Category: PHOTO ESSAY

PHOTO ESSAY : STAY AT HOME 2020

TEXT & PHOTO: THANACHAI TANKVARALUK

(For English, press here)

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงกับการดำรงชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคม ด้วยกฎ ข้อบังคับ และมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด จึงทำให้ผู้คนต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก เพื่อให้เข้ากับการดำเนินชีวิตแบบปกติในวิถีใหม่ ภาพถ่ายชุดนี้จึงเป็นการเก็บบันทึกความทรงจำและสะท้อนเรื่องราวรอบตัว ที่แอบซ่อนความงดงามและความสดใสผ่านความเรียบง่ายและความธรรมดา ในขณะที่ห้วงเวลาและบรรยากาศทางสังคมอยู่ในสถานการณ์ที่ต่างออกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง พร้อมกับการปรับตัวในการดำเนินชีวิตประจำวันแบบวิถีใหม่ จนกระทั่งรู้ตัวอีกที ทุกอย่างก็กลายเป็นความปกติสุขของชีวิต พร้อมกับความหวังอันแสนสดใสว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะคลี่คลาย และผ่านพ้นไปจนกลับเข้าสู่สภาวะปกติในเร็ววัน

_____________

ธนะชัย ตั้งวราลักษณ์ เกิดที่จังหวัดอุดรธานี จบการศึกษา ปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันประกอบธุรกิจส่วนตัว มีความสนใจเรื่องราวรอบๆ ตัว รักการเดินทาง และการถ่ายภาพ

instagram.com/thanachai_diary
facebook.com/profile.php?id=100031795672130

PHOTO ESSAY : A LONELY JOURNEY

TEXT & PHOTO: SUPAKORN SOONTARARAK

(For English, press here)

‘การเดินทางทำให้รู้จักตัวเอง’ มักจะเป็นประโยคที่ได้ยินจนคุ้นหู ที่ทำให้ใครๆ หลายคนเริ่มเก็บกระเป๋า เดินทางท่องเที่ยวไปที่ต่างๆ แต่หากเราเพิ่มเติมไปว่า ‘การเดินทางคนเดียวทำให้รู้จักตัวเองมากที่สุด’ อาจจะทำให้บางคนถอยกลับมาตั้งหลักก่อน กลัวบ้าง หรือ ยกเลิกการวางแผนทริปนั้นไปก็มี จนวันหนึ่งประโยคนี้ ก็ได้ทำให้ผมตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกัน คิดทบทวนอยู่ครู่หนึ่ง จนสลัดความกลัว และตกผลึกกับตัวเองว่าต้องไปตัวคนเดียวให้ได้ ตั้งเป้าเพื่อเรียนรู้อะไรบางอย่างกับตัวเอง ผมจึงได้เริ่มจัดแจงวางแผนและออกเดินทางด้วยตัวเองเพียงลำพังตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนกลายเป็นว่า การเดินทางคนเดียว เป็นบทสำคัญของชีวิตที่ทำให้ได้รู้จักตัวเอง อยู่กับตัวเอง ทำให้เรามีเวลาอยู่กับสิ่งๆ นั้น สถานที่นั้นๆ มากขึ้น ได้เห็นถึงรายละเอียดของสิ่งนั้นๆ มากขึ้น ซึมซับบรรยากาศและความรู้สึกจากสิ่งนั้นๆ ที่ถ่ายทอดมาสู่ตัวเรามากขึ้น

เมื่อกลับย้อนกลับมามองสถาปัตยกรรมและงานออกแบบ เราได้เห็นถึงความตั้งใจของงานออกแบบ แสงที่ตกกระทบในแต่ละช่วงเวลา ความงดงามที่ผู้ออกแบบต้องการถ่ายทอดให้เรา หรือ สื่อสารกับเรา ฉะนั้นคงไม่ผิดนักที่จะบอกว่า ประโยคที่เราได้ยินกันบ่อยๆ นั้น จะเป็นเรื่องจริง และถ้าวันนั้นผมไม่สลัดความกลัวออกจากใจ ไม่กล้าที่จะออกเดินทางด้วยตัวคนเดียว ก็คงจะไม่รู้จักตัวเองเท่าวันนี้แน่นอน

