All posts by Ketsiree Wongwan

PHOTO ESSAY : DIY THAI CHAIRS

TEXT & PHOTO: BARRY MACDONALD

(For English, press here

ผมเป็นช่างภาพ และผมก็ได้ทำการบันทึกภาพบรรดาเก้าอี้ที่ถูกซ่อม หรือวัสดุที่ถูกดัดแปลงให้นั่งได้ตามท้องถนนของประเทศไทย สิ่งเหล่านั้นมองอย่างไรก็เป็นสิ่งที่ชำรุดแล้ว แต่มันกลับไม่ถูกทิ้งขว้าง หากแต่ได้รับการซ่อมแซมด้วยการเชื่อมต่อ ปะติด มอบชีวิตใหม่ให้สิ่งของอีกครั้งหนึ่ง ในสายตาคนบางคน เฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งที่อาจดูผุพังใช้งานไม่ได้อีกต่อไป แต่ก็ยังมีคนที่เลือกซ่อมแซมมัน เพราะยังมองเห็นโอกาสที่จะใช้งานต่อได้อย่างไม่รู้จบ เราสามารถพบเจอเก้าอี้เหล่านี้ได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นที่เพิงวินมอเตอร์ไซค์หรือตลาด หรือสถานที่สาธารณะที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ต้องการพักผ่อนแต่ไม่มีอุปกรณ์สาธารณะประโยชน์ตอบสนอง การสร้างที่พักพิงชั่วคราวเหล่านี้ขึ้นมาด้วยตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ 

นักออกแบบและวิศวกรของเก้าอี้ชุดนี้คือกลุ่มคนธรรมดาๆ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และความหลักแหลมของตนรังสรรค์ผลงานเหล่านี้ขึ้นมา ภายใต้ปรัชญาการใช้ซ้ำ (recycling) และนำสิ่งของกลับมาใช้ใหม่ (upcycling) ในขณะที่ผลงานที่พวกเขาสร้างขึ้นมีการใช้งานเป็นจุดประสงค์หลัก แต่ถึงอย่างนั้น พวกมันก็ก่อกำเนิดความงามที่แตกต่างออกไป จากเทคนิคการประกอบร่างวัสดุหลายอย่าง เช่นงานไม้ การถักทอ การผูก การเชื่อม การติดกาว การผูกเคเบิล การแกะสลัก การติดเทป การใช้ยางยืด ฯลฯ บางครั้งวัตถุรอบๆ ก็กลายเป็นองค์ประกอบที่ช่วยเสริมความแข็งแรง ราวกับเก้าอี้และท้องถนนผสานหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เช่นเดียวกับเก้าอี้ตัวหนึ่งที่ผมเคยเห็น ที่วางตัวอยู่ภายในกิ่งไม้ที่กลายเป็นที่วางแขนของมันไปในที่สุด

ของราคาถูกที่พังง่ายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มการสร้างขยะและค่านิยมบริโภคนิยม ศิลปะของการซ่อมแซมสิ่งของที่เราเป็นเจ้าของกำลังล้าสมัย พร้อมๆ กับการที่เหล่าบริษัทผู้ผลิตใช้กลยุทธ์สร้างผลิตภัณฑ์ให้หมดอายุเมื่อผ่านระยะเวลาไปสักประมาณหนึ่ง เก้าอี้เหล่านี้เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของการออกแบบเมือง มันทำงานกับข้อจำกัดที่มาพร้อมความเสียหายและเงื่อนไขที่ไม่ปกติของวัสดุ การสร้างที่นั่งที่ทำให้การนั่งทำงานบนท้องถนนสามารถเป็นไปได้ ทักษะเหล่านี้จึงมีความจำเป็น เพราะในขณะที่เรากำลังเผชิญประเด็นปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับทรัพยากรในโลกนี้ การมีความคิดและทัศนคติว่าเราควรที่จะซ่อมแซมสิ่งต่างๆ มากกว่าที่จะหาสิ่งใหม่มาแทนที่สิ่งเก่าเสมอจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ

ผมคิดว่าทักษะของนักออกแบบธรรมดาเหล่านี้ คือการคิดริเริ่ม ความสามารถในการแก้ปัญหา รวมไปถึงมีความยืดหยุ่น เป็นสิ่งจำเป็นต่อความเป็นไปของประเทศไทย และมันควรได้รับการคำนึงถึงและส่งเสริม เมื่อมีการวางแผนพื้นที่สาธารณะในอนาคต

