคนในละแวกโดยรอบ และนอกจากโครงการจะได้ประโยชน์แล้ว ชุมชนรอบข้างก็ได้พื้นที่สีเขียวผืนใหญ่มาใช้งานด้วย ซึ่งพื้นที่สีเขียวลอยฟ้าตรงนี้ ก็จะกลายเป็นพื้นที่สีเขียวลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ อีกด้วย

“ตอนเริ่มทำโครงการ เราเดินลงไปถามคนในชุมชนรอบข้างว่าเขาต้องการอะไรบ้าง หรือเราจะช่วยแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง ก็พบคนบ่นว่าไม่มีสวนสาธารณะดีๆ หรือไม่มีพื้นที่ออกกำลังกาย เราเลยตั้งใจสร้างสวนออกมา เพื่อให้คนมาใช้งาน” องศา จรรยาประเสริฐ เผย

นอกจากนั้น Cloud 11 ยังจับมือกับกทม. ปรับปรุงคุณภาพคลองด้านข้างโครงการ และพลิกโฉมให้กลายเป็น canal walk อำนวยความสะดวกการสัญจรของผู้คน และเชื่อมถนนสุขุมวิทด้านหน้าโครงการ กับซอยสุขุมวิท 66 ที่อยู่ข้างหลังเข้าด้วยกัน เป็นอีกผลลัพธ์ที่เกิดจากความตั้งใจของ MQDC รวมถึง Snøhetta และ A49 ที่อยากสร้างสรรค์โครงการให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและคนนอกตึก ไม่ใช่แค่คนในตึกเพียงอย่างเดียว

ในวันนี้ โครงการ Cloud 11 ก็เริ่มลงหลักปักเสาเข็มและเดินหน้าก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะพร้อมเปิดบริการในช่วงปลายปี พ.ศ. 2567 หวังว่าเจ้าก้อนเมฆก้อนสูงสุดบนท้องฟ้านี้ จะหอบหิ้วความฝันของ creator และนำความสุขมาสู่ชุมชนรอบข้างได้อย่างที่ใจหวัง  

facebook.com/cloud11bangkok

THE ART OF TRAVEL POSTERS

TEXT & PHOTO: ARTHUR VERGNE

(For English, press here

โปสเตอร์โปรโมตการท่องเที่ยวนั้นถือกำเนิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในฐานะของสื่อโฆษณาชนิดหนึ่งที่มีพลังในการจูงใจผู้คนให้ออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ ด้วยสีสันสดใสและพลังในการสร้างความรู้สึกของการผจญภัยและการออกสำรวจค้นหาอะไรใหม่ๆ ผมจึงอยากนำเสนอความสวยงามของประเทศไทยในฐานะประเทศที่ผมได้เลือกลงหลักปักฐานผ่านคอลเลคชั่นโปสเตอร์ที่ผมได้สร้างขึ้น ในมุมมองของสถาปนิก ผลงานชุดนี้ก็เป็นเหมือนการสำรวจและถ่ายทอดความงามและความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของวัดวาอารามต่างๆ ด้วยแรงบันดาลใจจากการ์ตูนแอนิเมชั่นญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา อาร์ทเวิร์คเหล่านี้มุ่งหมายที่จะแสดงออกถึงความหลากหลายของประเทศไทยด้วยมุมมองที่มีความโรแมนติค จากทั้งเจดีย์ที่ดูลึกลับน่าค้นหาภายใต้แสงจันทร์ ทุ่งข้าวสีเหลืองทองพริ้วไหวสายลม หรือถนนหนทางอันวุ่นวายภายใต้ท้องฟ้าสีสดใส…

_____________

Arthur Vergne เป็นสถาปนิกและนักวาดภาพประกอบที่ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่มาเกือบสิบปีแล้ว นอกเหนือไปจากการทำงานสถาปัตยกรรม เขายังกำลังออกแบบคอลเลคชั่นโปสเตอร์ที่ฉายภาพความสวยงามของประเทศไทยอีกด้วย

instagram.com/arthur.illustration

SUSPENDED HOUSE

Fala Atelier กลับมาอีกครั้งพร้อมกับบ้านสามชั้นที่เต็มไปองค์ประกอบทางกราฟฟิค รูปทรง และสีสันคล้ายงานคอลลาจ พร้อมทีเด็ดอย่างเสาลอยเท้งเต้งอยู่กลางบ้าน ที่เกิดจากการปลดปล่อยสัญชาตญาณของสถาปนิก

