Category: PHOTO ESSAY

PHOTO ESSAY : CLUSTERED OF PATTERNS

TEXT & PHOTO: JUTI KLIPBUA

(For English, press here

กลุ่มมวลของลวดลาย

การตกแต่งในสถาปัตยกรรมไทยและประเทศเพื่อนบ้านนั้น การใส่รายละเอียดอาจมองเป็นเพียงงานตกแต่งเพื่อแสดงความวิจิตรงดงาม แต่ส่วนตัวของผมนั้นการสนใจรายละเอียดเหล่านี้ ในฐานะที่ทำหน้าที่ลดทอนสัดส่วนของอาคาร ลดความแข็งทื่อของจังหวะการปะทะกันของส่วนประกอบต่างๆ ผมเริ่มสนใจถ่ายภาพรายละเอียดส่วนต่างๆของอาคารเหล่านี้เก็บไว้เมื่อมีโอกาส ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสมัยเรียนสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในยุคนั้นช่างน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับนักศึกษาอย่างเรา สถาปัตยกรรมไทยที่เห็นตามวัดวาที่ผ่านตามาตั้งแต่เด็กจนโตไม่อยู่ในความสนใจเท่าไรนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป จากประสบการณ์การทำงานและการเดินทาง ได้ขัดเกลาส่งผลต่อความเข้าใจในความงามและเชิงการช่างและงานฝีมือมีมากขึ้น ยอมรับเลยว่ากล้องของผมก็เต็มไปด้วยภาพถ่ายการย่อมุม ขอบหน้าต่าง การติดกระจกสี และรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมไทยและจนขยายไปถึงของประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ที่ได้มีโอกาสไปเยือนมากมาย

ผมชอบที่วิธีการถ่ายเจาะและอัดจังหวะให้รายละเอียดเหล่านี้อยู่ในเฟรมเดียวกันโดยไม่ได้เสนอให้เห็นภาพใหญ่ของอาคารมากนัก หลายๆ ครั้งรายละเอียดเหล่านี้ก็กลายเป็นรูปทรงของสถาปัตยกรรมด้วยตัวเอง ยกตัวอย่างเช่นเหมือนขอบของแถวอาคารวัดวาโบราณต่อเนื่องกันเป็นแถวๆ และให้มุมมองคล้ายกับลวดลายผ้าหรือ graphic design ที่เป็นเอกลักษณ์ของช่วงยุคนั้นๆ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลต่องานออกแบบของผมเอง ไม่ว่าจะการใช้ pattern หรือ scale ต่างๆ กันอย่างตรงไปตรงมาหรือลดทอนนำเฉพาะสันหรือเส้นขอบบางส่วนไปใช้ทั้งในงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายใน และงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของ JUTI architects สิ่งที่เห็นจนชินตาตั้งแต่เด็ก กลายเป็นสิ่งที่เราอยากจะสานต่อ ถ่ายทอดลงไปในสถาปัตยกรรมในยุคสมัยปัจจุบัน รายละเอียดที่เมื่อก่อนในความคิดว่าเป็นเพียงความวิจิตร ปัจจุบันสำหรับผม คือ จังหวะสัดส่วน และคุณค่าเชิงการช่างและศิลปะที่ร่วมสมัยอันงดงาม

___________________

จุติ กลีบบัว ผู้ก่อตั้งและ design director ของบริษัท จุติ อาร์คิเท็คส์ จำกัด (JUTI architects) นอกเหนือจากความสนใจในงานสถาปัตยกรรมตามสายงานอาชีพแล้วยังมีความสนใจในงานออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบรถยนต์ และภาพถ่าย ปัจจุบันงานอดิเรกที่ใช้เวลาส่วนใหญ่คือการถ่ายภาพ และกำลังฝึกฝนให้งานภาพถ่ายออกมาในรูปแบบ abstract photography จากสิ่งแวดล้อมที่คุ้นชินในวันทำงานทั่วไปของเขา เช่น ไซต์งานก่อสร้าง เมืองระหว่างรถติด ธรรมชาติรอบตัวในไซต์งานต่างจังหวัด