_____________

ศุภกร สุนทรารักษ์ เมื่อก่อนเคยเป็นสถาปนิก ปัจจุบันเป็น Senior Business Development มีอาชีพเสริมเป็น ช่างภาพสถาปัตยกรรมจาก SynSpaceStudio และเป็นคนไทยคนเดียวได้รับรางวัลถ่ายภาพระดับโลกจาก Arch2O ในปี 2021 (Architecture and Design Magazine) และ Cyberpunk2077 World Photo Contest ในปี 2020

instagram.com/synspacestudio
facebook.com/synspacestudio

PHOTO ESSAY : BANGKOK-SCAPE

TEXT & PHOTO: DON AMATAYAKUL

(For English, press here)

งานเซ็ตนี้เป็นการรวบรวมภาพถ่ายของสถาปัตยกรรมในกรุงเทพฯ ผ่านการเล่าเรื่องในเชิงภาพถ่ายแนว cityscape / urban ซึ่งเป็นการผนวกสถาปัตยกรรมและวิถีคนเมืองให้มาบรรจบกันในภาพเดียว ด้วยความที่เป็นคนกรุงเทพฯ สภาพแวดล้อมรอบตัวจึงเหมือนเป็นแค่สิ่งธรรมดาๆ ที่พบเจอได้ทุกวัน แต่การได้จับกล้องถ่ายรูปทำให้พบเจอเสน่ห์และความสวยงาม ที่อยากถ่ายทอดออกมาในมุมมองใหม่ๆ

ตั้งแต่เริ่มต้นถ่ายภาพก็รู้สึกหลงใหลในภาพถ่ายแนว cityscape และ architecture มาตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในมิติของความน่าสนใจในเชิงการออกแบบของ subject ที่ถ่าย ใน Instagram ก็เลยมีแต่รูปตึกและวิวเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่

_____________

ดรณ์ อมาตยกุล เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการถ่ายภาพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รับงานถ่ายภาพฟรีแลนซ์ทั่วไป รวมถึงทำเพจส่วนตัวเกี่ยวกับภาพถ่ายในเมืองกรุงเทพฯ ชื่อว่า donamtykl

instagram.com/donamtykl
facebook.com/donamtykl

PHOTO ESSAY : MATSU ISLANDS, 2022

TEXT & PHOTO: NAPAT CHARITBUTRA

(For English, press here)

ภาพถ่ายบันทึกการเดินทางไปเยี่ยมบ้านเพื่อนชาวไต้หวันบนเกาะหมาจู่ (Matsu Islands) ประเทศไต้หวัน หมู่เกาะที่ไกลจากแผ่นดินแม่ 8 ชั่วโมง แต่ห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ถึง 30 นาที ในช่วงเวลาที่สื่อในไทยประโคมข่าวความขัดแย้งระหว่างสองประเทศนี้ไม่เว้นอาทิตย์

จุดชมวิวตรงแทบจะทุกหน้าผาคือที่ตั้งของบังเกอร์ทหารเก่า มองออกไปจะเห็นโขดหิน คลื่น และฝูงแพะ ไม่ก็กังหันลมของจีนตรงกลางทะเลและแผ่นดินใหญ่ที่ปลายตา ค่ายทหารหลายแห่งยังคง active บางแห่งเปลี่ยนเป็นโฮสเทลหรือคาเฟ่ที่บริหารโดยคนในพื้นที่ เพื่อนชาวไต้หวันเล่าว่าภูเขาบนเกาะแห่งนี้ถูกเจาะเป็นอุโมงค์จนพรุนเพื่อใช้เป็นช่องทางลำเรียงยุทโธปกรณ์ในอดีตกรณีที่ถนนบนเกาะเสียหาย พร้อมๆ กับที่ฟัง ผมมองไปยังผู้คนบนเกาะและนักท่องเที่ยวที่ใช้ชีวิตประจำวันอย่างเป็นปกติพวกเขาชินแล้วกับชีวิตแบบนี้ ชีวิตที่อยู่ระหว่างสงครามในอดีตและที่ยังมาไม่ถึง