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here)

หากให้นึกถึงสตูดิโอสถาปัตยกรรมที่ทำงานดีไซน์แบบยียวนกวนบาทา ชื่อของ Fala Atelier สตูดิโอสถาปัตยกรรมจากโปรตุเกสจะเป็นหนึ่งชื่อที่ติดอยู่ในโผ เพราะสตูดิโอนี้ทำงานสถาปัตยกรรมเหมือนการทำคอลลาจ องค์ประกอบ รูปทรง และสีสัน ถูกนำมาตัดแปะตามที่ต่างๆ บนอาคารอย่างเมามัน โดยไม่มีหลักเกณฑ์อะไรมากไปกว่าใจที่สั่งมา 

และ Suspended House ผลงานออกแบบบ้านในเมือง Porto ประเทศโปรตุเกส ก็เป็นผลงานที่แสดงความยียวนของ Fala Atelier ไปอีกเลเวล เพราะสิ่งที่อยู่กลางบ้านคือเสาคอนกรีตหน้าตาประหลาดที่ไม่ได้ทำหน้าที่รับโครงสร้างใดๆ เป็นเพียงแค่เสาตกแต่งและเป็นวงกบให้กับประตูรอบๆ 

แล้วรู้ได้อย่างไรว่าไม่ใช่เสารับโครงสร้าง ก็เพราะว่าที่ชั้น 1 เสามันลอยตัวอยู่เหนือพื้นดิน!

Photo: Fala Atelier

เราอาจจะคิดว่าเจ้าของบ้านคือคนผู้คลั่งไคล้ในงานดีไซน์ และอยากได้บ้านที่จี๊ดจ๊าดไม่เหมือนใคร แต่เปล่าเลย เจ้าของบ้านเป็นแค่คนธรรมดาที่อยากให้สถาปนิกมาเซ็นแบบและสร้างบ้านให้เสร็จๆ ไป สถาปนิกอยากทำดีไซน์อย่างไรก็แล้วแต่ เป็นการเข้าหาสถาปนิก เพราะความจำเป็น มากกว่าความสนใจเรื่องดีไซน์ 

“บ้านหลังนี้เป็นบ้านสำหรับเพื่อนของเรา ซึ่งเขาไม่สนใจเรื่องสถาปัตยกรรมเลยซักนิด ความต้องการส่วนมากที่เขาให้มาก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องดีไซน์ ทำให้เรามีพื้นที่ได้ทำตามความตั้งใจ” Fala Atelier ว่า

Photo: Fala Atelier

Suspended House เป็นบ้านสามชั้น ที่มีทางเข้าหลักอยู่ชั้น 2 ตามระดับถนนด้านหน้า façade ด้านหลังบ้านตกแต่งด้วยม่านกันแดดสีสันแฟนซี รางน้ำทิ้งสีเงินกลมวางอย่างสง่าผ่าเผยกลาง façade ขอบหน้าต่างด้านบนสุดขลิบด้วยแถบหินอ่อนสีขาวดำที่ดูไม่มีตรรกะอะไรเบื้องหลังแพทเทิร์น และสิ่งที่แสนจะแรนด้อมที่สุดของ façade ด้านนี้ก็คือ แผ่นหินอ่อนกลมสีชมพูที่ยืนเด่นเป็นสง่าข้างบน 