_____________

แบร์รี่ แมคโดนัลด์ เกิดที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร พ่อของเขาเคยถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์ม 35 มม. เป็นงานอดิเรก และได้สอนวิธีใช้กล้องนี้แก่เขาเมื่อเขายังเด็ก ตอนที่เขาอายุ 15 เขามีกล้องฟิล์มเป็นของตัวเอง สำหรับแบร์รี่ กล้องเป็นช่องทางในการปฏิสัมพันธ์กับโลกในแบบที่เป็นเหตุเป็นผล การจับภาพ สร้างเฟรมและองค์ประกอบขึ้นจากช่วงเวลาๆ หนึ่งอันนำมาซึ่งความพึงใจ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นและคงอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว กล้องได้นำพาให้เขาออกเดินทางและพบเจอผู้คน และเขาก็รู้สึกขอบคุณมันเสมอที่เปลี่ยนชีวิตเขาและช่วยให้เขาเข้าใจโลกในแบบที่มันเป็น

instagram.com/barrymac84

A NEW CAVE

ชมนิทรรศการโดย ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์ ที่สนใจในคุณลักษณะของวัตถุต่างๆ ภายใต้ความเชื่อมโยงเรื่องน้ำ ความชุ่มชื้น และของสองสิ่งที่มีการเคลื่อนผสานกัน

Read More

THE GOOD PLACE

ชุดภาพถ่ายสีสันฉูดฉาดของผู้คน สัตว์ สิ่งของที่อยู่ภายในหนังสือเล่มนี้จะนำพาผู้อ่านไปติดตาม 2 ด้านของเมืองพาราณสี ทั้งฝั่งอันศักดิ์สิทธิ์และฝั่งอันเป็นมลทิน Read More

Ai VS AI

Ai Weiwei ตั้งคำถาม 81 ข้อ ไว้ให้ AI และสาธารณชนขบคิด โดยงานนี้เขาต้องการแสดงอิสระในการตั้งคำถามของทุกคน ไม่ว่าจะถาม ‘อะไร’ ถามเรื่องไร้สาระแค่ไหน

Read More

LO-TEK: DESIGN BY RADICAL INDIGENISM

หนังสือโดย Julia Watson ที่พาไปสำรวจตำนานความเชื่อของชนพื้นเมือง ซึ่งส่งผลต่อการคิดค้นข้าวของเครื่องใช้และสิ่งปลูกสร้างที่ดำรงอยู่โดยเกื้อกูลกับธรรมชาติ Read More

PHOTO ESSAY : PUBLIC HOUSING IN SINGAPORE

TEXT & PHOTO: DARREN SOH

(For English, press here

สิ่งที่จัดว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของสิงคโปร์คือโครงการที่อยู่อาศัยที่พัฒนาและจัดสรรโดยรัฐหรือ Public Housing ที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าการอยู่อาศัยของพลเมืองของสิงคโปร์ไปอย่างสิ้นเชิงในช่วงระยะเวลากว่า 64 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐที่ดูแลโครงการดังกล่าวคือ Housing & Development Board (HDB) หรือคณะกรรมการที่อยู่อาศัยและการพัฒนา ที่ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1960 และมีหน้าที่ในการพัฒนา ก่อสร้างที่อยู่อาศัยคุณภาพดีในราคาเข้าถึงได้ ให้กับคนสิงคโปร์มาโดยตลอด โดยคนสิงคโปร์มากกว่า 80% อาศัยอยู่ในบ้านที่สร้างโดยรัฐบาลที่มี HDB เป็นหน่วยงานที่จัดสรรเงินอุดหนุนและดำเนินการ

สถาปัตยกรรมของอาคารการเคหะของ HDB นั้นได้วิวัฒนาการไปพร้อมๆ กับกาลเวลาและยุคสมัยที่ผันผ่าน ผมไดัพยายามที่จะแสดงภาพวิวัฒนาการนั้นผ่านภาพถ่าย 20 ภาพที่ปรากฏในบทความนี้ โดยภาพทุกภาพ ได้รับการจัดเรียงตามลำดับเวลา นับตั้งแต่อาคารที่พักอาศัยหลังแรกๆ ที่สร้างในปี 1960 ไปจนถึงโครงการใหม่ล่าสุดที่สร้างแล้วเสร็จในปี 2023 นี่เอง นับตั้งแต่ปี 1991 เป็นต้นมา HBD ได้ทำงานร่วมกับสถาปนิกจากภาคเอกชนแทนการรับหน้าที่ออกแบบโครงการทั้งหมดด้วยตัวเอง ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลอย่างชัดเจนต่อความหลากหลายที่เพิ่มมากขึ้นของสถาปัตยกรรมของเหล่าอาคาร HBD ในช่วงหลังทศวรรษ 1990 ตลอดวิวัฒนาการที่เกิดขึ้น HBD ได้เปลี่ยนจากการใช้แผ่นพื้นคอนกรีตและการก่อสร้างอาคารสูงที่วางตัวอยู่เป็นบล็อก ไปสู่ยุคหลังสมัยใหม่ที่อาคารปรากฏรายละเอียดของการตกแต่งประดับประดา ไปจนถึงการออกแบบและสร้างอาคารที่พักอาศัยสูงระฟ้า มาจนปัจจุบันที่มีการให้ความสำคัญกับแนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “biophilic design” หรือการออกแบบที่ส่งเสริมให้มนุษย์ได้เชื่อมต่อสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ

_____________

Darren Soh จบการศึกษาด้านสังคมวิทยา เป็นช่างภาพสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมผู้มีผลงานส่วนตัว ที่เป็นเหมือนส่วนต่อขยายของความสนใจใคร่รู้ของเขาต่อการอยู่อาศัยของมนุษย์ ไปจนถึงพื้นที่ที่มนุษย์สร้างขึ้น และทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง เขามีความสนใจเป็นพิเศษในงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ รวมไปถึงอาคารการเคหะที่พัฒนาและจัดสรรโดยรัฐ นอกจากนี้ยังมีบทบาทในฐานะสมาชิกก่อตั้งของ DOCOMOMO สาขาสิงคโปร์อีกด้วย ปัจจุบัน Darren กำลังทำงานที่เป็นการบันทึกสถาปัตยกรรมอาคารการเคหะที่พัฒนาโดย Housing & Development Board ตลอดระยะเวลา 64 ปีที่ผ่านมา

facebook.com/darrensohphotographer
instagram.com/darrensohphoto

LAMPTITUDE RESERVE: THE PURSUIT OF LIGHT 20TH ANNIVERSARY

โคมไฟเป็นเครื่องใช้ที่เราพบเห็นได้ทั่วไป ในขณะเดียวกันก็เป็นวัตถุที่มีพื้นที่มากมายให้การออกแบบ art4d ชวนสำรวจหนังสือเล่มนี้ ที่รวบรวมงานออกแบบโคมไฟโดยนักออกแบบทั่วโลกตั้งแต่ปี 1950 Read More

VERS UNE ARCHITECTURE

ในวาระครบรอบ 100 ปี การตีพิมพ์หนังสือ Vers une Architecture ขอชวนมาสำรวจหนังสือสถาปัตยกรรมมาสเตอร์พีซเล่มนี้โดย Le Corbusier ที่เชิดชูงานวิศวกรรมและเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ว่าเป็นจิตวิญญาณของ ‘Modern Design’ Read More

PHOTO ESSAY : EVERYDAY LIFE OF AN ASTRONAUT

TEXT & PHOTO: UTYUIROIRO

(For English, press here

ภาพถ่ายชุดนี้คือ ‘เหตุการณ์พิลึกพิลั่นในวันสามัญธรรมดา’ จากการปรากฏตัวของนักบินอวกาศในแต่ละวัน

พอเราดูภาพถ่ายพวกนี้แล้ว เรารับรู้ได้ถึงอารมณ์อันหลากหลาย ทั้งน่าเอ็นดู น่ากลัว น่าค้นหา บางคนก็รู้สึกถึงความอ้างว้างภายในตนเอง

นี่คือมนุษย์อวกาศที่อยู่ในภาพจำของผู้คนทั่วโลก ไร้ซึ่งอัตลักษณ์จำเพาะเจาะจงใดๆ และเพราะสิ่งนี้เอง ทุกคนจึงจินตนาการถึงสถานการณ์ในภาพได้อย่างอิสระ

ผมรู้สึกว่ามันเหมือนนิยายไซไฟ

คำว่า ‘Dépaysement’ ในแวดวงศิลปะแบบ surrealism หมายถึงการเคลื่อนย้ายสิ่งของบางอย่างออกจากบริบทที่ควรจะเป็นไปไว้ที่อื่นแล้วเกิดความแตกต่างขึ้นมา

ภาพถ่ายนี้เรียกว่าเป็นการ Dépaysement ได้ด้วยเช่นกัน

ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ ความก้าวหน้าด้านอวกาศจากบริษัทเอกชน อย่าง SpaceX จะสร้างแรงกระเพื่อมมากขึ้นเรื่อยๆ และการท่องอวกาศกลายเป็นความจริง ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป 

ในอนาคตที่วาดฝันไว้ มีความเป็นไปได้ว่าใครๆ ก็เป็นนักบินอวกาศได้

ดังนั้น ความรู้สึกผิดที่ผิดทางจาก ‘การปรากฏตัวของนักบินอวกาศในชีวิตประจำวัน’ อาจไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดเท่าไรนักในภายภาคหน้า