กลับมาดูรูปชุดนี้อีกครั้งที่ไทยแล้วเหมือนตัวเองกำลังอ่านวิกิพีเดีย รู้สึกห่างๆ ชอบกล ภาพมัน informative แต่ก็ไม่ได้บอกอะไรไปมากกว่าลักษณะทางกายภาพของเกาะ แล้วผมก็ถามตัวเองว่ารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับไต้หวัน

คนเราใช้เวลาทั้งชีวิตทำความเข้าใจบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองซ้ำไปมา แค่ 9 เดือนที่ใช้ชีวิตในไต้หวัน และ 9 วัน บนเกาะหมาจู่ ผมไม่กล้าบอกว่าตัวเองรู้ดีเรื่องไต้หวันไปมากกว่าคนไทยในเมืองไทยแต่ก็หงุดหงิดทุกครั้งที่กลับมาไทยแล้วได้ยินคนพูดว่าไต้หวันกับจีนเขาจะรบกันแล้วพูดอย่างกับว่าสงครามเป็นเรื่องเล่นๆ เสียอย่างนั้น 

_____________

ใหม่ นภัทร จาริตรบุตร นักเขียนและนักศึกษาปริญญาโทด้าน Creative Industries Design เมืองไถหนาน ประเทศไต้หวัน

instagram.com/maitinnakorn

PHOTO ESSAY : LIFEGUARD TOWERS MIAMI

TEXT & PHOTO: TOMMY KWAK

(For English, press here)

หลังจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชายหาดไมอามี่โดยเฮอริเคนแอนดรูว์ในปี 1992 เมืองไมอามี่ได้มีการออกแบบซุ้มไลฟ์การ์ดขึ้นมาใหม่พร้อมกับหน้าตาและสีสันที่สดใสเพื่อปลุกขวัญและกำลังใจของเมืองและผู้คน ด้วยการนำเสนอที่คล้ายกับแนวทางของซีรีย์ผลงานอาคารเก็บน้ำของ Becher ผลงานภาพถ่ายชุดนี้โดย Tommy Kwak จึงเป็นเหมือนการสำรวจต่อเหล่าอาคารอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองที่ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูและกลับมามีชีวิตใหม่ของย่านเซาท์ ฟลอริด้า

ผลงานชุดภาพถ่ายระดับรางวัลนี้ใช้รูปแบบการวางกรอบและเทคนิคการเปิดความเร็วชัตเตอร์ค้างเอาไว้เป็นระยะเวลานานหรือ long exposure เพื่อให้ฉากหลังของท้องฟ้าและทะเลมีรายละเอียดที่น้อยที่สุดเพื่อขับเน้นลักษณะโดดเด่นของอาคารแต่ละหลัง เป็นการเชิญชวนให้ผู้ชมได้มองเห็นและเปรียบเทียบการผสมผสานสีสันสุดสดใสและรูปทรงของอาคารแต่ละหลังได้อย่างชัดเจน งานชุดนี้ยังแสดงรูปแบบการทำงานอันโดดเด่นของทอมมี่จากองค์ประกอบภาพที่เตะตา การทำงานกับมุมภาพที่มีมิติ การกำกับควบคุมแสง เงา และสี สไตล์การถ่ายภาพของทอมมี่นั้นถ่ายทอดความงามที่เกิดขึ้นในชั่วขณะ และขณะเดียวกันมันก็แปรเปลี่ยนการมีอยู่ของสรรพสิ่งให้ปรากฏขึ้นเป็นรูปทรงที่ชัดเจน และนำพาแง่มุมใหม่ๆ มาสู่เหล่าอาคารไลฟ์การ์ดแห่งหาดไมอามี่