instagram.com/nackandm

PHOTO ESSAY : THE ARCHITECTURE STUDIO ATLAS

Marc Goodwin

TEXT & PHOTO: MARC GOODWIN / ARCHMOSPHERES

(For English, press here

‘The Architecture Studio Atlas’ เป็นเสมือนการเข้าไปสำรวจโลกของแต่ละสตูดิโอออกแบบที่มักซ่อนตัวอยู่หลังม่าน ซึ่งเผยให้เห็นถึงกระบวนการและหลักการทำงานของพวกเขา ผ่านเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่าง 20 เมืองในยุโรป รวมไปถึงมหานครทั่วโลกอย่าง โตเกียว โซล ไทเป ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ลอสแองเจลิส ปานามาซิตี เม็กซิโกซิตี และเซาเปาโล โดยให้ความสำคัญกับแนวทางการทำงานในแต่ละสตูดิโอ ตั้งแต่สตาร์ทอัพเฉพาะทางไปจนถึงสตูดิโอสถาปนิกที่กำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง พร้อมกับภาพของผู้คนและบรรยากาศการทำงานที่สะท้อนทั้งแง่มุมที่จริงจังและสนุกสนาน ‘The Architecture Studio Atlas’ ทำให้เรื่องของสถาปัตยกรรมนั้นเปิดกว้าง สามารถเข้าถึงได้ง่าย และเสมอภาคมากขึ้น

___________________

Marc Goodwin เป็นช่างภาพสถาปัตยกรรมผู้ก่อตั้งสตูดิโอ Archmospheres นักเขียน และอาจารย์ เขาเกิดในลอนดอนและปัจจุบันแบ่งเวลาใช้ชีวิตในยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตของเขาในหัวข้อ ‘การถ่ายภาพ, พื้นที่สนทนาของสถาปัตยกรรม’ (architecture’s discursive space, photography) ได้ศึกษาองค์ประกอบของการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมผ่านการเปรียบเทียบกับระบบของบรรยากาศ หลังจบปริญญาเขาเดินทางไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำงานให้ลูกค้าและทำหนังสือ The Architecture Studio Atlas

archmospheres.com
instagram.com/archmospheres

PHOTO ESSAY : THE REFLECTIONS OF OUR IMAGINED REALITIES

TEXT & PHOTO: NATTAKORN CHOONHAVAN

(For English, press here

ผมตั้งโจทย์ก่อนการเดินเท้าไปถ่ายภาพตามสถานที่ต่างๆ ว่าจะต้องมีคำว่า ‘สะท้อน‘ และ ‘สองด้าน’ เป็นตัวตั้ง เมื่อบังเอิญเจอภาพเหตุการณ์ที่ตรงกับโจทย์ของผม ผมจึงถ่ายเพื่อบันทึกเก็บเอาไว้ แล้วค่อยนำภาพเหล่านั้นมาวิเคราะห์ถึงความหมายที่ลึกลงไป ตัวอย่างเช่น ภาพสะท้อนจากน้ำซึ่งทำให้โลกบิดเบี้ยว กลับด้านและถูกดัดแปลงไป ทำให้ผมนึกถึงทฤษฎีของโลกคู่ขนาน หรือภาพใบบัวที่ถูกทับซ้อนกับตึกคอนกรีต ทำให้ผมนึกถึงการที่มนุษย์เปรียบเสมือนผู้เสพบัว (Lotus Eater) ในวงจรของระบบทุนนิยม หรือภาพผีเสื้อที่โบยบินอยู่ในกรง ทำให้ผมนึกถึงอิสรภาพของมนุษย์ที่แม้จะติดอยู่ในวงจรของสังสารวัฏ แต่ก็มีจิตใจที่โบยบินและจินตนาการถึงอิสรภาพ โจทย์ตั้งต้นที่กล่าวมา ทำให้ผมนึกถึงปรัชญาต่างๆ ของการมีชีวิต ผ่านภาพของวันธรรมดาของผม

Freedom in The Cage

แม้ร่างกายของผีเสื้อจะถูกขังในกรง แต่จิตใจของมันยังโบยบินไปที่อื่นได้ เปรียบดั่งจินตนาการของมนุษย์ที่ค้นหาอิสรภาพ และความหมายของชีวิต แม้จะติดอยู่ในระบบของสังคม กฎต่างๆ มิติที่เราอยู่ และ สังสารวัฏ เราก็ยังต้องมีจุดหมาย และตามหาความหมายของชีวิตให้ได้