Photo: Fala Atelier

Photo: Fala Atelier

พื้นที่ชั้น 2 และ 3 ของบ้านถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยแนวกำแพงที่เชื่อมต่อกับเสาตรงกลาง เสาทำหน้าที่เป็นวงกบให้ประตูสีน้ำเงินเข้มที่เกาะเกี่ยวรอบๆ สถาปนิกไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าแต่ละห้องจะเป็นห้องอะไร แต่ปล่อยให้เจ้าของบ้านมอบชีวิตให้กับมันเอง ชั้น 1 ไม่ได้มีกำแพงแบ่งสเปซเหมือนชั้นอื่นๆ แต่ยังมีเสาตรงกลางที่ห้อยต่องแต่งเหนือพื้นดิน เสาต้นนี้เป็นเสาหล่อคอนกรีตที่หอบหิ้วด้วยโครงสร้างคานข้างบน ตอนก่อสร้าง เสานี้ก็หล่อคอนกรีตเต็มจนถึงพื้น แต่เมื่อคอนกรีตแห้งตัว สถาปนิกก็ตัดส่วนล่างออก เหลือเป็นเสาลอยอย่างที่เห็น ชั้นหนึ่งก็มีฝ้าแนวโค้งที่ปูดออกมา ทำให้สเปซชั้นนี้ ดูเป็นการคอลลาจในเชิงสามมิติ มากกว่าเป็นการเล่นกับองค์ประกอบในระนาบแบนๆ เพียงอย่างเดียว

Photo: Laurian Ghinitoiu

Photo: Fala Atelier

Photo: Ivo Tavares

Photo: Frederico Martinho

งานนี้เป็นเหมือนกับหลายๆ งานของ Fala Atelier ที่เริ่มต้นจากข้อกำหนดธรรมดา และการเข้าหาสถาปนิกด้วยความจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ที่อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในโปรตุเกสกลับมาคึกคักเฟื่องฟู หลังเคยซบเซาจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 งานออกแบบที่มีคาแรกเตอร์อันเจนจัด เลยเป็นช่องทางที่สตูดิโอจะได้ปลดปล่อยตัวเองออกจากบรีฟซ้ำๆ หรือข้อจำกัดต่างๆ ที่พวกเขาเจอ โดยไม่ได้หวังว่ามันจะมี function หรือมีความหมายอะไรให้ตีความ 

Wireframes | © Fala Atelier

Wireframes | © Fala Atelier

falaatelier.com
facebook.com/falaatelier

PARIS 2024 PICTOGRAM

ลองไปดูเบื้องหลังการออกแบบ pictogram ในโอลิมปิกปารีส 2024 ว่ามีแนวคิดการออกแบบอย่างไรบ้าง และมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไรบ้างเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

TEXT: WEE VIRAPORN
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here)

มนุษย์รู้จักใช้ภาษาภาพมาตั้งแต่ก่อนจะมีตัวอักษรและภาษาเขียน ดังที่ปรากฏหลักฐานเป็นภาพวาดตามผนังถ้ำยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่แม้ว่าเราจะมีการใช้ภาษาเขียนและตัวอักษรเป็นหลักแล้ว การใช้สัญลักษณ์ภาพก็ยังคงมีที่ทางของมันในระบบการสื่อสารปัจจุบัน เพราะ pictogram (สัญลักษณ์ภาพที่มีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับวัตถุ) ยังคงมีประสิทธิภาพในการสร้างความเข้าใจร่วมอันเป็นสากลระหว่างผู้สื่อสารที่ใช้ภาษาแตกต่างกัน จึงทำให้เกิดระบบชุดสัญลักษณ์มาตรฐานสำหรับกิจกรรมต่างๆ ออกมามากมาย เช่น สัญลักษณ์ด้านความปลอดภัยภายในอาคารสถานที่ สัญลักษณ์การซักรีดบนเสื้อผ้า สัญลักษณ์บนอุปกรณ์เครื่องจักรและรถยนต์ เป็นต้น