ถ้าอยากสนับสนุนผลงาน Lifeguard Tower Miami และรับชมแบบเต็มๆ ก็สามารถเข้าไปสั่งจอง Photobook กันได้ที่

Kickstarter – Lifeguard Towers: Miami

_____________

งานของ Tommy Kwak สำรวจชั่วขณะของภูมิทัศน์และรูปทรงธรรมชาติต่างๆ ผ่านรูปแบบของภาพถ่ายสีขนาดใหญ่ที่ให้ความรู้สึกงดงามอันแสนบอบบางที่ดูราวกับไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ ผลงานของเขาได้รับการจัดแสดงในระดับนานาชาติโดยหนึ่งในงานล่าสุดของคือผลงานที่ได้รับการคอมมิชชั่นจาก Louis vuitton ให้เข้าไปทำงานกับพื้นที่ของแบรนด์ในเมืองอย่าง นิวยอร์ก ซีแอตเทิลและโคโลญในเยอรมันทอมมี่ได้รับปริญญาศิลปกรรมบัณฑิตสาขากราฟฟิคดีไซน์จาก California College of the Artsในปี 2002 ก่อนที่จะเรียนจบคอร์สการถ่ายภาพจากInternational Center of Photography ที่เขาเข้าเรียนในช่วงปี 2006 และ 2008 ระหว่างช่วงปี 2010 และ 2016 ทอมมี่ เข้าร่วมโครงการศิลปินพำนัก SÍM Residency ที่ เมืองเรคยาวิค ประเทศไอซ์แลนด์ รวมไปถึงการเข้าร่วมงานเทศกาลศิลปะนานาชาติอย่าง Villa Reykjavík ทอมมี่เติบโตขึ้นในแถบชานเมืองชิคาโก้ เขาอาศัยและทำงานอยู่ในบรู๊คลิน นิวยอร์คอยู่เป็นเวลา13ปี ก่อนจะย้ายไปยังมอนต์แคลร์ นิวเจอร์ซี อันเป็นย่านที่เขาพำนักอยู่ในปัจจุบัน เขาเป็นสมาชิกของกลุ่ม Fowler Arts Collectiveในกรีนพอยท์ บรู็คลิน และ SONYA (South of Navy Yard Artists)

Tommykwak.com

Instagram.com/tommykwak

Twitter.com/TommyKwakArt

Behance.net/tommykwak

PHOTO ESSAY : 365OHMANAWAT

TEXT & PHOTO: ANAWAT PETCHUDOMSINSUK

(For English, press here)

ความรู้สึกที่ไม่เคยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เริ่มต้นทำสิ่งไหนก็มักหยุดความพยายามภายในไม่กี่วัน คือจุดกำเนิดของโปรเจค 365ohmanawat เป็นการถ่ายภาพ Still Life วันละ 1 ภาพทุกวันเป็นเวลา 365 วัน เพื่อพิสูจน์ความต่อเนื่องในการลงมือทำอะไรสักอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน โดยใช้ความถนัดจากวิชาชีพช่างภาพอาหารที่ทำอยู่สร้างผลงานที่ใช้ไอเดียและเทคนิคการถ่ายภาพให้แตกต่างจากปกติที่เคยทำ 

เนื่องจากงานปกติที่ทำคือการถ่ายภาพเพื่อการโฆษณาทั้งสินค้าและอาหาร ซึ่งมักโดนบิดเบือนความจริงเพื่อสร้างความสมบูรณ์แบบ พอนานวันก็เกิดเป็นความเบื่อในงาน ทำให้อยากลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำหรือสิ่งที่แตกต่างจากที่เห็นได้โดยทั่วไป ภาพบางภาพจึงอาจสร้างความรู้สึกกระอักกระอ่วนให้กับผู้ชม ที่ให้ผลลัพธ์ตรงกันข้ามกับความต้องการในงานโฆษณาปกติ