นี่ถือเป็นการแสดงออกถึงการเปิดรับความก้าวหน้าทางอวกาศในอนาคตได้เลยทีเดียว

_____________

Utyuiroiro เป็นช่างภาพชาวญี่ปุ่น จบการศึกษาจาก Osaka University of Arts เขาทำชุดนักบินอวกาศเป็นของตัวเองและเริ่มต้นถ่ายภาพชุด ‘Everyday Life of an Astronaut’ ในปี 2020 นอกจากนี้เขายังผลิตผลงานวิดีโอแนวไซไฟอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง ‘KAIJYU’

utyuiroiro.site
instagram.com/utyuiroiro

PHOTO ESSAY : SPEND TIME

TEXT & PHOTO: PEERAPAT WIMOLRUNGKARAT

(For English, press here

ไร่แม่ฟ้าหลวง (อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง) เป็นสถานที่ที่ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนทุกครั้ง ที่ขึ้นไปเชียงราย (ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7)

สถานที่แห่งความสุขความทรงจำ ในครั้งแรกที่ได้ขึ้นไปสัมผัสกับความสงบและสง่าของที่แห่งนี้ 

หลายปีก่อนได้มีโอกาสไปร่วมงานแต่งงานของรุ่นพี่ที่เคารพทั้งสองท่าน ครั้งนั้นก็ได้มีคำมั่นกับตัวเอง ว่าครั้งหน้าจะมาเชียงราย และจะต้องกลับมาอีกให้ได้ 

ใครจะคิดว่าคำความคิดวันนั้น ทำให้ผมได้หวนเวียนกลับมาอีกตอนต้นปี 2023 ผมได้มีโอกาสขึ้นมา ที่จังหวัดเชียงราย หลังจากได้ถ่ายงานเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ผม อาจารย์ และพี่พี่ ได้มีโอกาสมาชม นิทรรศการ Light of Life ที่จัดขึ้นในช่วงเวลานั้นพอดิบพอดี รวมทั้งบรรยากาศก็ดี ผมได้ถือโอกาส มาชมทั้งเวลาค่ำคืนที่จัดแสงไฟ และตอนกลางวันที่ไม่เปิดแสดงไฟ 

ความสวยงามของไร่แม่ฟ้าหลวงทำให้ผมต้องหลงเสน่ห์ ไม่ว่าจะเป็นจังหวะการจัดวางชิ้นงานศิลปะ ในแต่ละชิ้น ที่สอดรับขับกล่อมไปกับสวนและอาคารงานสถาปัตยกรรม 

และในครั้งนี้ (2024) ผมได้มีโอกาสใช้เวลากลับมาบันทึกภาพไร่แม่ฟ้าหลวงอย่างจริงจัง และเพลิด เพลินกับงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ที่ไร่แม่ฟ้าหลวง เป็นอีกหนึ่งในสถาน ที่จัดแสดงงานของศิลปินหลายท่าน ด้วยพื้นที่ที่เหมาะกับการจัดแสดงงานศิลป์ในรูปแบบต่างๆ แล้ว บรรยากาศในการถ่ายงานครั้งนี้ของผมนั้นเสมือนกับการได้พักผ่อนจิตใจไปในคราวเดียวกัน 

การที่เราให้เวลากับพื้นที่ ให้นาทีกับงานศิลปะชิ้นนั้นๆ ทำให้เราค่อยๆ ซึมซับพลังงานจากสถานที่ และศิลปิน เหมือนการจิบเครื่องดื่มที่ถูกปาก หอมคอ ในเวลาเดียวกัน 

การที่ได้มีโอกาสเดินและสัมผัสกับธรรมชาติภายในไร่แม่ฟ้าหลวงนั้นทำให้ผมค่อยๆ สังเกตตัวเองในเรื่องการมองโลก การมองพื้นที่ที่เปลี่ยนไป ไม่รีบเร่งและมีการวางแผนสำหรับการถ่ายทำงาน และ เพลินกับงานสถาปัตยกรรม พร้อมกับตั้งคำถามโน่นนี่นั่นไป สัมผัสรอยยิ้มของกลิ่นอายของต้นหญ้า เสียงใบไม้ทักทายกัน สร้างบรรยากาศสุขสงบ ทำให้ผมหลงรักพื้นที่แห่งนี้ขึ้นมา จนรู้สึกว่า “อยากมีบ้านอยู่เชียงรายครับ”

_____________

พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ (แอ๊ด) ช่างภาพผู้ชื่นชอบเก็บบันทึกภาพนิ่ง ที่มีความเคลื่อนไหวในความทรงจำ

Leica Ambassador (Thailand)
Architecture photography @somethingarchitecture

facebook.com/somethingarchitecture
facebook.com/addcandid