สำหรับกิจกรรมที่เกิดการรวมตัวของผู้คนจากทั่วโลกอย่างมหกรรมกีฬาโอลิมปิก การสร้าง pictogram ขึ้นมาแทนประเภทกีฬาต่างๆ เป็นสิ่งที่ผู้สนใจงาน graphic design เฝ้ารอชมเสมอ ไม่แพ้ตัวโลโก้ และ mascot ของงาน ซึ่งชุด pictogram กีฬาแบบที่เราคุ้นเคยกันนั้นเริ่มถูกออกแบบเป็นระบบในกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ในปี 1964 โดยหลังจากนั้นก็มีอีกหลายชุดที่น่าจดจำ เช่น Mexico City 1968 โดย Lance Wyman และ Munich 1972 เป็นต้น

pictogram ในงานกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน กรุงโตเกียว ปี 1964 | Photo courtesy of the Organizing Committee for the Games of the XVIII Olympiad

pictogram ในงานกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Mexico City ปี 1968 | Photo courtesy of Organizing Committee of the Games of the XIX Olympiad, MEXICO 68

pictogram ในงานกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Munich ปี 1972 | Photo courtesy of ERCO GmbH Lüdenscheid

ชุด pictogram มักจะถูกออกแบบโดยมีการใช้ระบบกริด และองค์ประกอบอื่นๆ ที่สร้างความต่อเนื่องของรูปฟอร์ม ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างเอกลักษณ์ให้สอดคล้องกับกราฟิกอื่นๆ รวมถึงบางครั้งก็ต้องสะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประเทศเจ้าภาพด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น ชุด pictogram ของ Sydney 2000 ที่ใช้บูมเมอแรง ซึ่งเป็นอาวุธของชาวอะบอริจิน ชนพื้นเมืองออสเตรเลีย มาประกอบเป็นตัวคน และ Beijing 2008 ที่ใช้ลายเส้นเหมือนตัวอักษรจารึกบนเครื่องถ้วยชามจีนโบราณ

pictogram ในงานกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Sydney ปี 2000 | Photo courtesy of SYDNEY 2000, ORGANISING COMMITTEE FOR THE GAMES

pictogram ในงานกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Beijing ปี 2008 | Photo courtesy of the Beijing Olympic Organizing Committee

แน่นอนว่างานออกแบบกราฟิกสำหรับงานในสเกลนี้ย่อมยากที่จะทำออกมาให้ถูกใจทุกคนได้ โลโก้ของ London 2012 มีกระแสต่อต้านตั้งแต่เปิดตัว เพราะเลือกใช้ตัวอักษรที่สนุกสนานแหวกขนบมากๆ แต่ในส่วน pictogram กลับใช้ลายเส้นโครงร่างคนที่ค่อนข้างเหมือนจริง ส่วน Tokyo 2020 ก็ต้องเปลี่ยนโลโก้เพราะถูกหาว่าเป็นงานลอกแบบ  ในขณะที่คำวิจารณ์เกี่ยวกับชุด pictogram มักจะเป็นไปในทางว่า “ไม่มีอะไรใหม่” ซึ่งตอนแรกเราก็คิดอย่างนั้นกับชุด pictogram ของ Tokyo 2021 ที่จงใจนำแบบของ Tokyo 1964 มาขัดเกลา จนเห็นโชว์การแสดงในช่วงพิธีเปิดที่เอาคนจริงมาแสดงเป็นสัญลักษณ์ได้อย่างคาดไม่ถึง

pictogram ในงานกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน London ปี 2012 | Photo courtesy of The London Organising Committee of the Olympic Games and Paralympic Games Limited

pictogram ในงานกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Tokyo ปี 2021 | Photo courtesy of Tokyo Olympic Organizing Committee

ตั้งแต่คลิปการเปิดตัว Paris 2024 ในพิธีปิดกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียว ผู้ชมได้ตื่นตาตื่นใจกับแนวคิดใหม่ๆ หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการจัดประเภทกีฬาที่ไม่เคยมีในโอลิมปิกมาก่อน เช่น สเก็ตบอร์ดและการเต้นเบรคแดนซ์ หรือการจัดการแข่งขันในสถานที่แลนด์มาร์คต่างๆ แน่นอนว่าในส่วนของงานออกแบบ visual identity ก็ทำได้น่าประทับใจ ตั้งแต่โลโก้ที่มาจากการรวมเปลวไฟ เหรียญทอง และใบหน้าของ Marianne หญิงที่เป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศส การสร้าง custom variable font ที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะ art deco จนถึงการใช้ชุดสีสดใสที่สะท้อนความรุ่มรวยทางศิลปวัฒนธรรมของเมืองและประเทศเจ้าภาพ เหมาะกับ mood & tone โดยรวมของทุกสื่อที่ออกมาเป็นอย่างดี