และเพราะต้องการเปิดโอกาสให้ได้ลองทำ จึงไม่มีการตั้งข้อจำกัดทางเนื้อหาและเทคนิค ภาพในโปรเจคนี้จึงมีความหลากหลายสูง บางภาพอาจเกิดจากความไม่พอใจในสังคมบางเรื่อง, สิ่งของในชีวิตประจำวันผสมกับอาหารที่หาได้ทั่วไป หรืออาจจะแค่อยากลองฝึกเทคนิคที่พบเห็นในสื่อที่เราไม่เคยทำมาก่อน

_____________

อนวัช เพชรอุดมสินสุข (Anawat Petchudomsinsuk) ช่างภาพอาหาร Freelance ผู้รักใน Meme และความกวนประสาท

fb.com/FPCWL

instagram.com/ohm.anawat

ohm-anawat.com

PHOTO ESSAY : THE SUBTLE ACT OF RAW AND SOLID BY THICK AND THIN

TEXT: RATCHADAPORN HEMJINDA
PHOTO COURTESY OF THICK AND THIN

(For English, press here)

ไม้ เป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากต้นไม้นับร้อยชนิดที่แตกหน่อและยืนต้นตระหง่าในป่าใหญ่ท่ามกลางฤดูกาลที่เปลี่ยนไปนับหลายสิบปี ด้วยความหลากหลายของแหล่งกำเนิดและพันธุ์ ไม้จึงเรียกได้ว่าเป็นวัสดุที่คาดเดาไม่ได้ ทั้งสีสันและลายเสี้ยนที่มนุษย์ไม่อาจกำหนดได้เอง และบ่อยครั้งจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมากในการดึงอัตลักษณ์และคุณสมบัติของไม้มาใช้ ซึ่งต้องอาศัยทักษะฝีมือของช่างไม้ผู้มีประสบการณ์และความชำนาญเป็นพิเศษ Thick and Thin เชื่อในคุณค่าของไม้ทุกชนิดที่มีความงามอย่างเป็นธรรมชาติและยากที่จะเลียนแบบได้ เริ่มต้นจากความตั้งใจที่จะถ่ายทอดเรื่องราวคุณค่าของไม้สู่การออกแบบผลิตภัณฑ์จากไม้ที่สะท้อนวิธีคิด ปรัชญาการใช้ชีวิตและความสัมพันธ์ของผู้คน อีกทั้งแฝงเรื่องราวต่างๆ ผ่านกระบวนการได้มาของวัสดุ และองค์ความรู้ในการทำงานไม้เพื่อส่งต่อไปสู่คนรุ่นหลัง

‘The Subtle Act of Raw and Solid’ สี ลายเสี้ยน และความไม่สมบูรณ์แบบโดยธรรมชาติของไม้ คือเสน่ห์และเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ไม้สร้างสรรค์ให้แก่เรา และนี่คือคอนเซ็ปต์และหลักการทำงานของ Thick and Thin Studio ที่เริ่มต้นทดลองทำงานไม้จากการคัดเลือกไม้แต่ละแผ่นเพื่อนำมาขึ้นชิ้นงานด้วยวิธีต่างๆ และใช้เทคนิคงานไม้ที่เหมาะสม จนได้โครงสร้างที่แข็งแรงพร้อมเผยเนื้อแท้ของไม้โดยปราศจากการปรุงแต่งใดๆ 