The Reversed World and The Lotus Eater

หมายถึง การที่เรามีชีวิตอยู่ในสังสารวัฏที่ไม่มีวันสิ้นสุด และโลกคู่ขนานที่ขยายออกไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะในโลกไหน เราก็อาจกลายเป็นผู้กินบัว/ผู้เสพบัว (มาจาก Lotus Eater ในเทพนิยายกรีก คือกลุ่มคนที่กินบัวเพื่อให้ ตัวเองมีความสุข แต่จะทำให้ลืมสิ่งต่างๆ ในชีวิต) ที่คอยวิ่งตามกิเลสและความอยากได้อยากมีไม่รู้จบ หากเราไม่ตระหนักถึงแก่นแท้และความหมายของการดำรงอยู่อย่างถ่องแท้

The Other Me (s)

The Dividing between the Two Worlds

The Other Me (s) and The Dividing between the Two Worlds

ทุกครั้งที่เห็นภาพสะท้อนบนน้ำ หรือกระจก ผมจะนึกถึงมิติอื่นๆ ที่เชื่อว่ามีอยู่ในจักรวาลนี้ สองภาพนี้จึงเป็นการ สะท้อนเราในมิติอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่ามีหลายมิติมาก แต่ไม่ว่าจะอยู่ในมิติไหน เราก็ยังต้องต่อสู้ในสิ่งที่เราต้องการ และปีนไต่ขึ้นไปเพื่อไปยังจุดหมายที่เราใฝ่ฝัน รวมถึงการพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เช่นกัน

The Encounter

เป็นภาพที่มองได้หลายมุม บางคนมองว่าเหมือนรูปสมอง บางคนมองว่าเหมือนรูปปอด แต่สำหรับผมมองว่า เหมือนกับภาพคน 2 คนที่ใส่หน้ากากแล้วเผชิญหน้าเข้าหากันและกัน ซึ่งการเผชิญหน้านี้ก็แปลได้สองความหมาย อย่างแรกคือเวลาเราใส่หน้ากากเราจะเป็นใครก็ได้ที่เราอยากจะเป็น และอย่างที่สองคือเมื่อเราใส่หน้ากาก ก็เหมือนกับมีอะไรบางอย่างมากั้นหน้าเรา ทำให้เรามีพื้นที่ที่จะสื่อสัตย์กับสิ่งที่เราเป็น และเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด

_____________

ณัฏฐกรม์ ชุณหะวัณ ปัจจุบันเป็น founder และ designer ของแบรนด์เครื่องประดับ Middle M Jewelry ชื่นชอบการเดินเท้าเพื่อบันทึกภาพด้วยกล้องฟิล์ม เพราะการเดินทำให้สังเกตเรื่องราวของผู้คนที่อยู่ตรงหน้าได้มากขึ้น ณัฏฐกรม์มักใช้แสง เงา หรือการสะท้อน มาเป็นองค์ประกอบในการสร้างมิติ ให้แก่ภาพที่ถ่าย องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ภาพบันทึกของวันธรรมดากลายเป็นสิ่งพิเศษ ในการ บันทึกชีวิตประจำวันของผู้คนด้วยภาพฟิล์ม ณัฏฐกรม์มักจะใส่ความรู้สึกและความหมายที่ตีความ เข้าไปในเทคนิคของมุมกล้อง ระยะ และจังหวะเสมอ

instagram.com/thoughts_of_mick
instagram.com/nattakornch

PHOTO ESSAY : A SHAPE FOR BREATHING

TEXT & PHOTO: CHATCHAWIN THANASANSUB

(For English, press here

ช่องว่างสำหรับหายใจ

ผมได้เห็นโครงการส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อดคิดไม่ได้ว่า สภาพแวดล้อมของเมืองยังอึดอัดคับแคบไม่พออีกหรือ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการเบียดเสียดของกลุ่มอาคาร ท้องฟ้าถูกปกคลุมจากแผ่นพื้นและเสาคอนกรีตขนาดใหญ่ของสถานีรถไฟฟ้า บ้างแทรกตัวอยู่บนถนนที่แคบจนใกล้ชิดกับอาคารบ้านเรือน บ้างคาดผ่านเกาะกลางถนนที่ไร้ต้นไม้ให้ความร่มเงา