Photo courtesy of International Olympic Committee, 2023

ล่าสุดได้มีการเปิดตัวชุด pictogram สำหรับ Paris 2024 ออกมา และมันเป็นงานออกแบบที่พลิกความคาดหมายจนเราไม่ค่อยแน่ใจว่าควรจะเรียกว่า pictogram ดีหรือไม่ เพราะในสัญลักษณ์ของทุกประเภทกีฬาไม่มีคนอยู่ในนั้นเลย แต่เป็นการนำเครื่องกีฬาและองค์ประกอบต่างๆ ของสนามหรือพื้นที่แข่งขัน มาจัดองค์ประกอบกันในพื้นที่สี่เหลี่ยมจตุรัสที่ถูกแบ่งครึ่งโดยเส้นทะแยง เป็นรูปแบบที่ชวนให้นึกถึงตราประจำตระกูล หรือตราประจำเมืองของยุโรป ที่ต้องมองความหมายในรายละเอียด มากกว่าสัญลักษณ์ภาพที่ทำให้เข้าใจได้อย่างรวดเร็ว

Photo courtesy of International Olympic Committee, 2023

ณ ตอนนี้เรายังไม่แน่ใจว่า pictogram (?) ชุดนี้จะทำงานได้เวิร์คหรือไม่ จุดอ่อนแรกที่เรากังวลคือมันจะใช้งานในขนาดเล็กได้ยากกว่าแบบเดิมที่คุ้นเคยกันมา เพราะลักษณะลายเส้นก็ไม่ได้ดูเป็นชุดเดียวกับโลโก้ Paris 2024 นัก แต่กลับดูเข้าชุดกับโลโก้ของ Paris 1924 มากกว่า เราเชื่อว่าทั้งหมดนี้เป็นความจงใจในการสื่อสารประเด็นความคิดสร้างสรรค์ที่สืบเนื่องจากอดีตมาจนปัจจุบัน และ pictogram ทุกชิ้นจะถูกออกแบบเป็น variable logo (โลโก้ที่เปลี่ยนรูปแบบตามขนาดพื้นที่) ที่อยู่ในสื่อเคลื่อนไหวได้อย่างสนุกสนานแน่นอน

Paris 1924 Olympic logo

Photo courtesy of International Olympic Committee, 2023

paris2024.org

BAAN TROK TUA NGORK

อาคารตึกแถวอายุ 90 ปีที่ได้ Stu/D/O Architects มาช่วยปรับเปลี่ยนพื้นที่และโครงสร้างให้เหมาะสมกับการใช้งาน ในฐานะพื้นที่อิสระสำหรับปล่อยเช่าทั้งยังรักษาจิตวิญญาณและร่องรอยของชีวิตภายในอย่างสมบูรณ์

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: STU/D/O ARCHITECTS AND KUKKONG THIRATHOMRONGKIAT

(For English, press here)

ช่วงอายุ 90 ปี ถ้านับในแง่ชีวิตคงต้องเรียกว่าเป็นวัยชรา แต่สำหรับ ‘บ้านตรอกถั่วงอก’ อาคารเก่าอายุกว่า 90 ปีในละแวก ตรอกถั่วงอกในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ช่วงนี้คือช่วงที่ชีวิตกำลังก้าวเข้าสู่บันทึกบทใหม่ 

ตั้งแต่การเป็นบ้าน โรงงานผลิตน้ำพริก ออฟฟิศ ไปจนถึงอาคารที่พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกปิดร้างเอาไว้เปล่าๆ บ้านตรอกถั่วงอกเป็นอาคารที่ผ่านร้อนผ่านหนาว และผ่านการใช้งานโดยคนหลายชั่วอายุคน ตอนนี้บ้านตรอกถั่วงอกกำลังถูกชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการเป็นพื้นที่ให้เช่าสำหรับจัดนิทรรศการ จัดกิจกรรม และอาจต่อยอดไปเป็นฟังก์ชันอื่นๆ ด้วยในอนาคต โดยได้ Stu/D/O Architects มาเป็นผู้ออกแบบปรับปรุงอาคาร