จากไม้หนึ่งท่อนถูกเลื่อยและไสอย่างประณีต ก่อนจะนำมาวางเรียงต่อกันด้วยเทคนิคประสานแผ่นไม้จนได้โครงสร้างที่สมมาตรและแพทเทิร์นจากสีและลายเสี้ยนที่น่าสนใจ นี่คือเบื้องหลังการสร้างสรรค์ ‘TOUGH’ เก้าอี้ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความใหญ่โตและหนักแน่นของต้นไม้นำมาตัดทอนรูปร่างรูปทรงเพื่อสื่อถึงความรู้สึกที่มั่นคงและแข็งแรง ซึ่งถูกประกอบขึ้นด้วยชิ้นส่วนต่างๆ ที่สอดประสานกันอย่างลงตัว เป็นการสื่อถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ที่ต้องเผชิญความยากลำบาก อดทน และฝ่าฟันสิ่งต่างๆ มาด้วยกัน ขณะที่ ‘TIGHT’ ม้านั่งไม้ยาวที่ดีไซน์ออกมาอย่างเรียบง่าย ที่แต่ละชิ้นส่วนของไม้ถูกประกอบเข้าด้วยเทคนิคการเข้าไม้แบบโบราณ โดยไม่ใช้ตะปูหรือน็อต เพื่อสื่อถึงเรื่องราวข้อต่อของความสัมพันธ์ที่เน้นแฟ้น กลมกลืน และเป็นหนึ่งเดียว คุณค่าของไม้จึงพิเศษมากกว่าการเป็นแค่วัสดุ เพราะเมื่อไหร่ที่ไม้มาเจอกับความคิดสร้างสรรค์และงานออกแบบ อาจเกิดความเป็นไปได้ หรือการค้นพบใหม่ๆ ที่ไม่รู้จบ นั่นคือสิ่งที่ Thick and Thin เชื่อมั่นมาโดยตลอด

facebook.com/thickandthin.studio

PHOTO ESSAY : BETWEEN US

TEXT & PHOTO: KUNLANATH SORNSRIWICHAI

(For English, press here)

ผมคิดที่จะสอนลูกสาวให้มีทักษะใหม่ๆ เพิ่มเติม สอนกันวันนี้ เรียนตอนนี้เลย ทำได้เลย ไม่มีผิดถูก ไม่มีกฎเกณฑ์ อยากทำก็ทำ ถ้าทำแล้วดีมีความสุขก็ทำต่อไป ก็เลยหยิบกล้องออกไปถ่ายรูปและกลับมาพร้อมรูปและเรื่องราวมากมาย

“สิ่งรอบๆ ตัวมีความน่าสนใจอยู่เสมอ ลองมองหาดู มุมมองของแต่ละคนก็มองไม่เหมือนกันอีก สนุกดีนะลูก”

นับจากวันนั้นผ่านมาเกือบสี่เดือน สิ่งที่ทำมันสนุกและมีความสุขจริงๆ

_____________

กุลนาถ ศรศรีวิชัย เรียนครูศิลปศึกษา ทำงานออกแบบ ชอบศิลปะ งานออกแบบ และความเงียบในสวนเย็น, แม่แตง

facebook.com/kunlanathtua

PHOTO ESSAY : SCALA IN MY MEMORY

TEXT & PHOTO: AMATA LUPHAIBOON

(For English, press here)

ผมรู้จักสกาลาครั้งแรกตอนอยู่ ม.4  สมัยนั้นที่เตรียมอุดมจะไม่มีเรียนทุกบ่ายวันศุกร์ เวลาช่วงนั้นเป็นเวลาทองที่ผมจะตระเวนดูหนัง นอกจากโรงแถวๆ สยามสแควร์ เช่น สกาลา สยาม ลิโด และแมคเคนน่าแล้ว ก็จะมีโรงวอชิงตันบนสุขุมวิทที่เป็นทางผ่านรถเมล์กลับบ้าน ผมคุ้นเคยกับสกาลาเหมือนเพื่อนรุ่นเดียวกัน สกาลาเปิดใช้ในปีเดียวกับปีที่ผมเกิด ตอนอยู่เตรียมอุดมผมจะดูหนังได้เฉพาะวันศุกร์ แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยแล้วสบาย จะดูตอนไหนก็ได้ เดินไปสยามดูหนังกลับมาเรียนต่อก็ได้ พอเริ่มทำงาน ผมก็จะมาดูหนังแถวนี้แทบทุกอาทิตย์ ดูหนังเสร็จก็กินข้าวนิวไลท์ ซ้ำ routine นี้เป็นร้อยๆ ครั้ง 