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นหัวใจหลักของคนเมืองที่อำนวยความสะดวกสบายและรวดเร็วกว่าการรอรถประจำทาง หรือหลีกหนีจากการจราจรที่แสนสาหัส แต่ในทางกลับกันความแห้งแล้งของผืนคอนกรีตที่ตั้งตระหง่านบนท้องฟ้ากลับทำให้เกิดความรู้สึกที่กดทับและหนักอึ้ง ซึ่งเปรียบเสมือน ‘เมืองที่หายใจไม่ออก’ โดยภาพถ่ายชุดนี้ผมพยายามที่จะแสดงถึงความรู้สึกอึดอัดผ่านช่องว่างที่ยังสามารถมองลอดผ่านจากการบดบังของสิ่งปลูกสร้างของโครงการรถไฟฟ้า โดยรูปทรงของช่องที่เกิดขึ้นนั้น ต่างเกิดขึ้นจากสภาพบริบทโดยรอบ ของสถานที่นั้นเอง ซึ่งระดับการบดบังและความทึบตันก็จะแสดงออกแตกต่างกันไปตามเส้นทางที่เดินผ่าน

ส่วนตัวผมเองได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ในระยะเวลาหนึ่ง ได้ซึมซับความเป็นระบบระเบียบในการวางแผนและการจัดการเมืองที่ดี รถไฟฟ้าถูกนำลงไปอยู่ใต้ดิน ทำให้ทัศนียภาพของเมืองเปิดออก ถึงแม้จะมีตึกสูงรายล้อมมากมาย แต่ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ถูกจัดวางอย่างตั้งใจ ได้สร้างความร่มรื่นด้วยเงาจากธรรมชาติ อดคิดอิจฉาไม่ได้เลยถ้ากรุงเทพฯ ของเราได้ถูกวางแผนแบบนั้นบ้าง ทัศนียภาพของเมืองจะมีชีวิตชีวามากแค่ไหน มีต้นไม้สูงสองข้างทาง มีท้องฟ้าที่สะอาดตา จริงอยู่เราไม่สามารถเปรียบเทียบได้ขนาดนั้น ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่างของประเทศไทย แต่อย่างน้อยรูปถ่ายชุดนี้ขอเป็นพื้นที่ที่จะสะท้อนและแสดงออกถึงความรู้สึกอึดอัดต่อการบดบังทัศนียภาพของเมือง ในฐานะคนที่ชอบเดินในเมืองคนหนึ่ง

_____________

ชัชวินทร์ ธนสารทรัพย์ จบปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ขณะนี้กลับมาศึกษาต่อปริญญาโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชัชวินทร์เคยทำงานเป็น 3D visualizer และช่างภาพทางสถาปัตยกรรม แต่ผันตัวมาเป็น interior architect ที่ถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก มีความสนใจเกี่ยวกับบริบทของเมืองในสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายระหว่าง คน พื้นที่สาธารณะ และสถาปัตยกรรม โดยบันทึกผ่านภาพถ่ายระหว่างทางที่พบเจอ

cargocollective.com/chatchawind
instagram.com/chatchawind

PHOTO ESSAY : TOWARDS EVENING

119 Central Signal Box by Herzog & de Meuron in Basel, Switzerland

TEXT & PHOTO: FEDERICO COVRE

(For English, press here

รูปเหล่านี้นำเสนอคอลเล็กชันของโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในหลากหลายประเทศแถบยุโรป ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก ทั้งหมดถูกถ่ายในยามเย็นก่อนที่กลางคืนจะคืบคลานมาถึง ทุกภาพล้วนแสดงบรรยากาศที่เงียบสงบ แสงธรรมชาติ โดยมีสถาปัตยกรรมรับบทบาทเป็นตัวเอก
________________