บ้านตรอกถั่วงอกเป็นอาคารตึกแถวยาว 5 คูหาติดกัน ด้านหลังอาคารมีคอร์ทรูปสี่เหลี่ยมคางหมูที่มีด้านกว้างที่สุดกว้างเพียง 5 เมตร หลังคอร์ทก็มีอาคารเล็กๆ อีกหลังหนึ่งที่เคยทำหน้าที่เป็นบ้านพักของคนงานมาก่อน เดิมทีอาคารด้านหน้ามีความสูง 4 ชั้น แต่ภายหลังมีการต่อเติมห้องดาดฟ้าของอาคารเพิ่มเติมขึ้นไปอีกชั้นเพื่อใช้เป็นห้องทำพิธีไหว้บรรพบุรุษ 

“เมื่อก่อนอาคารนี้เป็นบ้านของบรรพบุรุษครอบครัวเจ้าของตึกที่ย้ายมาตั้งรกรากจากเมืองจีน” อภิชาติ ศรีโรจนภิญโญ สถาปนิกจาก Stu/D/O Architects เท้าความที่มาของอาคารให้เราฟัง “อาคารนี้เคยรองรับคนในครอบครัวเขามากถึง 5 ครอบครัว และเมื่อก่อนตึกก็เคยเป็นทั้งร้านขายน้ำพริกเผา และเป็นออฟฟิศบริษัทประกันชีวิตซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว พอเวลาผ่านไปเมื่อพื้นที่ไม่เพียงพอ แต่ละครอบครัวขยายจึงย้ายออกไปอยู่ข้างนอก ตึกเลยถูกทิ้งไว้เฉยๆ ยกเว้นเวลามีพิธีเคารพบรรพบุรุษตามประเพณีคนจีน สมาชิกครอบครัวก็จะแวะเวียนมาทีนึงที่ห้องบรรพบุรุษที่ชั้นบนสุดของตึกเพียงเท่านั้น”

ห้องไหว้บรรพบุรุษก่อนการปรับปรุง

ห้องไหว้บรรพบุรุษหลังปรับปรุง

หลังจากเห็นอาคารถูกปล่อยไว้ให้รกร้างเดียวดายมานาน สมาชิกครอบครัวรุ่นเหลนจึงเสาะหาไอเดียที่จะทำให้อาคารกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ไอเดียแรกเริ่มคือการทำร้านกาแฟ ร้านอาหาร และโรงแรมเล็กๆ แต่เมื่อขบคิดกันอีกที ไอเดียก็ลงเอยที่การทำพื้นที่ให้เช่า พร้อมการเตรียมงานระบบเผื่อไว้สำหรับการขยับขยายฟังก์ชันในอนาคต

ถึงการเปลี่ยนอาคารเป็นพื้นที่ให้เช่าจะดูไม่ได้ยากเย็นอะไร เพราะมันคือการเตรียมพื้นที่โล่งๆ เอาไว้ให้คนมาผลัดเปลี่ยนใช้สอย แต่กลายเป็นว่าสิ่งนี้คือโจทย์อันยิ่งใหญ่ของทีมออกแบบ เพราะการเป็นพื้นที่ให้เช่าจัดกิจกรรม หมายความว่าอาคารจะต้องรองรับน้ำหนักคนจำนวนมากเป็นหลักร้อยได้ และถ้าจะแทรกสอดฟังก์ชันเพิ่มเติมในอนาคต น้ำหนักก็จะมีมากขึ้นตามมาด้วย ปัญหาก็คือ อาคารเดิมมีข้อจำกัดเรื่องการรองรับน้ำหนัก Stu/D/O Architects และทีมวิศวกร เลยต้องระดมสมองกันว่าจะทำอย่างไรให้อาคารรับน้ำหนักคนเพิ่มได้