เวลาผ่านไป โรงหนัง standalone ก็ทยอยปิดไปทีละโรง จนปี 53 โรงหนังสยามไฟไหม้ ก็เหลือแต่ลิโด สกาลาเท่านั้น ลิโดพยายามปรับสู้โรงแบบ multiplex โดยแบ่งเป็น 3 โรงเล็ก โรงสวยน้อยลงแต่ก็มีหนังให้เลือกมากขึ้น สกาลาก็จะได้ฉายหนังที่เพิ่งเข้าหรือหนังที่น่าจะมีคนดูเยอะหน่อย คือถ้าเลือกได้ก็จะดูสกาลาเพราะชอบ ritual ของการเดินขึ้นบันได รอซื้อตั๋ว ซื้อขนม แล้วเข้า foyer ไปรอคนดูรอบก่อนหน้าเดินออกมา ชอบสังเกตุดูสีหน้าคนที่กำลังเดินออก จะชอบเดาว่าใครชอบ ใครบ่น ใครหลับ พี่ๆ น้าๆ ที่สกาลาและลิโดบางคนก็จำผมได้ น้าที่ขายขนมรู้ว่าผมชอบซื้อโคลอนและน้ำเปล่าก่อนเข้าโรง พี่ที่ขายตั๋วก็รู้แถวที่นั่งประจำของผม ในวันที่ลิโดฉายหนังวันสุดท้ายผมก็ได้ไปไหว้ลาพี่ๆ น้าๆ ทุกคน บางคนบอกว่าคงไม่ตามไปทำต่อที่สกาลาแล้วเพราะคนเยอะเกินงาน จะกลับไปต่างจังหวัดอยู่กับลูกหลาน จริงๆ แล้วในคืนสุดท้ายของลิโดคืนนั้น หลายๆ คนก็คงแอบคิดแล้วว่าคงถึงคิวของสกาลาในอีกไม่นาน

ในหลายๆ ปีที่ผ่านมามีความพยายามของหลายกลุ่มที่พยายามทำให้คนทั่วไปเห็นถึงความสำคัญและความงามของสกาลา ด้วยหวังว่าเจ้าของที่จะมองเห็น หรือประชาชนจะสนับสนุนเป็นวงกว้าง เผื่อจะต่อชีวิตสกาลาจะได้อีกหลายๆ ปี เช่นหอภาพยนตร์ก็จัดโปรแกรม ‘ทึ่งหนังโลก’ เอาหนังคลาสสิกมาฉาย ในวันที่ Godfather ฉาย มีคนดูล้นโรง คนดูต้องนั่งบนบันได มีคุณย่าคุณยายมาดูพร้อมกับลูกหลาน คนทุก generation มาร่วมประสบการณ์ดูภาพยนตร์ด้วยกันที่นี่ สกาลาครึกครื้นมีชีวิตที่สุดในบ่ายวันนั้น เมื่อสองปีก่อน เพื่อนๆ lighting designer ก็จัด ‘The Wall’ lighting installation ทุกครีบเสา ดาวบนฝ้า ถูกเน้นด้วยแสงไฟจนคมสวย โถง foyer ได้รับการขับด้วยไฟสีทั้งที่ผนังและฝ้าเพดาน ในโรงก็มี lighting installation ที่เข้ากับดนตรีที่เรียบเรียงขึ้นมาเป็นพิเศษ ช่วงนั้นสกาลาสวยที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา มีคนไปชมไปถ่ายรูปถ่ายคลิปลง social กันมากมาย ทำให้พวกเรามีความหวังขึ้นมาอีกนิดนึง