Federico Covre (เกิดปี 1977) เป็นช่างภาพสถาปัตยกรรมและแลนด์สเคปที่ทำงานและพำนักอยู่ในอิตาลีและสวีเดน เขามุ่งสร้างสมดุลระหว่างความเข้มข้นทางแนวคิดและการใช้งานจริงในงานสถาปัตยกรรมผ่านการสื่อสารทางภาพหลากหลายวิธีการ ผลงานของเขาเน้นการถ่ายทอดองค์ประกอบที่เรียบง่ายแต่มีระดับ อธิบายสถาปัตยกรรมในบริบทแวดล้อม พร้อมกับจับภาพความงามของวัตถุ ไปจนถึงสิ่งที่อยู่นอกเหนือมิติทางกายภาพ

federicocovre.com
facebook.com/fedcovre
instagram.com/Federico.Covre

PHOTO ESSAY: SUKHUMVIT- THE THIRD ROAD

TEXT & PHOTO: ADAM BIRKAN

(For English, press here

‘สุขุมวิท’ เป็นการสำรวจสมมติฐานที่ว่าถนนสุขุมวิทเป็นโลกใบย่อมๆ ใบหนึ่งของกรุงเทพมหานคร และก็อาจจะเป็นตัวแทนของสังคมในภาพรวมด้วยก็เป็นได้ แม้ว่าถนนทั้งสายจะทอดยาวจากกรุงเทพฯ ไปสุดที่ชายแดนกัมพูชา (ตามทางหลวงหมายเลข 3) แต่พื้นที่ที่ได้สำรวจในหนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่เน้นไปที่ระยะทาง 14 กิโลเมตร ของช่วงถนนที่ตัดผ่านในเขตกรุงเทพฯ จากจุดเริ่มต้นในใจกลางเมืองที่สถานีรถไฟฟ้าเพลินจิต ไปจนถึงทางตอนใต้ของตัวเมืองที่สถานีฯ ช้างเอราวัณ ซึ่งเลยเขตเมืองไปไม่ไกลนัก ทั้งนี้ ภาพชุดนี้ไม่ได้ชี้แนะทางออกใดๆ เพียงแต่เผยให้เห็นถึงมิติของชีวิตที่อยู่รวมกันบนถนนสายหนึ่งในเมืองเมืองหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่ผู้ชมรับรู้และเข้าใจเป็นการสะท้อนถึงความคิดตนเองและสะท้อนภาพความเป็นจริง ถนนสายนี้ก็เหมือนถนนสายอื่นๆ ที่แสดงประสบการณ์ของมนุษย์ออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม ที่ซึ่งความลำบากและความรุ่งเรือง อุตสาหกรรมและประวัติศาสตร์ เวลาและวัฒนธรรม หลอมรวมถักทอเป็นผืนผ้าที่มีชีวิต ในขณะเดียวกัน แรงขับเคลื่อนที่ไม่อาจหยุดยั้งของคนรุ่นใหม่และสิ่งต่างๆ ซึ่งคงหยุดอยู่กับที่ของคนรุ่นเก่าก็กำลังบดขยี้กันและกันไปจวบจนจุดสิ้นสุดของกาลเวลา

__________________

Adam Birkan เป็นช่างภาพอิสระและนักเล่าเรื่องด้วยภาพ ที่ได้รับการรับเลือกให้เป็นหนึ่งใน Magnum’s 30 Under 30 และ PDN 30 เขาจบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์ด้านการสื่อสารด้วยภาพจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ โดยปัจจุบัน Birkan อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และกำลังทำงานทั้งโปรเจ็กต์ระยะยาวและระยะสั้น ผลงานส่วนตัวของเขามักจะมองภาพรวมของปัญหาเชิงสังคมและเศรษฐกิจ และให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการเปรียบเทียบทั้งในความหมายโดยตรงและเชิงอุปมา และการมองหาช่วงเวลาอันละเอียดอ่อนและแทบไม่มีใครสังเกตเห็น ที่เมื่อรวมกันแล้ว เผยให้เห็นภาพกว้างของอุตสาหกรรมอันเร่งรัดและความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ

adambirkan.com
instagram.com/adambirkan

PHOTO ESSAY: GENESIS

TEXT & PHOTO: THANNOP AUTTAPUMSUWAN

(For English, press here

เคยไหม ที่เราเดินทางไปสถานที่หนึ่ง มองออกไปรอบตัวมีแต่สิ่งที่สวยงามถูกจัดวางได้อย่างน่าประหลาดใจ จนเกิดความสงสัยว่า ธรรมชาติเหล่านี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเองใช่ไหม หรือบางทีโลกเราอาจจะถูกออกแบบและสร้างโดยใครบางคนรึเปล่า?