“ทางออกแรกที่เราคิดกันคือการใส่โครงเหล็กเสริมไปกับโครงสร้างอาคาร” ชนาสิต ชลศึกษ์ อีกหนึ่งสถาปนิกจาก Stu/D/O Architects เผย “เราทดลองดีไซน์โครงเหล็กหลายรูปแบบ ทั้งแบบพยายามให้มันดูกลืนหายไป และแบบโชว์ความแตกต่างชัดเจนระหว่างโครงสร้างเก่ากับโครงสร้างใหม่ ดีไซน์ที่ออกมามันก็ดูสวยดี แต่เราคิดว่าวิธีนี้มันจะทำให้สปิริตดั้งเดิมของตึกหายไปเลย” 

เมื่อการใช้โครงสร้างเหล็กประกับเสริมไปกับโครงสร้างเก่าไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ใจคาด Stu/D/O Architects และทีมวิศวกรจึงสุมหัวกันอีกรอบว่าจะทำอย่างไร จนในที่สุดก็ได้วิธีการที่น่าพอใจ นั่นคือการรื้อโครงสร้างพื้นชั้นหนึ่งของอาคารเก่าออกเพื่อลดน้ำหนักที่ถ่ายลงฐานรากเดิม และสร้างพื้นชั้นหนึ่งบนฐานรากและเสาเข็มชุดใหม่เข้าไปแทนที่ “เราขุดโครงสร้างพื้นชั้นหนึ่งของอาคารเก่าออกหมด ทำให้อาคารส่วนที่เหลือรองรับน้ำหนักได้มากขึ้น เท่ากับน้ำหนักของพื้นชั้นหนึ่งที่หายไป” อภิชาติเล่า “แล้วเราก็ทำโครงสร้างใหม่สำหรับพื้นชั้นหนึ่งแทรกเข้าไปในตึกเดิม พร้อมกับการใส่โครงสร้างของลิฟต์และบันไดใหม่ข้างใน”

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาแน่ๆ เมื่อโครงสร้างเก่าและใหม่มาอยู่ด้วยกันคือระยะการทรุดตัวที่ต่างกัน นอกจากการเว้นช่องว่างตามรอยต่อระหว่างโครงสร้างใหม่และเก่า อย่างเช่น ผนังกระจกบริเวณคอร์ตกลาง ที่สถาปนิกวางผนังที่ติดกับโครงสร้างเก่า ให้เหลื่อมมาข้างหน้าผนังที่ติดกับโครงสร้างใหม่ พวกเขาก็ออกแบบให้ผนังกระจกด้านหน้ามีรอยการไล่สี gradient สีแดงเหมือนสีกระเบื้องพื้นชั้นหนึ่ง ซึ่งหากในอนาคตพื้นชั้นหนึ่งทรุดตัวลง ส่วนสี gradient นี้ก็จะช่วยพรางระยะที่อาคารทรุดตัวไม่ให้เห็นจากภายนอกได้

ในส่วนรายละเอียดงานออกแบบอาคาร สถาปนิกเลือกเก็บหน้าตา façade อาคารเอาไว้ให้เหมือนเดิมมากที่สุด สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือการกรุกระจกใสที่ชั้นหนึ่ง เพื่อเชื่อมต่อชั้นแรกของอาคารเข้ากับโลกภายนอก สำหรับตัวอาคารข้างใน สถาปนิกตัดสินใจรื้อกำแพงที่กั้นห้องแถวแต่ละห้องออก เพื่อเชื่อมสเปซเข้าด้วยกัน แนวไม้ใหม่บนพื้นคือสิ่งที่บ่งบอกว่ากำแพงเหล่านั้นเคยอยู่ตรงไหนบ้าง บันไดและราวกันตกของห้องแถวแต่ละห้องถูกรื้อออกมา และนำขั้นบันไดแต่ละขั้นมาทำเป็นแผ่นพื้นประกอบใส่ในช่องบันไดเดิม ซึ่งเป็นอีกร่องรอยที่แสดงความทรงจำของอาคารเก่า ส่วนดีเทลอื่นๆ ของอาคารยังถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี อย่างเช่น เสาบากมุม คานปูน กระเบื้องพื้น ซึ่งเผยให้เราเห็นลีลาและฝีไม้ลายมือของช่างสมัยก่อน