ผมทำ presentation แสดงถึงความสำคัญของสกาลาทั้งในแง่สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรม พยายามแสดงแนวทางการเก็บอาคารนี้ไว้โดยปรับการใช้สอยและโปรแกรมให้ร่วมสมัย เพราะรู้ดีว่าจะคงเป็นโรงหนังฉายหนังแบบเดิมไม่ได้ตลอดไป เพิ่มความเป็นไปได้ของการหารายได้ และประเภทของ retail ที่เสริมกับโรงหนัง รวมทั้งตัวอย่างของโรงหนัง standalone ทั่วโลกที่ปรับตัวและ sustainable ในที่สุด ผมเอาเข้าไปคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เขาก็รับฟัง แต่มองไปที่ตาก็รู้ว่าสิ่งที่เราพยายามสื่อมันผ่านเข้าและออกไปเรียบร้อยแล้ว มันไม่ตรงกับเป้าที่เขาตั้งไว้ตั้งแต่ต้น

หลังจากนั้นไม่นาน โควิดก็มา Apex ก็จำเป็นต้องปล่อยสกาลาไปก่อนกำหนด ของประดับตกแต่งถูกถอดออกไป เหมือนเป็นความตั้งใจของเบื้องบนที่จะให้สกาลาดูโทรมลง ดูด้อยค่าลงเรื่อยๆ เมื่อวันที่จะทุบจะได้ไม่มีคนออกมาต่อต้านกันมากนัก 

จนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อนที่รักสกาลาด้วยกันส่งรูปสกาลาที่ถูกทุบมาให้ จนถึงวันที่เขียนวันนี้ก็คงไม่มีอะไรหลงเหลือแล้ว ผมคงไม่คร่ำครวญอะไรมากมาย ทุกอย่างมีวันจบของมัน หนังก็มีอวสาน จริงๆ ทางรอดของสกาลาก็ริบหรี่มาหลายปี เหมือนเพื่อนสนิทที่ป่วยหนักมานาน บางวันก็ทรงๆ บางวันก็สดใส เราก็เก็บความจำวันที่เพื่อนคนนี้สวยที่สุด มีชีวิตชีวาที่สุดไว้ก็แล้วกัน

_____________

อมตะ หลูไพบูลย์ เป็นสถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้ง Department of Architecture Co.

PHOTO ESSAY : BANGKOK DEEMED

TEXT & PHOTO: CHATCHAVAN SUWANSAWAT

(For English, press here)

ตั้งแต่เด็กจนโต เราอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แบบที่ว่าไม่ได้เคยย้ายไปไหน ตอนเด็กเราถูกเลี้ยงไว้แบบไข่ในหินไม่ให้ออกนอกบ้าน จนกระทั้งเติบใหญ่กลายเป็นว่าปมในวัยเด็กนั้น สร้างความเก็บกดที่อยากจะออกเดินดูกรุงเทพฯ ให้ได้มากที่สุดในวัยผู้ใหญ่ 

ปัจจุบันการได้ออกเดินในช่วงหยุดสุดสัปดาห์นั้นเป็นความสนุกตื่นเต้นและเสพติด เราชอบเดินไปเรื่อยๆ มีจุดหมายบ้างไม่มีบ้าง และมันนำเราไปสู่พื้นที่และสิ่งของที่แปลกตา ที่ล้วนเกิดจากผู้คนรวมถึงต้นไม้ใบหญ้าที่ประกอบเข้าด้วยกันแบบไม่ตั้งใจ และต่างดิ้นรนให้มีชีวิตต่อไปอยู่ในเมืองที่ผู้คนคิดว่ารักและเกลียดนี้

_____________

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ เป็นสถาปนิกและนักเขียน (บ้างไม่เขียนบ้าง) ผู้เขียนหนังสือ ‘อาคิเต็กเจอ’ ที่พูดถึงความไทยๆ ผ่านสิ่งของงานออกแบบของผู้คนในเมือง ปัจจุบันก่อตั้ง Everyday Architect & Design Studio เพื่อทำงานสถาปัตย์ที่เกี่ยวข้องความสนใจเรื่องไทยๆ 

facebook.com/everydayarchitectdesignstudio
facebook.com/viewtiful.chat
instagram.com/chutcha_crowbar