“IN THE BEGINNING GOD CREATED THE HEAVEN AND THE EARTH”

สมัยเด็กเคยสงสัยว่าโลกนี้เกิดขึ้นมายังไง พอโตขึ้นมาหน่อยก็มีทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มากมายที่มาอธิบายการเกิดของโลกใบนี้ แต่ทฤษฎีเหล่านั้นก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าจริง

แต่มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ที่ขายดีที่สุดในโลกตลอดกาล ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมายหลายภาษา นั่นคือ ‘พระคัมภีร์ไบเบิล’ ประกอบด้วยหนังสือย่อยทั้งหมด 66 เล่ม และเล่มแรกชื่อว่า ‘ปฐมกาล’

ในบทที่ 1 ข้อ 1 กล่าวว่า “ในปฐมกาล พระเจ้าทรงเนรมิตฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก” กล่าวถึงพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างโลกใน 6 วัน พอได้ศึกษาและทำความเข้าใจแต่ละข้อความ จึงเกิดเป็นภาพถ่ายชุดนี้ขึ้น

‘ปฐมกาล’ การสร้างโลกใบนี้ของพระเจ้า

เกิดขึ้น…ตั้งอยู่…ดับไป

_____________

ธัญนพ อัตภูมิสุวรรณ์  จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันเป็นช่างภาพสถาปัตยกรรม และทำงานส่วนตัวด้วยกล้องฟิล์มขาวดำ และกระบวนการในห้องมืด

facebook.com/gapjaa
instagram.com/gapjaa_naja
instagram.com/whydoyoulovefilm

PHOTO ESSAY : WAT ARUN

TEXT & PHOTO: TANAGON TIPPRASERT

(For English, press here

ตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน วัดอรุณราชวรารามหรือวัดอรุณฯ เป็นวัดสำคัญที่คนไทยหรือชาวต่างชาติคุ้นเคยกับภาพความสวยงามของพระปรางค์วัดอรุณฯ กันเป็นอย่างดี แต่จริงๆ แล้วมุมมองแปลกใหม่ยังคงมีซ่อนอยู่ให้ได้ค้นหาในทุกๆ ครั้งที่ได้เข้ามาเยี่ยมชม รวมไปถึงบริเวณรอบๆ ที่ยังน่าสนใจและรู้สึกประทับใจทุกครั้งที่ได้มา สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ทำให้การเดินชมวัดอรุณฯ เต็มไปด้วยความสนุก น่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากชาติต่างๆ เป็นมุมมองจากเขาสู่เรา เพราะจะมีทั้งการบริการแต่งกายชุดไทยเพื่อให้ความรู้สึกสมจริงเหมือนย้อนเวลากลับไปในยุคเก่า เพิ่มความสนุกสนานในการเดิมชมวัด ถึงแม้ในบางวันที่อากาศอาจจะร้อนมากเป็นพิเศษ แต่นักท่องเที่ยวทุกคนยังดูมีความเพลิดเพลิน รวมไปถึงการเดินทางมายังวัดอรุณฯ ก็มีทั้งทางรถและทางเรือที่บริการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมได้อย่างสะดวก ภาพชุดนี้เลยอยากนำเสนอมุมมองและจังหวะที่พิเศษดูแปลกใหม่ ให้ผู้ชมภาพได้จินตนาการต่อ และอยากให้ความเป็นวัดอรุณฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงอยู่ตลอดไป