คอร์ทภายในคือหัวใจของตึกเลยก็ว่าได้ ถึงคอร์ทจะไม่ได้มีขนาดใหญ่โตเท่าไหร่ (ด้านกว้างสุดกว้าง 5 เมตร ด้านแคบสุดกว้างแค่ 3 เมตร) แต่แสงสว่างที่ส่องผ่านลงมาและพร้อมด้วยกระจกเงาและกระจกใสที่กรุรอบห้องต่างๆ กลับทำให้คอร์ทดูโอ่โถงขึ้นถนัดตา ต่างกันอย่างลิบลับกับคอร์ทสมัยก่อนที่มืดทะมึน เหมือนเป็นแค่พื้นที่เศษเหลือหลังอาคาร

คอร์ทกลางก่อนการปรับปรุง

คอร์ทใหม่ยังสวมบทบาทเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เราจะได้เห็นชีพจรความเป็นไปในอาคารผ่านการมองทะลุกระจกใสรอบห้องต่างๆ ตามแนวกระจกมีบานหน้าต่างและบานประตูเก่าหลากสีหลายรูปแบบที่ถูกติดตั้งตามตำแหน่งเดิมที่มันเคยอยู่ในสมัยก่อน กระจกใสเป็นกระจกเทมเปอร์ลามิเนตที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ บานหน้าต่างและประตูจึงสามารถยึดตัวอยู่ได้บนบานกระจก จากบานหน้าต่างที่เคยทำหน้าที่เปิดรับแสงและลม ตอนนี้ บานหน้าต่างกลายเป็นองค์ประกอบที่นำพาผู้คนย้อนไปสู่ห้วงความทรงจำของอาคารในอดีต 

นอกจากการสื่อถึงอารมณ์และกลิ่นอายของอดีต Stu/D/O Architects ก็ยังใส่องค์ประกอบใหม่เข้าไป เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานใช้อาคารได้สะดวกสบายและปลอดภัยขึ้น อย่างเช่น ลิฟต์และบันไดหนีไฟใหม่ ที่ช่วยรองรับการสัญจรในอาคาร การติดตั้งหลังคาโปร่งแสงบนชั้น 4 ที่เปลี่ยนพื้นที่ดาดฟ้า ให้กลายเป็นระเบียงนั่งเล่นในร่มที่ผู้คนใช้งานได้โดยไม่ต้องเปียกฝน หรือการสร้างทางเดินเชื่อมอีกอันระหว่าง core ลิฟต์เก่าและ core ลิฟต์ใหม่ที่ชั้น 5 

ถึงบ้านตรอกถั่วงอกโฉมใหม่จะเพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นาน แต่อาคารก็ผ่านการจัดกิจกรรมมาแล้วหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น นิทรรศการศิลปะ Ghost 2565: อยู่ยังไงให้ไม่ตาย, Baan Soho พื้นที่ทดลองของ Soho House ก่อนที่คลับเฮ้าส์จริงจะเปิดตัว หรืองานดินเนอร์ส่วนตัวของแบรนด์ LOUIS VUITTON ในวันนี้ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของบ้านตรอกถั่วงอกก็ได้เริ่มต้นขึ้น พร้อมเปิดให้ผู้คนที่แวะเวียนได้มาจารึกเรื่องราวและร่องรอยใหม่ๆ และทิ้งให้มันเป็นมรดกที่ตกทอดในกาลเวลา เช่นเดียวกับที่รอยขีดข่วนบนบานหน้าต่าง หรือคราบไคลจากการเผากระดาษกงเต็กบนพื้นกระเบื้อง ได้เคยฝากฝังไว้ 

facebook.com/Studio.Architects

TAWEECHOB DESIGN

ศิลปินนักวาดภาพประกอบและดีไซเนอร์ที่ชื่นชอบในการทดลองทำงานหลากแขนง บนเป้าหมายของการเป็น node ที่พร้อมเชื่อมโยง ช่วยเหลือ และแบ่งปันผู้อื่นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

Read More