__________

ธนากร ทิพย์ประเสริฐ เป็นช่างภาพอิสระและรับถ่ายภาพ wedding มีความสนใจชื่นชอบการถ่ายภาพสตรีทและสารคดี

facebook.com/Tanagon56
instagram.com/tana_gon

PHOTO ESSAY : BANGKOK ARCHIVE

TEXT & PHOTO: ULF SVANE

(For English, press here

บางกอกรำลึก เป็นชุดภาพถ่ายที่เล่าเรื่องราวของกรุงเทพมหานคร ความสงสัยและความรักต่อเมืองหลวงแห่งนี้ที่ นำพาเราไปสถานที่อันเก่าแก่เพื่อพูดคุยกับผู้คนที่ดูแลรักษาสถานที่เหล่านั้นให้มีชีวิตชีวาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่เมืองกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพราะการเติบโตของเศรษฐกิจ บางครั้งกิจการร้านค้าและสถานที่เหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านของเมืองโดยเลี่ยงไม่ได้ บางแห่งต้องถูกย้าย บางแห่งอาจต้องปิดตัวลง การเก็บเรื่องราวเหล่านี้ผ่านภาพถ่ายนั้นจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

ในขณะที่กรุงเทพฯ เริ่มมีการย้ายเข้ามาของผู้อยู่อาศัยมากหน้าหลายตา ส่งผลให้ความทรงจำบางส่วนของสถานที่ ต่างๆ ได้ถูกกลืนหายไป ในเวลาเดียวกัน ราคาบ้านที่สูงขึ้นใจกลางเมืองก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ผลักดันให้ประชากรส่วนใหญ่เริ่มออกไปอยู่ชานเมืองหรือส่วนอื่นๆ ของประเทศควบคู่ไปกับการย้ายถิ่นฐานของกิจการเล็กๆ หรือกิจการที่เคยมีมาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ๆ ครอบครัว เพื่อนฝูงใช้เป็นที่พบปะพูดคุย ร้านอาหาร หรือแม้แต่ร้านซักรีดเล็กๆ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองมาก่อน ก็ค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยกิจการร้านค้ารูปแบบใหม่ซึ่งเข้ามากำหนดบรรทัดฐานและวิถีชีวิตของเมือง ณ ปัจจุบัน

บางกอกรำลึกมีความตั้งใจที่จะรักษาความทรงจำและเผยแพร่เรื่องราวของผู้คนในสถานที่ๆ น่าสนใจเหล่านี้ เพื่อที่จะทำให้เราตระหนักได้ว่าเมืองในอดีตเคยเป็นเช่นไรและเราต้องการเห็นเมืองเป็นแบบใดในอนาคต ผ่านการตั้งคำถามว่าเมืองนี้เติบโตอย่างไร โดยเฉพาะในบริบทที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางรัฐ เพื่อทำความเข้าใจถึงเบื้องหลังในการเปลี่ยนแปลง เพราะเสน่ห์ของกรุงเทพฯ คือส่วนผสมของความหลากหลายเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจเมืองแห่งนี้มากขึ้น และสะท้อนถึงอนาคต ของกรุงเทพมหานคร เมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง

_____________

Ulf Svane เป็นช่างภาพมือรางวัลชาวกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ผู้สร้างชื่อเสียงในวงกว้างด้วยผลงานอันโดดเด่น มีความชำนาญในการบันทึกภาพวัฒนธรรม ผู้คน และประสบการณ์เรื่องอาหารการกินออกมาร้อยเรียงเป็นภาพถ่าย ณ ขณะนี้ เขาใช้ชีวิตอยู่ทั้งโคเปนเฮเกน และกรุงเทพมหานคร ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์โดยสื่อชั้นนำที่ได้รับการยอมรับ อาทิ Travel + Leisure, National Geographic, Financial Times และ The Washington Post

bkkarchive.com
ulfsvane.com
instagram.com/ulfsvane

 

PHOTO ESSAY : SPECTRUM OF SOLITUDE: A TAPESTRY OF URBAN LIFE

TEXT & PHOTO: CHEVAN LIKITBANNAKON 

(For English, press here

ในผลงาน ‘Spectrum of Solitude’ ซีรีส์ภาพถ่ายสะกดสายตา เลนส์กล้องส่องลึกลงไปยังพลวัตรอันซับซ้อนของเมือง จับภาพช่วงเวลาแห่งความสัมพันธ์ การใคร่ครวญ และการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ท่ามกลางพื้นหลังอย่างสวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ ไปจนถึงถนนหนทางอันจอแจ ภาพแต่ละภาพเป็นดั่งฝีแปรงที่ปรากฏบนผืนผ้าใบอันกว้างใหญ่ของชีวิตเมือง เผยความสอดคล้องระหว่างความโดดเดี่ยวกับการมีใครสักคนอยู่ข้างๆ ความเกี่ยวโยงระหว่างวัฒนธรรมและศิลปะ

ชุดภาพภ่ายนี้เปิดด้วยฉากทัศน์ของผู้คนที่รายล้อมไปด้วยมิตรภาพอันอบอุ่น พวกเขาหัวเราะ แลกเปลี่ยนเรื่องราวในอ้อมกอดอันเขียวชอุ่มของสวนสาธารณะและคาเฟ่หน้าตาสวยงามน่านั่ง เพื่อนฝูง คนรัก ปลอบประโลมซึ่งกันและกัน ความสุขของพวกเขานั้นมองเห็นได้ชัดเจนโดยมีเมืองอันงดงามเป็นพื้นหลัง อย่างไรก็ดี สิ่งที่แทรกตัวอยู่ระหว่างช่วงเวลาแห่งความเป็นมิตรเหล่านี้ คือผู้คนที่โดดเดี่ยวซึ่งเหม่อลอยอยู่ท่ามกลางความเร่งรีบวุ่นวายของชีวิตเมือง ช่วงขณะอันเปลี่ยวเหงานี้นำเสนอภาพตรงข้ามกับพลังงานอันสดใสที่เกิดจากการพบปะของผู้คน มันชักชวนให้ผู้ชมละเมียดละไมกับความงามของการสำรวจตัวเองและการค้นพบตัวตน

ภาพถ่ายในซีรีส์ค่อยๆ เผยแง่มุมการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ผ่านรูปถ่ายที่จับภาพการทับซ้อนของธรรมเนียม และการแสดงออกหลากหลายที่บ่งบอกตัวตนของเมือง จากโถงอันเงียบงันของพิพิธภัณฑ์ที่ศิลปะกับประวัติศาสตร์สัมพันธ์เชื่อมโยง ไปจนถึงถนนอันครึกครื้นซึ่งเต็มไปด้วยชีวิตหลากวัฒนธรรม แต่ละภาพคือหลักฐานของความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายของประสบการณ์ของมนุษย์ที่ปรากฏพบเจอในพื้นที่และอ้อมกอดของเมือง

‘Spectrum of Solitude’ นั้นเป็นมากกว่าชุดภาพถ่าย มันคือซิมโฟนีเฉลิมฉลองชีวิตเมืองที่มีมิติแง่มุมมากมาย ผ่านเลนส์ของการถ่ายภาพเเนวสตรีท ผู้ชมจะได้ร่วมค้นหาความสมดุลอันเปราะบางระหว่างความโดดเดี่ยวและความสัมพันธ์ วัฒนธรรมและศิลปะ เพื่อค้นพบความงามในช่วงเวลาต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่ช่วยก่อร่างสร้างประสบการณ์ในเมืองขึ้นมา

_____________

ด้วยพื้นหลังด้านการทำภาพยนตร์ Chevan Likitbannakon คือช่างภาพลูกครึ่งไทยอียิปต์ผู้ที่หลงใหลในการเล่าเรื่องด้วยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเป็นการเล่าเรื่องผ่านรูปแบบทางทัศนศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ภาพถ่าย มิวสิควีดีโอ หรือการทำหนัง มันจะมีช่วงเวลาที่ปรากฏขึ้นเพียงชั่วขณะที่ทำให้ผมได้เห็นเสี้ยวหนึ่งของแก่นของคนหรือเรื่องราวที่ถูกผมจับภาพ นั่นคือเรื่องราวที่ผมเล่า การเป็นคนที่อยู่หลังกล้องที่บันทึกเขาช่วงเวลานั้นเอาไว้ พาตัวผมให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวเหล่านั้น มันอาจจะเป็นความรู้สึก หรือความคิด หรือสายตา ที่ถูกเผยออกมาระหว่างห้วงขณะที่ถูกจับภาพเอาไว้  และมันก็อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครได้เห็นมาก่อนเลยก็เป็นได้

chevan.myportfolio.com